Skip to main content
sharethis

พ่อค้าหัวใสเก็บส่งขายในไทยไม่ถูกจับ เหตุกฎหมายให้เป็นแค่สมุนไพร เด็กทุนเรียนอ่อน มีสิทธิตกยกรุ่น แต่ยังอ้อนขอเพิ่มอีกช่วยนักเรียนชายแดนใต้ เมื่อเวลา 11.30 – 16.30 น. วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ห้องสุริยาศศิน โรงแรมลีการ์เดนส์พลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดประชุมหารือแนวทางแก้ปัญหาชายแดนไทย – มาเลเซีย เพื่อเสนอกรอบประเด็นให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไปประชุมหารือกับนายราจิบ นาซัค นายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 โดยมีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ที่ประชุมมีพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมศุลกากร กระทรวงการต่างประเทศ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา นราธิวาส ปัตตานี สตูล สงขลา และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประมาณ 100 คน ที่ประชุมได้หารือกรอบประเด็นการหารือรวม 11 ประเด็น ได้แก่ ความร่วมมือด้านความมั่นคง ความร่วมมือด้านการบรรเทาภัยพิบัติ การก่อสร้างสะพานตากใบและสะพานข้ามแม่น้ำโกลกแห่งที่ 2 การแก้ปัญหาแรงงานไทยในร้านต้มยำในมาเลเซีย การแก้ปัญหารถตู้ไทยในมาเลเซีย การขอต่ออายุและขยายระดับทุนการศึกษาของรัฐบาลมาเลเซีย การเปิดการค้าเสรีต้นกล้ายาง เมล็ดปาล์มน้ำมัน และตั้ง Oil Palm Belt การขยายด่านสะเดา – บูกิตกายูฮิตัม การส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ความร่วมมือด้านเกษตรอินทรีย์ (Organic Farming) และความร่วมมือในการส่งออกทุเรียนไปตลาดจีน ในประเด็นความมั่นคง ที่ประชุมได้เสนอหารือเรื่องปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะใบกระท่อม ซึ่งเป็นยาเสพติดที่กำลังระบาดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย แต่มาเลเซียถือว่าเป็นยาสมุนไพรรักษาโรคและไม่ผิดกฏหมาย ดังนั้นจะทำอย่างไรที่จะทำให้มาเลเซียมองว่าเป็นปัญหาระหว่างประเทศที่อาจนำไปสู่ความไม่สงบในมาเลเซียเองด้วย เนื่องจากขณะนี้มีพ่อค้าไปเก็บใบกระท่อมในมาเลเซียมาขายในไทยจำนวนมาก โดยไม่ผิดกฎหมายของมาเลเซีย ส่วนการแก้ปัญหาแรงงานไทยทำงานร้านต้มยำในมาเลเซีย ที่ประชุมเสนอขอให้มาเลเซียเก็บค่าภาษีตามระดับรายได้ของแรงงานไทย แทนการเก็บในอัตราเดียวที่สูง และให้เปิดรับแรงงานประเภทอื่นนอกจากคนปรุงอาหารด้วย ทั้งนี้ผู้ประกอบการพร้อมจดทะเบียนลูกจ้างให้ถูกต้องตามกฏหมายอยู่แล้ว ประเด็นการขอต่ออายุและขยายระดับทุนการศึกษาของรัฐบาลมาเลเซีย ที่ประชุมเสนอขอให้ประเทศมาเลเซียสนับสนุนทุนการศึกษาต่อไป แม้ว่าขณะนี้นักเรียนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับทุนแล้ว 4 รุ่น จำนวน 200 กว่าคน มีการเรียนที่อ่อนอย่างหนัก จนต้องลาออกไปแล้ว 5 คน และที่เหลือมีแนวโน้มที่จะเรียนไม่จบชั้นมัธยมปลาย ขณะเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการได้ส่งครูไปสอนพิเศษให้กับเด็กกลุ่มนี้แล้วก็ตาม ด้านการขยายด่านสะเดา – บูกิตกายูฮิตัม ที่ประชุมขอให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เสนอของบประมาณเพิ่มเติมจากคณะรัฐมนตรี 40 กว่าล้านบาท ในคราวการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดภูเก็ต ในเดือนมีนาคม 2555 เพื่อใช้ในการจ่ายจดเชยผลอาสินในที่ดินโครงการปรับปรุงด่านสะเดาเนื้อที่ 19 ไร่ เนื่องจากมีข้อตกลงกับชาวบ้านแล้วว่า จะชดเชยต้นยางพาราต้นละ 5,000 บาท ขณะที่โครงการก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ เนื้อที่ 720 ไร่ ชาวบ้านบางส่วนได้เสนอขอค่าชดเชยต้นยางพาราต้นละ 8,100 บาท จึงจะยินยอมให้ก่อสร้างด่านดังกล่าว ส่วนการส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล นายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ขอให้กระทรวงการต่างประเทศตรวจสอบศักยภาพของบริษัทลังกาสุกะ กรุ๊ป ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างนักธุรกิจประเทศมาเลเซียและไทย ที่ระบุว่าจะลงทุนก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปและอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลที่ปัตตานี มูลค่า 1 หมื่นล้านบาทว่า เป็นบริษัทที่มีศักยาพจริงหรือไม่ เนื่องจากพบว่า มีทุนจดทะเบียนบริษัทเพียง 1 ล้านบาทเศษเท่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net