วิชาการกับการเมือง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

"ผมไม่ได้ห้ามไม่ให้ใช้เสรีภาพในการ แสดงความคิดเห็น หรือเสรีภาพในทางวิชาการใน มธ แต่ต้องแยกเสรีภาพทั้งสองนี้ออกจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการขยายความขัดแย้ง และนำมาซึ่งความวุ่นวายใน มธ.และประเทศ"

                      (สมคิด เลิศไพฑูรย์, อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
                       ที่มา มติชนออนไลน์ วันที่ 31 มกราคม 2555

มติฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่จะไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ มหาวิทยาลัยเพื่อเคลื่อนไหวกรณีมาตรา 112 ประกอบกับความเห็นของอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนปัจจุบันดังข้างต้น ทำให้เกิดความสงสัยว่า คณะบุคคลดังกล่าวคงไม่เข้าใจความหมายของคำว่า “วิชาการ” (โดยยังไม่ต้องเอ่ยถึงเสรีภาพ) หรือคำว่า “การเมือง” หรืออาจจะไม่เข้าใจทั้งสองคำ

ความไม่เข้าใจ “วิชาการ” และ “การเมือง” สะท้อนผ่านวิธีคิดที่จะแยกวิชาการออกจากการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้โดยแก่นสาร

ทำไมจึงแยกวิชาการออกจากการเมืองไม่ได้?

ความขัดแย้งกับฉันทามติเป็นแก่นสารสำคัญของ “การเมือง” หมายความว่า ‘การยึดประโยชน์ของกลุ่มหรือของบุคคลยัดเยียดให้ผู้อื่นด้วยกำลังโดยปราศจาก ความยินยอมใด ๆ ย่อมมิใช่การเมือง และในทางกลับกันสถานการณ์ที่กลุ่มมุ่งหน้าคืบไปสู่เป้าหมายของตนด้วยความ เห็นพ้องทั้งมวลย่อมมิใช่กระบวนการทางการเมือง’ (Tansey and Jackson; 2008, p.7)  “การเมือง” จึงเป็นเรื่องของปฏิสัมพันธ์ระหว่างความขัดแย้งกับความเห็นชอบ

โสเครตีสใช้การตั้งคำถามเป็นแนวทางแสวงหาสัจธรรม เพลโต้ศิษย์โสเครตีสก่อตั้ง the Academy อันมีฐานะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลกสืบต่อแนวทางครูในการทำงาน academic นับจากนั้นโลกก็รุดหน้าทางศิลปวิทยาการในอัตราเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน

การตั้งคำถามและการวิพากษ์วิจารณ์จึงเป็นฐานสำคัญของ “วิชาการ” ซึ่งหมายความว่าองค์ความรู้และตัวบุคคลผู้ผลิตความรู้ย่อมสามารถมีความเห็น แย้งแตกต่างและสามารถยอมรับในเหตุและผลของกันและกันได้ “วิชาการ” จึงงอกงามในพื้นที่ “การเมือง” และยากที่จะเติบโตบนพื้นที่ปลอด “การเมือง” เช่น ในปริมณฑลของศาสนาหรือปริมณฑลของอำนาจที่ยินยอมให้ผลิตสิ่งที่เรียกว่า “ความรู้” ที่สอดคล้องกับความเชื่อ/อำนาจเท่านั้น ความรู้ที่ผลิตโดยสวามิภักดิ์ต่อความเชื่อ/อำนาจ ย่อมขาดคุณสมบัติของความเป็นวิชาการ นักวิชาการผู้พยายามผลิตงาน “วิชาการ” ในสังคมดังกล่าวมักประสบความยากลำบากในชีวิต เช่น โสเครตีสถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยข้อหาทรยศชาติ แม้แต่งานวิชาการทางวิทยาศาสตร์ เช่น งานวิชาการของคอปเปอร์นิคัสที่ต้องตีพิมพ์เมื่อเขาใกล้จะเสียชีวิต การค้นพบว่าดวงอาทิตย์คือศูนย์กลางของระบบสุริยะจักรวาลทำให้กาลิเลโอถูกกัก ขังในบ้านตนเอง เป็นต้น

ด้วยมิตินี้ ความงอกเงยทางวิชาการแนบแน่นกับการเมืองอย่างยิ่ง การแยกวิชาการออกจากการเมืองจึงเท่ากับการบังคับให้สังคมยอมรับความเชื่อโดย ไม่ต้องตั้งคำถามและสยบต่ออำนาจ

นี่ใช่ไหมที่คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต้องการ?

“การเมือง” สำคัญอย่างไรต่อสังคม?

ประโยคที่ฝ่ายรัฐชอบเอ่ยว่า “บัดนี้มาตรการทางการเมืองใช้ไม่ได้ผลแล้ว จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการทางทหาร” ซึ่งหมายถึงการใช้ความรุนแรงนั้น เป็นตัวอย่างสำคัญของ “การเมือง” ในฐานะวิถีทางแห่งสันติในยามที่สังคมกำลังเผชิญหน้ากับความขัดแย้งรุนแรง

ในบริบทของความขัดแย้งรุนแรง เมื่อการเมืองสิ้นสุดความรุนแรงจึงมักเข้ามาแทนที่

ด้วยเหตุผลดังกล่าว การเมืองจึงสำคัญอย่างยิ่งสำหรับสังคมมนุษย์ เพราะสังคมมิได้อยู่โดยปราศจากความขัดแย้ง ความขัดแย้งนั้นเป็นส่วนสำคัญของสังคมมนุษย์โดยธรรมชาติ การเมืองมีส่วนช่วยให้ความขัดแย้งไม่แปรไปเป็นความรุนแรง การเมืองมีความหมายมากในฐานะของการเปิดพื้นที่ให้ถกเถียงรับฟังและยอมรับกัน และกันได้ ตราบใดที่ยังมีการเมืองความขัดแย้งย่อมมีพื้นที่ดำรงอยู่ในสังคมโดยสันติ ตราบใดที่คู่ขัดแย้งมีพื้นที่ในการสนทนาและสามารถสนทนากันได้ ความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ ย่อมไม่มีความจำเป็น

เนื่องจากการเมืองคือการมีทั้งความขัดแย้งและฉันทามติ ดังนั้น การปฏิเสธ “การเมือง” คือการยอมรับการดำรงอยู่ของความขัดแย้งหรือความเห็นในทิศทางเดียวกันอย่างใด อย่างหนึ่งเท่านั้น ในแง่นี้ “ความไม่มีการเมือง” ต่างหากที่อันตราย เพราะสามารถทำลายชีวิตและความคิดลงทั้งสองสิ่ง ชุมชนที่ไม่มีการเมือง คือชุมชนที่มนุษย์ถูกกระทำด้วยความรุนแรงจนเหลือทางเลือกเพียงสองทางคือ ความตายกับความเงียบ (เพราะโง่หรือเพราะเชื่อง)

นี่ใช่ไหมที่คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต้องการ?

มหาวิทยาลัยกับการเมืองสัมพันธ์กันอย่างไร?

การเมืองเป็นเรื่องของเป้าหมายสูงสุดของมนุษย์ สังคมการเมืองดำรงอยู่เพื่อช่วยให้มนุษย์บรรลุศักยภาพของตน หากมหาวิทยาลัยใดถูกตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเปลื้องพันธนาการและเปิด ทางเสรีภาพแก่บุคคล มหาวิทยาลัยนั้นย่อมไม่ปฏิเสธ “การเมือง”  ในฐานะที่เป็นวิถีทางแสวงหาคำตอบต่อเป้าหมายสูงสุดในชีวิตของมนุษย์

หากเปรียบความรู้คือแสงไฟ มหาวิทยาลัยย่อมเป็นสรรพแสง นอกจากผลิตวิชาหาเลี้ยงชีพ ดวงประทีปสุดท้ายในรั้วโดมเกิดขึ้นเมื่อใด?

ธรรมศาสตร์กำลังย่ำสนธยา ตามแสงไต้ไว้สักดวงดีไหมครับ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท