Skip to main content
sharethis

 

สถานทูตไทยในวอชิงตันดีซี ส่งจดหมายถึงนิตยสารฟอร์บส์ แจง สนง.ทรัพย์สินฯ เป็นสมบัติของชาติซึ่งแยกออกจากทรัพย์สินส่วนพระองค์ของพระเจ้าอยู่หัว มูลค่าทรัพย์สินของสถาบันฯ ที่ฟอร์บส์ตีพิมพ์จึงสูงเกินจริง พร้อมติง ไม่ได้เปิดเผยวิธีการได้มาซึ่งตัวเลขที่ชัดเจน ซึ่งอาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทย

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 55 นิตยสารฟอร์บส์ ได้เผยแพร่จดหมายที่ส่งมาจากสถานทูตไทยในกรุงวอชิงตัน ดีซี ซึ่งมีเนื้อหาชี้แจงต่อประเด็นต่างๆ ในบทความของฟอร์บส์ “In Thailand, A Rare Peek At His Majesty's Balance Sheet” ซึ่งเขียนโดย Simon Montlake เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2555 (ดูข่าวที่เกี่ยวข้อง) เกี่ยวกับสถานะทางการเงินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

จดหมายดังกล่าวชี้แจงว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้นแยกส่วนออกจากทรัพย์สินส่วนพระองค์ และมีการกำกับดูแลที่เป็นระบบ พร้อมทั้งเกื้อกูลสังคมและพสกนิกรไทยตามหลักการเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งไม่ตรงกับภาพลักษณ์ของสำนักงานทรัพย์สินฯ ในบทความนิตยสารฟอร์บส์ ที่ชี้ว่ามีรายได้ถึงเดือนละ 9-11 พันล้านบาท ซึ่งอาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดได้

จดหมายดังกล่าวซึ่งลงชื่อโดย อาจารี ศรีรัตนบัลล์ อัครราชทูตที่ปรึกษาประจำสถานทูตไทยในวอชิงตัน ชี้แจงว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ของไทย (Crown Property Bureau) ถูกก่อตั้งขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ฉบับ พ.ศ. 2479 พ.ศ. 2484 และ พ.ศ. 2491 ซึ่งได้แบ่งแยกทรัพย์สินส่วนพระองค์ออกจากทรัพย์สินของสถาบันกษัตริย์อย่างชัดเจน และตามกฎหมายก็ระบุไว้ชัดเจนว่า ถึงแม้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะได้รับการยกเว้นการเสียภาษี เช่นเดียวกับทรัพย์สมบัติของสาธารณะ แต่ทรัพย์สินส่วนพระองค์ก็ต้องชำระภาษีเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังระบุว่า การดูแลกำกับสำนักงานทรัพย์สิน ซึ่งดำรงสถานะเป็นองค์กรนิติบุคคล จะมีคณะกรรมการซึ่งมีรัฐมนตรีกระทรวงการคลังเป็นประธานโดยตำแหน่ง โดยคณะกรรมการดังกล่าวทำหน้าที่ดูแลรักษาและจัดการทรัพย์สินและอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ พร้อมทั้งสนับสนุนกิจกรรมเพื่อคุณประโยชน์ของ “พสกนิกร” (Thai subjects) และสังคมไทย ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามความเหมาะสม

จดหมายดังกล่าวระบุด้วยว่า การที่ฟอร์บส์ได้ประมาณยอดทรัพย์สินรวมของสถาบันกษัตริย์ไทยเป็นตัวเลขราว 30 พันล้านดอลลาร์นั้น ฟอร์บส์มิได้เปิดเผยถึงการคำนวณตัวเลขดังกล่าวหรือคำอธิบายที่ชัดเจน จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด ทั้งนี้ จดหมายจากสถานทูตไทย ชี้แจงว่า ทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นับเป็นของแผ่นดิน ซึ่งไม่ควรถูกคำนวณรวมไปกับทรัพย์สินของพระองค์ พร้อมทั้งชี้ว่า รายงานของนสพ.ซันเดย์ ไทมส์ ของวันที่ 29 พฤษภาคม 2554 ได้คำนึงถึงความไม่ถูกต้องนี้ และไม่ได้จัดให้พระมหากษัตริย์ไทย อยู่ในประมุขที่รวยที่สุดในโลกสามลำดับแรก

ในตอนท้ายของจดหมาย ระบุว่า “ตรงกันข้ามกับภาพลักษณ์ที่รวยสุดขั้ว (ultra-rich) ของสถาบันกษัตริย์ไทยที่ฟอร์บส์พยายามจะสร้างขึ้น ใครที่รู้จักประเทศไทยและเคยขับผ่านพระราชวังจิตรลดาในกรุงเทพฯ ก็คงจะเห็นการวิจัยทางเกษตรกรรมที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นในบริเวณพระราชวัง ห้องวิจัยดังกล่าวทำหน้าที่เป็นแหล่งพัฒนาทดลองเพื่อใช้ในโครงการพัฒนาในพระราชดำริทั่วประเทศกว่า 4 พันแห่ง

“พระราชวังในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวน่าจะเป็นพระราชวังของพระมหากษัตริย์แห่งเดียวในโลกที่เต็มไปด้วยการทดลองปลูกนาข้าว บ่อปลา คอกหมูคอกวัว โรงสีข้าว และโรงงานเล็กๆ อีกหลายแห่ง” จดหมายจากสถานทูตไทยระบุ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net