สหภาพแรงงานน่าจะเป็นทางออกของแรงงานไทย จริงหรือ?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในขณะที่ราคาสินค้าทุกอย่างถีบตัวสูงขึ้นแต่ค่าจ้างของคนงานกลับยังคงเดิม เมื่อมีรายจ่ายที่มากขึ้น ในหนึ่งวันเกือบทั้งชีวิตของเขาเหล่านั้นใช้เวลาไปกับการทำงานไม่น้อยกว่า 12-15 ชั่วโมง เพื่อที่จะหารายได้ให้เพียงพอกับรายจ่ายที่รออยู่ข้างหน้า เมื่อเขาอยู่ในโรงงานเขาก็ถูกปฏิบัติเยื่องทาส ความไม่จริงจังต่อการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐรวมกับความต้องการกำไรสูงสุดของลัทธิทุนนิยม ทำให้ชนชั้นผู้ใช้แรงงานถูกเอาเปรียบกดขี่ขูดรีดอย่างหนักหน่วง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนงานที่เป็นลูกจ้างเหมาค่าแรงจะถูกเอาเปรียบและกดขี่เป็นอย่างมาก เสมือนว่าเขาเหล่านั้นไม่ใช่คนไทยเช่นเดียวกับเรา ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ฟองสบู่แตกในปี ๒๕๓๙-๒๕๔๐ ทำให้เกิดการปรับตัวของผู้ประกอบการและนำไปสู่การออกกฎหมายให้นายจ้างสามารถจ้างแรงงานในระบบเหมาค่าแรงได้ บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตราที่ ๕ โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการรับประกันความเสี่ยงให้กับนายทุน และต่อมาลูกจ้างก็พยายามที่จะขอแก้ไขเพื่อให้การจ้างงานนั้นมีความมั่นคงยิ่งขึ้น จนนำไปสู่การแก้ไข พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๕๑ ฉบับที่ ๒ มาตราที่ ๑๑/๑ ซึงมีนัยยะที่สำคัญ คือ “ให้ลูกจ้างเหมาค่าแรงได้รับค่าจ้างสวัสดิการอย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำ” ในปัจจุบันก็ยังถกเถียงกันไม่จบว่าค่าจ้างที่ได้รับอยู่ในปัจจุบันนั้นมันเป็นธรรมหรือยัง ? ในหลากหลายมุมมอง หลายความคิด และหลายสาขาอาชีพได้พยายามที่จะปลดแอกอันหนักหน่วงของความไม่เป็นธรรมนี้ออกไป บางขณะถึงกับมีผู้ยอมสละชีวิตหวังว่าเพื่อให้เป็นอุทาหรณ์เตือนใจกับคนรุ่นหลังได้ลุกขึ้นสู้ ดังตัวอย่าง กรณีของคุณคณาพันธ์ ปานตระกูล เป็นตัวอย่างหนึ่งของการกดขี่และขูดรีดเพื่อแสวงหาซึ่งกำไรสูงสุดของลัทธิทุนนิยม นั่นคือจุดมุ่งหมายของทุน มันเป็นการสร้างความหายนะให้กับมวลหมู่กรรมกรทั้งผอง เจตนารมณ์ของคุณคณาพันธ์ ปานตระกูล อันเป็นเจตนาเดียวกันกับพี่น้องกรรมกรทั้งหลาย ก็คือ “การยกเลิกการจ้างงานในระบบเหมาค่าแรง” เพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตให้กับผู้ใช้แรงงาน และฟื้นคืนความสุขของกรรมกรทุกหมู่เหล่าให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง และความใฝ่ฝันของ คุณคณาพันธ์ ปานตระกูล จึงเป็นเนื้อเดียวกับเจตนารมณ์ของกรรมกรทั่วไป และสามัญชนธรรมดาๆ ซึ่งได้ร่วมต่อสู้กับพี่น้องกรรมกรทั้งหลาย จนกระทั่งจากไป ดังนั้นพวกเราในฐานะที่เป็นผู้ถูกกระทำจะต้องประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่า จะสืบสานอุดมคติของคุณคณาพันธ์ ปานตระกูล ตลอดไป จนกว่าชนชั้นผู้ใช้แรงงานจะได้รับการเหลียวแลและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น วันนี้ลูกจ้างชั่วคราวทั้งในภาครัฐและเอกชน ได้แต่นั่งมองหน้ากันตาละห้อย ความมั่นคงในการทำงานของคนงานไทยกำลังถูกสั่นคลอน ทั้งจากกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมที่ให้อำนาจนายจ้างไว้อย่างมากมาย ผิด-ถูก หน้าที่พิสูจน์เป็นหน้าที่ของลูกจ้างที่จะต้องไปพิสูจน์ในศาล วันนี้กฎหมายแรงงานจึงไม่ได้อยู่ในวิสัยที่นายจ้างจะยำเกรงแต่อย่างใด หรือขบวนการในการเข้าถึงความยุติธรรมเป็นไปด้วยความล่าช้ายากลำบากและใช้เวลานาน กว่าจะรู้ผลแพ้ชนะก็กินเวลาเข้าไปเกือบทศวรรษ และที่สำคัญคือกลไกในการบังคับใช้กฎหมายขาดความน่าเชื่อถือในสายตาของลูกจ้าง เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ลูกจ้างจะหันไปพึ่งใครได้ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คนงาน หรือกรรมกรทั้งหลายจะต้องตระหนัก และให้ความสำคัญกับการรวมตัวที่จะจัดตั้งเป็นองค์กรของผู้ใช้แรงงานเอง มีการรวมกลุ่มเพื่อสร้างกลไกขึ้นมาต่อรองหรือปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นกรรมาชีพ ไม่เช่นนั้นแล้วเราจะไม่เหลืออะไร แม้แต่ศักดิ์ศรีความเป็นไทยก็จะถูกลบเลือนไป วันนี้ถึงแม้สมาชิกสหภาพแรงงานของไทยจะมีจำนวนน้อยนิด ถ้าเราไม่ออกมาช่วยกันปกป้องและรักษามีแต่จะหมดไป แต่ถ้าเราช่วยกันประคับประคองและปลุกจิตสำนึกให้กับนักสหภาพแรงงานรุ่นใหม่ เชื่อว่าขบวนการแรงงานของไทยจะต้องเข้มแข็งและเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงสังคมในอนาคตอีกครั้ง สหภาพแรงงานคืออะไร? สำหรับพวกเราคนงาน สหภาพแรงงานคือ องค์กรของพวกเราที่จัดตั้งและบริหารจัดการโดยคนงาน และเพื่อคนงาน ที่มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและมั่นคง บนพื้นฐานการบริหารจัดการที่เป็นประชาธิปไตย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ · เพื่อปกป้องและคุ้มครองพวกเรามวลหมู่กรรมกรไม่ให้ถูกเอาเปรียบในสถานประกอบการ · เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานให้ดีขึ้น · เพื่อการเจรจาต่อรองร่วมอย่างเท่าเทียมกันกับนายจ้าง · เพื่อสภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างเหมาะสมตามสภาวะเศรษฐกิจ · เพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นและร่วมแก้ไขปัญหาสังคมภายในโรงงานและภายนอกโรงงาน · เพื่อเป็นการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ระบบทวิภาคีโดยที่ลูกจ้างมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย พวกเราคนงานต้องการสหภาพแรงงานหรือไม่ การถูกเอาเปรียบและไม่ได้รับความเป็นธรรม นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่พวกเราต้องการจัดตั้งสหภาพแรงงานของเราขึ้นมา เพราะการจัดตั้งสหภาพแรงงานเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ในที่ซึ่งมีคนสองกลุ่มที่คำนึงถึงผลประโยชน์ที่ตรงข้ามกัน คือ นายจ้างมีความต้องการที่จะกอบโกยให้ได้มากที่สุดจากหยาดเหงื่อแรงงานของคนงานโดยจ่ายค่าแรงต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้.....ในขณะที่ความต้องการของคนงานคือ การได้รับค่าตอบแทนอย่างเหมาะสมเพียงพอกับแรงงานที่สูญเสียไป ด้วยความขัดแย้งหรือความต้องการที่ตรงข้ามกันคนงานจึงได้เรียนรู้จากประสบการณ์ว่าพวกเรามีความจำเป็นที่จะต้องรวมพลังกันเพื่อจะเจรจากับนายจ้างถึงความต้องการของพวกเรา ซึ่งในที่นี้เครื่องมือที่ใช้กันโดยทั่วไปของพวกเราคนงาน คือ สหภาพแรงงาน พวกเราคนงานได้เรียนรู้ว่าถ้าหากเข้าไปเจรจาเพียงคนเดียวพวกเราจะไม่ได้รับหลักประกันว่าจะไม่ถูกกระทำอย่างโหดร้ายจากนายจ้าง เช่น การไล่ออกโดยไม่มีเหตุผล หรือการที่จะประสบความสำเร็จในการเรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งสภาพการจ้างงานที่มั่นคงมากขึ้นหรือการได้มาซึ่งกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ดีนั้นไม่ได้มาโดยง่าย พวกเราคนงานที่เรียกร้องตามลำพังไม่ช้าก็เร็วจะรู้ได้ด้วยตัวเองว่าเราไม่มีอำนาจอะไรจะไปต่อรองกับนายจ้างและเรานั้นอยู่ภายใต้ความกรุณาปรานีของจ้างเพียงอย่างเดียวเฉกเช่นลูกไก่ในกำมือของนายจ้างจะบีบก็ตายจะคลายก็รอดเรานั้นก็จะอยู่ในความไม่แน่นอนและหวาดวิตกอยู่ตลอดเวลาว่าเราจะถูกเลิกจ้างเมื่อไหร่ การเป็นคนงานทำให้เราตกอยู่ในสถานภาพที่ต้องพึ่งพาเงินค่าจ้างหรือเงินเดือนอย่างสมบูรณ์ ซึ่งก็คือผลผลิตจากงานที่พวกเราทำนั่นเอง และการที่พวกเราจะได้งานทำหรือถูกเลิกจ้างนั้นขึ้นอยู่กับอำนาจการตัดสินใจของนายจ้างเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้นพวกเราทั้งหลายจึงกลายเป็นผู้พึ่งพาต่อความปรานีของนายจ้างโดยฝ่ายเดียว นั้นหมายความว่าพวกเราหาใช่เป็นคนที่มีอิสระไม่ จะต้องเลือกระหว่าง รับใช้นายจ้างหรือไม่ก็อดตาย แต่ถ้าพวกเราสามัคคีกันพวกเราหาใช่ผู้ไร้ซึ่งอำนาจอีกต่อไปไม่ ด้วยการจัดตั้งสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง พวกเราคนงานสมารถเผชิญหน้ากับนายจ้างได้อย่างเท่าเทียม พวกเราสามารถฟื้นคืนศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของคนงาน ซึ่งก็คือผู้ที่ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนแรงงานกับการดำรงชีพอย่างสุจริต ไม่ช้าพวกเราก็ไม่รู้สึกอ่อนแออีกต่อไป พวกเราไม่ใช่ผู้ที่จะอยู่ได้เพียงเพราะความกรุณาปรานีของนายจ้างเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ยิ่งกว่านั้นพวกเราสามารถกำหนดชะตาชีวิตและความเป็นอยู่ของพวกเราได้มากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่รับเพียงเศษเนื้อที่นายจ้างหยิบยื่นให้มา พวกเราสามารถคัดค้านการบริหารเสนอความคิดเห็น เรียกร้องสภาพการทำงานที่เหมาะสม และสามารถเจรจากับนายจ้างในเรื่องอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากนี้ได้ ในไม่ช้าพวกเราก็สามารถกำหนดเส้นทางชีวิตของพวกเราได้เอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท