เครือข่ายด้านสาธารณสุขระดมส่งแฟกซ์-อีเมลถล่มอียู "หยุดแย่งยาจากมือประชาชน"

ภาคประชาสังคมทั่วโลกประสานพลังกดดันสหภาพยุโรปให้หยุดบังคับอินเดียให้รับเอฟทีเอที่จะมีผลทำลายอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญในการประชุมสุดยอด สุดสัปดาห์นี้ เครือข่ายในไทยใช้วิธีส่งแฟกซ์-อีเมลถล่ม และโฟโต้แอคชั่น นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เปิดเผยว่า เนื่องในวันที่ 10 กุมภาพันธ์นี้จะเป็นการประชุมสุดยอดสหภาพยุโรป-อินเดียเพื่อสรุปข้อตกลงเอฟทีเอระหว่างกัน ซึ่งสหภาพยุโรปยังคงพยายามกดดันให้อินเดียต้องรับข้อตกลงที่เกินไปกว่าความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก หรือที่เรียกว่าทริปส์พลัส ซึ่งจะมีผลทำลายอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญของอินเดียที่ประชาชนทั่วโลกพึ่งพาอยู่ ทางเครือข่ายด้านสาธารณสุขทั่วโลกจึงร่วมในกันจัดการรณรงค์พร้อมกันในสัปดาห์นี้ \อินเดียเป็นประเทศผู้ผลิตยาชื่อสามัญรายใหญ่ที่สุดในโลก ยาจำเป็นต่างๆ กว่าร้อยละ 80 ที่ใช้อยู่ในประเทศกำลังพัฒนามาจากอินเดีย โดยเฉพาะยาต้านไวร้สเอชไอวี ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่จ่ายยาจำเป็นสำหรับรักษาโรคเอดส์ โรคหัวใจ และมะเร็งให้กับผู้ป่วยนับล้านรายภายในระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย โดยที่ยาเหล่านี้มาจากอินเดีย แต่สหภาพยุโรปกำลังทำทุกวิถีทางที่จะปิด “ร้านขายยา” ของประเทศกำลังพัฒนา และตัดสายป่านชีวิตของผู้คนนับล้านที่ต้องอาศัยยาจำเป็นจากประเทศอินเดีย\" สำหรับการรณรงค์ในไทย เครือข่ายประชาชนและองค์กรต่างๆ ที่ร่วมกันทำงานเพื่อการเข้าถึงการรักษา นำโดยเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย จะใช้วิธีการส่งโทรสารและจดหมายอิเล็คทรอนิคไปยังสำนักงานคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปประจำประเทศไทย และเชิญชวนประชาชนร่วมถ่ายภาพที่มีข้อความ “สหภาพยุโรปหยุดแย่งยาจากพวกเราซะที/EU Hand off Our Medicines” “หยุดเอฟทีเอที่ทำลายยาชื่อสามัญ/Stop the FTA Attack Generic Medicines” เผยแพร่ผ่านทางโซเชียลมีเดีย http://www.facebook.com/EUinThailand เพื่อกระตุ้นสำนึกผู้เจรจาของสหภาพยุโรปให้คณะกรรมาธิการยุโรปเปลี่ยนท่าทีในการเจรจาและสัญญาว่าจะสนับสนุนการเข้าถึงยาจำเป็นสำหรับประชาชนทุกคน โดยจะเริ่มการรณรงค์นี้พร้อมกันในวันศุกร์นี้” ภาพบางส่วนที่ถูกโพสต์ในเพจเฟซบุ๊กของคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย สำหรับเนื้อหาในข้อตกลงเอฟทีเอที่จะมีผลในการทำลายอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญ อาทิ · การขยายอายุสิทธิบัตร ที่ทำให้การคุ้มครองสิทธิบัตรยาวนานเกินกว่า 20 ปีตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก · การผูกขาดข้อมูลทางยา ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิหรือทำให้นำยาชื่อสามัญมาขึ้นทะเบียนยาไม่ได้หรือได้อย่างยากลำบาก · การบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ที่บังคับให้รัฐบาลและระบบศาลของอินเดียต้องตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของเจ้าของสิทธิบัตรเป็นสำคัญ มากกว่าเรื่องสาธารณสุขของประชาชน และบั่นทอนการแข่งขันของยาชื่อสามัญ · มาตรการชายแดน ที่จะทำให้การส่งออกยาจากอินเดียไปยังประเทศกำลังพัฒนามีความยากลำบากหรือไม่อาจจะส่งออกไปได้เลย ///////////////////////// ถึง เอกอัครราชทูตและหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย และหัวหน้าแผนกการค้าและเศรษฐกิจ คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ชีวิตคนนับล้านในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรวมถึงประเทศไทย อยู่ได้เพราะยาชื่อสามัญที่ราคาไม่แพงและเป็นธรรม แต่ชีวิตของพวกเขากำลังถูกคุกคามอย่างหนัก เพราะการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ดำเนินอยู่ระหว่างสหภาพยุโรปและอินเดีย อินเดียเป็นประเทศผู้ผลิตยาชื่อสามัญรายใหญ่ที่สุดในโลก ยาจำเป็นต่างๆ กว่าร้อยละ 80 ที่ใช้อยู่ในประเทศกำลังพัฒนามาจากอินเดีย โดยเฉพาะยาต้านไวร้สเอชไอวี ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่จ่ายยาจำเป็นสำหรับรักษาโรคเอดส์ โรคหัวใจ และมะเร็งให้กับผู้ป่วยนับล้านรายภายในระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย โดยที่ยาเหล่านี้มาจากอินเดีย คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) กำลังผลักดันอย่างหนักให้มีข้อตกลงการค้าที่มีข้อผูกมัดด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดเกินกว่าข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก (หรือข้อตกลงทริปส์) ข้อตกลงนี้จะสกัดกั้นการเข้าถึงยาที่จำเป็นของประชาชนในประเทศกำลังพัฒนา คณะกรรมาธิการยุโรปกำลังจะปิด “ร้านขายยา” ของประเทศกำลังพัฒนา และตัดสายป่านชีวิตของผู้คนนับล้านที่ต้องอาศัยยาจำเป็นในราคาที่เป็นธรรมจากประเทศอินเดีย ข้าพเจ้าขอเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรปเพิกถอนมาตรการต่างๆ ต่อไปนี้ออกจากข้อตกลงที่จะทำกับรัฐบาลอินเดีย: · การขยายอายุสิทธิบัตร ที่ทำให้การคุ้มครองสิทธิบัตรยาวนานเกินกว่า 20 ปีตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก · การผูกขาดข้อมูลทางยา ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิ์หรือทำให้นำยาชื่อสามัญมาขึ้นทะเบียนยาไม่ได้หรือได้อย่างยากลำบาก · การบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ที่บังคับให้รัฐบาลและระบบศาลของอินเดียต้องตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของเจ้าของสิทธิบัตรเป็นสำคัญ มากกว่าเรื่องสาธารณสุขของประชาชน และบั่นทอนการแข่งขันของยาชื่อสามัญ · มาตรการชายแดน ที่จะทำให้การส่งออกยาจากอินเดียไปยังประเทศกำลังพัฒนามีความยากลำบากหรือไม่อาจจะส่งออกไปได้เลย ข้าพเจ้าเรียกร้องเพื่อประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาที่จำเป็นต้องพึ่งพายาจำเป็นในราคาที่เป็นธรรม ขอให้คณะกรรมาธิการยุโรปเปลี่ยนท่าทีในการเจรจาและสัญญาว่าจะสนับสนุนการเข้าถึงยาจำเป็นสำหรับประชาชนทุกคน"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท