Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) และคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคม จัดเสวนา ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่โรงแรมทีเค พาเลส กรุงเทพฯ สุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฎิรูปกฎหมาย (คปก.) เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 กำหนดให้มีการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานภายใน 1 ปี ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ตั้งคณะทำงาน จัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งส่งเสริมสถาบันความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย และมีความเป็นอิสระในการดำเนินงานอย่างแท้จริงสอดคล้องกับสภาพปัญหาที่ซับซ้อนในปัจจุบัน ทั้งนี้ คปก.เห็นว่ายังมีประเด็นโต้แย้งกันอยู่หลายเรื่อง จึงเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทราบถึงความคืบหน้า เนื้อหา และปัญหา ข้อถกเถียง เกี่ยวกับการจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งส่งเสริมสถาบันความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยจะประมวลข้อมูลเพื่อเสนอความเห็นต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป วินัย ลู่วิโรจน์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ไม่มีความขัดแย้งในเรื่องอำนาจหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน กับกรมสวัสดิการฯใดๆ ทั้งสิ้น ขณะที่การตั้งข้อสังเกตของหลายฝ่ายเกี่ยวกับที่มาของประธานกรรมการและคณะกรรมการ ประเด็นนี้มีข้อสังเกตว่า ควรให้ความสำคัญกับเรื่องระบบมากกว่าตัวบุคคล เช่น ระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด หากเห็นว่า ผู้แทนของลูกจ้างควรจะมาจากการเลือกตั้งก็เสนอได้ ทั้งนี้ร่าง พรฎ.ฉบับนี้ร่างขึ้นมาตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน หมวด 7 มาตรา 52 คือให้มีการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน แต่ยังไม่มีการระบุถึงรูปแบบในการจัดตั้ง อย่างไรก็ตาม คณะทำงานเห็นว่าควรจะอยู่ในรูปองค์การมหาชนภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน วินัย กล่าวว่า ล่าสุดได้จัดรับฟังความคิดเห็นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยังมีความคิดเห็นแตกต่างกันโดยในที่ประชุมเสนอให้มีการแก้ไขมาตรา8 โดยตัดถ้อยคำเรื่องร่วมทุนตาม (5) เพราะเกรงว่าจะเป็นภาระของสถาบันฯ โดยบางฝ่ายเห็นว่าสถาบันดังกล่าวจะต้องเป็นสถาบันที่ไม่แสวงหาผลกำไร แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็เห็นว่าเขียนร่างฯไว้ก่อนอาจลงทุนหรือไม่ก็ได้ นอกจากนี้ยังมีความเห็นในเรื่องของตำแหน่งประธานกรรมการ บางฝ่ายเห็นว่า ประธานกรรมการที่รัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นจะเป็นใครก็ได้ แต่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าต้องไม่ใช่เป็นข้าราชการ ขณะที่ตำแหน่งคณะกรรมการโดยตำแหน่งก็มีการเสนอว่าควรมี 2 คนก็น่าจะเพียงพอ โดยควรตัดอธิบดีกรมควบคุมโรคออกไปให้อยู่ในส่วนของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทน จากการรับฟังความเห็นดังกล่าว จะทำเรื่องเสนอให้รัฐมนตรีพิจารณา เพื่อดำเนินการในขั้นตอนทางกฎหมาย อย่างไรก็ตามก็มีกรอบระยะเวลาว่าทุกอย่างต้องแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2555 นี้ พรชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ผู้แทนเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเด็นความขัดแย้งขณะนี้มี 2 เรื่องใหญ่คือ ความเป็นอิสระขององค์กร ซึ่งฝ่ายรัฐนิยามว่าต้องอยู่ภายใต้กำกับของราชการ สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยจะต้องมีความเป็นอิสระมากที่สุด แม้จะอยู่ภายใต้กำกับของทางราชการก็ตาม ดังนั้นความคิดของการกำกับของทางราชการและแนวคิดของแรงงานจึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง สะท้อนออกมาใน 2 เรื่อง คือ มาตรา 7 และจะเห็นว่าโครงสร้างของผู้บริหารจะมีความเป็นอิสระได้อย่างไรในเมื่อยังเป็นประเด็นความขัดแย้งอยู่ ขณะที่ประเด็นเรื่องการให้มีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ มองว่าไม่ได้เป็นการทำงานซ้ำซ้อนกับกรมสวัสดิการฯ เหตุใดเรื่องแค่นี้กรมสวัสดิการฯไม่อาจยอมได้ พรชัย กล่าวว่า อำนาจการกำกับจะอยู่ที่รัฐมนตรีโดยเบ็ดเสร็จหรือไม่ ซึ่งที่เราเสนอควรกำกับภายใต้กฎหมายที่องค์การมหาชนได้ระบุไว้ คือรัฐมนตรีสามารถกำกับได้ แต่ไม่ควรมีอำนาจสั่งการใดรวมถึงไม่สามารถแต่งตั้งบุคคลใดๆ ได้ทั้งนี้เพื่อให้องค์กรมหาชนนี้เป็นอิสระและปลอดพ้นจากการแทรกแซงของฝ่ายบริหารประกอบกับเห็นว่า ประธานต้องไม่มาจากข้าราชการ แต่ฝ่ายราชการเห็นว่าต้องมาจากผู้ที่มีความรู้ความสามารถ แนวทางที่ดีที่สุดคือการเลือกตั้งโดยตรง ถ้าเลือกตั้งทางตรงไม่ได้จะให้กรรมการสรรหาเป็นผู้เลือกก็ยังดีกว่าการสรรหาโดยไตรภาคี เพราะโดยหลักแล้วสถาบันแห่งนี้จะต้องไม่ถูกแทรกแซง “ทั้งหมดที่ภาคแรงงานเสนอเป็นเรื่องโครงสร้างและระบบ ไม่ได้เป็นเรื่องตัวบุคคล และชัดเจนว่าเราต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของระบบ หากทางราชการเห็นว่าเสี่ยงต่อการตีความ ก็ควรเขียนระบุไว้ แรงงานต้องการความมั่นใจ ทั้งหมดไม่ได้เป็นความขัดแย้งเรื่องตัวบุคคล ทุกฝ่ายต้องใจกว้างอย่าคิดเพียงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่สำคัญคือฝ่ายการเมืองจะต้องไม่เข้ามาแทรกแซง” พรชัย กล่าว ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ระบบไตรภาคีเป็นระบบที่ผูกขาดและกีดกัน ในขณะที่ผู้ใช้แรงงานมีความเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัย แต่ขณะนี้มีคณะกรรมการไตรภาคีจะใช้ระบบของสหภาพแรงงาน คิดว่าแนวทางที่ดีที่สุดควรเป็นการเลือกตั้ง 1 คน 1 เสียง ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 10 ล้านคน ขณะที่วิธีการสรรหาควรเป็นที่มาของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมากกว่า อย่างไรก็ตาม ภาครัฐยังอ้างว่ามีภาระด้านงบประมาณอยู่ “ยังติดใจเรื่องศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ซึ่งเห็นว่าจะต้องเป็นเอกเทศ และจะต้องเป็นภารกิจหลักในการรับเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับความปลอดภัย หากให้ภาครัฐดำเนินการเองอาจเกิดข้อครหา ประเด็นนี้ภาครัฐไม่ควรกีดกัน” ชาลีกล่าว อภิมุข สุขประเสริฐ กรรมการร่างกฎหมายประจำสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า ทั้งในเรื่ององค์การมหาชน และความเป็นอิสระของสถาบันฯ มีความเห็นในเบื้องต้นว่าสอดคล้องกับ พ.ร.บ.องค์การมหาชน โดยอยู่ในกำกับของรัฐมนตรี ส่วนตัวคิดว่ามีความเป็นอิสระมีค่อนข้างมาก และในส่วนของคณะกรรมการในองค์ประกอบเรื่องจำนวน ที่ต้องมีผู้แทนส่วนราชการ 2 ใน 3 ก็ไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญ อภิมุข กล่าวว่า ข้อเสนอของนายชาลีที่เสนอให้ใช้ระบบเลือกตั้ง ในทางปฏิบัติอาจจะดำเนินการได้ยากเนื่องจากวิธีการได้มาอาจจะต้องใช้เวลา 1-2 ปี อย่างไรก็ตามอาจจะเขียนหลักเกณฑ์การได้มาซึ่งตัวแทนในเบื้องต้นก่อน ส่วนประเด็นเรื่องงบประมาณส่วนหนึ่งที่มาจากรัฐ และกองทุนเงินทดแทนในรายปี ต้องมีผู้ดูแลในเงินงบประมาณสนับสนุนดังกล่าว สิ่งที่ต้องคำนึงคือต้องไม่แสวงหากำไร ฉะนั้นในเรื่องการกู้ยืม ไม่สามารถดำเนินการได้ ส่วนบทบาทการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ไม่จำเป็นต้องเขียนไว้ในกฎหมาย โดยดูกรอบโดยรวมของกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากมีภาคส่วนจากนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งมีความเชื่อมโยงในสถาบันความปลอดภัยอยู่แล้ว และกองทุนความปลอดภัยจะมีคณะกรรมการซึ่งมีตัวแทนของฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างมีความเชื่อมโยงกันอยู่ วรวิทย์ เจริญเลิศ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ในการดำเนินงานของสถาบันความปลอดภัยฯ ต้องมีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ ต้องเป็นสถาบันที่มีองค์ความรู้ ต้องมีข้อมูล โดยเป็นศูนย์ข้อมูลในด้านความปลอดภัย ส่วนเรื่องศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์จะเป็นเรื่องสำคัญ และหากสถาบันฯนี้จะเกิดขึ้น ต้องมีความมั่นคงทางด้านการเงิน แต่สิ่งที่เห็นคือ ยังไม่มีความมั่นคงทางด้านการเงิน วรวิทย์กล่าวต่อว่า ส่วนข้อเสนอให้ใช้ระบบเลือกตั้งส่วนตัวเห็นว่าแนวทางการเลือกตั้งก็เป็นทางออกที่ดีสะท้อนการมีส่วนร่วมที่ดีของภาคประชาชน หากใช้ระบบไตรภาคีปัญหาก็ยังวนเวียนอยู่ที่เดิม อย่างไรก็ตามการตัดสินใจให้เกิดสถาบันดังกล่าว ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการตัดสินใจทางการเมือง ซึ่งรัฐบาลต้องดูว่าการจัดตั้งสถาบันฯดังกล่าวจะออกมาในรูปแบบใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net