Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

1. บทนำ นับตั้งแต่การปฏิวัติเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย ในปี พ.ศ.2475 ประเทศไทยก็มีการกระจายอำนาจ การบริหารและการปกครองสู่ท้องถิ่นมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการบริหารราชการถูกแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือการบริหารราชการส่วนกลาง การบริหารราชการส่วนภูมิภาคและการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น แต่ปัจจุบัน โครงสร้างการบริหารและปกครองในรูปแบบเดิม เริ่มเกิดปัญหาขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายต่อหลายรัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาโดยการปรับลักษณะของโครงสร้างการบริหารราชการไทย แต่ก็ยังไม่สามารถลดปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นของประเทศไทยได้ ซึ่งเกิดจาก การบริหารราชการแผ่นดินไทยนั้น เน้นไปที่การรวมศูนย์มากกว่าการกระจายอำนาจ เนื่องจากต้องการรักษาความมั่นคงของชาติ จึงทำให้เกิดปัญหาตามมา ดังจะเห็นได้ชัดเจนจาก ปัญหามากมายในระดับท้องถิ่นนั้นไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเบ็ดเสร็จภายในท้องถิ่น ซึ่งเกิดจากลักษณะการบริหารราชการไทยดังกล่าวสร้างปัญหาให้กับการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ 1) ปัญหาทางด้านโครงสร้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ปัญหาทางด้านอํานาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซ้อนทับกับการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ทั้งเรื่องอำนาจ ภารกิจ งบประมาณและการประสานงาน ปัญหาด้านการกํากับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากเกินไป มีความพยายามของฝ่ายการเมืองและฝ่ายปกครองที่จะเข้าไปกํากับดูแลการดําเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะปัญหาทางด้านการกําหนดนโยบายและแผนที่ไม่สอดคล้องกับสภาพของปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ หรือปัญหาการไม่สามารถนํานโยบายไปปฏิบัติได้จริง 2) ปัญหาทางด้านการบริหารการเงินการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและการดําเนินภารกิจต่างๆ ซึ่งมักจะไม่เพียงพอที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะนําไปใช้จ่ายในการจัดทําบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนได้ครบถ้วนตามภารกิจที่กฎหมายกําหนด 3) ปัญหาทางด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังไม่มีประสิทธิภาพและไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างเต็มที่ 4) ปัญหาทางด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน หัวใจหลักของการปกครองส่วนท้องถิ่นก็คือ เป็นการปกครองตนเองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆแต่ในทางปฏิบัติจะพบว่า การมีส่วนร่วมในการปกครองท้องถิ่นของประชาชนมีค่อนข้างน้อย คงมีเพียงแต่การไปใช้สิทธิเลือกตั้งสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น หลังจากนั้นประชาชนจึงไม่ค่อยมีส่วนร่วมอย่างอื่น ซึ่งทําให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขาดพลัง ขาดความร่วมมือ ขาดความสนใจจากประชาชนอันเป็นผลให้การปกครองท้องถิ่นซึ่งเป็นการปกครองของคนในท้องถิ่นเองไม่ค่อยประสบความสําเร็จเท่าที่ควร ซึ่งไม่มีทางที่จะก้าวข้ามปัญหาที่เกิดขึ้น โดยที่คิดอยู่ในกรอบเดิม บทความนี้มุ่งที่จะทำความเข้าใจและนำเสนอ แนวทางในการปฏิรูปประเทศไทยรูปแบบหนึ่ง เป็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่นระดับจังหวัดที่ลดการปกครองและบริหารจากส่วนกลางลงมารวมศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่จังหวัด ที่เรียกว่า “จังหวัดจัดการตนเอง” เคลื่อนไหวภายใต้กรอบคิดขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่ไม่ใช้ความรุนแรงหรือปฏิบัติอันขัดต่อกฏหมาย แต่ดำเนินยุทธศาสตร์เคลื่อนไหวโดยวิธีการของภาคประชาชน ขับเคลื่อนโดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ การสร้างให้ประชาชนสำนึกต่อความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย เกิดการตื่นตัว ลุกขึ้นมาสนใจแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และร่วมกันขยายแนวความคิด ให้สามารถขับเคลื่อนในเชิงรูปธรรมได้ ซึ่งถ้าสามารถจัดตั้ง “จังหวัดจัดการตนเอง” ได้จริงจะเป็นรูปธรรมที่ทำให้ เปลี่ยนวิธีคิดของคนในชาติ เมื่อประชาชนได้รู้สึกว่าตนเองได้เป็นเจ้าของท้องถิ่นของตนอย่างแท้จริงจะทำให้มีความรักท้องถิ่นของตนเองมากขึ้น เปลี่ยนบทบาทตัวตนของประชาชน เมื่อประชาชนสัมผัสได้ถึงประชาธิปไตยที่ใกล้ตัวจะทำให้เกิดสำนึกในความเป็นพลเมืองได้อย่างชัดเจน เปลี่ยนวิธีการจัดการและบริหารท้องถิ่น ภาคประชาชนที่อยู่ในแต่ละท้องถิ่นจะเข้าไปมีอำนาจ มีบทบาทในการกำหนดทิศทางการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง เมื่อเกิดปัญหาขึ้นคนในท้องถิ่นก็จะลุกขึ้นมาต่อสู้ แก้ไขกันในระดับท้องถิ่นของตนเอง เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจเดิมที่มีมาอย่างยาวนานนาน จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองท้องถิ่นไทย สร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า ซึ่งจะเป็นการปฏิรูปประเทศไทยครั้งสำคัญ บทความนี้แบ่งเป็น 4 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย 1) การทำความเข้าใจในกรอบคิด ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม 2) อธิบายถึงรากฐานและพัฒนาการของแนวคิด “จังหวัดจัดการตนเอง” 3) วิเคราะห์ถึง “จังหวัดจัดการตนเอง” ว่าเป็นขบวนการเคลื่อนไหวรูปแบบใหม่ที่นำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทย ได้อย่างไร? 4) นำเสนอแนวทางพัฒนาไปสู่ “จังหวัดจัดการตนเอง” 2. กรอบคิด : แนวคิดขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ (New Social Movement) แนวคิดขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ (New Social Movement) เป็นกรอบนำทางในการศึกษา “จังหวัดจัดการตนเอง” ซึ่งเป็นรูปแบบความเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบหนึ่งซึ่งนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทย แนวคิดขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ จึงสามารถเป็นกรอบแนวคิด นำทางในการอธิบายและวิเคราะห์ ว่ารูปแบบการเคลื่อนไหว “จังหวัดจัดการตนเอง” มีความหมายและลักษณะ ปัจจัยเคลื่อนไหว โครงสร้าง เป้าหมายและกระบวนการในการขับเคลื่อนอย่างไร นิยาม ความหมายและลักษณะ ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ ว่า คือ การเคลื่อนไหวเรียกร้องที่ต้องการสร้างนิยามหรือความหมายชุดใหม่ให้กับสิ่งที่เคลื่อนไหวเรียกร้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิยามหรือความหมายของสิ่งที่เรียกว่า “การเมือง” ให้กว้างไกลไปจากเดิมที่ดำรงอยู่ ด้วยการชี้ชวนให้เห็นว่าชีวิตประจำวันนั้นเป็นเรื่องของการเมืองและเป็นเรื่องของสังคมด้วย(ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, 2540) ยิ่งไปกว่านั้นแนวคิดนี้ยังปฏิเสธวิธีการที่ใช้ความรุนแรงและเป้าหมายของการต่อสู้เรียกร้องก็ไม่ใช่เพื่อการช่วงชิงอำนาจรัฐ ดังที่นิยมคิดหรือกระทำกันในแวดวงของการเมืองแบบเก่า ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ คือ ตัวอย่างรูปธรรมหนึ่งของการเมืองแบบใหม่หรือการเมืองภาคประชาชน ในฐานะที่เป็นตัวแสดงหรือผู้กระทำทางการเมือง ไม่นิยมใช้ความรุนแรง ลักษณะที่สำคัญของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ คือ การสร้างวัฒนธรรมการต่อต้าน ขัดขืน โดยมีวัตถุประสงค์ที่หลากหลายมาก เช่น เพื่อระดมความรู้ ยกระดับจิตสำนึก การรับรู้ของประชาชนในเคลื่อนไหว หรือเพื่อสร้างแนวคิดใหม่ เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐรับทราบหรือรับผิดชอบต่อการกระทำที่มีผลกระทบต่อประชาชนหรือสังคมในวงกว้างมิใช่ทำตามอำเภอใจหรือล่วงละเมิดอำนาจของตนเอง เป็นการเคลื่อนไหวที่ต้องการจะอุดช่องว่างในส่วนที่รัฐและองค์กรระหว่างประเทศทำไม่ได้หรือไม่มีความต้องการจะทำหรือการเรียกร้องให้ประชาชนเข้าไปมีบทบาทในระดับของการตัดสินใจในองค์กรและสถาบันที่จัดระเบียบสังคม โครงสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ คือ ผู้เข้าร่วม ผู้ประสานงานและผู้สนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีระดับหลากหลายในสังคม เช่น แรงงานกรรมมาชีพ แรงงานนั่งโต๊ะ(แรงงานมีฐานะ) ประชาชนทั่วไป พนักงานรัฐวิสาหกิจและเอกชน นักเรียนนักศึกษา นักวิชาการ NGOs นักพัฒนา องค์กรพัฒนา รวมไปถึงองค์กรสนับสนุนงบประมาณต่างๆ ซึ่งตัวโครงสร้างขบวนการขับเคลื่อนจะเปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะและรูปแบบของประเด็นในการขับเคลื่อน เป้าหมายที่สำคัญของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ คือ กระตุ้นความตื่นตัวและจิตสำนึกทางการเมืองของผู้เข้าร่วมจากกิจกรรม เกิดการกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกและการตื่นตัวเรื่องนั้นๆ เกิดความหวงแหนท้องถิ่นและเกิดสำนึก “ความเป็นเจ้าของ” เปลี่ยนแปลงในเรื่องความเข้าใจของสังคมหรือสถาบันพื้นฐานของสังคมซึ่งส่งผลกระทบ ระหว่างรัฐกับประชาชน ที่สำคัญการเข้าร่วมขบวนการก็ส่งผลต่อตัวผู้เข้าร่วมได้อย่างสำคัญและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานบางอย่างในประเทศหรือท้องถิ่น ซึ่งเปลี่ยนแปลงทั้งทางสังคมและวัฒนธรรม รวมถึง การเมืองการปกครอง กระบวนการของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ รูปแบบและหลักการเคลื่อนไหว ดังเช่น การใช้ยุทธวิธีการขัดขวาง ดังที่ ประภาส ปิ่นตบแต่ง(2552) ได้กล่าวไว้ว่า วิธีการนี้เป็นการเข้าไปขัดขวางการตัดสินใจทางการเมืองและฝ่ายตรงข้าม เช่น การบอยคอต คือการ เข้าไปขัดขวาง การดำเนินกิจการรัฐหรือฝ่ายตรงข้าม มีลักษณะเป็นการก่อตัวของประชาชนอย่างเหนียวแน่น เพื่อนำไปสู่การเจรจาต่อรองและการนั่งประท้วง คือการบุกเข้าไปนั่งประท้วงในสถานที่เฉพาะ เพื่อให้เกิดการเจรจาอย่างเหมาะสมและพอใจทั้ง 2 ฝ่าย รูปแบบดังกล่าวถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งใช้มานานในสังคมไทย แต่ยังมีรูปแบบและลักษณะที่เพิ่มขึ้นมาในปัจจุบัน เช่น การจัดเวทีและการประชุมหารือ เกิดขึ้นในทุกระดับจากประชาชนและนักวิชาการ รวบรวมภาคีจากผู้สนใจในประเด็นต่างๆ เพื่อที่จะกำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนต่อไป การใช้สื่อเพื่อกระจายข่าวสารและขยายองค์ความรู้ เกิดจากการคิดค้นแนวคิดเพื่อพัฒนาสังคม การเมืองและเศรษฐกิจและนำไปขยายองค์ความรู้ให้ประชาชนในระดับต่างๆและพื้นที่ต่างๆเข้าใจและใช้เป็นเครื่องมือนำไปสู่การรวบรวมแนวร่วมในอุดมการณ์เดียวกัน ความเชื่ออุปถัมภ์ คือ การกล่อมเกลา โน้มน้าวและเกลี่ยกล่อมจากผู้อุปถัมภ์ เช่น ผู้นำชุมชน ผู้อาวุโส ผู้มีอำนาจในท้องถิ่นหรือนายทุน เพื่อจัดตั้งมวลชนให้มีความคิดเห็นที่คล้อยตามกัน กลุ่มคนเหล่านี้มีผลประโยชน์กับประชาชนรากหญ้า ซึ่งทำให้ประชาชนรากหญ้าคล้อยตามไป ปัจจัยต่างๆที่ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ เกิดขึ้นและขับเคลื่อนได้ เนื่องจากปัจจัยหลัก 2 ประการ กล่าวคือ ปัจจัยภายในของตัวผู้ขับเคลื่อนเอง ได้แก่ จิตสำนึกของความเป็นพลเมืองของประชาชนทั่วไป พฤติกรรมการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง และการมีความตื่นตัวทางการเมือง รวมถึงพร้อมที่จะทำการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิมและการเชื่อมโยงและการสร้างเครือข่าย เช่น ภาคประชาสังคม ในกลุ่มที่ประสบปัญหาหรือกลุ่มที่เรียกร้องสิทธิต่างๆเพื่อทำการต่อสู้กับการครอบงำของระบบรัฐหรือระบบตลาด และถึงปัจจัยภายนอก ได้แก่ บริบททางสังคมของประเทศหรือท้องถิ่นนั้นๆ ระบบเศรษฐกิจของประเทศหรือท้องถิ่นนั้นๆ ระบบการปกครองของประเทศหรือท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งคนส่วนมากในพื้นที่สามารถแสดงความต้องการและเคลื่อนไหวเพื่อปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองในประเทศหรือท้องถิ่นที่ตนเป็นเจ้าของได้ จะเห็นได้ว่า แนวคิดขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ (New Social Movement) คือ กรอบคิดที่แสดงให้เห็นส่วนประกอบต่างๆของการเคลื่อนไหวทางสังคม เช่น โครงสร้าง กระบวนการและเป้าหมายในการเคลื่อนไหว สามารถนำมาวิเคราะห์ “จังหวัดจัดการตนเอง” ว่าเป็นรูปแบบและแนวทางในการปฏิรูปประเทศไทย กล่าวคือ การเคลื่อนไหวทางสังคมโดยไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและปรับเปลี่ยนโครงสร้างการปกครองและบริหารท้องถิ่นไทย 3. พัฒนาการ “จังหวัดจัดการตนเอง” แนวคิด “จังหวัดจัดการตนเอง” เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ.2551 จากการนำแนวคิด “การพึ่งตนเอง” ในเรื่องเกษตรชุมชน เช่น ป่าชุมชนและเกษตรทางเลือก ซึ่งเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมายาวนานและกระจายอยู่ทั่วประเทศ ร่วมกับ การนำบทเรียน จากวิกฤติทางการเมืองในช่วง พ.ศ.2547 - พ.ศ.2549 เข้ามาเป็นประเด็นในการพูดคุยกันในเวทีย่อยๆของภาคส่วนต่างๆที่เคลื่อนไหวเพื่อพัฒนาสังคม เช่น คณะกรรมการประสานงานองคกรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช) และสถาบันการจัดการทางสังคม (สจส.) [2] และ นักวิชาการอิสระต่างๆ ซึ่งแลกเปลี่ยนความคิดกันในเรื่องของการพึ่งตนเองและการแก้ปัญหาทางการเมือง ต้นปี พ.ศ.2552 เริ่มมีการยกกระแสแนวคิด “การจัดการตนเอง” ขึ้นมาเป็นประเด็นแลกเปลี่ยนในเวที จากความร่วมมือของสถาบันการจัดการทางสังคม (สจส.) ร่วมกับคณะกรรมการประสานงานองคกรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช ภาคเหนือ) และกลุ่มนักวิชาการอิสระในภาคเหนือ จัดเวที ขับเคลื่อนพัฒนาการเมือง เพื่อแลกเปลี่ยนในประเด็น ของการเมืองท้องถิ่น ซึ่งเวทีนั้นได้พูดถึงแนวคิดปฏิรูปประเทศเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างการปกครองท้องถิ่นขึ้น เนื่องจากผู้ร่วมเวทีมีการแลกเปลี่ยนกันถึงการเมืองและการปกครองท้องถิ่นไทยที่มีปัญหาอย่างต่อเนื่อง จึงเกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน โดยนำแนวคิด การพึ่งตนเองมาบูรณาการใช้ในการแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ยังไม่มีการเคลื่อนไหวหรือขับเคลื่อนแต่อย่างใด เนื่องจากยังไม่มีงบประมาณสนับสนุนและยังมีกลุ่มประชาชนสนใจน้อยมาก ในช่วงปลายปี พ.ศ.2552 สถาบันการจัดการทางสังคม (สจส.) ร่วมกับ และคณะกรรมการประสานงานองคกรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช) จัดเวทีแลกเปลี่ยนร่วมกันในภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการนำเสนอเรื่อง “การจัดการตนเอง” ในประเด็นของอำนาจท้องถิ่น การกระจายอำนาจ ในระดับจังหวัด รวมถึงภายในเวทีได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากนักวิชาการหลายท่าน ถอดองค์ความรู้นโยบาย “ผู้ว่า CEO” ของรัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร รวมทั้งแนวคิด “จังหวัดบูรณาการ” ขององค์กรอิสระ ซึ่งเป็นกระแสการเปลี่ยนโครงสร้างการปกครองท้องถิ่นในประเทศไทย แต่ก็ยังไม่ปฏิเสธอำนาจรัฐส่วนกลาง เป็นเพียงการร่างแผนโดยท้องถิ่น เรียกว่า “แผนประชาชน” เสนอจังหวัด ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด ปัญหาเกิดขึ้น เมื่อผู้ว่าราชการหมดวาระแผนฯนั้นก็ตกไป ไม่ต่อเนื่อง ซึ่งก็ไม่เห็นเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร แต่ นโยบาย “จังหวัดบูรณาการ” ก็ทำให้เกิดกระแสการพูดถึงการปกครองท้องถิ่นในระดับจังหวัดมากขึ้น รวมทั้งมีนักวิชาการที่มีประสบการณ์การศึกษาจากต่างประเทศ นำแนวคิด การบริหารจัดการท้องถิ่นในระบอบประชาธิปไตยจากประเทศที่มีความมั่นคงทางการบริหารจัดการ เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ฝรั่งเศสและอังกฤษ เป็นกรอบคิดในการสร้างรูปแบบที่เหมาะสมกับการบริหารท้องถิ่นของไทย ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จในระดับจังหวัด เป็นการแก้ไขปัญหาในเชิงพื้นที่ มองพื้นที่เป็นตัวตั้งมากกว่าศูนย์กลาง ซึ่งในประเทศไทยก็มีแนวคิดเรื่องพื้นที่เป็นตัวตั้งในลักษณะรูปธรรมคือ ท้องถิ่นและภูมิภาค เช่น อบต. เทศบาล อบจ. เป็นต้น ซึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จน้อยมาก ผู้เข้าร่วมเวทีนั้นจึงมีความคิดเห็นตรงกันว่า ท้องถิ่นควรจะขยายอำนาจให้ใหญ่ขึ้นไปสู่ ระดับจังหวัด หลังจากนั้น ในปี พ.ศ.2553 เครือข่ายองค์กรที่เคลื่อนไหวจังหวัดจัดการตนเอง ร่วมกันจัดเวที การศึกษาและถอดองค์ความรู้ในประเด็น การจัดการสังคม การพัฒนาการเมืองและการบริหารงานท้องถิ่น ไว้อย่างต่อเนื่องหลายเวที จึงได้เสนอเรื่อง “การจัดการตนเอง” แก่ทาง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. จึงได้ตั้งชื่อโครงการว่า “จังหวัดจัดการตนเอง” เพื่อของบประมาณในการนำร่องขับเคลื่อนประมาณ 10% ของงบประมาณที่ พอช.สามารถจัดสรรได้ ในเดือน มกราคม ปี พ.ศ.2554 ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร พ.ศ.... ฉบับแรกเกิดขึ้น จากเครือข่ายองค์กรต่างๆที่ขับเคลื่อนจังหวัดจัดการตนเองรวมถึงนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมายโดยมี นายชำนาญ จันทร์เรือง [3] เป็นประธานร่าง พรบ. และนำเสนอร่าง พรบ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครฯ เพื่อร่วมกันระดมความคิดและเสนอความคิดเห็นในการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครฯอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นการสร้างตัวแบบในการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมของจังหวัดจัดการตนเอง ในขณะเดียวกันคณะกรรมการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ หรือ สช. ก็ได้จัดเวทีขยายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถ่ายทอดประสบการณ์แนวความคิดเรื่องการกระจายอำนาจในประเด็นสาธารณะสุข ในเรื่องสุขอนามัยภายในครัวเรือนที่ จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ทำการแลกเปลี่ยน พูดคุยระหว่างกัน ซึ่งเครือข่ายเคลื่อนไหว จังหวัดจัดการตนเองที่นำโดย สถาบันการจัดการทางสังคม หรือ สจส. หารือแลกเปลี่ยนกันในประเด็นของการจัดการตนเองกับเรื่องสาธารณะสุขท้องถิ่น จึงเกิดเป็นร่างแบบแผน เพื่อนำไปเสนอกับ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในระเบียบวาระ “พื้นที่จัดการตนเองเพื่อสังคมสุขภาวะ” ซึ่ง สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ได้ทำการคัดเลือกระเบียบวาระในการขับเคลื่อนมากมายกว่า 100 ประเด็น ให้เหลือเพียง 9 ประเด็น เพื่อสนับสนุนและขับเคลื่อนต่อไป ซึ่งประเด็น “พื้นที่จัดการตนเองเพื่อสังคมสุขภาวะ” ผ่านมติ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยได้รับการคัดเลือกให้เป็นประเด็นเคลื่อนไหวโดย สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการได้ปรับเปลี่ยนประเด็นเคลื่อนไหวให้ครอบคลุมและทั่วถึงมากขึ้น จึงเปลี่ยนเป็นประเด็น “นโยบายสนับสนุนพื้นที่จัดการตนเองเพื่อสังคมสุขภาวะ” ซึ่งเคลื่อนไหวในระดับพื้นที่ ลักษณะการเคลื่อนไหว ไม่จำกัดระดับเขตการปกครอง ว่าจะต้องเป็นจังหวัด อำเภอหรือตำบล หลังจากนั้น แนวคิด การจัดการตนเอง เริ่มเป็นที่รู้จักของท้องถิ่นในวงกว้างมากขึ้น ในเรื่องของการจัดการตนเองในเรื่องของสาธารณะสุขและเรื่องการจัดการตนเองในเองในรูปแบบของจังหวัดและท้องถิ่น จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการขยายแนวความคิดไปทั่วประเทศ รวมทั้งการสนับสนุนด้านงบประมาณกิจกรรมจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ(สสส.) ซึ่งสถาบันการจัดการทางสังคม(สจส.) เป็นเจ้าของโครงการขับเคลื่อน การเข้ามาสนับสนุนด้านงบประมาณของ สสส. เพราะเล็งเห็นว่า โครงการดังกล่าวสอดคล้องกับการจัดการสังคมและการพัฒนาท้องถิ่น ต่อมา ในเดือน เมษายน ปี พ.ศ.2554 คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) โดยมีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานกรรมการปฏิรูป และ คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) โดยมี ศาสตราจารย์ประเวศ วะสี เป็นประธานกรรมการสมัชชาปฏิรูป และมีสำนักงานปฏิรูปหรือ สปร. [4] ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการ จึงได้มีการเสนอเรื่อง “จังหวัดจัดการตนเอง” สู่ สำนักงานปฏิรูป ซึ่งมีแนวทางสอดคล้องและเป็นช่องทางในการปฏิรูปประเทศ ซึ่งได้ออกหนังสือปกสีส้ม \ข้อเสนอการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ\" เรื่อง จังหวัดจัดการตนเอง จึงได้ถูกบรรจุลงเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือปกสีส้ม ในประเด็น การเสริมอำนาจในการจัดการตนเองของท้องถิ่น หัวข้อ การกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่น ซึ่งได้เป็นประเด็นข้อเสนอในการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ ต่อมา คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ได้นำประเด็น จังหวัดจัดการตนเอง มาเป็นประเด็นในการเสนอมติและผ่านมาเป็นมติของสำนักงานปฏิรูป คำว่า “จังหวัดจัดการตนเอง” จึงกระจายไปในวงกว้างมากขึ้น รวมถึง สถาบันการจัดการทางสังคม(สจส.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดสรรงบประมาณสนับสนุนการเคลื่อนไหวให้ด้วย เป็นการเพิ่มแนวทางขยายแนวความคิด โดยการดำเนินการจัดเวทีเพื่อขยายแนวความคิดและระดมภาคีในระดับภูมิภาคจนถึงระดับท้องถิ่น ในเวลาเดียวกัน เกิดกระแสการแสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวคิด “จังหวัดจัดการตนเอง” เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด และสมาคมนักปกครองแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการตอบโต้แสดงความไม่เห็นด้วยกับ แนวคิดนี้และหนังสือปกส้ม ฯ เพราะเล็งเห็นว่า ทำให้ขาดเอกภาพในการปกครองประเทศและอาจนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนได้ ในเดือน พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดปัญหาทางการเมืองภายในมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นจุดที่เหมาะสมและสำคัญที่สุด ในการกระจายและขยายแนวความคิด “จังหวัดจัดการตนเอง” ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ทำให้ประชาชนสามารถมองภาพแนวคิดนี้ได้ชัดเจนมากขึ้น โดยยกประเด็นความขัดแย้ง เป็นประเด็นตัวอย่างในการที่จะใช้ “จังหวัดจัดการตนเอง” เป็นประเด็นในการปฏิรูปประเทศไทย เพื่อที่จะก้าวข้ามประเด็นปัญหาทางการเมืองภายในไป ซึ่งแนวคิด “จังหวัดจัดการตนเอง” ได้รับการตอบรับอย่างดีโดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ จึงได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายขับเคลื่อนทางการเมืองที่สำคัญคือ เครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็น ซึ่งทำหน้าที่วิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน เป็นเครือข่ายที่สำคัญในการรวบรวมเครือข่ายและประสานงานขับเคลื่อนเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงสามารถจัดเวทีประสานภาคส่วนต่างๆในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้น เช่น ภาคธุรกิจท้องถิ่น กลุ่มเสื้อเหลือง กลุ่มเสื้อแดง จึงสามารถไกล่เกลี่ยกันให้คลี่คลายสถานการณ์ในพื้นที่ไปได้บางส่วน ต่อมาสถาบันการจัดการทางสังคม(สจส.) ร่วมกับเครือข่ายขับเคลื่อน ประกอบไปด้วย สภาพัฒนาการเมือง(สพม.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ(กป.อพช.ภาคเหนือ) รวมทั้งองค์กรอิสระในพื้นที่ เช่น เครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็น ภาคีคนฮักเชียงใหม่ สภาองค์กรชุมชนและสถาบันส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่วมกันผลักดันประเด็น จังหวัดจัดการตนเอง เพื่อประสานงานในการจัดเวที ขยายความรู้ ขยายความคิด แลกเปลี่ยนความรู้และขยายไปยังภาคต่างๆ ของประเทศไทยจังหวัดจัดการตนเองจึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งเมื่อมีการขยายองค์ความรู้และแนวความคิดมาโดยตลอด ก็เริ่มมีกลุ่มประชาชนและเครือข่ายที่เห็นด้วยกับแนวคิดจังหวัดจัดการตนเอง จึงนำไปประยุกต์แลกเปลี่ยนในรูปแบบต่างๆ เช่น พื้นที่จัดการตนเอง จังหวัดปฏิรูป เกิดการขยายองค์ความรู้ไปยังภาคต่างๆ เช่น เวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ ในประเด็น “แนวคิด ยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจให้ จังหวัดจัดการตนเอง” ภาคอีสาน ในปลายพฤษภาคม 2554 ซึ่งรวมไปถึง ปัตตานีมหานคร ซึ่งก่อนหน้านี้ แนวคิดปัตตานีมหานคร เป็นแนวคิดการรวมตัวกันของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นเมืองเดียวกันและเกิดขึ้นมานานมาก แต่เนื่องจากแนวคิดดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการแบ่งแยกดินแดนและเสี่ยงต่อการเสียดินแดน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไป จึงไม่มีการเคลื่อนไหวในเชิงรูปธรรมมากนัก ในเดือน มิถุนายน แนวคิดจังหวัดจัดการตนเองได้นำเข้าไปเป็นประเด็นในรายการ เสียงประชาชน เปลี่ยนประเทศไทย ช่อง Thai PBS ซึ่งนำผู้นำท้องถิ่นและกลุ่มผู้เคลื่อนไหวมาถกกันในประเด็น “จังหวัดจัดการตนเอง” ซึ่งรวมถึงผู้นำชุมชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้แลกเปลี่ยนแนวคิดระหว่างกันรวมทั้ง การขยายเวที “แนวคิด ยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจให้ จังหวัดจัดการตนเอง” ไปถึงภาคใต้ จึงมีการแลกเปลี่ยนแนวคิดและรูปแบบระหว่าง แนวคิดจังหวัดจัดการตนเองกับแนวคิดปัตตานีมหานคร มากขึ้น ต่อมาในเดือน กรกฏาคม 2554 เกิดเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการ ในประเด็นจังหวัดจัดการตนเองในภาคกลาง หลายๆจังหวัดทั่วประเทศ ได้นำแนวความคิดจังหวัดจัดการตนเองไปต่อยอดความคิดเพื่อสร้างรูปแบบการจัดการตนเองในรูปแบบที่เหมาะสมกับจังหวัดหรือท้องถิ่นของตนเอง 4. บทวิเคราะห์ : จังหวัดจัดการตนเอง ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ สู่การปฏิรูปประเทศไทย ปัจจุบันแนวคิด “จังหวัดจัดการตนเอง” เป็นการเคลื่อนไหวของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ในประเทศไทยที่ขยายวงกว้างไปกว่า 45 จังหวัดทั่วประเทศไทย ซึ่งจังหวัดที่ยกขึ้นให้เป็นตัวแบบหรือ Model แนวคิด “จังหวัดจัดการตนเอง” คือ จังหวัดเชียงใหม่ ถูกยกให้เป็นตัวแบบ(Model)จังหวัดจัดการตนเอง เพื่อเป็นแบบแผนในการขับเคลื่อนแนวคิดและเป็นรูปแบบที่จะทำให้ ภาคประชาสังคมทั่วประเทศ ตื่นตัวในประเด็นดังกล่าว ตั้งแต่ พ.ศ.2552 โครงการเชียงใหม่จัดการตนเอง เกิดขึ้นพร้อมกับการขับเคลื่อนตัวแบบเชียงใหม่จัดการตนเองให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย โดยการรวมภาคีภาคส่วนต่าง ซึ่ง ปัจจุบันได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรต่างๆมากมาย [5] ต่อมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2554 นำโดยเครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็น ร่วมกับเครือข่ายขับเคลื่อนจังหวัดจัดการตนเอง องค์กรขับเคลื่อนและสนับสนุนต่างๆ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อร่างพระราชบัญญัติจังหวัดจัดการตนเองขึ้น โดยเกิดเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งก็ได้เครือข่ายขับเคลื่อนรวมถึงนักวิชาการเข้าร่วมในการเวทีอย่างต่อเนื่อง เช่นนายชำนาญ จันทร์เรือง เป็นประธานในการร่าง พรบ. ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง[6] ซึ่งมีแนวคิดในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดมายาวนาน จึงได้ผนวกแนวคิดดังกล่าวเข้ากับแนวคิดจังหวัดจัดการตนเองขึ้น โดยนำการเลือกตั้งผู้ว่าราชการบรรจุลงในร่างพระราชบัญญัติจังหวัดจัดการตนเองด้วย เรียกว่า “ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร” ซึ่งร่างพระราชบัญญัตินี้อยู่ในกระบวนการปรับปรุงและเมื่อสมบูรณ์แล้ว จะเข้าสู่กระบวนการทำประชาพิจารรวบรวมรายชื่อจำนวนไม่น้อยกว่า 10

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net