Skip to main content
sharethis

ในวันพรุ่งนี้ (20 ก.พ.55) เวลา 13.00 น. ณ ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ทนายความจะยื่นอุทธรณ์ในคดีที่นายอำพล (ขอสงวนนามสกุล) หรือที่รู้จักในชื่อ “อากง” ซึ่งถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 20 ปี ในข้อหาส่งข้อความสั้น 4 ข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ และพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

คดีดังกล่าวมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมา เป็นเลขคดีแดงที่ อ.4726/2554 คำพิพากษาศาลชั้นต้นชี้ว่า ข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ที่ได้จาก บริษัท โทเทิลแอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (ดีแทค) และ บริษัท ทรู มูฟ จำกัด นั้น มีความน่าเชื่อถือเพราะหากจัดเก็บไม่ถูกต้องจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือและ อาจเสียประโยชน์ทางธุรกิจ และชี้ว่าประเด็นต่อสู้ของจำเลยที่ว่า เลขอีมี่เปลี่ยนแปลงได้ แต่จำเลยกลับไม่สามารถหาตัวผู้เชี่ยวชาญมายืนยันได้ ศาลยังชี้ว่านายอำพลรับว่าใช้โทรศัพท์เครื่องนี้อยู่ผู้เดียว และเชื่อว่าผู้กระทำผิดใช้ซิมการ์ดสองเลขหมาย เลขหมายหนึ่งเป็นของนายอำพล อีกเลขหมายหนึ่งเป็นหมายเลขที่ปรากฏว่าส่งข้อความไปยังโทรศัพท์ของนายสม เกียรติ ทั้งนี้ ประวัติการใช้งานชี้ว่าซิมการ์ดทั้งสองถูกใช้งานเวลาใกล้เคียงกัน แต่ไม่เคยถูกใช้งานเวลาที่ซ้ำกัน ทั้งยังส่งจากย่านที่จำเลยพักอาศัย นอกจากนี้ ศาลยังระบุว่าแม้โจทก์ไม่สามารถสืบพยานให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นผู้ ส่งข้อความจริง แต่เพราะเป็นการยากที่จะสามารถนำสืบได้ด้วยประจักษ์พยาน เนื่องจากจำเลยเป็นผู้กระทำผิดจึงย่อมปกปิดการกระทำของตน การพิพากษาคดีจึงจำต้องอาศัยประจักษ์พยานแวดล้อมที่โจทก์นำสืบเพื่อชี้ให้ เห็นเจตนาที่อยู่ภายใน

พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความของนายอำพล ระบุว่า ในวันที่ 20 ก.พ. 2555 นี้ จะยื่นอุทธรณ์ โดยย้ำประเด็นที่ว่า เพียงลำพังหมายเลขอีมี่ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานพิสูจน์ความผิดได้ เพราะสามารถแก้ไขได้ง่าย อีกทั้งจากพยานเอกสารของโจทก์ยังปรากฏชัดว่า ระบบการเก็บข้อมูลการส่งข้อความสั้นของบริษัทดีแทคไม่สามารถตรวจสอบหมายเลข อีมี่ได้ในทุกครั้งที่มีการส่งข้อความ ซึ่งมิได้เป็นไปตามที่พยานโจทก์มาเบิกความ และในชั้นอุทธรณ์นี้ ทนายความได้ยื่นคำร้องขอสืบพยานเพิ่มเติมโดยอ้างความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ ด้านโทรศัพท์มือถือจากประเทศเยอรมนี

ทนายความของนายอำพล กล่าวเสริมว่า กระบวนการสอบสวนยังมีข้อพิรุธ เพราะลำดับของวันที่ในเอกสารสลับกันไปมาไม่เป็นไปตามขั้นตอนการสืบสวนดังที่ เจ้าหน้าที่สืบสวนเบิกความไว้ จึงแสดงให้เห็นว่าเป็นการสืบสวนที่มุ่งเป้ามาที่ตัวจำเลย ไม่ได้สืบสวนจากพยานหลักฐานตามเหตุตามผล โจทก์จึงไม่สามารถพิสูจน์ให้สิ้นสงสัยได้อย่างแน่ชัดว่าจำเลยเป็นผู้กระทำ ผิด ซึ่งตามหลักวิธีพิจารณาความอาญาต้องยกประโยชน์ความสงสัยให้จำเลย และขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง

นอกจากนี้ พูนสุข ระบุว่า ในวันพรุ่งนี้ จะยื่นขอประกันตัวนายอำพลอีกครั้ง โดยมีนักวิชาการจำนวน 7 คนเป็นนายประกัน เช่น ผศ.บุญส่ง ชัยสิงห์กานนท์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ผศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น พร้อมกับเงินสดจำนวนหนึ่งจากกองทุนยุติธรรม กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

ทั้งนี้ นายอำพลถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2553 และถูกคุมขังสองเดือนก่อนศาลจะอนุญาตให้ประกันตัว แต่หลังนายอำพลไปรายงานตัวเพื่อรับทราบคำสั่งฟ้องของอัยการเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2554 ศาลก็ไม่อนุญาตให้ประกันตัวอีก ด้วยเหตุที่ว่าเกรงจำเลยจะหลบหนี

ก่อนหน้านี้ นางรสมาลิน ภรรยาของนายอำพล ได้อดข้าวประท้วงเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานในการได้รับการประกันตัว ตั้งแต่เวลา 8.00 น. ของวันอาทิตย์ที่ 19 ก.พ. ถึง 8.00 น. ของวันจันทร์ที่ 20 ก.พ.นี้

สำหรับคดีนายอำพลอยู่ในความดูแลของเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักกฎหมายรุ่นใหม่ที่ทำงานโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายจากลูก ความ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net