Skip to main content
sharethis

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ปาฐกถา หัวข้อ “จากสมาคมสู่ประชาคมอาเซียน : เรื่องจริงหรืออิงนิยาย” ซึ่งจัดขึ้นวันที่ 24 ก.พ.55 ที่ห้อง 301 คณะศิลปศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์ โดยเขากล่าวถึงพรมแดนความรู้เกี่ยวกับอาเซียนของประเทศไทยซึ่งจากการทำสำรวจครั้งล่าสุดพบว่าไทยมีความตื่นตัวเกี่ยวกับอาซียนอยู่ในอันดับสุดท้ายของประชาคม แต่กลับมีความดัดจริตคิดว่าภาษาไทยจะเป็นภาษากลางของอาเซียน จากนั้นจึงเริ่มบรรยายพื้นฐานเกี่ยวกับจุดกำเนิดสมาคมอาเซียนซึ่งกำลังจะก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาคมใน ค.ศ. 2015 นี้ ทั้งนี้ เขาเห็นว่า อุปสรรคในอาเซียนที่สำคัญก็คือการเมืองภายในของแต่ละประเทศเอง โดยประเทศไทยก็ตกอยู่ภายใต้อุปสรรคเช่นนี้ และหากไทยยังต้องการสถานะความเป็นผู้นำอาเซียนซึ่งชะงักไปนับแต่มีการรัฐประหารและมีความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศ ไทยก็ต้องกลับมาให้ความสำคัญกับอาเซียนให้มากขึ้น ................................................................................................... จุดกำเนิดของเซียน เกิดจากความไม่มีเสถียรภาพในประเทศสมาชิกทั้งหมด วันก่อตั้งอาเซียนคือ 8 สิงหาคม 1967 ประชากรอาเซียนขณะนี้มีประมาณ 580 ล้านคน การค้าอยู่ที่ 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แต่ตัวเลขการค้าระหว่างกันเองมีประมาณ 458 ล้านเหรียญสหรัฐ การลงทุนจากภายนอกมีประมาณ 53.17 พันล้านเหรียญสหรัฐ ช่วงบูมสุดคือช่วงทศวรรษ 1960-1970 ภาษาทางการของอาเซียนส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งระหว่างกันในประเด็นการให้ความสำคัญต่อภาษาใดภาษาหนึ่งเป็นพิเศษ ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ใช้โดยไม่มีการแปลเป็นภาษาอื่นและใช้ในการประชุมอาเซียนที่มีการประชุมปลีกย่อยกว่า 1,000 การประชุมในหนึ่งปี ซึ่งการประชุมปลีกย่อยเหล่านี้เองก็เป็นข้อจำกัดให้เจ้าหน้าที่แทบไม่ต้องทำอะไรนอกจากเตรียมการประชุม ในทุกๆ การตัดสินใจหลักของอาเซียนจะไม่มีการโหวต ทุกประเทศต้องเห็นพ้องต้องกัน ซึ่งมีทั้งข้อดี คือ ลดความขัดแย้งที่จะเกิดในหมู่สมาชิก ข้อเสียคือ ทำให้กระบวนการทำงานช้า เพราะต้องให้เห็นพ้องต้องกัน เช่น กรณีประเทศติมอร์ตะวันออก ซึ่งจะเข้ามาเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียพยายามดึงติมอร์เข้ามาเป็นสมาชิก แต่ยังไม่ได้รับความเห็นพ้องจากประเทศสมาชิกอื่นๆ อาเซียนเป็นการรวมตัวกันโดยไม่มีลักษณะพันธมิตรทางการทหาร เพื่อลดความหวาดระแวงจากประชาคมโลก แต่หลายประเทศก็เป็นพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐ เช่นประเทศไทย ประเทศสมาชิกทั้งหมดเป็นสมาชิกยูเอ็นอยู่แล้ว และประชาคมอาเซียนก็เป็นผู้สังเกตการณ์ของยูเอ็นด้วย อาเซียนมีเป้าหมายในการรวมตัวคือเพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม, ความมีเสถียรภาพและสันติภาพ ความร่วมมือในหลายๆ ด้านทั้งดานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี, การพัฒนาคุณภาพชีวิตผ่านความร่วมมือกัน, การช่วยเหลือในด้านการศึกษาวิจัย, การโปรโมทด้านการศึกษาเกี่ยวกับอาเซียน และความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ ทั้งในภูมิภาคและระหว่างประเทศ อาเซียนไม่ได้เป็นอาเซียนโดดๆ แต่ได้ผนวก (plus) กับประเทศในภูมิภาคอื่นๆ เช่น ASEAN+, 3 ASEAN+6 และ ASEAN+ 8 ฉะนั้นการประชุมระดับรัฐมนตรีไม่ได้มีแค่ 10 ประเทศ เป็นฟอรัมที่ดีที่เป็นการกระชับความสัมพันธ์ระดับรัฐมนตรี เป็นการคุยให้เรียบร้อยก่อนที่ผู้นำจะลงนาม ปวินกล่าวถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กว่านายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนั้นพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ถือเป็นเรื่องน่าอับอายว่า “อยากจะบอกว่า ผู้นำเขาไม่ต้องคุยกันแล้ว คุณยิ่งลักษณ์เขาก็ไปอวดความงาม ไปถ่ายรูป ไม่มีการคุยกันอีกแล้ว เพราะในรายละเอียดต้องให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องคุยกัน” อาเซียนมีบทบาทอย่างไร เมื่อสงครามเย็นยุติ ความขัดแย้งในกัมพูชาก็จบลงในปี 1991 ที่มีการลงนามกันที่ปารีส เป็นการจบสงครามยาวนาน 13 ปี อาเซียนมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้ประสานงานให้เกิดสนธิสัญญาปารีสได้ ในปี 1992 มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน ซึ่งไทยเป็นผู้เสนอ การทำสัญญา FTA นั้น ต้องถือประเทศในอาเซียนเริ่มก่อนภูมิภาคอื่นๆ 1994 ผู้นำเริ่มฟอรัมพูดคุยในกรอบความมั่นคง (ASEAN Regional Forum inaugural meeting- ARF) ซึ่งมีหลายประเด็นที่พูดคุยกันได้ เช่นความขัดแย้งเรื่องเส้นเขตแดน ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ หรือแม้แต่เรื่องปัญหาคาบสมุทรเกาหลี 1997 มีการรวมตัวกันมองไปยังอนาคต ส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจสังคม 1999 อาเซียนบวกสาม (ASEAN+3 ) เกิดขึ้นจากวิกฤตการเงิน ซึ่งทำให้อาเซียนตระหนักว่าต้องร่วมมือกับภูมิภาคอื่นๆ โดยพลัสทรี คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นสามประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจมากที่สุดในเอเชียตะวันออก หัวใจของการรวมตัวครั้งนี้คือการต้องการความช่วยเหลือจะประเทศเหล่านี้ จากอาเซียนพลัสทรี ก็ขยับมามีอาเซียน+6 คือบวกอีกสามประเทศได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย โดยมาร่วมประชุมในกัวลาลัมเปอร์ใน ปี 2005 ทั้งนี้ประเทศที่เข้ามาร่วมพลัสทั้งหลายต้องร่วมลงมือสนธิสัญามิตรภาพและความร่วมมือ เป็นการบังคับว่าถ้าอยากร่วมมือกับอาเซียนต้องยอมรับเงื่อนไขของอาเซียน และในที่สุดสหรัฐก็มาร่วมลงนามในปี 2008 ซึ่งช้ามาก ปี 2000 Chiang Mai Initiative เป็นการรวมตัวกันของรัฐมนตรีเศรษฐกิจการคลัง เพราะก่อนหน้านี้ ก่อนเกิดวิกฤตการเงิน ประเทศในภูมิภาคล้วนเอาเงินไปฝากไว้ในประเทศอื่นในยุโรป เช่น สวิสเซอร์แลนด์ ไอเดียคือ ประเทศในภูมิภาคนี้ควรจะรวมตัวกัน เอาเงินมารวมกันไม่ต้องพึ่งพาการเอาเงินไปฝากไว้ที่ต่างประเทศ เพราะประสบการณ์จากการกู้เงินจาก IMF และถูกบังคับให้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ไอเอ็มเอฟหลายๆ อย่าง ซึ่งทักษิณกล่าวว่าไทยตกเป็นเมืองขึ้นของไอเอ็มเอฟ เมื่อคืนเงินกู้ได้จึงประกาศอิสรภาพจากไอเอ็มเอฟ การประชุมครั้งนี้จึงมีความสำคัญ และไม่ว่าจะชอบทักษิณหรือไม่ ก็ต้องยกความดีความชอบให้ทักษิณเรื่องนี้ และทักษิณเองเป้นคนอยู่เบื้องหลังกองทุนการเงินอาเซียน เป็นเงินที่ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ กู้ด้วยสกุลเงินของประเทศผู้กู้ และจีนก็ให้ความสำคัญกับกองทุนนี้ อินเดียและญี่ปุ่นตามมา ทุกวันนี้กองทุนก็ดำเนินก้าวหน้าต่อไปถือเป็นความดีความชอบหนึ่งในบรรดาที่มีอยู่ไม่มากของทักษิณ ปี 2005 มีการพูดคุยกันว่า ควรจะมีการจัดทำธรรมนูญอาเซียน ซึ่งนี่เป็นข้อแตกต่างของอาเซียนเมื่อเทียบองค์กรอื่นๆ ที่รวมตัวกันในประชาคมโลก เพราะส่วนใหญ่มักรวมตัวโดยมีรัฐธรรมนูญ แต่เข้าใจว่านี้เป็นวิถีของอาเซียน คือความพยายามไม่ผูกมัดตัวเอง ปี 2007 มีการเห็นชอบร่วมกันกฎบัตรอาเซียน ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนผ่านของอาเซียน และใช้เวลา 1 ปี ในการให้มีผลบังคับใช้ กฎบัตรอาเซียนมีผลบังคับใช้ 15 กันยายน 2008 โดยทุกประเทศสมาชิกให้สัตยาบัน ประเทศที่มีปัญหาในการให้สัตยาบัน คือไทย เกือบบ๊วย และฟิลิปปินส์เป็นประเทศสุดท้าย หัวใจสำคัญของกฎบัตรอาเซียน สำคัญที่สุดคือการเป็นกรอบการทำงาน การนำนโยบายไปปรับใช้ การประสานงาน กระบวนการตัดสินใจ และที่สำคัญก็คือกฎบัตรอาเซียนมีการจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอาเซียน ซึ่งจุดมุ่งหมายของอาเซียนไม่ใช่การปกป้องสิทธิมนุษยชนแต่เป็นการละเมิดสิทธิ การทำงานของคณะกรรมการชุดนี้จึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก ตอนนี้จึงทำได้เพียงแต่การโปรโมท และคงต้องใช้เวลาอีกสักพัก เพราะประเทศในภูมิภาคนี้ล้วนแต่ละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งสิ้น กฎบัตรอาเซียนนั้นช่วยในแง่ของหลักการอาเซียนที่ต้องเห็นพ้องต้องกัน เพิ่มความสนิทสนมกันมากขึ้นระหว่างผู้นำในอาเซียน เพราะต้องมีการประชุมกันปีละสองครั้ง มีการกำหนดบทบาทใหม่ของประธานอาเซียน และเลขาธิการอาเซียนโดยที่ผ่านมาเลขาธิการอาเซียนเหมือนคนรองมือรองเท้ารัฐมนตรีต่างประเทศจากประเทศต่างๆ แต่บทบาทจากกฎบัตรนี้จะมีบทบาทมากขึ้น เช่นการเข้าแทรกแซงเมื่อเกิดการขัดแย้งกันของประเทศสมาชิก แต่ที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่าในกรณีของไทยกัมพูชาแทบจะไม่มีบทบาทของนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียนเลย เพราะส่วนหนึ่งคือ เป็นเลขาธิการอาเซียนเป็นคนไทย ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะให้กัมพูชาไว้วางใจ ขณะเดียวกัน รัฐบาลขณะนั้นคือรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะซึ่งพูดชัดๆ ว่าไม่เอาอาเซียนในการแก้ปัญหา ทำให้นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เสียโอกาสในการแสดงความสามารถในฐานะเลขาธิการอาเซียนอย่างน่าเสียดาย เสาหลักอาเซียน การเมืองกับความมั่นคง สมาชิกประเทศอาเซียนทุกประเทศจะต้องไม่ใช้กำลังในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง รวมถึงประกาศให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเขตปลอดอาวุธ “อาจจะมีคนพูดว่าจริงๆ แล้วอาเซียนชาร์เตอร์ไม่สำคัญหรอก เพราะอาเซียนก็อยู่มาได้ตั้งสามสิบปี โดยไม่มีการรบราฆ่าฟัน คำพูดนี้พูดได้ แต่มาถึงปี 2008 กรณีความขัดแย้งไทย-กัมพูชาทำให้เห็นว่าพูดแบบนี้ไม่ได้แล้ว ความขัดแย้งไม่ได้หายไปไหนและเป็นบทพิสูจน์ว่าอาเซียนชาร์เตอร์บังคับใช้ได้แค่ไหน แต่กรณีไทยกัมพูชา ผมบอกได้เลยว่าอาเซียนล้มเหลว เพราะกฎบัตรอาเซียนไม่มีบทลงโทษ” เช่นเดียวกันกับพม่า ซึ่งแม้อาเซียนจะบอกว่าพม่าต้องทำอะไรบ้าง แต่พม่าย่อมไม่ฟังเพราะไม่มีกฎข้อไหนของกฎบัตรอาเซียนที่ระบุว่าหากพม่าไม่ทำตามที่กำหนดไว้จะถูกขับออกจากความเป็นสมาชิก อีกประการที่ถือเป็นข้อด้อยของอาเซียนคือ หลักการไม่แทรกแซงกันและกัน และไม่ให้ประเทศอื่นเข้าแทรกแซง ซึ่งปวินมองว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศต่างๆ ล้วนมีบาดแผล ซึ่งไม่อาจจะเรียกร้องประเทศอื่นๆ ในสิ่งที่ประเทศตัวเองก็ไม่มี เช่น เสรีภาพสื่อมวลชน อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในแง่ของความร่วมมือทางเศรษฐกิจนั้นถือว่าก้าวหน้ากว่าด้านอื่นๆ และมีผลประโยชน์ในการร่วมมือกันอย่างเห็นได้ชัด เช่นการลดภาษีนำเข้าส่งออกซึ่งกันและกัน ทำให้พัฒนาการความร่วมมือด้านเศรษฐกิจรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ฉะนั้นความเชื่อมั่นเรื่องการร่วมมือเป็นชุมชนในปี 2015 ก็ตอบได้ว่า เป็นเรื่องเศรษฐกิจ มากกว่าเรื่องการเมือง นอกเหนือจากเรื่องความร่วมมือ สิ่งที่สำคัญคือการเชื่อมต่อกันของการคมนาคม เช่น เส้นทางรถไฟ สิงคโปร์-คุนหมิง และโอกาสความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาต่อไปยังพม่าก็มีสูง เพราะการเมืองในพม่ามีเสถียรภาพมากขึ้น ยังมีโครงการอีกจำนวนมากภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เช่น Visit ASEAN Pass ก็เป็นสิ่งที่เกือบประสบความสำเร็จแล้ว ขณะนี้ไทยเองก็เดินทางเข้าประเทศอาเซียนได้ทั้งหมด 9 ประเทศ ยกเว้นพม่า วัฒนธรรมและสังคม อาเซียนมีความร่วมมือกันในด้านวัฒนธรรมและสังคม เช่น การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ การจัดตั้งกองทุนเยาวชนอาเซียน มีการแลกเปลี่ยนกันภายใต้เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนและคิดว่าโครงการจะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกันป้องกันภัยที่ส่งผลกระทบต่อสังคม เช่น ภัยจากโรคระบาด และอาเซียนให้ความสำคัญเป็นพิเศษเพราะประสบภัยประภทนี้หลายครั้ง เช่น ซาร์ส ซึ่งมีการประชุมกันสมัยรัฐบาลทักษิณปี 2003, ไข้หวัดนก, การแพร่กระจายของ HIV นอกจากนี้มีความรวมมือกันแก้ปัญหาหมอกควัน มลพิษและภัยธรรมชาติทั้งหลาย เช่น สึนามิ และไซโคลนนาร์กิสซึ่งเข้าถล่มพม่าอย่างยับเยินในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ.2008 เป็นต้น ปวินกล่าวว่า ในประเด็นปัญหาพรมแดนที่เป็นปัญหาร่วมกันประการหนึ่งของอาเซียนนั้น วิธีแก้ปัญหาคงไม่ใช่การลากเส้นเขตแดน แต่สิ่งที่จะแก้ปัญหาคือ การเปลี่ยนเส้นเขตแดนมาเป็นความร่วมมือร่วม เช่นเป็นการท่องเที่ยว นอกจากนี้ กรณีการก่อการร้ายยังเป็นประเด็นสำคัญในภูมิภาคนี้ เพราะประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีกลุ่มขบวนการอยู่ เช่น เจไอ ในฟิลิปปินส์ก็มีกลุ่มมูโร ในไทยเองก็เพิ่งมีกรณีระเบิดโดยชาวอิหร่าน ความร่วมมือกับต่างประเทศที่เป็น Dialogue Partner System การแสวงหาความร่วมมือจากประเทศนอกประชาคม คือหัวใจสำคัญในการเชื่อมโยงอาเซียนเข้ากับเขตประชาคมโลกอื่นๆ เช่น ASIA-Europe Meeting, APEC เน้นเรื่องความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ โดยระยะหลังมานี้ ประเทศต่างๆ ที่เป็นคู่เจรจากับอาเซียนให้ความสำคัญกับอาเซียนโดยตั้งทูตประจำอาเซียน จากเดิมที่ใช้ทูตประจำกรุงจาการ์ต้า ขณะนี้มีทูตประจำอาเซียนที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลต่างๆ 5 ประเทศคือ สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ปวินตอบคำถามถึงกรณีที่อาเซียนจะรวมตัวเป็นประชาคมในปี 2015 ว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อภาคแรงงานของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไทยมีข้อจำกัดทางภาษามากกว่าหลายๆ ประเทศในภูมิภาคนี้ โดยเขาเห็นว่า การเคลื่อนย้ายแรงงานอาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม อยู่ที่ความพร้อมของรัฐบาลแต่ละประเทศที่จะเตรียมการในเรื่องดังกล่าวซึ่งเขาเห็นว่าไทยเริ่มต้นช้ากว่าประเทศอื่นๆ ปวินยังวิพากษ์นโยบายต่างประเทศไทยในประเด็นอาเซียนว่า ก่อนหน้านี้สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรนั้น มองข้ามบทบาทของอาเซียน เพราะทักษิณเป็นคนคิดใหญ่ เห็นว่าระบบราชการเชื่องช้า ขณะเดียวกันก็ต้องการก้าวเป็นผู้นำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งขณะนั้นมีช่องว่างให้กับผู้นำคนใหม่ เพราะมหาเธร์และลีกวนยูก็ลดบทบาทลงไปแล้ว ความทะเยอทะยานของทักษิณคือการคิดรวมเอเชียตะวันออกไปจนถึงตะวันตก ทำให้เกิด AEC และ ACMEC ทีคิดว่าไทยจะเป็นศูนย์กลาง มีการส่งนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ไปสมัครเป็นเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ทั้งหมดนี้เป็นการมองข้ามบทบาทอาเซียนไปโดยเห็นว่าอาเซียนเป็นของเก่า ดำเนินงานช้า อีกทั้งไม่อยากทำสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ทำไว้แล้ว เพราะประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญกับอาเซียน ตัวอย่างของการไม่ให้ความสำคัญเลย คือ กรณีที่มาเลเซียและอินโดนีเซียเสนอให้นำกรณีตากใบเข้าสู่การหารือ ซึ่งทักษิณปฏิเสธโดยระบุว่าจะวอล์กเอาท์ หลังจากรัฐบาลทักษิณ บทบาทของไทยในอาเซียนก็ชะงักไปโดยการรัฐประหาร และรัฐบาลทหารที่ตามมา ความหวังที่จะกลับคืนสู่บทบาทสำคัญของไทยในอาเซียนก็กลับมาอยู่ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่นายอภิสิทธิ์ก็ทำลายความหวังนั้นลงไปเพราะเน้นสร้างศัตรูมากกว่าสร้างมิตร ปวินกล่าวว่า สำหรับรัฐบาลปัจจุบัน เขาขอแนะนำนายกยิ่งลักษณ์ ว่าวิธีเดียวที่ไทยจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในอาเซียนได้ต้องกลับมาให้ความสำคัญกับอาเซียน และต้องระลึกไว้ว่าไทยไม่ได้เป็นประเทศมหาอำนาจที่จะดำเนินบทบาทโดยปราศจากอาเซียน สุดท้ายปวินระบุว่า อยากให้มองการพัฒนาของอาเซียนด้วยความเป็นจริง เพราะถ้าไม่มองตามความเป็นจริงก็จะคอยเปรียบเทียบกับสหภาพยุโรปตลอดเวลา ทั้งๆ ที่เป้าหมายของทั้งสององค์กรนี้ต่างกัน สหภาพยุโรปนันต้องการสร้างประชาคม (Community) ขณะที่เป้าหมายของอาเซียนคือการสร้างความร่วมมือของประเทศเพื่อนบ้าน (neighborhood) คือการหาเวทีเจรจากันแต่เมื่อไม่อยากจะเจรจากันก็ปิดประตูได้ เขาย้ำว่าหากจะมองหาอนาคตของอาเซียนก็ต้องมองจากความเป็นจริง แม้จะช้า ก็ต้องเข้าใจว่าทำไมมันถึงช้า และต้องไม่ลืมว่าประเทศในอาเซียนมีลักษณะที่ต่างกันมาก มีการปกครองสมบูรณาญาสิทธิ์แบบบรูไน คอมมิวนิสต์แบบเวียดนาม และประเทศที่เป็นอะไรก็ไม่รู้อย่างไทย เศรษฐกิจก็มีทั้งทุนนิยมสังคมนิยม ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผู้ก่อตั้งโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มธ. ร่วมการเสวนาและกล่าวในตอนท้ายว่า สภาวะของประเทศในอาเซียนนั้นเป็นภาวะที่ผ่านประสบการณ์เลวร้ายต่อกันและกัน เป็นประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยอคติ ซึ่งต้องหาวิธีที่จะทำให้เกิดความเข้าใจกัน การศึกษาประวัติศาสตร์จะศึกษาเฉพาะประวัติศาสตร์ของชาติตนเองไม่ได้ และทิ้งทายด้วยภาษิตรัสเซียว่า “ถ้าคุณไม่รู้ประวัติศาสตร์ก็ตาบอดข้างหนึ่ง แต่ถ้าคุณเชื่อประวัติศาสตร์โดยไม่มีข้อกังขาคุณตาบอด 2 ข้าง”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net