ประเด็น “ทรงแทรกแซงการเมืองหรือไม่?” ที่ปรากฏในงานวิชาการและไม่ผิด ม.112

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เป็นไปได้ที่คุณอาจจะเป็น “อากง” คนต่อไป ถ้าเพียงแต่ปรากฏว่ามี “ข้อความหมิ่นฯ” ถูกส่งมาจากโทรศัพท์มือถือของคุณ และโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการ “พิสูจน์อย่างสิ้นสงสัย” ว่าคุณเป็นคนส่งข้อความนั้นเองหรือไม่ คุณก็อาจจะถูกตัดสินจำคุกถึง 20 ปี

และเป็นไปได้เช่นกันที่จะมีคนนำเอาข้อความบางข้อความที่คุณพูดหรือเขียน ไปตีความว่า “หมิ่นฯ” และนำไปแจ้งตำรวจ แล้วตำรวจก็เอา “ความหมายที่ถูกตีความ” แล้วนั้นมาตั้ง “ข้อหาหมิ่นฯตาม ม.112”

หมายความว่า ข้อความตามหลักฐานที่เป็น “ภววิสัย” (objective) มี “ความหมายตามตัวอักษร” อย่างหนึ่ง ซึ่งถูกต้องตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่มีคนไปตีความให้มี “ความหมายตรงกันข้าม” ตาม “อัตวิสัย” (subjective) ของตนเอง แล้วเอา “ความหมายที่เป็นอัตวิสัย” นั้นไปแจ้งความ และตำรวจก็รับเอา “ความหมายที่เป็นอัตวิสัย” ดังกล่าวมาตั้งเป็น “ข้อกล่าวหาตามมาตรา 112” (ทั้งๆ ที่ตำรวจเองก็ทราบข้อมูลอยู่แล้วด้วยซ้ำว่า “ความหมายที่เป็นอัตวิสัย” นั้น มาจากคนที่มีความเห็นต่างทางการเมือง ที่ตามด่าท้ายบทความของผู้ถูกกล่าวหาอย่างต่อเนื่องมานาน)

บท ความนี้ผมจึงเขียนขึ้นเพื่อเป็น “บทเรียน” โดยหวังว่าในแวดวงวิชาการ และสังคมในวงกว้างจะได้เรียนรู้ร่วมกันว่า แม้แต่ “ความหมายที่ถูกตีความตามอัตวิสัย” นั้น ตรงกับข้อความที่มีการพูดถึง เขียนถึง หรือถกเถียงในทางวิชาการ ในสื่อต่างๆ หรือเผยแพร่อย่างเป็นสาธารณะ “อย่างถูกกฎหมายอยู่แล้ว” ยัง “ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีตาม ม.112” ได้ แล้วเราจะตั้งคำถามกับ “ระบบยุติธรรมไทย” กันอย่างไร?

เช่น สมมติว่าถ้ามีใครเสนอความคิดเห็นหรือข้อเสนอเชิงวิชาการใน “บริบท” ของการแสดงความคิดเห็นท้ายบทความทางวิชาการ ในเว็บไซต์ที่เสนอข่าวสาร บทความวิชาการต่างๆ อย่างถูกกฎหมาย (ไม่ใช่เว็บไซต์ที่ทำขึ้นอย่างผิดกฎหมายมุ่งโจมตีให้ร้ายสถาบันกษัตริย์) ว่า “...ต้องไม่แทรกแซงการเมือง” ซึ่งความหมายตามตัวอักษรที่เป็น “ภววิสัย” ของข้อความนี้ถูกต้องตามหลักการที่ว่า “สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง” อยู่แล้ว ดังความเห็นของ ศ.ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา นักวิชาการฝ่ายกษัตริย์นิยมเองที่เขียนไว้ในบทความชื่อ “สถาบันพระมหากษัตริย์กับการปกครองระบอบประชาธิปไตย” ตีพิมพ์รวมเล่มในหนังสือ “รอยยิ้มของในหลวง” หน้า 226 ว่า

“ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2535 จึงบัญญัติว่า มาตรา 6 องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และกำหนดโดยปริยายว่า พระมหากษัตริย์จะต้องทรงอยู่เหนือการเมือง กล่าวคือ ต้องทรงวางพระองค์เป็นกลาง ไม่เข้ากับพรรคการเมืองใด การปรึกษาราชการแผ่นดินต้องทรงกระทำกับคณะรัฐมนตรี หรือคณะองคมนตรีเท่านั้น และจะต้องทรงปลีกพระองค์จากปัญหาข้อขัดแย้งทางการเมือง คือไม่ทรงวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ทางการเมืองในที่สาธารณะ

แต่บังเอิญมีคนไปตีความข้อความที่ถูกต้องตามหลักการอยู่แล้วนี้ให้มีความ หมายตาม “อัตวิสัย” ของคนตีความนั้นเองว่า ผู้แสดงความเห็นข้างต้นมีเจตนาใส่ร้ายว่า “...แทรกแซงการเมือง” แล้วตำรวจก็นำ “ข้อความที่ถูกตีความตามอัตวิสัย” นั้น มาตั้งข้อหาดำเนินคดีตาม ม.112

คำถามที่ 1  การตั้งข้อหาในคดีอาญาที่มีโทษจำคุกสูงมาก ตั้งแต่ 3-15 ปี ที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่ารุนแรง ด้วยการยึด “หลักฐานที่เป็นอัตวิสัย” คือความหมายของข้อความที่ถูกตีความ มากกว่า “หลักฐานที่เป็นภววิสัย” คือ ความหมายของข้อความตามที่ปรากฏอยู่จริงอย่างตรงไปตรงมา เป็นการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เช่น

มาตรา 26 การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กรต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา 29 การจำกัดสิทธิ เสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้ และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้

คำถามที่ 2 เพื่อพิทักษ์ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพของประชาชน ก่อนตั้งข้อหาดำเนินคดีอาญาที่มีโทษรุนแรงขนาดนั้น ได้มีการศึกษาหรือไม่ว่า “ข้อความที่ตีความตามอัตวิสัย” นั้น มีการพูดถึง เขียนถึง และเผยแพร่อย่างเป็นสาธารณะอยู่แล้วโดยไม่ได้ผิดตาม ม.112 แต่อย่างใด  

สิ่งที่ผมจะ “ยกตัวอย่าง” มาให้เห็นคือประเด็นว่า “พระมหากษัตริย์ทรงแทรกแซงการเมืองหรือไม่?” เป็นประเด็นที่พูดถึงได้ในทางวิชาการ และมีการเผยแพร่ต่อสาธารณะมานานแล้ว และมีอยู่อย่างมากมายแล้ว ทั้งเป็นงานวิชาการของนักวิชาการฝ่ายก้าวหน้า นักวิชาการฝ่ายกษัตริย์นิยม รวมทั้งมีการเผยแพร่ข้อความที่ว่า “พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันทรงแทรกแซงการเมือง” ในหนังสือที่ทำขึ้นเพื่อ “เทิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน” อีกด้วย

ขอยกมาให้เห็นบางตัวอย่าง เช่น (1) มีการอ้างถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ (2) มีการเผยแพร่บทความทางวิชาการโดยนักวิชาการชาวต่างชาติที่ตีพิมพ์เผยแพร่สู่ สาธารณะทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ (3) มีการเผยแพร่บทความในหนังสือที่จัดทำขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติ และ (4) มีการถกเถียงในเรื่องการแทรกแซงเผยแพร่ต่อสาธารณะอยู่แล้ว ดังรายละเอียดโดยสรุป

(1) มีการอ้างถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เช่นที่สายชล สัตยานุรักษ์ เขียนไว้ในหนังสือชื่อ “คึกฤทธิ์กับประดิษฐกรรมความเป็นไทย เล่ม 2” [1] หน้า 9 ความตอนหนึ่งว่า

“ใน วันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ก่อการรัฐประหาร โดยเรียกประชุมคณะทหารในเวลา 18.00 น. และเริ่มปฏิบัติการยึดอำนาจในวันที่ 16 นั้น ปรากฏว่าในคืนเดียวกันได้มีพระบรมราชโองการประกาศผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียง และได้มีการตีพิมพ์พระบรมราชโองการดังกล่าวใน ราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 76 เล่มที่ 74 วันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 โดยไม่มีผู้ใดลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ความว่า

 

เนื่อง ด้วยปรากฏว่ารัฐบาลอันมีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีได้บริหารราชการแผ่นดินไม่เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ทั้งไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้ คณะทหารซึ่งมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้า ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองไว้ได้ และทำหน้าที่เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ข้าพเจ้าจึงขอแต่งตั้งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ขอให้ประชาชนทั้งหลายจงอยู่ในความสงบ และให้ข้าราชการทุกฝ่ายฟังคำสั่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

 

การ มีประกาศพระบรมราชโองการทางวิทยุในทันทีที่การรัฐประหารเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่การดำเนินการรัฐประหารเริ่มขึ้นในตอนกลางคืน น่าจะเป็นสาเหตุทำให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เกิดความเข้าใจว่าพระมหากษัตริย์ทรงสนับสนุนการก้าวขึ้นสู่อำนาจของจอมพลสฤษดิ์อย่างเต็มที่...”

 

จะเห็นได้ว่า ข้อความข้างบน โดยเฉพาะที่ขีดเส้นใต้ที่ว่า โดยไม่มีผู้ใดลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และที่ว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เกิดความเข้าใจว่าพระมหากษัตริย์ทรงสนับสนุนการก้าวขึ้นสู่อำนาจของจอมพลสฤษดิ์อย่างเต็มที่ เป็น “เรื่องราวทางประวัติศาสตร์” ที่มีการกล่าวถึงในแวดวงวิชาการอย่างเป็นสาธารณะอยู่แล้ว

 

(2) มีการเผยแพร่บทความทางวิชาการ โดยนักวิชาการชาวต่างชาติ ที่ตีพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณะทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่เผยแพร่ต่อ สาธารณะ โดยไม่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว เช่น หนังสือชื่อ Network Monarchy and legitimacy crises in Thailand โดย Duncan McCargo ศาสตราจารย์ด้านการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยลีดส์ ตีพิมพ์ลงใน : The Pacific Review, Vol. 18 No. 4 December 2005: 499-519 [2] ดังข้อความในบทคัดย่อตอนหนึ่งว่า

 

“…การ เมืองไทยสามารถถูกเข้าใจได้ดีที่สุดในรูปเครือข่ายทางการเมือง เครือข่ายชั้นแนวหน้าในช่วง 2516-2544 มีศูนย์กลางอยู่ที่พระราชวัง ซึ่งในที่นี้จะเรียกว่า "เครือข่ายกษัตริย์" (network monarchy) เครือข่ายกษัตริย์เกี่ยวพันกับการแทรกแซงการเมืองของพระมหากษัตริย์ไทยและตัวแทนของพระองค์ โดย เฉพาะอย่างยิ่ง อดีตนายกรัฐมนตรีเปรม ติณสูลานนท์ เครือข่ายกษัตริย์ได้สร้างอิทธิพลขนาดมหาศาล แต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จจนถึงขั้นครอบงำประเทศ...”

 

(3) มีการเผยแพร่บทความในหนังสือที่จัดทำขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติที่มีข้อความเกี่ยวกับการแทรกแซงทางการเมือง เช่น บทความชื่อ “พระทรงธำรงไว้ซึ่งขันติธรรม” โดย Anthony Bailey ในหนังสือ “รอยยิ้มของในหลวง”[3] เช่น

 

หน้า 189 ว่า “...แต่ พระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักว่าการเข้าแทรกแซง หรือไม่เข้าแทรกแซงของพระองค์ ย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยเหล่าผู้เชี่ยวชาญชาวตะวันตก…”

 

หน้า 190 ว่าเป็น ที่กล่าวกันว่ามิใช่คนทั้งโลกจะรักและเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงกระทำผิดพลาดหลายครั้ง รัฐบาลบางรัฐบาลในช่วงระยะเวลาการครองราชย์ของพระองค์ก็มิได้มาตามวิถีทาง แห่งประชาธิปไตย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงนำพระองค์เข้ามาเกี่ยวข้องกับการแก่งแย่ง ทางการเมืองมากกว่าหนึ่งครั้ง...”

 

และ หน้า 191 “สำหรับการแทรกแซงทางการเมืองของพระองค์นั้น ก็ไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างของผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวได้เช่นกัน ทั้งนี้เนื่องจากการเข้าแทรกแซงวิกฤตทางการเมืองของพระองค์สองครั้งในปี พ.ศ.2516 และ พ.ศ.2535 ได้นำมาซึ่งความนิยมและความเคารพนับถือในตัวพระองค์...”

 

(4) มีการถกเถียงในเรื่องการแทรกแซงเผยแพร่ต่อสาธารณะอยู่แล้ว เช่น คำถามของผู้สื่อข่าวบีบีซีและคำให้สัมภาษณ์ของนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี บทสัมภาษณ์ดังกล่าวนี้ (คำแปล) เป็นบทสัมภาษณ์ที่นายอานันท์ ปันยารชุน ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวต่างประเทศหลังจากแนะนำหนังสือชื่อ “The King of Thailand in World Focus”  เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2550 ณ โรงแรมโอเรียนเต็ล ต่อมาถูกนำมาตีพิมพ์รวมเล่มในหนังสือ “รอยยิ้มของในหลวง” ในหัวข้อ “พระมหากษัตริย์ที่ดีและยิ่งใหญ่” หน้า 113-121 ความบางตอนว่า

 

โจนาธาน เฮด จากบีบีซี:

ผม สังเกตว่าเมื่อคุณพูดถึงความสำเร็จต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความสำเร็จประการหนึ่งก็คือ การแทรกแซงของพระองค์มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อความสงบและความกลมเกลียวของ สังคม...ผมทราบมาว่ามีคนจำนวนไม่น้อยตำหนิสุภาพบุรุษท่านหนึ่ง ซึ่งขณะนี้กำลังปราบปลื้มกับการเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลระดับยอดของบริติชพรี เมียร์ลีก ว่าเป็นต้นเหตุของความร้าวฉานส่วนใหญ่ในสังคม ผมชักจะสงสัยว่า สังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไปมากจนเกินกว่าที่พระองค์จะมีส่วนธำรงความสามัคคี ของสังคมไว้ได้ ปัจจุบันสังคมได้ก้าวไปไกลมาก และปัญหาก็ซับซ้อนเกินจะเยียวยาด้วยการแทรกแซงของพระองค์แล้ว (หน้า 114)

 

นายอานันท์ ปันยารชุน กล่าวตอบความตอนหนึ่งว่า

...เรื่องซึ่งชาวต่างชาติมองว่า พระองค์แทรกแซงผมขอแยกออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกเป็นการแทรกแซงที่ริเริ่มโดยบุคคลผู้นั้นเอง ในกรณีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวการแทรกแซงเป็นการเข้าไปโดยมีผู้ร้อง ขอ...(หน้า 115)

..นี่แหละที่ผมเห็นว่าเป็นการขัดแย้ง ในตัวเองของผู้สื่อข่าวและผู้สังเกตการณ์ต่างประเทศ ทางหนึ่งพวกคุณตำหนิพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ว่าแทรกแซงอีกทางหนึ่งคุณก็ คล้อยตามคนไทยและอาจจะไม่รู้ตัวว่ายังต้องการพึ่งพระราชอำนาจของพระองค์ อยู่...ถ้าหากพวกคุณไม่ต้องการให้พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้แทรกแซง การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ต่อไปไม่แทรกแซงจะไม่ถูกต้องได้อย่าง ไร...(หน้า 118)

เนื้อหาโดยรวมของบทสัมภาษณ์ดังกล่าว เป็นการกล่าวถึงสถานะ บทบาท พระราชอำนาจ ของพระมหากษัตริย์ในบริบทสังคม-การเมืองไทยในรัชกาลปัจจุบันตามที่เป็นมาและ เป็นอยู่ โดยเฉพาะบางส่วนมีการพาดพิงถึงสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองช่วง 19 กันยายน 2549 ด้วย ดังจะเห็นได้ว่าผู้สื่อข่าวถามตรงๆ ถึงการแทรกแซงของพระองค์ และนายอานันท์ก็พูดตรงๆ เช่นกันว่า ในกรณีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวการแทรกแซงเป็นการเข้าไปโดยมีผู้ร้องขอ และว่า พวกคุณตำหนิพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ว่าแทรกแซง หรือ ถ้าหากพวกคุณไม่ต้องการให้พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้แทรกแซง นี่คือการพูดถึงพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันตรงๆ ว่ามีการตำหนิว่าพระองค์แทรกแซง

 

สรุปส่งท้าย “ปริศนาระบบยุติธรรม”
จะเห็นว่า ประเด็น “ทรงแทรกแซงทางการเมืองหรือไม่?” เป็นประเด็นที่มีการนำเสนอ แลกเปลี่ยน ถกเถียงด้วยเหตุด้วยผลในทางวิชาการที่เผยแพร่อย่างเป็นสาธารณะอยู่แล้ว โดยไม่ผิด ม.112 แต่อย่างใด

หมายความว่า หากเป็นการพูดถึง เขียนถึง แสดงความเห็นในประเด็นดังกล่าวด้วยเหตุด้วยผล มีหลักฐานข้อเท็จจริงเชิงวิชาการรองรับ หรือสามารถอธิบายได้ด้วยหลักการ เหตุผลตามหลักวิชาการ และอยู่ภายใต้หลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพทางวิชาการตามที่รับธรรมนูญรับรองก็ย่อมไม่ผิดตาม ม.112 เว้นเสียแต่ว่าเป็นการมุ่งให้ร้ายโจมตี ใส่ร้าย หยาบคาย เสียๆ หายๆ ที่บ่งชี้ถึง “การมีเจตนาอย่างชัดแจ้ง” ว่า เป็นการ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย” จริงๆ

คำ ถามจึงมีว่า เหตุใดระบบยุติธรรมจึงยังมีการบังคับใช้ ม.112 เอาผิดกับ “ข้อความที่มีความหมายตรงไปตรงมาตามตัวอักษรอย่างเป็น “ภววิสัย” ที่ถูกต้องตามหลักการอยู่แล้ว” แต่ “ถูกตีความ”ให้มีความหมายตาม “อัตวิสัย” ของผู้ตีความ และแม้แต่ความหมายตามอัตวิสัยที่ตีความมานั้นก็ตรงกับความหมายของข้อความตามที่เผยแพร่อย่างถูกกฎหมายอยู่แล้ว ดังตัวอย่างที่ยกมา

 

ข้อ กล่าวหาที่เป็น “อัตวิสัย” ในลักษณะดังกล่าวนี้ จะถือว่าเป็น “ข้อกล่าวหาอันเป็นเท็จ” ได้หรือไม่? ฝากท่านผู้รู้ทางกฎหมายโปรดช่วยกันวินิจฉัยด้วยครับ เพื่อเป็น “บรรทัดฐานที่ถูกต้อง”ต่อไป!

และเมื่อต้องเผชิญกับการบังคับใช้กฎหมายเช่นนี้ ยิ่งทำให้ผมนึกถึง ปาฐกถาของ ศ.ธงชัย วินิจจะกูล เมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมาทีพูดตอนหนึ่งว่า “...สังคมไทยใช้มาตรา 112 ให้เป็นมากกว่ากฎหมายมาตราหนึ่ง ซึ่งขณะนี้เป็นเครื่องมือทำลายจิตวิญญาณของเสรีชน...”

และนึกถึงคำพูดของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยามและ Royalist ที่มีจุดยืนชัดเจนเรื่องความจงรักภักดีต่อสถาบันบนพื้นฐานของการวิพากษ์ วิจารณ์ตรวจสอบได้ ที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไทยและสื่อมวลชนต่างชาติ ต่อมานำมาตีพิมพ์รวมเล่มในหนังสือชื่อ “รากงอกก่อนตาย”[4] ความตอนในหน้า 283-284 ว่า

“...สิทธิมนุษยชนนั้นสำคัญสำหรับคนทั้งโลก แต่เมืองไทยในขณะนี้ไม่เคารพทั้งรัฐธรรมนูญและสิทธิมนุษยชน...แล้ว ยังมีคดีล่าสุดที่มีหมายเรียกอาจารย์สุรพศ ทวีศักดิ์ ซึ่งข้อเสนอของอาจารย์ ไม่มีข้อไหนโจมตีว่าร้ายสถาบันแต่อย่างใด ถ้ารัฐบาลนี้ฉลาดก็ควรออกมาจัดการระงับคดีต่างๆ ทั้งหมด เพราะแม้แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังรับสั่งว่าคดีหมิ่นทำร้ายพระองค์ ท่าน”

และดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548 ความว่า

"แต่อย่างไรก็ตาม เข้าคุกแล้ว ถ้าเป็นการละเมิดพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์เองเดือดร้อน เดือดร้อนหลายทาง ทางหนึ่งต่างประเทศเขาบอกว่าเมืองไทยนี่พูดวิจารณ์พระมหากษัตริย์ไม่ได้ ว่าวิจารณ์ไม่ได้ก็เข้าคุก มีที่เข้าคุก เดือดร้อนพระมหากษัตริย์"

คำถามของประชาชนผู้รัก “ประชาธิปไตย” และ “ความยุติธรรม” อย่างแท้จริง จึงมีว่า

จิตสำนึก ประสิทธิภาพ ความรับผิดชอบของระบบยุติธรรมไทยต่อการบังคับใช้ ม.112 ตามที่เป็นอยู่นี้ (1) ยึดการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่? (2) ใช้เป็นเครื่องมือทำลาย “จิตวิญญาณเสรีชน” หรือไม่? (3) ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่? และ (4) แม้กระทั่งได้สร้างความเดือดร้อนแก่ “องค์พระมหากษัตริย์” เอง หรือไม่ เมื่อข่าวการบังคับใช้กฎหมายอย่าง “ไม่มีมาตรฐานที่แน่นอน” และทำลาย “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ของประชาชนถูกตีแผ่ไปทั่วโลก?

 

 

อ้างอิง
[1] สายชล สัตยานุรักษ์.คึกฤทธิ์กับประดิษฐกรรมความเป็นไทย เล่ม 2.กรุงเทพฯ:มติชน,2550.

[2] อ่านฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ http://www.ingentaconnect.com/content/routledg/rpre/2005/00000018/0000004/art00

[3] สำนักข่าวเจ้าพระยา.รอยยิ้มของในหลวง.ลำพูน: ณัฐพลการพิมพ์.มปป.

[4] ส.ศิวรักษ์.รากงอกก่อนตาย.กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์,2555.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท