Skip to main content
sharethis

ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล (แกลบ) อุบลราชธานี ยื่นเดินทางมาขอพึ่งความเป็นธรรมต่อศาลปกครองเพิกถอนใบอนุญาตผลิตพลังงานไฟฟ้าของบัวสมหมายไบโอแมส จำกัด และให้ฟื้นสภาพเดิม อุบลราชธานี . วันนี้เวลา ๑๐.๓๐ น. ตัวแทนชาวบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล (แกลบ) อำเภอสว่างวีระวงศ์ อุบลราชธานี ยื่นเดินทางมาขอพึ่งความเป็นธรรมต่อศาลปกครองขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ของบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด และให้ฟื้นฟูทรัพยากรที่เสียหายกลับคืนสู่ภาพเดิม ที่ศาลปกครองอุบลราชธานี ตัวแทนชาวบ้านบ้านคำสร้างไชยและบ้านใกล้เคียง จำนวน ๕ หมู่บ้าน ต.ท่าช้างและต.บุ่งมะแลง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี จำนวน ๑๐๐ กว่าคน ที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล(แกลบ)ของบริษัทบัวสมหมายไบโอแมส จำกัด นำโดย นายทองคับ มาดาสิทธิ์ ได้มาร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครอง ให้มีคำสั่ง ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ถอดถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ของบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด ที่ตั้งอยู่บริเวณบ้านคำสร้างไชย หมู่ที่ ๑๗ ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ เพราะเป็นการออกใบอนุญาตโดยมิชอบด้วยกฎหมาย นายทองคับ มาดาสิทธิ์ กล่าวว่า ได้มาขอความเป็นธรรมจากศาลปกครองเพราะ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และ อีก ๕ หน่วยงาน คือ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี อุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี องค์การบริหารส่วนตำบลท่าช้าง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑๗ บ้านคำสร้างไชย ตำบลท่าช้าง ได้ร่วมกัน ออกใบอนุญาตฯให้บริษัทบัวสมหมายไบโอแมสโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากกระบวนการออกใบอุญาตฯนั้น มีความไม่โปร่งใส ไม่เป็นธรรมต่อชาวบ้าน ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๗ และ มาตรา ๒๘๙ คือ เริ่มตั้งแต่การประชุมในหมู่บ้านที่ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม และ อบต.ท่าช้างไม่มีการเปิดเผยข้อมูลไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไม่ปกป้องสิทธิผู้ใช้พลังงานและชุมชนท้องถิ่น ซึ่ง กกพ.อ้างว่า ได้ออกใบอนุญาตตามความเห็นของกรมโรงงานและ พรบ.กรมโรงงาน ๒๕๓๕ ซึ่งพรบ.ดังกล่าวที่ใช้วินิจฉัย นั้น ไม่ให้ความเป็นธรรมต่อชุมชนที่ตั้งรกรากมานานนับ ๑๐๐ ปี มีโครงสร้างและความสัมพันธ์ของชุมชนที่เหนียวแน่น มีจารีต วัฒนธรรม ประเพณี มีประวัติศาสตร์ มีทรัพยากรธรรมชาติดิน น้ำ ป่า ที่ชาวบ้านได้พึ่งพาในการดำรงชีพเลี้ยงครอบครัวและชุมชน ซึ่งต่างจากหมู่บ้านจัดสรร หรือคอนโด ที่อยู่กันอย่างหลวมๆ และไม่อาจเรียกได้ว่าชุมชนเสียด้วยซ้ำ แต่กฎหมายกลับให้ความคุ้มครอง ชาวบ้านได้ร้องคัดค้านต่อ กกพ.มาเป็นเวลา ๔ ปีแล้ว แต่ กกพ.กลับยืนยันไม่ยอมเพิกถอนใบอนุญาตของบัวสมหมาย นายบุญชู สายธนู ตัวแทนชาวบ้านบ้านคำสร้างไชย กล่าวว่า ชาวบ้านต้องการให้เพิกถอนใบอนุญาตที่ให้แก่บริษัทบัวสมหมายฯและให้ฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมโดยปรับสภาพดินของบริเวณสระน้ำที่ทำขึ้นให้กลับคืนสู่สภาพเดิม เพราะ นับตั้งแต่โครงการโรงไฟฟ้าของบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด เริ่มดำเนินการ โดยการขุดบ่อน้ำประมาณ ๑๕ ไร่ มาถมที่บริเวณ ๑๕๕ ไร่ ได้สร้างผลกระทบในชุมชนมา ตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ จนถึงปัจจุบันคือ เกิดความขัดแย้งในชุมชนด้านความคิดและการแย่งน้ำในการทำการเกษตรจากการขุดบ่อน้ำของบริษัทฯ ทำให้ปริมาณน้ำในสระน้ำที่ชาวบ้านที่ขุดเองและในหนองน้ำธรรมชาติ มีปริมาณน้ำลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งปีที่ผ่านมาแม้จะย่างเข้าสู่ฤดูฝน และมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ยังส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำซับที่ใช้ในการเกษตรไม่เพียงพอต่อการทำนาปี ชาวบ้านขาดน้ำทำนาปรัง รวมเนื้อที่ ๙๗ ไร่ ๒๖ งาน และมะม่วงหิมพานต์ที่กำลังติดดอกเกิดความเสียหาย ยังส่งผลกระทบต่อน้ำประปาบาดาลของหมู่บ้าน ซึ่งสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่า หากมีการสร้างโรงไฟฟ้าจริง ชาวบ้านต้องเกิดปัญหาแย่งน้ำกับบริษัทอย่างแน่นอน และมีแนวโน้มว่าเหตุการณ์จะดำเนินไปเช่นนั้น ทั้งนี้ ตัวแทนบริษัทฯ ได้แจ้งต่อชาวบ้านในที่ประชุมระดับจังหวัดเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ว่าการใช้น้ำเพื่อประกอบกิจการโรงงานจะไม่มีการสูบน้ำมูลมาใช้ แต่น้ำที่จะใช้มาจากการขุดบ่อบาดาลเท่านั้น ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดไปจากเงื่อนไขการอนุญาตให้ประกอบกิจการ ตามแบบ ร.ง. ๔ อีกทั้งขนาดของบ่อของบริษัทฯ ก็ใหญ่กว่าที่แจ้งต่อกรมโรงงานอีกด้วย ศาลปกครองได้รับเอกสารหลักฐานที่ชาวบ้านนำมายื่น เนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นคดีสิ่งแวดล้อม ซึ่งศาลให้ความสนใจและจะแจ้งให้ชาวบ้านทราบว่าศาลจะมีความเห็นให้ดำเนินการต่อไปอย่างไรภายใน 30 วัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net