Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“พี่ไม่อยากให้ลูกไปเรียนที่อเมริกา เพราะว่าพี่เกลียดสังคมแบบทุนนิยมมาก มันไม่น่าอยู่สังคมมันเสื่อมทราม” คำพูดของหญิงรุ่นใหญ่ซึ่งดูแล้วน่าจะเป็นพนักงานสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง กำลังสนทนากันกับเพื่อร่วมงานในที่แห่งหนึ่ง ทำให้ผู้เขียนรู้สึกสงสัยและมีคำถามเกิดขึ้นมาทันที ณ ขณะนั้นว่า ตกลงแล้วผู้พูดนั้นเข้าใจถึงคำว่า “ทุนนิยม” ในลักษณะใดกันแน่ หากมองแบบผิวเผินก็คงกล่าวได้ว่า มันก็จริงตามคำพูดข้างต้น ผู้คนบางคนก็อาจสนับสนุนคำพูดเหล่านี้ว่า คงมีเค้าความจริงอยู่บ้างไม่มากก็น้อยและไม่ได้มีข้อสงสัยอะไรต่อคำพูดเช่นนั้น แต่สำหรับผู้เขียนนั้น สิ่งที่เกิดคำถามตามมาก็คือ หากเรากล่าวว่า เรานั้นเกลียดทุนนิยมเป็นอย่างมากแล้ว เราเคยลองนั่งนึกถึงสิ่งที่เราทำทุกๆ วันหรือไม่ว่า มันมีสิ่งใดที่เป็นผลมาจากทุนนิยมที่เราให้เราปฏิบัติเช่นนั้น เราทำสิ่งใดที่เป็นการสนับสนุนทุนนิยมหรือไม่ หากกล่าวถึงทุนนิยมแบบรวบรัด หลักคิดแบบเสรีนิยมใหม่เป็นตัวจักรสำคัญที่ทำให้ทุนนิยมได้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น หลักที่สำคัญก็คือ ทำให้มีการต่อรองน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ต้องการแรงงานที่ราคาถูกที่สุดที่จะเป็นไปได้ เช่น การสลายกลุ่มแรงงานต่างๆ การสลายกระบวนการและการก่อตั้งสหภาพแรงงาน (ซึ่งสถาบันหรือบริษัทส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่ได้ให้ความสำคัญและมักจะตีความเป็นอย่างอื่น) เป็นต้น โดยอาศัยวิธีการ “บริโภคนิยม” เพื่ออย่างน้อยก็เอาเวลาไปทำงานแลกเงินเพื่อซื้อโทรศัพท์มือถือดีกว่ามานั่งพูดว่า เราจะทำอย่างไรให้สังคมดีขึ้น เมื่อเสรีนิยมเป็นตัวจักรสำคัญในการขยายตัวของทุนนิยมแล้ว ก็ควรจะต้องมาดูว่ารอบๆ ตัวเรามันมีอะไรบ้างที่เสรีนิยมได้ผลิตออกมาจำหน่ายให้เราเห็นหรือใช้ โดยแน่ล่ะว่าบางท่านอาจจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า นี่คือผลผลิตของเสรีนิยมที่เราต่อต้านมาตลอด แถมบ้างครั้งเราก็มักจะมีความสุขกับการใช้มันอยู่ทุกๆวัน หรือจะกล่าวง่ายๆ บ้านๆ ก็คือ เสรีนิยม อยู่รอบๆตัวเรานี่เอง หากกล่าวถึง เสรีนิยม ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมนี้มักมุ่งเป้าไปสู่เรื่องเดียวเท่านั้น นั่นก็คือ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization) แน่นอนว่าไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า การแปรรูป หน่วยงานราชการเป็นผลผลิตของเสรีนิยม แต่มันยังมีเรื่องอื่นอีกมากมายที่เกิดขึ้นจากเสรีนิยมซึ่งเราอาจไม่รู้มาก่อนก็เป็นได้ ดังจะกล่าวมาให้เห็นภาพดังนี้ หลักการที่ว่า การรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางนั้น ด้วยสภาวะปัจจุบันที่บ้านเมืองมีความกว้างใหญ่ไพศาลขึ้น ประชากรในสังคมมีมากขึ้น ทำให้การดูแลของภาครัฐไม่ทั่งถึง และประการสำคัญ รัฐเองก็ต้องใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนมากที่จะดูแลคนในสังคม ดังนั้นด้วยภาวะที่ปวดเศียรเวียนเกล้าที่เกิดขึ้นกับรัฐเอง ทำให้ เกิดแนวคิดที่จะลดภาระของรัฐลงแล้วให้ทุกคนดูแลตัวเอง นั่นก็คือ หลักการกระจายอำนาจ (Decentralization) โดยหลักการนี้เป็นหลักการที่กำลังประสบผลสำเร็จเป็นอย่างสูงในสังคมเรา เพราะอย่างน้อยก็เป็นการหนุนเสริมหลักการของประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก ทำให้การกระจายอำนาจสามารถอิงแอบอยู่ในสังคมได้อย่างแนบเนียน Outsourcing เกิดมาพร้อมกับความคิดที่ว่า หากจ้างผู้คนเหล่านี้มาเป็นพนักงานประจำก็จะทำให้บริษัทของตนเองมีต้นทุนสูงขึ้นเนื่องจากต้องจ่ายในส่วนอื่นให้กับคนเหล่านั้น เช่น สวัสดิการ เป็นต้น ทำให้เป็นการเพิ่มต้นทุน Outsourcing จึงเป็นสิ่งทีสนับสนุนแนวคิดแบบทุนนิยมเป็นอย่างมาก “Assurance” นอกจากรัฐจะไม่ต้องกันงบประมาณเป็นจำนวนมากเพื่อมาใช้ในส่วนนี้ซึ่งถือว่าเป็นการลดต้นทุนของรัฐเอง และรัฐก็หันไปส่งเสริมธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต เพื่อให้ทุกคนดูแลตัวเอง ก็เข้าหลักตามแนวคิดเสรีนิยมใหม่อยู่ดี ที่ส่งเสริมให้คนกลับไปดูแลตัวเองเฉกเช่นเดียวกับการกระจายอำนาจ “มหาวิทยาลัยนอกระบบ” ก็ใช้หลักคิดเดียวกันกับเรื่องอื่นๆที่กล่าวมาแล้ว เป็นการลดการใช้จ่ายของรัฐส่วนกลาง และให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งหาเลี้ยงตัวเอง สุดท้ายที่จะกล่าวถึง นั่นก็คือ “การเรียนหนังสือ” หลายคนอาจจะสงสัยว่า การเรียนหนังสือนั้นเกี่ยวอะไรกับเสรีนิยมใหม่หรือทุนนิยม ตามหลักคิดทางเศรษฐศาสตร์ซึ่งเป็นรากเง้าของทุนนิยม หากเมื่อมีการลงทุนสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วสิ่งที่มุ่งหวังของทุกคนก็คือกำไรสูงสุด หรืออาจจะกล่าวได้ว่า อยากได้รายได้กลับมาสูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เมื่อเราลงทุนไปมากเราก็ย่อมหวังผลตอบแทนมาก เช่น ลงทุนซื้อเครื่องจักรมาผลิตสิ่งของ อย่างน้อยผู้ลงทุนก็หวังที่จะได้ผลผลิตและผลตอบแทนมากกว่าการลงทุนที่เสียไป เป็นต้น ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่าเหตุใดการเรียนหนังสือในปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนจึงไม่เท่ากัน เช่น วิศวกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ เป็นต้น เพราะอย่างน้อยทกคนก็พร้อมจะลงทุนให้ลูกหลานหรือตัวเองโดยหวังว่าออกมาก็น่าจะได้ผลตอบแทนที่มากกว่าการลงทุน ดังนั้นก็เลยต่อมาถึงการส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ พ่อแม่ผู้ปกครองก็คงหวังอยู่แล้วว่ากลับมาบุตรหลานของท่านก็คงไม่ต้องตกงาน และการหางานทำก็น่าจะง่ายกว่าการจบการศึกษาในประเทศ นั่นก็หมายความว่า ท่านทั้งหลายก็เล็งเห็นผลที่จะได้ เสมือนหนึ่งการลงทุนแล้วรอผลตอบแทนที่ได้ในอนาคต เมื่อเป็นเช่นนั้นผู้เขียนจึงสงสัยเป็นที่สุดว่า เหตุใดเล่าผู้กล่าวข้อความข้างต้นจึงบอกว่าตนนั้นเกลียดสังคมแบบทุนนิยม เสรีนิยม ทั้งที่ความเป็นจริง คุณก็กำลังสนุกกับการอยู่กับมันและใช้มันอยู่ในขณะนี้ แต่ผู้เขียนก็คิดไว้ล่วงหน้าว่า จริงๆ แล้วเขาอาจจะไม่รู้ตัวว่าแท้ที่จริงเสรีนิยมนั้นเป็นตัวสนับสนุนเกื้อกูลทุนนิยมเป็นอย่างดี และมันก็แอบซ้อนอยู่ในสังคมและแทรกซึมอยู่ในสังคมทุกหนทุกแห่ง โดยที่เราไม่รู้และยังทะนงตนว่าสังคมเรานั้นมีความเป็นทุนนิยมน้อยกว่าที่อื่น ทั้งที่ความเป็นจริง มันก็มีมากน้อยไม่ต่างจากที่อื่นเท่าใดนัก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net