Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อกล่าวถึงการมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน หากเป็นการร่วมกันทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเฉพาะเจาะจงแล้วก็คงไม่ยากที่จะทำให้งานนั้นมีความสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี หากแม้นว่างานทุกสิ่งอย่างเป็นการกระทำที่ง่ายแบบเดียวกันทั้งหมด ก็คงทำให้สังคมนั้นมีลักษณะเป็นเส้นตรงขนานกับพื้นราบเป็นแน่ และนำไปสู่ความไม่ขัดแย้งซึ่งเป็นอุดมคติของผู้ในสังคมที่คาดหวังกันอยู่แล้ว หากกล่าวถึงในประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่ยาวนาน การมีจุดมุ่งหมายเดียวกันในสังคมเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก เพราะเมื่อเป็นเช่นนั้นทุกคนก็จะมุ่งไปสู่การแสวงหาจุดมุ่งหมายปลายทางของตัวเอง และพร้อมที่จะทำลายผู้ที่อยู่รอบข้างเพื่อตัวเองจะได้เป็นผู้ชนะ เช่นเดียวกันกับ “ประชาธิปไตย” ในความรู้สึกนึกคิดของชาวตะวันตกในศตวรรษที่ 13 ประชาธิปไตย ก็ถือเป็นสิ่งที่น่ากลัวอย่างยิ่งเพราะในที่สุดแล้วผู้ที่มีอำนาจซึ่งมาจากข้างมากของผู้คนในสังคมอาจนำไปสู่การกดขี่ ข่มขู่ เสียงข้างน้อยและท้ายที่สุดก็มักจะจ้องทำลายร้างผู้ที่เห็นต่าง จึงเป็นบ่อเกิดของ ทรราช นั่นเอง ดังนั้นจากสองกรณีที่กล่าวมาทั้งหมด สะท้อนถึงมุมมองความคิดเกี่ยวกับการรวมหมู่ โดยการรวมหมู่คนที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ผลสะท้อนที่ออกมาอาจกล่าวได้ว่ามักจะเต็มไปด้วยความรุนแรงและขัดแย้งกันอยู่เสมอ เมื่อเป็นเช่นนั้นสิ่งที่คนส่วนใหญ่มุ่งแสวงหาก็คือ ความสงบสุขในชีวิตนั่นเอง เพราะในที่สุดแล้วมนุษย์ทุกคนก็รักตัวกลัวตายมากที่สุด เมื่อมนุษย์มีความต้องการความสงบสุข จึงต้องมอบความคาดหวังนี้ไปสู่ “รัฐ” เพื่อให้ทำหน้าที่รักษาชีวิตและทรัพย์สินของตนเอง แต่ก็ย้อนกลับมาสู่อดีตอีกครั้งเมื่ออำนาจรัฐถูกสร้างจากเสียงข้างมาก ก็น่ากลัวอีกว่าจะเกิด ทรราช แบบเดิมๆออกมาอีกได้ ที่กล่าวข้างต้นก็ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาและบ่อเกิดของความขัดแย้งในสังคมที่ก่อกำเนิดจากการมีจุดมุ่งหมายเดียวกันของผู้คน ในสังคมทั่วไปมักจะมีแบบแผนซึ่งในที่นี้อาจจะมาจากวัฒนธรรม ประเพณี หรือแม้แต่การโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งเมื่อเกิดการผลิตซ้ำบ่อยๆก็อาจก่อรูปก่อร่างหรือทำให้เกิดเป็นวัฒนธรรม ประเพณีของสังคมก็เป็นได้ จากนั้นผู้คนก็มักจะยึดหลักปฏิบัตินั้น (ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องจริงหรือวาทกรรมก็ได้) ปัญหามันอยู่ที่ว่า หากว่าประเพณีและวัฒนธรรมนั้นปฏิบัติกันต่อมาแล้วเกิดเป็นบรรทัดฐานของสังคม หากมีคนจำนวนหนึ่งแสดงความไม่เห็นด้วยแล้วจะต้องทำอย่างไร โดยในที่นี้ “ปริมณฑลสาธารณะ” (Public Sphere) มีความสำคัญและเป็นที่กล่าวถึงเป็นอย่างมากในระบอบประชาธิปไตยที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน การให้พื้นที่แก่เขาเหล่านั้นหากมองกันในด้านเสรีภาพเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นแล้วก็มองได้ว่าเป็นการเสริมกันกับระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างดี ถือว่าเป็นหลักการพื้นที่ฐานที่สำคัญเลยก็ว่าได้ หากมองอีกแง่ การเปิดพื้นที่สาธารณะก็เป็นตัวการสำคัญที่ลดความขัดแย้งในสังคม ดังเช่น หากเราไม่มีพื้นที่ให้พวกเขาเหล่านั้น เป็นการผลักดันให้เขาเหล่านั้นไปสู่พื้นที่ใหม่ ซึ่งนั่นก็หมายความว่า เมื่อเปิดเผยบนดินไม่ได้ก็คงต้องเป็นวิธีการใต้ดิน ดังเช่นการต่อต้านที่ใช้กำลังในลักษณะสงครามกองโจร ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่าความขัดแย้งอาจจะยิ่งดำดิ่งฝังลึกลงสู่สังคมก็เป็นได้ หลายครั้งสังคมมักแก้ปัญหาด้วยอารมณ์และไม่ได้ยึดหลักของเสรีภาพมากนัก การผลักดันและกดดันคนเหล่านั้นให้คิดเช่นเดียวกันหากไม่ทำเช่นนั้นแล้วคุณก็ไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในสังคม สิ่งนี้สะท้อนชัดเจนถึงการไม่คำนึงถึงเสรีภาพส่วนบุคคลที่พึงมีในฐานะมนุษย์ ทั้งที่จากในอดีตที่ผ่านมา การต่อสู้เพื่อให้ได้เสรีภาพมานั้นมีความสำคัญกว่าจะได้มาต้องแลกกับอะไรต่อมิอะไรมากมาย ก็เป็นที่น่าเสียดายยิ่งที่มิได้นำมาใช้ อีกเรื่องหนึ่ง การมองข้ามหลักที่สำคัญอีกหลักหนึ่งของประชาธิปไตย นั่นก็คือ “ความทนกันได้” (Tolerance) ความทนกันได้ที่เป็นตัวผนึกสังคมที่มีความขัดแย้งกัน สังคมเราอาจลืมเรื่องนี้ไปสนิท ช่วงเวลาหลังๆมานี้เรามิได้ใช้หลักการนี้มากนัก หากแต่เปิดหน้าชกกันอย่างชัดเจนหรือในช่วงเวลาหนึ่งสองฝ่ายก็พร้อมที่จะใช้ความรุนแรงต่อกันทั้งที่ไม่รู้จักกันมาก่อน ดังเช่นปรากฏการณ์ที่ชายแดนของประเทศ (ในที่นี้ไม่ได้บอกว่าใครผิดถูกอย่างไร แต่จะสะท้อนถึงความรุนแรงที่สองฝ่ายกระทำเท่านั้น) การเปิดพื้นที่ให้มีการโต้เถียงกันด้วยหลักการและเหตุผล จึงมีส่วนสำคัญที่จะทำให้เรื่องบางเรื่องเกิดการแลกเปลี่ยนมุมมองและเข้าใจกันและกันมากขึ้น บางครั้งการคิดอยู่เพียงฝ่ายเดียวก็อาจทำให้ขาดความรอบด้านของข้อมูล หากแม้นว่าเริ่มแรกอาจจะแข็งกร้าวแต่ในบ้างครั้งเมื่อได้รับข้อมูลอีกด้านหนึ่งก็อาจจะทำให้เริ่มอ่อนลงและนำไปสู่การแสวงหาจุดร่วมกันก็เป็นได้ ดังเช่นหลักการของ \ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Democracy) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของการแก้ปัญหาความขัดแย้ง แล้วในสังคมนี้ล่ะ เราได้เลือกแบบแผนหรือวิธีการใดที่ทำให้สังคมที่เป็นหนึ่งเดียวกันแบบหลอกๆผ่านพ้นความต่างนี้ไปได้อย่างไร เราเลือกรับฟังความคิดเห็นเหล่านี้หรือไม่ มีวิธีการต่างๆมากมายที่ผ่านการคิด ผ่านมุมมองที่ทางประวัติศาสตร์ ประสบการณ์ หรืออื่นๆอีกมาก เหตุใดสิ่งที่เลือกกลับกลายเป็นแบบแผนเดิมโดยผ่านการข่มขู่ กดดัน ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงหรือบางทีบางคนอาจจะตีความว่าสิ่งเหล่านี้ก็เท่ากับเกิดความรุนแรงขึ้นแล้ว ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นก็น่าเสียดายที่เมื่อมีความคิดที่ดี วิธีการให้เลือกใช้ แต่กลับไม่ได้นำมาใช้ ก็คงไม่ต่างอะไรกับคนที่มีทองคำในมือแล้วไม่รูว่าเป็นทองคำ สุดท้ายค่าของมันก็เป็นแค่ก้อนหินธรรมดาเท่านั้น หากแต่เราอ้างเสมอว่า เราอยู่ในสังคมที่เป็นเสรีให้เสรีภาพกับทุกคนโดยเสมอภาค แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า เสรีภาพที่ให้นี้เป็นเสรีภาพที่อยู่ในกรอบ แล้วเสรีภาพที่อยู่ในกรอบนี้จัดเป็นเสรีภาพจริงๆ หรือไม่ สิ่งที่ควรมองมากที่สุดก็คือ มองทุกเรื่องแบบสองด้านเสมอ คงยากที่ทุกคนทุกฝ่ายจะเห็นเช่นเดียวกัน ขอให้เปิดกว้าง ใจกว้าง รับความจริง และขอพื้นที่ให้กับเขาเช่นเดียวกับที่คุณเองมีและใช้พื้นที่อยู่ขณะนี้เช่นเดียวกัน"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net