รายงานพิเศษ: ซ้อมทรมาน: อาชญากรรมที่กฎหมายยังเอื้อมไม่ถึง

รายงานพิเศษจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันที่ศาลเตรียมไต่สวนเจ้าหน้าที่ของรัฐกรณีซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัย แต่ก็ต้องยกเลิกการไต่สวนเพราะเจ้าหน้าที่ตัดสินใจปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยก่อนวันนัดศาล ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ต้องตอบคำถามใดๆ ในเรื่องการซ้อมผู้ต้องสงสัยกับศาลไปด้วย ห้องพิจารณาคดีเล็กๆ ที่ศาลนราธิวาสเช้าวันที่ 24 ก.พ. 2555 อัดแน่นไปด้วยผู้คนที่ไปสังเกตการณ์การดำเนินคดี เพราะไม่บ่อยครั้งนักที่จะมีนัดหมายไต่สวนข้อกล่าวหาเจ้าหน้าที่เรื่องซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัย และคดีของซุลกิพลี ซิกะจากรือเสาะเป็นหนึ่งในไม่กี่คดีที่ญาติผู้ตกเป็นเหยื่อเอาชนะความกลัวพอที่จะลุกขึ้นมาเป็นคู่กรณีกับเจ้าหน้าที่ทหารในชั้นศาลได้ นี่เป็นโอกาสที่สาธารณชนจะได้เห็นการสอบสวนเพื่อเอาผิดและลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติภารกิจโดยมิชอบ อันเป็นความหวังที่สะสมเรื่อยมาตลอดหลายปีที่เกิดเหตุรุนแรงแต่ยังไม่เคยปรากฏว่าเกิดขึ้นในพื้นที่นี้ การไต่สวนควรจะเริ่มขึ้นสิบโมงเช้า แต่กว่าที่ซุลกิพลีจะพาเรือนร่างผอมบางสะโอดสะองไปปรากฏตัวในชุดโสร่งและเสื้อยืด เวลาก็เนิ่นช้าไปจนเกือบสิบเอ็ดโมง หลังจากที่รอคอยด้วยความมึนงงกันไปพักใหญ่ ผู้สังเกตการณ์ทั้งหลายก็เริ่มเข้าใจได้ว่า สาเหตุของความล่าช้าเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ได้ “ปล่อย” ตัวซุลกิพลีไปแล้วก่อนหน้านั้นทั้งๆ ที่ตามคำสั่งศาลคือให้นำตัวไปให้ปากคำพร้อมๆ กับเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมตัว แม้ว่าถึงที่สุดศาลจะสั่งให้ไปตามตัวมาศาลจนได้ ทว่านายซุลกิพลีก็ไม่ได้อยู่ในสถานะผู้ถูกควบคุมตัวอีกต่อไป เรียกได้ว่าเป็นการหักมุมที่เจือไปด้วยข่าวดีและข่าวร้ายทำให้คนที่เกี่ยวข้องปรับอารมณ์ได้ยากเย็น เพราะขณะที่ญาติยินดีอย่างท่วมท้นและทีมงานทนายความล้วนโล่งอก แต่สำหรับนักรณรงค์เรื่องสิทธิแล้ว กลายเป็นว่าพวกเขาวิ่งชนกำแพงอีกครั้งกับความพยายามผลักดันให้เกิดความโปร่งใสในการใช้อำนาจรัฐในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันที่จริงกรณีแบบซุลกิพลีไม่ใช่เรื่องใหม่ ความพยายามฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ฐานซ้อมทรมานนักศึกษายะลาสองรายอันเป็นเรื่องที่เกิดตั้งแต่ปี 2551 ก็ลงเอยคล้ายกัน หลังจากที่ทนายความยื่นคำร้องต่อศาลและศาลนัดให้ไต่สวนคำร้องเมื่อ 5 กพ. 2551 ไม่ทันที่จะมีการไต่สวน เจ้าหน้าที่ก็ได้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวเสียก่อนในยามดึกของคืนก่อนหน้าวันนัดในศาลนั่นเอง และนั่นทำให้ศาลยกเลิกการไต่สวนเพราะถือว่าไม่ได้ถูกควบคุมตัวอีกต่อไป (ประชาไท: ศาลนัดครั้งแรกคดีนศ.ยะลาฟ้องกองทัพ “ซ้อมทรมาน”, 2011-10-25) คนจะได้รับการปล่อยตัว แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ต้องตอบคำถามใดๆในเรื่องการซ้อมผู้ต้องสงสัยไปด้วย หนนี้ก็เช่นกัน การปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยเกิดขึ้นก่อนหน้าที่จะมีการนัดไต่สวนในชั้นศาล เพียงแต่ว่าหนนี้การกระทำดังกล่าวส่งผลกระทบต่อศาลทำให้ไม่อาจดำเนินการตามกระบวนการของตนเองได้อย่างครบถ้วน เนื่องจากในปัจจุบันศาลยึดหลักปฏิบัติตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกาที่กำหนดให้การปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวต้องกระทำที่ศาลที่เป็นผู้ออกหมายให้จับ (คำแนะนำประธานศาลฏีกา นายสบโชค สุขารมณ์ ประกาศเมื่อมีนาคม 2554 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2554/A/030/44.PDF) แน่นอนในกรณีนี้คนที่อึดอัดใจมากที่สุดย่อมหนีไม่พ้นผู้พิพากษา ในหนนี้ผู้พิพากษา นายดารัชพงษ์ เขื่อนทอง ได้ออกคำสั่งให้สองหน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุมตัวนายซุลกิพลี คือศูนย์พิทักษ์สันติและหน่วยเฉพาะกิจที่ 30 ต้องทำหนังสือชี้แจงศาล โดยเฉพาะสำหรับฉก.30 นอกเหนือจากต้องชี้แจงต่อศาลแล้วยังต้องชี้แจงการกระทำของตนเองต่อแม่ทัพภาคที่ 4 ด้วย ส่วนการไต่สวนเรื่องการควบคุมตัวโดยมิชอบเพราะมีการซ้อมเป็นอันยกเลิกไปตามเหตุผลที่ศาลระบุว่า เพราะ “ไม่มีเหตุจำเป็นให้ต้องไต่สวนอีก” แต่ความน่าอึดอัดใจจากกรณีนี้ยังไม่จบลงแต่เพียงเท่านี้ แม้ว่าจะได้รับการปล่อยตัว แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ซุลกิพลีเพียงแต่เดินออกจากค่ายอิงคยุทธบริหารที่ปัตตานีเพื่อไปเข้ารับ “การอบรม” ที่ศูนย์สันติสุขของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในหรือกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าที่อยู่ใกล้เคียงกับค่าย ศูนย์สันติสุขแห่งนี้ให้การอบรมเพื่อไปเผยแพร่ศาสนาดังเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า “ศูนย์ดาวะห์” สิ่งที่น่าจะสร้างความอึดอัดใจให้กับศาลก็คือเรื่องการรับตัวนายซุลกิพลีซึ่งไม่มีความชัดเจนว่าเป็นการเข้าร่วมโดยสมัครใจอย่างแท้จริงหรือไม่ แม้เจ้าหน้าที่จะยืนยันว่าได้อ่านเอกสารให้เจ้าตัวฟังแล้วก็ตาม และที่สำคัญคือหนังสือรับตัวระบุเพียงว่า การอบรมนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. เป็นต้นไป โดยไม่ระบุระยะเวลาอบรม จึงทำให้อาจตีความได้ว่า “การอบรม” ดังกล่าวนั้นจะยาวนานแค่ไหนก็ได้ จุดนี้ยิ่งเพิ่มความไม่โปร่งใสให้กับกระบวนการทั้งยวงหนักขึ้นไปอีก แน่นอนว่าในที่สุดแล้วศาลต้องสั่งให้ปล่อยตัวไม่ต้องไปเข้าค่ายอีก สำหรับซุลกิพลี การ “ปล่อย” หนที่สองนี้ต่างหากคือการปล่อยจริง เส้นทางสู่สนามซ้อม ซุลกิพลีนั้นถูกทหารจากหน่วยเฉพาะกิจที่ 30 นราธิวาส จับตัวไปตั้งแต่วันที่ 10 กพ. เป็นการควบคุมตัวโดยใช้อำนาจตามพรบ.กฎอัยการศึกซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องมีหมาย อีกทั้งไม่ต้องมีข้อกล่าวหาแต่อย่างใด กฎอัยการศึกให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้เต็มที่เจ็ดวัน ซุลกิพลีถูกควบคุมตัวหกวันก่อนที่เจ้าหน้าที่จะใช้อำนาจตามกฎหมายอีกฉบับเพื่อยืดเวลาการควบคุมตัวเขาต่อ นั่นคืออำนาจตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 แต่การควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องมีหมายศาลและสามารถควบคุมตัวได้ทีละเจ็ดวัน การขอขยายเวลาทำได้เต็มที่สามสิบวัน ในการจับตัวผู้ต้องสงสัยรายนี้ ทหารหน่วยเฉพาะกิจที่ 30 นราธิวาสได้ไปปิดล้อมบ้านซุลกิพลีที่ อ.รือเสาะเพื่อจับตัวเขาไป “สอบปากคำ” ที่ค่าย หลังจากอยู่ที่ค่ายของ ฉก. 30 ได้ไม่กี่ชั่วโมงเจ้าหน้าที่ก็ย้ายซุลกิพลีไปยังค่ายทหารพรานที่ 46 หรือค่าย “เขาตันหยง” หนึ่งในสองค่ายทหารพรานที่เป็นสถานที่กักตัวผู้ต้องสงสัยเพื่อสอบปากคำ ญาติกล่าวว่าในระหว่างนั้นพวกเขาต้องใช้ความพยายามเพื่อตามหาตัวซุลกิพลีจ้าละหวั่นเนื่องจากไม่ได้รับข้อมูลอย่างชัดแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่าได้ส่งตัวไปกักไว้ที่ไหน จากค่ายเขาตันหยงเขาถูกนำตัวไปเข้าค่ายอิงคยุทธบริหารที่ปัตตานีซึ่งเป็นช่วงที่ถูกควบคุมตัวตามอำนาจใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในทางกฎหมายแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ไปขอหมายศาลที่นราธิวาสเพื่อเอาตัวไว้สอบปากคำต่อ ดังนั้นผู้รับผิดชอบในการกักตัวช่วงนี้จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของศูนย์พิทักษ์สันติ ของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ในทางการปฏิบัติคนที่กักตัวและสอบถามซุลกิพลีกลายเป็นทหารในค่ายอิงคยุทธบริหารจังหวัดปัตตานี ค่ายอิงคยุทธบริหารนั้น ก่อนหน้านี้เคยมีศูนย์ซักถามผู้ต้องสงสัยทว่าถูกยุบไปเมื่อเดือนตุลาคม 2554 ผลจากการเปิดเผยหนนี้จึงเท่ากับว่า การซักถามและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยโดยเจ้าหน้าที่ที่ค่ายอิงคยุทธบริหารนั้นยังคงมีอยู่ ขั้นตอนแบบนี้มักจะทำให้ยากที่ญาติหรือผู้ถูกควบคุมตัวโต้แย้งหรือแสดงสิทธิอันใดได้ เพราะนอกจากช่องทางตามกฎหมายแทบจะไม่เปิดให้แล้วพวกเขายังยากจะตามทันเส้นทาง เพราะหากไม่ศึกษาให้ดีอาจยากที่จะเข้าใจได้ว่าใครทำอะไรภายใต้ระเบียบกติกาอันใด ผลก็คือ การดูแลสิทธิเบื้องต้นของตัวเองอันเป็นเรื่องที่ชาวบ้านพึงกระทำได้จึงมักจะกลายไปเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญอย่างนักกฎหมายให้เข้ามาช่วยในแทบทุกขั้นตอน ในระหว่างที่อยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่นั้น ญาติๆ เชื่อว่าซุลกิพลีถูกซ้อมอย่างหนัก โดยเฉพาะในช่วงเจ็ดวันแรกที่เป็นการควบคุมตัวภายใต้อำนาจตามกฎอัยการศึกที่ต้องเจอรายการสหบาทาทั้งวันและคืน ที่สำคัญซุลกิพพลีและญาติบอกว่า แม้แต่ในระหว่างที่ถูกควบคุมตัวภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเขาก็ยังถูก “สอบปากคำ” ด้วยวิธีพิเศษและในระดับความเข้มข้นที่ไม่น้อยหน้ากับที่ค่ายเขาตันหยง แม้ว่าอาจจะแตกต่างกันบ้างในแง่ความ “หยาบ” ของรูปแบบ แต่ก็เห็นได้ชัดว่า หากจริง วิธีการที่พวกเขาเล่ามาแต่ละเรื่องล้วนแล้วแต่เข้าข่ายการทรมานทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นการใช้เข็มทิ่มแทงตามซอกเล็บ การให้แก้ผ้าแล้วกระโดดขึ้นลงนานนับชั่วโมง การกระตุกอวัยะเพศ การคลุมถุงให้หายใจไม่ออกจนถึงกับหมดสติ เป็นต้น ทหารยืนยันไม่มีซ้อม หลังจากมีข่าวออกไปทางสื่อมวลชนหลายรายเรื่องการไต่สวนคดีทหารซ้อมผู้ต้องสงสัยนายซุลกิพลี ซิกะ กองทัพภาคที่ 4 ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงเมื่อ 28 กพ. ยืนยันว่าตลอดการจับกุมและสอบปากคำนั้นไม่มีการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยรายนี้แต่อย่างใด คำแถลงที่ส่งให้สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 28 กพ.นั้นอ้างพันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ จากกองทัพภาคที่ 4 ส่วนหน้าระบุว่า หลังจากที่มีข่าวออกมาว่าเจ้าหน้าที่ทหารซ้อมผู้ต้องสงสัย กองทัพภาคที่สี่ก็ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงขั้นต้นแล้วพบว่า เจ้าหน้าที่ทหารที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนนับตั้งแต่หน่วยเฉพาะกิจที่ 30 ที่เป็นผู้ไปจับกุมตัว และเจ้าหน้าที่ที่ค่ายทหารพรานที่ 46 รวมทั้งที่ค่ายอิงคยุทธบริหารที่ทำหน้าที่สอบปากคำไม่ได้ทำร้ายร่างกายหรือซ้อมนายซุลกิพลี ทั้งไม่มีการพันธนาการใดๆ แม้ว่าอาจจะมีรอยถลอกปรากฏบนร่างกายบ้างแต่ก็เป็นเพราะนายซุลกิพลีต่อต้านขัดขืนการจับกุม เช่นอาจมีร่องรอยเล็กน้อยที่เหนือหลังเอวและแถวเข่าซึ่งกำลังตกสะเก็ด การชี้แจงของกองทัพภาค 4 ยังพยายามชี้ให้เห็นถึงเจตนาและอาการที่ส่อเค้ามีพิรุธสูงว่า นายซุลกิพลีแสดงอาการขัดขืนหลายอย่างแต่แรก มีควาพยายามหลบเลี่ยงการจับกุม ด้วยการใช้บัตรประจำตัวของน้องชายแสดงตนแทน พยายามดึงซิมการ์ดโทรศัพท์ทิ้ง อย่างไรก็ตามต่อมาในระหว่างถูกสอบได้รับสารภาพว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มก่อการร้ายจริง โดยได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เก็บรักษาอาวุธยุทโธปกรณ์ซึ่งเมื่อจนท.ให้พาไปตรวจสอบก็พบว่าถูกเคลื่อนย้ายไปแล้ว หน้งสือดังกล่าวยังระบุด้วยว่ากองทัพภาค 4 ได้ตั้งกรรมการขึ้นสอบข้อเท็จจริง และพร้อมจะร่วมมือกับกลุ่มองค์กรภาคประชาชนในการเข้าตรวจสอบเรื่องนี้ หากพบว่ามีการทำร้ายจริงจะมีการลงโทษตามกฎหมาย การตั้งกรรมกรสอบข้อเท็จจริงนับได้ว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งของกองทัพภาคที่ 4 ที่จะสะสางตัวเอง แต่คู่กรณีจะยอมรับการตรวจสอบเช่นนี้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เล่นเกมแมวไล่จับหนู กับคำพิพากษาของศาลนราธิวาสในวันนั้น สิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมกลับไม่ได้มีท่าทีดีใจมากนัก สิทธิพงษ์ระบุว่า ข้อดีของเหตุการณ์ในวันนั้นคือทำให้ศาลได้เห็นภาพของการใช้เทคนิคเลี่ยงกฎกติกาของเจ้าหน้าที่ เขาเชื่อว่าหากผู้พิพากษาได้เห็นและรับรู้สิ่งเหล่านี้ ความรับรู้นั้นอาจจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้บรรดาบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่มากขึ้นอย่างที่นักกฎหมายในพื้นที่นี้พยายามผลักดันเนืองๆ แต่สิ่งที่สิทธิพงษ์ถือว่าเป็นข้อเสียก็คือ ผลจากที่คดีจบลงเช่นนี้ทำให้หมดโอกาสที่หายากไปอีกครั้งในอันที่จะไต่สวนการซ้อมทรมาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อศาลพบว่า ในการควบคุมตัวภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินซึ่งศาลเป็นผู้ออกหมายให้ไปจับกุมตัวมานั้น ไม่ปรากฏว่ามีการซ้อมทรมาน หรืออย่างน้อยไม่มีการซ้อมทรมานแบบที่ฝากร่องรอยให้พิสูจน์ได้ให้เห็น ศาลจึงไม่ไต่สวน ส่วนข้อกล่าวหาว่ามีการทำร้ายร่างกายในช่วงระยะเวลาที่ควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึกนั้น ศาลแจ้งให้คู่ความฟังอย่างชัดเจนว่าจะไม่เข้าไปก้าวก่ายเนื่องจากถือว่าเป็นอำนาจภายใต้ “กฎอัยการศึก” ของทหาร และหากญาติและผู้ถูกควบคุมตัวยังติดใจเรื่องนี้ก็ต้องไปหาหนทางอื่นต่อสู้กันเอาเอง ในขณะที่บรรดาทนายความของศูนย์ทนายความมุสลิมซึ่งเป็นนักกฎหมายกลุ่มหลักที่รับทำคดีความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่า จากการร้องเรียนของประชาชนและลูกความ ในระยะหลังการซ้อมทรมานอย่างหนักมักจะเกิดขึ้นในช่วงระยะต้นของการควบคุมตัว นั่นคือในช่วงที่อยู่ภายใต้อำนาจตามกฎอัยการศึก ความเห็นของศาลที่ว่าศาลจะไม่ก้าวก่ายการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินไปภายใต้กฎอัยการศึกจึงเท่ากับเป็นการปิดประตูที่จะนำไปสู่การตรวจสอบการทำงานของทหาร โดยเฉพาะในระยะเวลาของการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยในช่วง “เจ็ดวันอันตราย” “ในความเห็นส่วนตัวของผม แม้จะเป็นการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก เจ้าหน้าที่ก็ต้องกระทำโดยชอบ หากกระทำโดยมิชอบก็ต้องตรวจสอบได้ เพราะกฎอัยการศึกก็ถือว่าเป็นกฎหมายเหมือนกัน” กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ทนายความตัวแทนซุลกิพลีกล่าว ในทางความเป็นจริง ใช่ว่าการซ้อมทรมานจะหยุดอยู่ที่เจ็ดวันแรกเท่านั้น จะว่าไปแล้วการซ้อมเกิดขึ้นในทุกขั้นตอนของการควบคุมตัว ผลการศึกษา “ความชอบด้วยกฎหมายของคดีความมั่นคงในภาคใต้ 100 คดี” ที่นำเสนอต่อสาธารณะไปเมื่อเดือนธันวาคม 2554 โดยมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมระบุชัดว่า จากการศึกษาคดีความมั่นคงที่ศาลตัดสินแล้วหนึ่งร้อยคดีแรกของพื้นที่ ปรากฏภาพชัดเจนว่ามีการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยในทุกขั้นตอนของการควบคุมตัว ไม่ว่าจะในช่วงของการควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือแม้แต่ภายใต้กฎหมายประมวลวิธีพิจารณาความอาญาหรือที่เรียกกันสั้นๆว่า ป.วิอาญา แม้ว่าโดยสัดส่วนแล้วจะพบว่าการซ้อมและข่มขู่ที่เกิดในช่วงการควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึกจะมีสัดส่วนสูงกว่าช่วงอื่นกล่าวคือในหนึ่งร้อยคดี มีผู้ถูกทำร้ายและข่มขู่ถึง 33 คดี ในช่วงของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน16 คดีและในช่วงของการใช้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 23 คดี (มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม: ความชอบด้วยกฎหมายของคดีความมั่นคงในภาคใต้ 100 คดี, มกราคม 2554) ภาพจากการศึกษาทำให้ดูเหมือนว่า การซ้อมได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการสอบปากคำของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในภาคใต้ไปแล้วเรียบร้อย วิธีการซ้อมทรมานที่หลากหลายมากขึ้นปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มใหม่ที่เพิ่งออกสู่สายตานักอ่านเมื่อไม่นานมานี้คือ “รอยแผลบนดวงจันทร์” โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ที่นับว่าเป็นหนังสือที่บันทึกเรื่องราวของเยาวชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนหนึ่งที่ถูกซ้อมทรมานระหว่างถูกสอบปากคำ ประสบการณ์ของพวกเขาก็ไม่ต่างไปจากซุลกิพลีมากนัก นอกจากถูกตบ เตะ ต่อย ถูกจับห้อยหัว ถูกจับแช่ในถังน้ำร้อน คลุมถุงให้หายใจไม่ออก ให้อยู่ในที่หนาวเย็นโดยไม่ใส่เสื้อผ้า ลนเทียน ทำให้อับอาย หมดศักดิ์ศรีด้วยวิธีการอีกหลายแบบ ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อรีดคำรับสารภาพ และจนกว่าจะรับสารภาพพวกเขาจะโดนซ้อมจนกรอบ ยังมีอีกไม่ต่ำกว่า 36 กรณีที่ศูนย์ทนายความมุสลิมระบุว่าได้นำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไปแล้วเพื่อให้ติดตาม เนื่องจากมีข้อมูลหลักฐานที่สามารถดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ 36 กรณีหลังนี้ผู้เสียหายเป็นกลุ่มเยาวชนล้วนๆ แต่หากเทียบแล้ว นักกฎหมายหลายรายยังเชื่อว่า เรื่องราวที่ฟ้องร้องกันเป็นคดีได้นั้นมีน้อยมากเมื่อเทียบกับปัญหาการละเมิดที่เกิดขึ้น กรณีของซุลกิพลีเอง ในช่วงระยะเวลาของการควบคุมตัวภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ยังมีการซ้อมทรมานแม้จะในรูปแบบที่ไม่ทิ้งร่องรอย นักกฎหมายกะเก็งกันว่า ช่วงเวลาของการควบคุมตัวช่วงนี้เป็นเวลาที่จะปล่อยให้ “เป้าหมาย” ฟื้นตัวจากการถูกซ้อมหนักด้วยการปล่อยให้แผลเลือนหายแต่หันไปเล่นวิธีจิตวิทยาหรือวิธีที่ทำแล้วไม่เกิดบาดแผลที่เห็นได้แทน “แต่การทำร้ายทางจิตใจก็ทิ้งบาดแผลไม่ต่างจากการทำร้ายทางร่างกาย” กมลศักดิ์ย้ำ “เพียงแต่กฎหมายของเราไม่เปิดช่องให้มีการเอาผิดสำหรับการทำร้ายในลักษณะแบบนี้” อันที่จริงแล้ว อย่าว่าแต่การทำร้ายทางด้านจิตใจ แม้แต่การทำร้ายทางร่างกายนักกฎหมายในกลุ่มนี้เองก็ยอมรับว่า ยากเย็นอย่างยิ่งอยู่แล้วที่จะหาทางเอาผิดผู้ลงมือ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมคือสิทธิพงษ์ชี้ว่า ตามหลักของกฎหมายอาญา การกล่าวโทษต้องมีผู้ถูกกล่าวหาอย่างชัดเจน หากเหยื่อไม่สามารถจดจำใบหน้าของผู้ลงมือซ้อมทรมานได้ก็ถือว่าหมดโอกาส และแน่นอนว่าในเวลาที่ถูกรุมทำร้ายนั้นคนโดนซ้อมส่วนใหญ่ไม่ได้มีพลังงานเหลือเฟือมานั่งจดจำหน้าคนลงมือเพราะแค่รับมือกับความเจ็บปวดก็ย่ำแย่แล้ว อย่าว่าแต่ในหลายกรณีพวกเขาอาจถูกคลุมถุงหรือถูกปิดตา และถึงแม้จะไม่โดนคลุมถุงหรือปิดตา แต่ในพื้นที่ที่อำนาจต่อรองของชาวบ้านมีต่ำนั้น แค่การไป “เยี่ยม”จากคนมีสีในหลายๆกรณีก็มีผลเพียงพอแล้วให้คนที่ยังรู้สึกอยากจะต่อสู้ต้องยอมรามือ บางรายที่ตกเป็นเหยื่ออาจจะได้รับเงินที่บอกไม่ได้ว่าเป็นค่าอะไรจากราชการ ประกอบกับเมื่อเวลาผ่านไป บาดแผลยิ่งลบเลือน ความกลัวผสานเข้ากับความยากจึงทำให้หลายคนต้องหันไปใช้ศาสนาเข้าข่ม บ้างก็พกพาความกลัวไว้กับตัวเองจนไม่อาจใช้ชีวิตได้อย่างปกติ มีเรื่องราวของคนที่ไม่กล้าแม้แต่จะออกจากบ้านไปทำงาน บางคนหลบหนีไปอยู่ที่อื่น และที่อาจคาดเดาได้คือผลของความแค้นเคืองที่คงทำให้หลายคนที่เจอประสบการณ์ตรงพร้อมจะเปิดใจรับคำชักชวนและหนทางการต่อสู้แบบอื่นก็เป็นได้ มาตรการในการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมจากด้านของประชาชนฝากความหวังไว้กับความสามารถในการเก็บหลักฐาน หากญาติผู้ถูกซ้อมไหวตัวทันตามเก็บหลักฐานเช่นรูปถ่ายหรือมีแพทย์ตรวจร่างกายไว้จึงจะมีโอกาสบ้างในอันที่จะต่อสู้ ส่วนที่ชัดเจนคือกรณีที่ปฏิเสธไม่ได้เพราะคนโดนซ้อมจนตาย อย่างอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ซึ่งศาลตัดสินว่าเสียชีวิตเพราะถูกซ้อมจนกระดูกซี่โครงหักทะลุปอดทำให้ปอดรั่ว แต่กระนั้นญาติก็ไม่อาจฟ้องร้องเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่ลงมือได้เพราะศาลบอกปัดไม่รับพิจารณาเนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาคือทหารทำให้เป็นเรื่องที่พ้นอำนาจของศาลพลเรือน ขณะที่การรอคอยให้มีการนำเรื่องราวขึ้นฟ้องร้องในศาลทหารโดยอัยการทหารก็กล่าวได้ว่าแทบจะมองไม่เห็นฝั่ง การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจึงกลายเป็นทางออกอันเดียวในเวลานี้ “เพราะว่ากฎหมายยอมให้เราฟ้องร้องหน่วยงานได้” สิทธิพงษ์อธิบาย จึงเห็นได้ว่าคดีซ้อมทรมานมักไปลงเอยที่การฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าเสียหายแทน เช่นในกรณีอิหม่ามยะผา ผลของการที่ญาติฟ้องหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องนำไปสู่การประนีประนอมยอมความจ่ายค่าชดเชยกันไป 5.2 ล้านบาทเมื่อ ก.ค. 2554 ก่อนหน้านั้นก็คือคดีซ้อมนศ.ยะลาที่มีการจ่ายเงินชดเชยกันไปแม้จะไม่มากนัก อีกคดีที่กำลังฟ้องร้องกันอยู่คือคดีนายรายู คอดอ ซึ่งถูกจับและถูกซ้อมในวาระเดียวกันกับอิหม่ามยะผา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เกิดเหตุที่ยังเป็นเยาวชน ฟ้องหน่วยงานรัฐ นอกจากนั้นเราอาจได้เห็นกรณีญาติซุลกิพลีตามไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานรัฐเพิ่มเป็นรายล่าสุด ส่วนการริเริ่มพิสูจน์ความพร้อมรับผิดของเจ้าหน้าที่ดูจะยังไม่ปรากฏให้เห็นไม่มากนัก แม้ว่าบ่อยครั้งจะมีการให้คำมั่นต่อสาธารณะจากเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูง เช่นหลังสุดคำสัญญาที่มาจากปากพลตรีอัคร ทิพย์โรจน์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ที่กล่าวไว้ในระหว่างร่วมวงเสวนาเรื่องปัญหาภาคใต้ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศในกรุงเทพฯเมื่อกลางเดือนมกราคมปีนี้เองว่า นโยบายของแม่ทัพภาคที่สี่ในปัจจุบันยืนยันว่าทหารจะไม่ใช้วิธีการอันทารุณละเมิดสิทธิมนุษยชน “หากปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิต่อผู้ที่ถูกควบคุมตัวหรือมีการดูหมิ่นเหยียดหยาม เจ้าหน้าที่คนนั้นต้องกลายมาเป็นจำเลยเสียเอง ด้วยประมวลกฎหมายอาญาฉบับเดียวกับที่ใช้ลงโทษผู้กระทำผิด ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของผู้บัญชาการทหารบกที่ไม่ต้องการให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือเหยียดหยามในความแตกต่างกัน” (ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้: เมื่อนโยบายความมั่นคงเปิดทางเจรจา, 2012-01-21) แต่ถัดมาไม่นานก็มีคดีร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมานตามมาติดๆกันถึงสองคดีคือคดีรายู คอดอและคดีของซุลกิพลี ซิก๊ะดังกล่าว สิ่งที่นักรณรงค์เรื่องสิทธิหลายกลุ่มต่างผลักดันกันอย่างหนักในเวลานี้ ก็คือการหาทาง “ป้องกัน”ด้วยเครื่องมือใหม่ เช่นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจัดทำข้อเสนอแนะสำหรับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติป้องกันไม่ให้มีการซ้อมทรมาน อีกด้านหนึ่งเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนได้จับมือกันเพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขหรือไม่ก็ออกกฎหมายใหม่ที่มีบทบัญญัติกำหนดลักษณะความผิดรวมทั้งบทลงโทษอย่างชัดเจนโดยอาศัยหลักการที่ว่า ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเป็นภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอันโหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี อันเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศของสหประชาชาติไว้ตั้งแต่ปี 2551 ไทยจึงมีภาระผูกพันในอันที่จะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของกฎหมายภายในประเทศเพื่อขานรับพันธะอันนี้ ขณะที่การผลักดันในเรื่องกฎหมายกำลังคืบคลานไปข้างหน้าอย่างช้าๆ จำนวนคดีซ้อมทรมานมีเค้าจะผลุดโผล่ตามมาอีก แม้จะไม่มากเป็นดอกเห็ดแต่เมื่อเทียบกับความยากของการพิสูจน์ ความยากจากการเอาชนะความกลัวของเหยื่อ สิ่งที่กำลังปรากฏอาจจะกลายเป็นหลักฐานชี้จุดบอดใหญ่ในกระบวนการการทำงานของภาครัฐก็เป็นได้ แต่ถึงที่สุดแล้วหลายคนยังยอมรับว่า การป้องกันไม่ให้มีการซ้อมทรมานนั้นไม่ได้อยู่ที่การมีกฎหมายบังคับใช้เท่านั้น ทว่าส่วนสำคัญยังอยู่ที่วิธีการทำงานของบุคลากรในองค์กร หากการซ้อมทรมานเป็นหนทางให้ได้มาซึ่งข้อมูลและคำรับสารภาพ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอาจจะต้องปรับทัศนะใหม่ เพราะการใช้กำลังบังคับไม่ใช่หลักประกันว่าสิ่งที่ได้จะเป็นความจริง ในพื้นที่ความขัดแย้งอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น การคลี่คลายคดีควรจะต้องอาศัยพยานหลักฐานที่ได้มาอย่างโปร่งใส ไม่เช่นนั้นผลที่ได้ก็รังแต่จะทำลายความน่าเชื่อถือของตัวเองและกระบวนการยุติธรรม และเพื่อจะให้ได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้เจ้าหน้าที่ควรจะต้องมีกระบวนการทำงานอย่าง “มืออาชีพ” ยึดหลักการและเหตุผลเพื่อให้ผลที่ได้เป็นที่ยอมรับ ซึ่งแน่นอนไม่น่าจะใช่อาการประเภท “เลี่ยงบาลี” อย่างที่เห็นในคดีซุลกิพลีเมื่อวันที่ 24 ก.พ.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท