แฟนบอลจลาจลเดือดตาย 74 ย้อนสำรวจพบวัฒนธรรมแฟนบอลอียิปต์รุนแรงบ่อยครั้ง

มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 74 คน และบาดเจ็บร่วม 1,000 คน ในเหตุการณ์ที่แฟนฟุตบอลก่อจลาจลและปะทะกันหลังการแข่งขันระหว่างทีมอัล-มาสรี กับ อัล-อาห์ลี นักการเมืองโยงอาจเป็นฝีมือ “ขั้วอำนาจเก่า” อยู่เบื้องหลัง พบวัฒนธรรมแฟนบอลอียิปต์รุนแรงบ่อยครั้ง ที่มาภาพ: Telegraph.co.uk 2 ก.พ. 55 – สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 74 คน และบาดเจ็บร่วมพันคน ในเหตุการณ์ที่แฟนฟุตบอลก่อจลาจลและปะทะกันหลังการแข่งขันระหว่างทีมอัล-มาสรี (Al-Masry) กับ อัล-อาห์ลี (Al-Ahly) โดยแฟนบอลได้กรูลงไปในสนามแข่งขันที่เมืองพอร์ต ซาอิด (Port Said) เมืองท่าติดชายทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (1 ก.พ.) หลังจาก อัล-มาสรี เอาชนะทีมเยือนอย่าง อัล-อาห์ลี ไปด้วยสกอร์ 3-1 ทั้งนี้อัล-อาห์ลี ทีมจากเมืองหลวงอย่างกรุงไคโร (Cairo) เป็นหนึ่งในทีมที่ได้รับความนิยมสูงสุดของอียิปต์ โดยในรายงานข่าวระบุว่าแฟนบอลทั้งสองฝ่ายได้ปะทะกัน และผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากขาดอากาศหายใจ-มีบาดแผลที่ศีรษะ ขณะที่ตำรวจปราบจลาจลไม่สามารถควบคุมเหตุการณ์ได้ โยงเบื้องหลังอาจเป็น “ขั้วอำนาจเก่า” - ระดมทหารเข้าสู่ท่าเรือพอร์ท ซาอิด ป้องกันเหตุบานปลาย ด้านอาเมียร์ ฮัมซาวีย์ (Amr Hamzawy) ส.ส. พรรคเสรีนิยม ได้เรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, รัฐบาล และหัวหน้าฝ่ายรักษาความปลอดภัยของสนามพอร์ต ซาอิด มีการสอบสวนในเรื่องนี้ว่าอาจจะมีลับลมคมใน เพราะว่าในวันนี้ (2 ก.พ.) จะเป็นวันครบรอบหนึ่งปีที่มีการประท้วงโดยกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค (Hosni Mubarak) ที่ได้รวมตัวกันออกมาปะทะกับกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านบริเวณจัตุรัสทาห์รีร์ (Tahrir Square) กลางกรุงไคโร เพื่อพยายามต่อชีวิตทางการเมืองของมูบารัคในช่วงวิกฤตเมื่อปีที่แล้ว ทั้งนี้มีรายงานข่าวว่าอียิปต์ได้ระดมทหารเข้าสู่เมืองพอร์ท ซาอิด ในวันนี้ (2 ก.พ.) ทันที โดยนายพลโมฮัมเหม็ด ฮุสเซน ทันทาวี (Mohamed Hussein Tantawi) ประธานสภากลาโหมของอียิปต์ ซึ่งเป็นผู้นำของรัฐบาลทหารอียิปต์ในปัจจุบัน เปิดเผยกับสถานีโทรทัศน์ในอียิปต์ในการให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่ากำลังมีการสืบสวนหาตัวผู้ที่อยู่เบื้องหลังในการก่อความรุนแรงในครั้งนี้ โดยเหยื่อในเหตุการณ์นี้ทั้งหมดจะได้รับการเยียวยาชดเชย ต่อมาทันทาวีได้ให้การต้อนรับนักเตะทีมอัล-อาห์ลี สู่กรุงไคโรแล้ว และกล่าวว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ พร้อมกับประกาศให้มีการไว้อาลัยทั่วประเทศเป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ส่วนบรรยากาศหลังโศกนาฏกรรม ประชาชนในเมืองพอร์ต ซาอิดและในอีกหลายแห่งยังคงประณามเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น และมีการประท้วงการทำงานของตำรวจซึ่งพวกเขามองว่าล้มเหลวในการควบคุมฝูงชน วัฒนธรรมแฟนบอลกับการเมืองในอียิปต์ อียิปต์เป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมการเชียร์กีฬาฟุตบอลรุนแรงและเข้มข้นแห่งหนึ่ง กลุ่มแฟนบอลฮาร์ดคอร์ที่เรียกว่า “อุลตร้าส์” (ULtras) ที่เป็นวัฒนธรรมการรวมตัวเพื่อเชียร์ฟุตบอลที่มีแพร่หลายทั่วโลกและแตกต่างกันไปแล้วแต่วัฒนธรรมถิ่นนั้น ก็แพร่ขยายมาถึงอียิปต์ โดยกลุ่มแฟนบอลของทีมอัล-อาห์ลี นั้นมีฉายาว่า “อุลตร้าส์-อาห์ลาวี” (Ultras Ahlawy) ที่มีบทบาทสำคัญในการชุมนุมทางการเมืองหลายครั้งในยุคของอดีตประธานาธิบดีมูบารัค เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2009 แฟนบอลอียิปต์และอัลจีเรียปะทะกันในเกมคัดเลือกบอลโลกปี 2010 โดยทางการอัลจีเรีย เปิดเผยว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 18 คน และบาดเจ็บอีก 312 คน จากอุบัติเหตุตามท้องถนน ระหว่างการฉลองชัยชนะ หลังจากนักฟุตบอลทีมชาติอัลจีเรียชนะอียิปต์ 1-0 และผ่านเข้ารอบไปได้ หลังความพ่ายแพ้กลุ่มแฟนบอลเลือดร้อนชาวอียิปต์ที่ก่อเหตุประท้วงบริเวณสถานทูตอัลจีเรียในกรุงไคโรทันที กลุ่มผู้ประท้วงได้เผาทำลายธงชาติอัลจีเรีย พร้อมกับทำลายรถยนต์และร้านค้าที่อยู่โดยรอบสถานทูตอัลจีเรีย นอกจากนั้นยังได้เข้ายึดรถยนต์ของตำรวจ และขว้างระเบิดมือเข้าใส่ตำรวจที่ปฏิบัติภารกิจป้องกันสถานทูต จนทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างตำรวจกับผู้ประท้วง ต่อมาทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวหากันว่าอีกฝ่ายตรงข้ามเป็นผู้จุดชนวน ความรุนแรงนี้ได้เลยเถิดไปจนรัฐบาลอียิปต์สั่งถอนทูตออกจากอัลจีเรียในที่สุด ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2011 ทีมฟุตบอลสหรัฐอเมริกา ยกเลิกแมตช์กระชับมิตรกับอียิปต์ ที่กรุงไคโร โดยสหพันธ์ฟุตบอลสหรัฐอเมริกาให้เหตุผลว่าเป็นเพราะมีสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นภายในประเทศอียิปต์ จากเหตุการณ์ที่ประชาชนก่อจลาจลรวมตัวประท้วงขับไล่ประธานาธิบดีมูบารัค เดือนเมษายน ค.ศ. 2011 ในเกมการแข่งขันชิงแชมป์สโมสรทวีปแอฟริการอบ 32 ทีมสุดท้าย เลกที่ 2 ระหว่างทีมซามาเล็ค (Zamalek) จากอียิปต์ กับ คลับ แอฟริเคน (Club Africain) จากตูนีเซีย ซึ่งในเกมนี้ซามาเล็ค ขึ้นนำทีมจากตูนีเซีย 2-1 แต่ผลประตูรวมยังคงตามหลังอยู่ 4-5 โดยระหว่างการแข่งขันผู้ตัดสินชาวอัลจีเรียไม่ได้ตัดสินให้ลูกยิงของซามาเล็ค เป็นประตูที่ 3 ในเกมนี้ โดยตัดสินให้เป็นลูกล้ำหน้า สร้างความไม่พอใจให้กับแฟนบอลของสโมสรเป็นอย่างมาก จนในช่วงต่อเวลาแฟนบอลของซามาเล็คหลายร้อยคนได้บุกเข้ามาในสนาม (แฟนบอลฮาร์ดคอร์ของซามาเล็คมีฉายาว่า กลุ่มอุลตร้าส์ ไวท์ ไนท์: Ultras White Knights) เดือนกันยายน ค.ศ.2011 กลุ่มแฟนบอลของทีมอัล-อาห์ลี ได้ปะทะกับตำรวจปราบจลาจลซึ่งดูแลความปลอดภัย หลังจากที่บรรดาแฟนบอลได้ตะโกนด่าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจและนายฮาบิบ เอล-แอดลี (Habib el-Adly) อดีตรัฐมนตรีมหาดไทยในระหว่างการแข่งขันฟุตบอลรายการอียิปต์คัพ ระหว่างอัล-อาห์ลี กับ คิมา อัสวาน (Kima Aswan) โดยครั้งนั้นกระทรวงมหาดไทยของอียิปต์กล่าวในแถลงการณ์ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจถูกยั่วยุจากแฟนบอล ซึ่งด่าทอเจ้าหน้าที่ตำรวจและทำลายเก้าอี้ของสนามกีฬา พร้อมทั้งโยนระเบิดเพลิงเข้าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้ต้องใช้กำลังเข้าปราบปรามเพื่อระงับเหตุรุนแรงดังกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท