Skip to main content
sharethis

ช่วงเย็นวานนี้ (25 ก.พ.) เครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดินหรือกลุ่มเสื้อหลากสี ได้ชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพฯ เพื่อคัดค้านการตั้ง สสร. ขึ้นมาแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ทั้งฉบับ เนื่องจากทางกลุ่มเชื่อว่าเป็นการแก้ไขเพื่อช่วยเหลือคนๆ เดียว โดยทางกลุ่มเริ่มชุมนุมตั้งแต่เวลา 16.00 น. ถึง 18.00 น. ก่อนเดินทางกลับ และได้หมายนัดรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิทุกวันเสาร์ เพื่อดูท่าทีว่าคณะกรรมาธิการร่วมแก้มาตรา 291 จะแปรญัตติออกมาเป็นอย่างไร

และนอกจากการนัดชุมนุมทุกวันเสาร์แล้ว ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 2 มี.ค. กลุ่มเสื้อหลากสี และภาคีเครือข่าย 13 องค์กร อาทิ กลุ่มสยามสามัคคี และนักวิชาการ จะไปร่วมจัดเสวนาเรื่องนี้กันที่เวทีลีลาศสวนลุมพินี

นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ให้สัมภาษณ์เมื่อ 25 ก.พ. 55 ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ที่มา: Prachatai/youtube.com)

นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถึงเหตุผลในการคัดค้านการตั้ง สสร. เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับ โดยระบุว่ามีความกังวลมาก ถ้าไปดูการอภิปรายที่กล่าวหาว่ารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย โดยละเว้นจะพูดเรื่องการซื้อสิทธิ์ ขายเสียง จนถึงมีการยุบพรรคพลังประชาชนเป็นศัตรูร้ายของประชาธิปไตย บางท่่านถึงกับบอกว่าแก้ 2550 แล้วทักษิณจะกลับมา โดยอ้างว่าแก้แล้วจะเป็นประชาธิปไตย ซึ่งผมว่ามันเป็นแต่รูปแบบ ตอนนี้ประชาธิปไตยไทยเป็นแต่รูปแบบ บางคนบอกว่าจะต้องให้มีการตรวจสอบศาลโดยนักการเมือง จะต้องมาสาบานตน หรือประธานศาลต่างๆ จะต้องถูกรับรองโดยนักการเมือง ผมขอบอกว่านักการเมืองก็พาประเทศลงเหวมา ยกตัวอย่างเช่นที่เยอรมันสมัยฮิตเลอร์

"และตอนนี้เรากำลังถูกชักจูงว่ารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย หรือทุกสิ่งทุกอย่างต้องยึดโยงกับการเลือกตั้งหรือนักการเมือง อันนี้เรากำลังจะพาประเทศลงเหว และเรากำลังได้รัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติ ต่างๆ เพื่อให้ทักษิณกลับมามีอำนาจ อันนี้เราจะเห็นได้จากคำกล่าว คำอภิปราย คำให้สัมภาษณ์จาก ส.ส.เพื่อไทย"

ต่อคำถามที่ว่าทางกลุ่มจะดำเนินการต่ออย่างไร หลังสมาชิกสภามีมติ 399 เสียงรับหลักการแก้ไข ม.291 ในรัฐธรรมนูญ นพ.ตุลย์กล่าวว่า จะไปแสดงตนต่อประธานวุฒิสภาเพื่อรวบรวมรายชื่อประชาชนมาถอดถอนบุคคล 399 คนที่ลงมติรับรอง เพราะการกระทำผิดรัฐธรรมนูญ "การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตาม ม.291 ให้แก้ไขเพิ่มเติม ไม่ใช่อนุมัติให้คนอื่นมาฉีกรัฐธรรมนูญ นี่เขาทำขัดรัฐธรรมนูญเอง คณะรัฐมนตรีแทนที่จะร่างเองแล้วส่งให้รัฐสภาพิจารณาแต่กลับให้คนอื่นมาทำแทน ถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ เราอยากให้คณะรัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. หรือประชาชน 50,000 เสนอมาเลยว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยตนเองนี่เป็นประชาธิปไตยโดยตรง"

ส่วนกรณีการต่อต้านการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นพ.ตุลย์กล่าวว่า ถ้ากลุ่มที่ทำการรณรงค์แก้ไข ม.112 ยื่นรายชื่อมา รองประธานสภาก็จะนำ 3 หมื่นรายชื่อที่เครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดินยื่นไว้มาพิมพ์พร้อมใบปะ หน้าว่ามีผู้คัดค้านการแก้ไข ม.112 ด้วยเหตุผลใด เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใช้ประกอบการพิจารณา

กรณีที่มีการอภิปรายในที่สาธารณะ นพ.ตุลย์กล่าวว่า "ค่อนข้างเป็นห่วงเราคิดว่าหลายๆ เรื่องเป็นเรื่องอ่อนไหว อาจกระทบกับสถาบัน โดยเฉพาะถ้าไม่มีการกลั่นกรองก่อน การพูดบางเรื่องเช่นควรทำแท้งเสรี เปลือยกายได้ หรือควรให้ขายยาเสพย์ติดได้สักสิบเม็ด บางสิ่งบางอย่างที่จะพูดในที่สาธารณะก็ควรกลั่นกรองก่อน เพราะฉะนั้นผมคิดว่าคณะนิติราษฎร์เอย ครก.112 ควรมีการพูดคุยโดยมีผู้คัดค้านด้วย ในวงวิชาการ มีการทบทวน ก่อนที่จะกล่าวอ้างว่ามีคดี 400-500 คดีในปี 2553 คุณตอบสอบหรือยังว่าเป็นคนกลุ่มเดียวกับที่จะกระทำหรือตกลงกันว่าจะกระทำ หรือเปล่า"

"หรือคุณจะอ้างคดีอากง คุณตรวจสอบหรือยังที่ว่าอากงเขาบอกว่าเขาไม่ได้ทำ แล้วอากงหรือคนที่ทำตัวจริงทำไมจึงใช้ซิมมือถือที่ลงทะเบียนให้ตำรวจจับได้ ผมบอกกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศ บอกกับสถานทูตสหรัฐว่า ปกติคนที่จะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทาง SMS ไม่มีใครเลยที่เขาใช้ซิมที่ลงทะเบียนชื่อตัวเองให้ถูกจับได้"

นพ.ตุลย์ แสดงความไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอของนิติราษฎร์ที่ให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้ กล่าวโทษในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นพ.ตุลย์กล่าวว่า กรณีคดีหมิ่นประมาทส่วนบุคคล ใครก็ฟ้องแทนผมไม่ได้ แต่พระมหากษัตริย์เป็นสถาบันของคนทั้งชาติ เพราะฉะนั้นถ้ามีใครกระทำหมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย สามารถไปฟ้องได้ แต่คนที่ฟ้องไม่ใช่เจ้าของคดี เจ้าของคดีคือตำรวจ และอัยการ เราแค่ไปแจ้งความว่ามีผู้กระทำผิดกฎหมายอาญา เข่น มีคนขโมยสายไฟฟ้าสาธารณะ อย่างนี้คุณจะรอให้การไฟฟ้าไปฟ้องหรือครับ ไม้ใช่ครับทุกคนมีส่วนร่วมฟ้องได้ ผมก็แปลกใจว่าทำไมคณะนิติราษฎร์ ซึ่งเป็นอาจารย์กฎหมายปริญญาเอก กลับมองข้ามตรงนี้ กลับไปเลือกข้อมูลที่สนับสนุนตัวเอง

ส่วนที่มีรายงานว่า นพ.ตุลย์ เคยเสนอให้มีการแก้ไข ม.112 นพ.ตุลย์ กล่าวด้วยว่่า "มีคนบอกว่าหมอตุลย์เคยเสนอให้แก้ไข ใช่ครับ ผมเสนอแก้ โดยให้แยกโทษเป็นขั้นบันได อย่างกรณีโชติศักดิ์ อาจไม่เกิน 6 เดือน หรือรอลงอาญาก็ได้ หรืออาจกำหนดจะมีโทษใหม่ๆ ที่เรานึกไม่ถึงหรือไม่เคยปรากฎมาก่อน แต่โทษบางโทษควรไม่ต่ำกว่า 10 ปี เช่น ใส่ร้ายด้วยความเท็จ และต้องพิจารณาคดีเป็นความลับ แต่่ความลับไม่ได้แปลว่าไม่มีใครอยู่ในที่พิจารณาคดีเลยนะครับ ก็เหมือนคดีดา ตอร์ปิโด ที่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งก็บอกว่าไม่ผิดรัฐธรรมนูญ ก็อยากให้ทางคณะนิติราษฎร์ อาจให้คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เป็นเจ้าภาพแล้วให้ผู้สนับสนุนและคัดค้านมาคุยกันก่อนที่จะเอาไปเปิดเผย ผมคิดว่าสิ่งที่นิติราษฎร์ และ ครก.112 กำลังทำอยู่ เขาเรียกว่าโปรปากันด้า (โฆษณาชวนเชื่อ) ไม่ใช่เสรีภาพทางวิชาการ" นพ.ตุลย์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net