มองการเมืองพม่าผ่านสายตา “อดีตนักโทษการเมือง”: เปลี่ยนแปลงเร็ว-แต่ยังสรุปไม่ได้

สัมภาษณ์ ‘โบ จี’ อดีตนักโทษการเมือง และผู้ก่อตั้งสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า ระบุยังมีนักโทษการเมืองถูกขังอยู่กว่า 400 คน ชี้ถึงแม้พม่าจะเปลี่ยนเร็ว แม้รัฐบาลจะไม่จับกุมใครเพิ่ม แต่ในอีกเดือนสองเดือนข้างหน้าหรือหลังเลือกตั้ง สถานการณ์อาจเปลี่ยนไปอีกก็ได้

หลังจากที่พม่าปล่อยตัวนักโทษการเมืองระลอกใหญ่ถึง 651 คนเมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา และมีกระแสการปฏิรูปภายในประเทศที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ชาติตะวันตกที่มีนโยบายคว่ำบาตรพม่ามาอย่างยาวนาน ต่างแสดงความยินดีต่อความเปลี่ยนแปลงก้าวสำคัญในพม่า ตามมาด้วยการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศของชาติดังกล่าว อาทิ การผ่อนปรนการคว่ำบาตร การยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูต และการให้เงินช่วยเหลือแก่องค์กรต่างๆ ภายในพม่า 

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา ประชาไทมีโอกาสพูดคุยกับโบจี (Bo Kyi) อดีตนักโทษการเมือง และเลขาธิการสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองในพม่าหรือ AAPP-B (Assistance Association for Political Prisoner – Burma) ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2543 เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่นักโทษการเมืองพม่าและครอบครัวในด้านการเงิน การรักษาพยาบาลและการศึกษา รวมถึงการเก็บสถิติ-ข้อมูล และการรณรงค์ในระดับสากลเพื่อกดดันให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่ยังคงเหลืออยู่ 

 

BO KYI

นอกเหนือจากการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับนักโทษการเมืองในพม่าแล้ว AAPP ให้ความช่วยเหลือแก่นักโทษการเมืองอย่างไรอีกบ้าง 

เราให้ความช่วยเหลือนักโทษการเมืองผ่านทางครอบครัวของพวกเขา โดยเฉพาะด้านการเงิน เนื่องจากว่าเราเองไม่สามารถเดินทางกลับเข้าพม่า เราจึงใช้กลุ่มลับของเราในประเทศเพื่อเข้าเยี่ยมครอบครัวของนักโทษการเมืองและมอบเงินให้ญาติๆ ไปเยี่ยมนักโทษที่เรือนจำซึ่งพึ่งความช่วยเหลือจากครอบครัวในเรื่องอาหารและอื่นๆ นอกจากนี้ AAPP ก็ให้ความช่วยเหลือแก่นักโทษการเมืองที่ถูกปล่อยตัวออกมา เช่น ค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์ และหากว่าพวกเขาต้องการการรักษาพยาบาลระยะยาว เราก็จะช่วยเหลือพวกเขาตรงจุดนั้น 

เรายังให้ทุนการศึกษาแก่ลูกๆ ของนักโทษการเมืองด้วย โดยในทุกๆ ปี เราจัดหาทุนการศึกษาให้แก่เด็กๆ 200 คนเพื่อศึกษาภายในประเทศ และอย่างในปีนี้ ก็มีนักศึกษาสามคนที่ได้ทุนศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และที่ฮ่องกง ซึ่งล้วนเป็นลูกๆ ของนักโทษการเมือง หากพวกเขามีเกณฑ์เหมาะสม เขาก็จะได้รับทุนตรงนี้ เพราะเราอยากจะมอบโอกาสการศึกษาแก่เด็กรุ่นใหม่ๆ 

มีเพียงองค์กร AAPP เท่านั้นที่ให้ความช่วยเหลือในลักษณะนี้ ในประเทศพม่าเอง พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยก็ให้ความช่วยเหลือแก่นักโทษการเมืองในด้านการเงิน ในบางโอกาสเขาก็จะให้ทุนการศึกษาแก่ลูกๆ ของนักโทษการเมืองด้วย 

ตอนนี้ ตัวเลขของนักโทษการเมืองในพม่าล่าสุดเป็นจำนวนเท่าใดแล้ว 

ตอนนี้ตัวเลขล่าสุดของเราอยู่ที่ 410 และกำลังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบต่อไป

คุณค่อนข้างดีใจหรือเปล่ากับการปล่อยตัวนักโทษการเมืองระลอกใหญ่จำนวน 651 คนเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา 

ผมรู้สึกดีใจเมื่อเห็นสหายของผมได้ออกมาจากเรือนจำ ผมดีใจและตื่นเต้นมากจริงๆ แต่ผมก็รู้สึกไม่พอใจรัฐบาล เพราะรัฐบาลเองยังไม่ยอมรับว่าพวกเขาเป็นนักโทษการเมือง ในแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องดีที่ผู้นำขบวนการคนสำคัญหลายคนถูกปล่อยตัวออกมา นั่นหมายถึงว่าเรายิ่งมีความรับผิดชอบมากขึ้นเพื่อที่จะเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่ยังคงถูกจองจำอยู่ซึ่งเป็นคนตัวเล็กตัวน้อย ผมกลัวว่าประชาคมนานาชาติจะไม่ใส่ใจกับคนที่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว เราจึงต้องทำอะไรเพื่อพวกเขามากกว่านี้ เพราะถ้าหากคนอย่างนางออง ซาน ซูจีถูกจำคุกล่ะก็ ทุกคนต้องรู้และพูดถึงกันไปทั่ว แต่สำหรับคนที่ไม่มีใครรู้จักนั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เมื่อเร็วๆ นี้ สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้เปลี่ยนท่าทีของนโยบายต่างประเทศต่อพม่า เช่นการยุติการคว่ำบาตร และความเป็นไปได้ที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูต คุณมองว่าทางตะวันตกประเมินสถานการณ์ดีเกินความเป็นจริงหรือเปล่า 

ผมคิดว่าเขาเร็วเกินไป เขาน่าจะทำอะไรเป็นขั้นตอนและช้าลงกว่านี้ เช่น ถ้าหากว่ารัฐบาลสามารถสร้างสันติภาพทั่วประเทศหรือเจรจาหยุดยิงได้ทั้งหมด สหรัฐและยุโรปค่อยมาคิดขั้นตอนไปว่าจะทำอย่างไร เช่นการยุติการคว่ำบาตร และหากว่าเขาเชื่อว่าสถานการณ์กำลังจะดำเนินไปในทางที่ถูกต้องจริงๆ แล้ว เขาอาจจะมายื่นข้อเสนอต่อไป เช่นว่า จะล็อบบี้ให้มีการยกเลิกการคว่ำบาตรทั้งหมด เป็นต้น

นอกจากนี้ สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพม่าก็ยังไม่ดีขึ้นเลยด้วย เรื่องหลักนิติรัฐก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะหากไม่มีหลักนิติรัฐ ใครๆ ก็อาจจะถูกจับกุมได้ ถึงแม้ว่าในตอนนี้รัฐบาลจะไม่จับกุมใครก็ตาม แต่ในอีกเดือนสองเดือนข้างหน้า หรือแม้แต่หลังการเลือกตั้ง สถานการณ์อาจจะเปลี่ยนไปก็ได้ ใครจะรู้

คุณพูดถึงเรื่องการปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่มาพร้อม “เงื่อนไข” คืออะไร ช่วยอธิบายหน่อยได้หรือไม่

ตัวอย่างเช่น มินโกหน่าย (ผู้นำขบวนการนักศึกษาในยุค 1988) ถูกตัดสินจำคุก 65 ปี เขาถูกจำคุกตั้งแต่ปี 2550 จนมาถึงตอนนี้ ได้รับการปล่อยตัวแล้ว ก็เป็นเวลา 4 ปี หากว่าเขาถูกจับอีกครั้ง เขาอาจจะต้องถูกจำคุกเพื่อใช้โทษที่เหลืออีก 60 กว่าปีก็เป็นได้ เพราะประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ไม่ได้แถลงให้ชัดว่าการปล่อยตัวนักโทษเป็นการปล่อยตัวแบบมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไข กฎหมายเองระบุไว้ว่าการปล่อยตัวมีสองแบบ แบบแรกคือมีเงื่อนไข แบบที่สองคือไม่มีเงื่อนไข ซึ่งตรงนี้ประธานาธิบดีไม่ได้ระบุให้ชัดเจน 

เนื่องจากก่อนหน้านี้ นักโทษการเมืองที่ถูกปล่อยตัวออกมาได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อ บางคนก็บอกว่าเขาได้รับการปล่อยตัวแบบไม่มีเงื่อนไข บางคนก็บอกว่าถูกปล่อยตัวแบบมีเงื่อนไข ซึ่งความไม่ชัดเจนตรงนี้ทำให้เกิดความสับสนมากว่าอะไรเป็นอะไร เราเองก็ไม่ทราบข้อมูลตรงนี้ชัดเจน จะรู้ก็ต่อเมื่อพวกเขาถูกจับอีกครั้งเท่านั้น 

คุณคิดยังไงกับการลงเลือกตั้งของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย บางคนมองว่าหากว่าพรรคได้รับเสียงการเลือกตั้งที่มากพอ นางออง ซาน ซูจีอาจจะได้รับเก้าอี้รัฐมนตรีในกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งก็ได้

ผมสนับสนุนการตัดสินใจของนางออง ซาน ซูจีในการจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองที่ถูกกฎหมายและลงสมัครเลือกตั้ง แต่ถ้าหากเธอได้รับเลือกเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษา หรือกระทรวงอื่นที่ไม่สำคัญนัก แล้วเธอจะทำอะไรได้เล่า 

บางคนมองว่า เมื่อรัฐบาลได้ทำการปฏิรูปที่มีผลในแง่บวกแล้ว องค์กรทางการเมืองฝ่ายค้านของพม่าที่ลี้ภัยอยู่นอกประเทศควรจะกลับเข้าไปในประเทศเพื่อร่วมกันทำงาน คุณคิดว่าอย่างไร

รัฐบาลบอกว่าเราสามารถกลับไปประเทศได้แบบมีเงื่อนไข ตัวอย่างเช่น หากว่าผมไม่ได้กระทำผิดอะไรในพม่า และนอกประเทศ ผมสามารถกลับไปได้ แต่ถ้าหากความผมเคยทำผิดอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะในประเทศหรือนอกประเทศ ผมอาจจะถูกจับอีกก็ได้ คือ ตอนนี้สถานการณ์มันดีขึ้น แต่มันดีขึ้นเพียงเล็กน้อยมาก นอกจากนี้ เราเองก็ยังไม่มั่นใจในสถานการณ์ทางการเมืองเท่าใดนัก ถ้าหากว่าเรามั่นใจมากขึ้น เราก็จะกลับไป ฉะนั้น สำหรับพวกเราตอนนี้แล้ว การอยู่ข้างนอกเป็นเรื่องที่ดีกว่า ในแง่ของปัจเจกบุคคล บางคนก็ได้เจรจาต่อรองกับรัฐบาลว่าหากเขากลับไปพม่าแล้วเขาต้องสามารถเดินทางออกมาอีกได้ จริงๆแล้วมีคนไม่มากเท่าไหร่นะที่กลับเข้าประเทศ มีจำนวนน้อยมากที่กลับไปยังพม่า

นอกจากนี้ก็ยังพวกกลุ่มนักวิชาการที่ได้รับเชิญกลับเข้าประเทศไปร่วมกิจกรรมหรือการประชุม พวกเขาสามารถกลับเข้าประเทศได้หนึ่งหรือสองอาทิตย์และก็สามารถกลับออกมาได้เพราะพวกเขาได้ต่อรองกับรัฐบาล ถ้าหากว่าผมได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศและกลับออกมาได้ ผมก็จะกลับไป 

นอกจากนี้แล้ว เรายังต้องรอดูสถานการณ์ไปจนถึงปี 2558 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งใหญ่ครั้งต่อไป การเลือกตั้งซ่อมมีความหมายน้อยมากสำหรับพวกเรา เก้าอี้ 48 ที่นั่งไม่ได้เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่อะไรมากมาย และถึงแม้ว่าเราจะได้รับคะแนนเสียงทั้งหมดเพียงพอสำหรับเก้าอี้ทั้งหมด แต่เก้าอี้ 48 ที่นั่งก็ไม่เวิร์คอยู่ดี ฉะนั้นเราจำเป็นต้องรอจนกว่าจะถึงปี 2558 เมื่อถึงตอนนั้น ต้องดูอีกทีว่าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยจะได้มีส่วนร่วมมากแค่ไหน การเลือกตั้งจะใสสะอาดและยุติธรรมมากน้อยเพียงใด 

ในความคิดเห็นของคุณ มาตรการที่รัฐบาลจำเป็นต้องทำเพื่อให้บรรลุความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงคืออะไร

ผมคิดว่ารัฐบาลต้องมีหลักนิติรัฐ หลักนิติรัฐเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และในการจะบรรลุซึ่งสิ่งนั้น รัฐบาลพม่าจำเป็นต้องแถลงนโยบาย เช่น การจะยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วประเทศ พร้อมทั้งดำเนินการต่อผู้กระทำผิดดังกล่าว ผมไม่ได้พยายามฟื้นฝอยหาตะเข็บ แต่ผมร้องขอเพื่อปัจจุบันและอนาคต ตัวอย่างเช่น ในอดีตที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัฐที่เคยทรมานผม ผมขออย่างเดียวคือขอให้เขารับสารภาพ และยอมรับว่าเขาได้กระทำผิด เพียงแค่นั้นเองที่เราต้องการ มันจะเป็นประโยชน์ต่อการปรองดองมาก 

อีกอย่างคือ ผมต้องการจะทำโครงการเยียวยาสำหรับเหยื่อทางการเมือง รัฐบาลจะต้องให้ความสนับสนุนในทางการเงิน หรือรัฐบาลจะต้องอนุญาตให้เรารับเงินทุนจากผู้บริจาคต่างประเทศได้ เพราะถ้าผมทำงานอยู่ในพม่า ผมไม่สามารถรับเงินต่างประเทศได้เพราะนั่นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย นั่นคือปัญหา มันมีกฎแบบนั้นอยู่เยอะมาก ฉะนั้นเราจำเป็นต้องพูดถึงกฎหมายที่จะต้องถูกยกเลิก และกฎหมายที่จำเป็นจะต้องมีเพื่อการทำงานในสถานการณ์เช่นนี้ 

คุณคิดอย่างไรกับการลงทุนอันมหาศาลของประเทศไทยในพม่า

ผมไม่รู้เรื่องมากนักเกี่ยวกับความสัมพันธ์ด้านการเงินระหว่างไทยและพม่า แต่ผมรู้ว่าประเทศไทยพึ่งพาทรัพยากรด้านก๊าซธรรมชาติและพลังงานจากพม่าอยู่มาก นั่นเป็นผลประโยชน์ของไทยที่ใหญ่ที่สุดต่อพม่า และถ้าหากว่านักธุรกิจไทยทำทุกอย่างได้ดีเหมาะสม เราก็จะไม่พูดอะไร เพราะผมเชื่อว่าประเทศไทยเป็นเพื่อนบ้านที่ดีของเรา ฉะนั้นเราสามารถรักษาผลประโยชน์ที่ร่วมกันไว้ได้ นั่นคือสิ่งที่เราต้องการสำหรับไทยและพม่า หากว่าเราทำงานร่วมกันได้ เราก็จะได้ผลประโยชน์ด้วยกัน

คุณไม่คิดว่าประเทศไทยควรคว่ำบาตรการลงทุนในพม่าหรือ?

ยังไงประเทศไทยก็ไม่ทำเช่นนั้นหรอก ผมคิดว่าให้มันเป็นการทำธุรกิจที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบมากกว่า โดยการปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานสากลและปกป้องสิทธิแรงงาน เราต้องการการลงทุนที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบ

น่าสนใจที่คุณพูดเช่นนั้น เพราะว่าที่ผ่านมานักรณรงค์ไทยหลายกลุ่มได้เรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรการลงทุนในพม่า

ใช่ ผมก็เข้าใจ ผมคิดว่ามันจะดีกว่าต่อแรงงานเองและนักธุรกิจเองด้วย ถ้าหากว่าเขาสามารถปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานสากล และให้ค่าแรงที่เหมาะสม ตอนนี้ผมอาศัยอยู่ในประเทศไทย ผมเห็นธุรกิจหลายแห่งที่บ้างก็ดี บ้างก็ไม่ดี ฉะนั้น ถ้าหากเขาสามารถปฏิบัติตามหลักการสากลและจัดหาสภาพการทำงานที่เหมาะสมแก่คนงานได้ นั่นก็เป็นเรื่องดี แต่ในประเทศไทยมันเป็นเรื่องยากที่จะทำเช่นนั้นเพราะนักธุรกิจไทยไม่ทำตามกฎหมาย ผมคิดว่ารัฐบาลไทยยังคงผ่อนปรนในเรื่องของข้อบังคับมากเกินไป เรื่องเช่นนี้คงจะเกิดในอนาคต แต่เราจะคงต้องผลักดันให้มันบรรลุผลไปทีละน้อย  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท