Skip to main content
sharethis

6 มี.ค.55 เครือข่ายภาคประชาชนจับตาการเจรจาการค้าเสรีของสหภาพยุโรปหรืออียู เปิดแนวรุกจัดทำข้อเท็จจริงที่จะเกิดขึ้นจากการเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป ชื่อว่า “หรือเราจะยอม FTA” ในรูปแบบการ์ตูน Animation ขึ้นเพื่อให้เกิดการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งทำความเข้าใจกับประชาชนต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากมีการเซ็นสัญญาเอฟทีเอกับอียูหลังจากที่อียูตระเวนเปิดเวทีเจรจาไปทั่วภูมิภาคเอเชีย เครือข่ายภาคประชาชนฯ ระบุว่า ล่าสุดในการเจรจาเอฟทีเอระหว่างสหภาพยุโรปและอินเดียเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา เกิดกระแสการรณรงค์ต่อต้านไปทั่วโลก ในขณะที่ประเทศอินเดียเองมีประชาชนหลายร้อยคนออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านจนที่สุดการเจรจาก็ยังไม่บรรลุเป้าหมาย โดยเฉพาะข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ยังไม่ได้มีการนำมาเจรจาในรอบที่ผ่านมา ซึ่งหากพิจารณาจากเอกสารเจรจาพบว่ามีข้อกำหนดเกินไปกว่าข้อตกลงทริปส์ที่เป็นข้อตกลงร่วมกันของประเทศสมาชิกภายใต้องค์การการค้าโลก แม้ว่าเนื้อหาของการเจรจาจะไม่ได้มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีข้อมูลที่เชื่อถือได้ว่า ความต้องการของอียูในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญามีเนื้อหามุ่งไปที่การเพิ่มศักยภาพให้กับบริษัทยาข้ามชาติ สามารถทำการผูกขาดการผลิตและจำหน่ายยาและเวชภัณฑ์ได้ยาวนานขึ้น ซึ่งมีผลบ่อนทำลายศักยภาพของบริษัทที่ผลิตยาชื่อสามัญในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอินเดียที่ถือได้ว่าเป็นแหล่งผลิตยาชื่อสามัญราคาถูกที่ใหญ่ที่สุดในโลก นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรณรงค์เพื่อการเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ได้นำเสนอข้อมูลการเจรจาเอฟทีเออียู-อินเดีย พบว่ามีข้อเจรจาที่ส่งผลต่อการเพิ่มการผูกขาดและตัดตอนระบบผลิตยาชื่อสามัญในอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดสิทธิ์ หรือทำให้การนำยาชื่อสามัญมาขึ้นทะเบียนยาไม่ได้หรือทำได้ยากยิ่งขึ้น การขยายอายุสิทธิบัตรจาก 20 ปีให้ยาวนานขึ้น หรือแม้แต่การตีความกรณียาปลอม โดยมีการเหมารวมว่ายาชื่อสามัญที่ผลิตและขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายให้กลายเป็นยาปลอม ส่งผลให้อินเดียซึ่งเป็นแหล่งผลิตยาชื่อสามัญที่ใหญ่ที่สุด ไม่สามารถส่งออกยาชื่อสามัญไปยังประเทศที่จำเป็นต้องใช้ยาได้ “ที่สำคัญหากอินเดียยอมรับข้อตกลงดังกล่าว จะส่งผลต่อประเทศที่กำลังประสบปัญหาด้านสุขภาพและจำเป็นต้องมียารักษาที่ราคาเป็นธรรมมาใช้ในประเทศ ไม่สามารถใช้มาตรการยืดหยุ่นในทริปส์เช่น มาตรการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาหรือซีแอล (CL) ได้ เพราะไม่สามารถนำยาเหล่านั้นมาขึ้นทะเบียนได้ หรือหากแม้ใช้ซีแอลเพื่อนำเข้ายาได้แต่ในกระบวนการจัดส่งยาก็จะสุ่มเสี่ยงที่จะถูกยึดยาเหล่านั้น เนื่องจากถูกตีความจากศุลกากรว่าเป็นยาปลอม ส่งผลให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยาขาดยา เหมือนดังเช่นกรณียึดยาที่ส่งจากอินเดียไปยังประเทศแถบแอฟริกาและถูกยึดยาเมื่อเรือที่บรรทุก ต้องผ่านไปพักเรือในประเทศแถบยุโรปก่อนไปถึงแอฟริกา” นายเฉลิมศักดิ์ กล่าว นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อชท์) กล่าวว่า “ขณะนี้มีแนวโน้มว่า รัฐบาลกำลังเร่งเดินหน้าเจรจาเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคู่ค้าขนาดใหญ่อย่างสหภาพยุโรป แต่กระบวนการภายในประเทศกลับขาดความชัดเจนและขาดการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แม้ว่าได้มีการปรับปรุงรัฐธรรมนูญมาตรา 190 จนมีความสมบูรณ์มากขึ้นแล้ว แต่กฎหมายลูกซึ่งมีหน้าที่กำหนดรายละเอียดขั้นตอนในการเจรจากลับยังไม่มีการเสนอต่อสภาฯ เพื่อพิจารณาแต่อย่างใด อีกทั้งที่ผ่านมากระบวนการยกร่างกฎหมายลูกฉบับนี้ยังกีดกันการมีส่วนร่วมจากสาธารณะ” ทั้ ทั้งนี้มีการรายงานข้อมูลว่าร่างกฎหมายที่กระทรวงการต่างประเทศกำลังดำเนินการจัดทำอยู่นั้นมิได้สะท้อนเจตนารมณ์ว่าด้วยหลักการความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของรัฐธรรมนูญมาตรา 190 แต่อย่างไร “ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็จะนำไปสู่ปัญหาเดิมๆ แลความขัดแย้งต่อไป” นายจักรชัยกล่าว นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์กล่าวเสริมว่า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งปะทุขึ้นมาในสังคมอีก การทำความเข้าใจเรื่องผลดีและผลเสียของเอฟทีเอคงไม่สามารถทำได้ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ “แต่หากต้องช่วยกันทำความเข้าใจผลกระทบต่างๆอย่างรอบด้านมากกว่าจะไปพูดง่ายๆว่า “หากจำเป็น...ก็ต้องแลก” ที่ผ่านมา หน่วยราชการของไทยมีความเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญา และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เข้ามามีส่วนในการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพจากการทำเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรปค่อนข้างแข็งขัน ซึ่งอยากสนับสนุนให้เดินหน้าทำต่อไปเพื่อที่เราจะได้มีความพร้อมมากที่สุดสำหรับการเจรจา และหากผลการประเมินเสร็จสิ้น ภาคประชาสังคมก็ต้องการให้ภาครัฐมีความกล้าหาญทางการเมืองที่จะกำหนดจุดยืนไปในกรอบการเจรจาที่จะนำเข้าสู่รัฐสภา อาทิ ต้องไม่เจรจาเรื่องยา ไม่รับการผูกขาดข้อมูลทางยา ไม่เปิดโอกาสให้เอกชนฟ้องรัฐในนโยบายสาธารณะและการลงทุนสาธารณะ เช่นที่กล้าหาญพอที่จะยืนยันในทุกกรอบการเจรจาว่า ต้องมีมาตรการปกป้องกรณีที่เกิดปัญหาด้านดุลการชำระเงิน” นอกจากนี้นายนิมิตร์ยังกล่าวว่า “การที่ภาครัฐสนใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการทำเอฟทีเอ โดยเฉพาะผลกระทบเชิงสังคมและสุขภาพ เกิดจากการทำงานของเครือข่ายภาคประชาชนไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายผู้ป่วยเรื้อรัง เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ และด้านผู้บริโภค กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน และเครือข่ายนักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์ ที่ได้ติดตามตรวจสอบการเจรจาเอฟทีเอของไทยมาอย่างใกล้ชิด และทำงานวิชาการเพื่อชี้ให้เห็นผลกระทบและกระตุ้นให้มีการเตรียมพร้อมในการเจรจา เชื่อว่า Animation ที่ได้จัดทำขึ้นนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างบรรยากาศการถกแถลงในประเด็นเหล่านี้อย่างกว้างขวางในสังคมไทยเพื่อให้การเจรจาการค้าต่างๆเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนจริงๆ” เครือข่ายฯ ระบุว่า เพื่อให้เกิดการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งทำความเข้าใจกับประชาชนต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากมีการเซ็นสัญญาเอฟทีเอกับอียู จึงได้ร่วมมือกันจัดทำข้อเท็จจริงที่จะเกิดขึ้นจากการเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป ชื่อว่า “หรือเราจะยอม FTA” ในรูปแบบการ์ตูน Animation ขึ้น เพื่อเป็นสื่อในการรณรงค์สร้างความเข้าใจและให้ข้อมูลความรู้กับประชาชนทั่วไปโดยสามารถดาวน์โหลดหรือดูได้ที่ http://vimeo.com/37938097 หรือหากต้องการเอกสารข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดาวน์โหลดข้อมูลได้ที่ http://www.thaidrugwatch.org/news_detail.php?n_no=816

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net