องค์กรสิทธิไทย-เอเชียชี้ 'สมยศ' ต้องได้ประกันตัว

10 องค์กรสิทธิไทย-เอเชีย เรียกร้องจนท.รัฐปล่อยตัวสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องหาคดีม. 112 แนะศาลทบทวนการตีความและใช้กฎหมายเพื่อให้สอดคล้องหลักสิทธิเสรีภาพ ตามเจตนารมณ์ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล

15 ก.พ. 55 - องค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและเอเชีย 10 แห่ง เช่น เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องต่อเจ้าหน้าที่พนักงานและศาลไทย ให้สิทธิการประกันตัวนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องหาคดีม. 112 จากการเป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสารวอยซ์ ออฟ ทักษิณ โดยชี้ว่า สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสากลที่มนุษย์ควรได้รับอย่างเท่าเทียม

แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า หากมีการตีความยกเว้นของกฎหมายกรณีไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ศาลจำเป็นต้องมีพยานหลักฐานที่เป็นภาวะวิสัยและน่าเชื่อถือ และตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัด ถ้าเจ้าหน้าที่พนักงานไม่มีหลักฐานที่ทำให้เชื่อได้ว่าพยานจะหลบหนีหรือยุ่ง กับหลักฐาน ก็จำเป็นต้องให้ประกันตัวแก่จำเลย และปฏิบัติแก่ผู้ต้องหาในฐานะผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะสามารถพิสูจน์ความผิดตาม กระบวนการทางกฎหมาย ตามที่ระบุไว้เป็นหลักการว่าในคดีอาญา รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 39 วรรค 2 ประกอบ วรรค 3 

    0000

 

แถลงการณ์การปล่อยตัวชั่วคราว นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข

และจำเลยในคดีอาญาอื่น ที่ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

สืบเนื่องจากกรณีที่ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมด้านแรงงาน แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และบรรณาธิการบริหาร นิตยสาร วอยซ์ ออฟ ทักษิณ ได้ถูกจับกุมดำเนินคดีข้อหาละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 112 ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2554 และไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวนับตั้งแต่ถูกจับกุมต่อเนื่องจนมาจนถึง ปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 10 เดือน ล่าสุดนายปณิธาน พฤกษาเกษมสุข บุตรชายของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ได้ออกมาอดข้าวประท้วงคำสั่งของศาลอาญาที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวแก่ นายสมยศ ทั้งที่มีการยื่นคำร้องไปแล้วถึง 7 ครั้ง ด้วยการเสนอหลักทรัพย์ประกันที่สูงพอสมควร เพื่อเรียกร้องสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวให้แก่บิดา ปรากฏเป็นข่าวตามสื่ออย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

 

องค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ เห็นว่า ประเด็นเรื่องสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และเป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามจากสังคมถึงความถูกต้องเหมาะสมมาโดยตลอด จึงขอแสดงความเห็นและข้อเสนอในประเด็นดังกล่าว ดังต่อไปนี้

1. สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เป็นสากล ซึ่งมนุษย์ทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียม

สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 40 (7) หรือแม้แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 107 เองก็ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “เมื่อได้รับคำร้องให้ปล่อยชั่วคราว ให้เจ้าพนักงานหรือศาลรีบสั่งอย่างรวดเร็ว และผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 108 มาตรา 108/1 มาตรา 109 มาตรา 110 มาตรา 111 มาตรา 112 มาตรา 113 และมาตรา 113/1” ซึ่งสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ( International Covenant on Civil and Political Rights) ที่ประเทศไทยได้ลงนามเข้าร่วมเป็นภาคีด้วย ได้ระบุไว้โดยชัดแจ้งในข้อ 9 ข้อย่อย 3 ว่า มิให้ถือเป็นหลักว่าผู้ถูกจับจะต้องถูกควบคุมตัวไว้ในระหว่างการพิจารณาคดี ดังนั้น สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจึงเป็นหลักกฎหมายที่สำคัญ ซึ่งทั้งกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในของไทยได้บัญญัติรับรองไว้อย่าง ชัดแจ้ง และผูกพันให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเคารพและยึดถือปฏิบัติอย่างเท่าเทียม

2. การตีความข้อยกเว้นของกฎหมายกรณีไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ต้องเป็นกรณีที่จำเป็นอย่างยิ่ง โดยต้องมีพยานหลักฐานที่เป็นภาวะวิสัยและน่าเชื่อถือรองรับทุกกรณี

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1 ได้บัญญัติข้อยกเว้นที่ให้เจ้าพนักงานหรือศาลมีอำนาจไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่ว คราวได้หากมีเหตุอันควรเชื่อบางประการ ได้แก่

(1) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี

(2) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

(3) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น

(4) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ

(5) การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล

ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยตัวชั่วคราวพึงตระหนักเสมอว่า การไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเป็นเพียงข้อยกเว้นเท่านั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัด โดยในกรณีที่จะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเป็นต้องมีพยานหลักฐาน ที่เป็นภาวะวิสัยและน่าเชื่อถือประกอบในทุกกรณี หากพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่สามารถหาพยานหลักฐานที่เป็นภาวะวิสัย และน่าเชื่อถือมาสนับสนุนการคัดค้านการให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้ ศาลก็ต้องอนุญาตให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวเสมอ

3. ศาลมีหน้าที่ตีความกฎหมายให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ และเป็นไปตามหลักสากล เพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยทำให้สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นจริงในทางปฏิบัติในทุกกรณี

กฎหมายลายลักษณ์อักษรที่บัญญัติรับรองและคุ้มครองสิทธิในการได้รับการ ปล่อยตัวชั่วคราวให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยย่อมไร้ความหมายหากองค์กรที่มี หน้าที่บังคับใช้และตีความกฎหมายไม่ตีความให้สอดคล้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ใน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลย เนื่องจากกฎหมายจะนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริงก็แต่โดยการใช้การตีความ ของผู้ปฏิบัติ

ดังที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 27 ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า “สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยายหรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง” ด้วยเหตุนี้เจ้าพนักงานตำรวจและศาลจึงไม่อาจตีความกฎหมายโดยไม่คำนึงถึง เจตนารมณ์ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาได้ แต่ต้องตีความกฎหมายโดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญมาตรา 40 (7) บัญญัติรับรองไว้เป็นหลักสำคัญ เพื่อทำให้สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นจริงในทางปฏิบัติ

4. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 39 วรรค 2 ประกอบ วรรค 3 ได้บัญญัติไว้เป็นหลักการว่าในคดีอาญาต้องสันนิษฐานว่าผู้ต้องหาหรือจำเลย ไม่มีความผิด

ดังนั้นก่อนศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าบุคคลใดกระทำความผิด การปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดแล้วย่อมไม่อาจกระทำได้ การที่นายสมยศ พฤกษาเกษมสุขและผู้ต้องหาหรือจำเลยคนอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีอาญา ต้องถูกคุมขังเพราะเหตุไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวอยู่ในเรือนจำรวมกับผู้ ต้องขังที่ศาลได้พิพากษาจนถึงที่สุดแล้วนั้น จึงขัดต่อหลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรานี้ด้วย

จากหลักการและเหตุผลที่กล่าวมา เราขอเรียกร้องให้เจ้าพนักงานตำรวจและศาลตีความ และปรับใช้กฎหมายเรื่องปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้ความสำคัญและเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยในฐานะที่เป็น มนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายสิทธิมนุษยชน ระหว่างประเทศ

ในขณะที่สังคมกำลังให้ความสนใจในคดีของ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ศาลก็มีหน้าที่ในการที่จะแสดงให้สังคมเห็นว่า ตนได้ใช้และตีความกฎหมายโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของจำเลยตามที่ กฎหมายกำหนดอย่างครบถ้วนแล้ว โดยพิจารณาให้ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวตามกฎหมาย เพื่อเป็นบรรทัดฐานที่ดีในการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยใน คดีอื่นๆ ต่อไป

 

แถลง ณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555

เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA)

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม(CrCF)

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.)

โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม(EnLAW)

มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม(MAC)

สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย(AIHR)

ศูนย์ข้อมูลชุมชน(CRC)

เครือข่ายพลเมืองเน็ต(Thai Netizen Network)

ศูนย์พัฒนาเด็กและเครือข่ายชุมชน

โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท