เมื่อพระฟ้องฆราวาสข้อหา 'หมิ่นประมาท'

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เรื่องที่คุณพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ พ่อของน้อง “เฌอ” (สมาพันธ์ ศรีเทพ) ถูกพระรูปหนึ่งฟ้องหมิ่นประมาท จนเป็นที่มาของการเดิน “เมตตาบาทา ธัมมาชโย” (น่าจะเป็น “บาลีแบบไทยๆ”) ดังภาพ ภาพจาก เฟซบุ๊กส่วนตัวของ ปีเตอร์ ศรี มีเฌอเป็นลูกรัก ผมมีความเห็นที่อยากร่วมแลกเปลี่ยน ดังนี้ 1. เมื่อมีกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาอยู่ พระก็มีสิทธิ์ฟ้องตามกฎหมายมาตรานี้ได้ หากพระเข้าใจว่าตนเองถูกหมิ่นประมาทในฐานะ “บุคคลธรรมดา” หรือมนุษย์คนหนึ่ง 2. แต่กรณีนี้คาบเกี่ยวกันอยู่ว่า ผู้ที่คิดว่าตนเองถูกหมิ่นประมาทมีสองสถานะคือ สถานะพระ และสถานะประชาชน หรือคนธรรมดา ปัญหามีว่า เขาด่า “พระ” หรือด่า “คนธรรมดา” ซึ่งก็ต้องดูว่าภาษาที่เขาใช้ด่านั้นเป็น “ภาษาด่าพระ” หรือ “ภาษาด่าคนธรรมดา” เพราะภาษาที่ปรากฏนั้นบ่งชี้เจตนาอยู่ว่าเขาต้องการด่าใคร 3. ถ้าเขาด่าพระ หรือมีเจตนาด่าพระ ก็มีข้อพิจารณาอยู่ว่า ก) พระเป็น “บุคคลสาธารณะ” ปัญหาว่าการด่าบุคคลสาธารณะ เช่น ด่านักการเมืองเป็นต้น ด่ากันได้หรือไม่ ถ้าด่าได้ ด่าได้ในเรื่องอะไร เรื่องส่วนตัว หรือเรื่องที่กระทบต่อสาธารณะ ถ้าด่าเกี่ยวกับเรื่องการแสดงความเห็น บทบาท นโยบาย ความประพฤติตัว ของบุคคลสาธารณะที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะ เรื่องเช่นนี้ก็ไม่น่ามีปัญหา (ยกเว้นว่าคำด่านั้นๆ เป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกด่า ก็อาจฟ้องร้องเอาผิดตามกฎหมายหมิ่นประมาทได้ ซึ่ง “รายละเอียด” ตรงนี้ผมไม่มีความรู้จะอธิบาย) ข) แต่การด่า “บุคคลสาธารณะที่เป็นพระภิกษุ” มี “หลักการ” หรือ “ประเพณีปฏิบัติ” ทางพุทธศาสนาที่ควรพิจารณาเป็นการเฉพาะอีกต่างหาก กล่าวคือ 1) พระพุทธเจ้าเองก็เคยถูกด่า ถูกหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย กระทั่งถูกลอบฆ่า (แต่ทำไม่สำเร็จ) แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่เคยอาศัยอำนาจรัฐเข้ามาจัดการกับใครๆ ที่กระทำต่อท่าน ยิ่งกว่านั้นท่านยังให้ “หลักการหรือแนวทางปฏิบัติ” แก่พุทธบริษัทเอาไว้ว่า “หากใครตำหนิติเตียนพระรัตนตรัย (พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์) ก็ไม่ควรโกรธ ควรชี้แจงความเป็นจริงให้เขาทราบตามควรแก่กรณี” นี่หมายความว่า แม้แต่ในกรณีที่พระพุทธเจ้าหรือพระสงฆ์ไม่ได้ทำตัวเป็นเหตุควรถูกด่า หรืออยู่ดีๆ ก็มีคนมาด่า มาหมิ่นประมาท ท่านก็ห้ามไม่ให้ชาวพุทธโกรธ แต่ให้โต้ตอบด้วยเหตุผลเท่านั้น ถ้าคนด่าเขาเข้าใจก็ดีไป ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่เห็นเป็นไร เพราะถึงอย่างไรพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์สาวกก็ไม่ได้เป็นอย่างที่เขาด่าอยู่แล้ว ฉะนั้น จึงไม่จำเป็นใดๆ ที่พระพุทธเจ้าหรือพระสงฆ์จะต้องไปอาศัยกฎหมาย หรืออำนาจรัฐเข้ามาจัดการกับคนที่ด่า หรือตำหนิติเตียน 2) ในกรณีที่พระภิกษุทำตัวเป็นเหตุให้เขาด่า หรือทำตัวสมควรถูกด่า เมื่อมีชาวบ้านด่า ตำหนิติเตียน แล้วพระพุทธเจ้าทราบเรื่อง ท่านก็ให้เรียกพระภิกษุที่ทำตัวเช่นนั้นมาสอบถามข้อเท็จจริง เมื่อทราบข้อเท็จจริงแล้วท่านก็ติเตียนพระภิกษุรูปนั้น ในหลายกรณีท่านก็บัญญัติวินัยสงฆ์ขึ้นมาโดยปรารภพฤติกรรมของพระภิกษุรูปนั้น แล้วห้ามพระภิกษุรูปใดๆ กระทำแบบนั้นอีก หากกระทำจะมีความผิด หรือต้องอาบัตินั้นนี้ เป็นต้น เช่น กรณีที่มีพระภิกษุเสพเมถุนกับคน เสพสังวาสกับลิงตัวเมีย พูดเกี้ยวหญิง แตะต้องกายหญิง ชักว่าว ข่มขืนศพ ประจบคฤหัสถ์ ทำให้สงฆ์เกิดความแตกแยก สร้างกุฏิใหญ่โตอลังการราวคฤหาสน์ ฯลฯ ล้วนแต่เป็นเรื่องที่ชาวบ้านรับไม่ได้ แล้วก็ด่า ตำหนิติเตียนต่างๆ นานา จากนั้นพระพุทธเจ้าก็บัญญัติวินัยห้ามไม่ให้พระภิกษุประพฤติเช่นนั้นอีก หากขืนกระทำลงไปก็มีความผิด หรือต้องอาบัติต่างๆ (ซึ่งรวมแล้ว มี 227 ข้อ) ฉะนั้น หลักการในกรณีตัวอย่างที่ว่ามานี้ก็คือ “ถ้าในกรณีที่พระภิกษุกระทำตัวเป็นเหตุให้เขาด่า หรือทำตัวสมควรถูกด่า พระพุทธเจ้าให้ตำหนิ หรือเอาผิดทางวินัยแก่ภิกษุนั้นเอง ไม่ใช่ไปเอาผิดกับคนที่เขาด่า” สำหรับพระภิกษุรูปที่ฟ้องพ่อน้องเฌอนั้น มักโพสต์แสดงความเห็นทาง fb เกี่ยวกับเรื่องเหตุบ้านการเมืองเสมอๆ เช่น โพสต์ข้อความว่า “ยิ่งปู ยิ่งเปลือย” ในช่วงวิกฤตน้ำท่วม หรือโพสต์ ข้างล่างนี้ Phra Kittisak Kittisobhano การใช้ ม.๑๑๒ เพื่อทำลายกันทางการเมืองนั้นเคยเห็น เคยได้ยิน ชนิดที่พอจะอนุมานได้ หรือเป็นสิ่งที่พอจะเข้าใจได้ ว่า น่าจะเป็นการใช้กฎหมายเพื่อมุ่งทำลายฝ่ายตรงกันข้าม ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็สมควรที่จะหากระบวนการสำหรับป้องกันมิให้เกิดขึ้น หรือช่วยกันหาทางออกที่เหมาะสมกับยุคสมัย และความศิวิไลซ์ที่เชื่อๆ ตามๆ กันมา จากประเทศที่ไปร่ำเรียนกัน แต่ในกรณีของคนที่ \อยากลองของ\" หรือ \"อวดดี\" ว่าตนเป็นนักวิชาการ เป็นปัญญาชน เป็นผู้รู้ เมื่อ \"รักจะเล่นกับไฟ\" แล้วจะมาร้องร่ำรำพันพิโอดพิโอยไปทำไม? แน่จริง..กล้าจริง..ก็ลองไปว่ากันจะๆ กลางศาล อย่างที่แอบนินทากันลับหลังไปสิ ศิษยานุศิษย์จะได้ยกย่องว่าเป็นความกล้าหาญทางวิชาการ หรือจะได้สรรเสริญกันเอง ว่าเป็นความกล้าหาญทางจริยธรรม ชนิดที่จะได้มีคนเอาเยี่ยงเอาอย่างกันสืบไป. ข้อความนี้โพสต์ในช่วงที่ผมลง “คำแถลงกรณีถูกคุกคามเสรีภาพทางวิชาการด้วย ม.112” ในประชาไท ราววันที่ 7 ธ.ค.54 เพื่อนทาง fb คนหนึ่งก๊อปปี้มาให้ผมดู แม้ไม่ได้ระบุชื่อแต่เข้าใจว่าคงหมายถึงผม แต่ผมก็มองว่า นี่เป็นการ “เกรียน” เหมือนที่ฆราวาสอย่างเราๆ บางคนชอบทำกันนั่นแหละ ผมจึงไม่ใส่ใจจะตอบโต้อะไร แต่ขออธิบายเพิ่มเติมที่ผมว่า “เกรียน” หน่อย (เดี๋ยวผมจะถูกฟ้องอีก) ที่ผมว่าเกรียนก็เพราะ “ภาษาที่พระใช้” เช่น \"อยากลองของ\" หรือ \"อวดดี\" ว่าตนเป็นนักวิชาการ เป็นปัญญาชน เป็นผู้รู้ เมื่อ \"รักจะเล่นกับไฟ\" แล้วจะมาร้องร่ำรำพันพิโอดพิโอยไปทำไม? เป็นแค่ “คำกล่าวหาลอยๆ” ไม่ได้อ้างอิงข้อเท็จจริงและเหตุผลใดๆ สนับสนุนทั้งสิ้น หากเขาเป็นพระที่มีสติมั่นในหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เขาคงเข้าใจได้ว่าตาม “หลักกาลามสูตร” นั้น “เราจะยอมรับว่าอะไรจริงก็ต่อเมื่อเราพิสูจน์ได้ว่ามันจริง” พระรูปนี้พิสูจน์อย่างไร จากหลักฐานอะไรจึงสรุปว่า ผมอยู่ในกรณีของคนที่ \"อยากลองของ\" หรือ \"อวดดี\" ว่าตนเป็นนักวิชาการ เป็นปัญญาชน เป็นผู้รู้ เมื่อ \"รักจะเล่นกับไฟ\" แล้วจะมาร้องร่ำรำพันพิโอดพิโอยไปทำไม? ตกลงที่ผมแถลงข่าวให้ทราบความเป็นไปเป็นมา และยืนยันจุดยืนในการทำงานทางวิชาการของตนเองเป็นเรื่องของการ “ร้องร่ำรำพันพิโอดพิโอย” เลยหรือ? อย่างนี้ คือพฤติกรรมที่ “พระ” ควรแสดงออกในท่วงทำนอง “เกรียน” ต่อ “ความทุกข์” ของคนอื่นหรือไม่? ผมเองไม่ได้ตอบโต้อะไรกับ “การเกรียน” แบบนั้น ในตอนที่ทราบข้อความนั้น แต่ที่นำมาเอ่ยถึงตอนนี้ เพราะจากที่ตนเองโดนแล้ว มันทำให้ผมเข้าใจได้ถึง “ความรู้สึกสะเทือนใจ” ของพ่อน้องเฌอจนต้องตอบโต้ออกไปด้วยอาการบันดาลโทสะ เพราะทนไม่ได้ที่เห็น “พระเกรียนกับความทุกข์ของชาวบ้าน”เช่นนั้น ซึ่งตัวเขาเองคือหนึ่งในผู้ประสบทุกข์จากการสูญเสียลูกชายคนเดียวไป เพราะรัฐบาลใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมทางการเมืองช่วง เมษา-พฤษภา 2553 โดยสรุปคือ ในทางกฎหมายก็คงสู้กันไป ผมเองไม่มีความรู้จะออกความเห็น แต่ในทางพระธรรมวินัย หรือข้อเท็จจริงของจารีตการปฏิบัติในทางพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกไม่เคยอาศัยอำนาจรัฐหรือกฎหมายมาจัดการกับคนที่ด่าท่านและพระสงภิกษุสงฆ์เลย ที่สำคัญพระพุทธเจ้ากลับ “เอาผิด” กับพระภิกษุที่ทำตัวเป็นเหตุให้ชาวบ้านเขาด่า หรือทำตัวสมควรถูกด่ามากกว่า แสดงว่า สถานะของพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ไม่ใช่ “อภิสิทธิชนทางศีลธรรม” ที่ใครๆ จะล่วงละเมิดมิได้แต่อย่างใด การยังชีพด้วยข้าวปลาอาหารจากชาวบ้าน แม้แต่ “ข้าว 1 ทัพพี” ที่เขาใส่บาตร พระภิกษุก็ควรสำนึกบุญคุณ ดังที่พระสารีบุตรอัครสาวกทำเป็นแบบอย่าง ฉะนั้น ตามบรรทัดฐานของพระพุทธเจ้า แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่าท่านต้องการยืนยันหลักการว่า “พระภิกษุในพุทธศาสนาควรมีสติและขันติธรรมสูงกว่าฆราวาส” ไม่ควรทะเลาะ หรือมีคดีความกับฆราวาส ด้วยข้ออ้างว่าถูกด่า ถูกหมิ่นประมาทเป็นต้น ดังที่กล่าวมา หากยึดประเพณีปฏิบัติของพระพุทธเจ้าที่เอาผิดกับพระภิกษุที่ทำตัวเห็นเหตุให้สมควรถูกด่า คำถามก็คือ องค์กรปกครองสงฆ์ควรรับผิดชอบอย่างไรกับพฤติกรรมการ “เกรียน” กับความทุกข์ของชาวบ้าน ของพระบางรูป?"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท