Skip to main content
sharethis

เชื่อบ้านเมืองไม่ได้มีปัญหาเพราะ ม.112 และสถาบันกษัตริย์ไม่ได้อยู่ในวังวนความขัดแย้งเลย แต่แนวร่วมทักษิณและทักษิณมีความพยายามที่จะทำให้เกิดความเข้าใจที่สับสนใน สังคม ยันถ้าประชาธิปัตย์จะกลับไปเป็นรัฐบาล ต้องผ่านกระบวนการการเลือกตั้ง ไม่ใช่การมองว่าขณะนี้พรรคเป็นเสียงข้างน้อยในสภาแล้วจะทำอย่างไรจึงจะเป็น รัฐบาล

เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ รายงานวันนี้ (25 ม.ค.55) ว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในรายการฟ้าวันใหม่ ทาง Blue Sky Channel ถึง ที่มาของการออก พรก. 4 ฉบับ ว่าความสับสนในเรื่องการที่มาของตัวเลขหนี้สาธารณะเกิดมาจากการที่รัฐบาล พยายามอธิบายมาตลอดว่าหากไม่พยายามโอนหนี้สาธารณะไป ธปท. แล้ว จะทำให้รัฐบาลไม่สามารถหาเงินมาลงทุน หรือกู้เงินมาลงทุนเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ และสิ่งที่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ออกมาเปิดเผยก็ตรงกับสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เคยเสนอมาก่อนหน้านี้ว่า การที่รัฐบาลเร่งออกเป็น พรก. เพราะอัตราส่วนหนี้ต่องบประมาณในปี 2555 ใกล้เต็มเพดานที่กำหนดไว้นั้นไม่เป็นความจริง และตัวเลขที่นายธีระชัยออกมาระบุก็เป็นที่ยืนยัน ดังนั้นทำให้ต้องมองไปที่การออก พรก. ดังกล่าวว่า หากไม่ออกเป็น พรก. แล้ว รัฐบาลจะสามารถกู้เงินมาแก้ปัญหาฟื้นฟูน้ำท่วมได้หรือไม่

“เราจะต้องมาพูดกันในประเด็นที่ว่า ตกลงแล้วถ้าไม่ออก พรก.แล้ว รัฐบาลสามารถที่จะกู้เงินมาแก้น้ำท่วมได้หรือเปล่า ซึ่งไม่ว่าตัวเลขจะเป็น 9 หรือ 12 รัฐบาลก็สามารถกู้เงินมาแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ ดังนั้นการอ้างความเร่งด่วนเพื่อที่จะโอนหนี้ หรือแก้กติกาเกี่ยวกับการใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูนั้น จึงเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น และทำให้การตรา พรก. จะต้องขัดรัฐธรรมนูญ แล้วก็เป็นเหตุผลที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังจะยื่นตีความ”

จากวาน นี้นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าที่มีการประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์นัดพิเศษนั้น เป็นการประชุมเรื่องทิศทางของบ้านเมือง เพราะเกิดข่าวสับสน และประชาชนเกิดความกังวลในเรื่องเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ รวมถึงความเป็นห่วงในเรื่องความขัดแย้ง โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการของผู้สนับสนุนรัฐบาล หรือแนวร่วมของรัฐบาลกำลังสร้างประเด็นอย่างกรณีของ มาตรา 112 แม้ว่ารัฐบาลออกปฏิเสธก็ตาม

“ปัญหาอันนี้สร้างความสับสนอย่างมากกับประชาชน เพราะฟังแล้วทำให้คนเข้าใจไปว่าบ้านเมืองเรามีปัญหาเพราะมาตรา 112 หรือเปล่า ที่จริงแล้วความขัดแย้งทั้งหมดในบ้านเมืองเมื่อไล่เรียงกันแล้ว ศูนย์กลางจริง ๆ อยู่ที่ตัวคุณทักษิณ ที่เป็นตัวเริ่มต้นของปัญหาความขัดแย้งทั้งหมด และกรณีของสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นไม่ได้อยู่ในวังวนของความขัดแย้งเลย แต่แนวร่วมของคุณทักษิณ และคุณทักษิณมีความพยายามที่จะทำให้เกิดความเข้าใจที่สับสนในสังคม”

นายอภิสิทธิ์ยกตัวอย่างกรณีที่พ.ต.ท.ทักษิณให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศใน ลักษณะ ที่สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเกี่ยวข้องหรือสามารถเข้ามาเกี่ยวข้องกับการ เมืองเพื่อที่จะทำให้แก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ ได้ และมาตรา 112 ก็เป็นปมปัญหานั้น ซึ่งไม่เป็นความจริง

“เรามองว่าขณะนี้ โจทย์ปัญหาความขัดแย้งนั้นหมุนเวียนอยู่กับความต้องการของคุณทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ การนิรโทษกรรม มาตรา 112 แม้กระทั่งตอนนี้ก็พูดถึงกฎหมายกระทรวงกลาโหมอะไรต่าง ๆ แล้วทำให้ปมเหล่านี้เป็นความขัดแย้ง แต่ความจริงแล้วถ้าประเด็นเหล่านี้ไม่ถูกหยิบยกขึ้นมา เพราะไม่จำเป็นต้องไปตอบโจทย์คุณทักษิณแล้ว รัฐบาลเดินหน้าตอบโจทย์ประเทศ ตอบโจทย์ประชาชน ผมก็มองไม่เห็นว่าจะมีความขัดแย้งในเรื่องอะไร”

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เรื่องนี้คนที่จะก้าวข้ามเรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณได้ง่ายที่สุดก็คือรัฐบาล เพราะวันนี้รัฐบาลก็คือผู้สนับสนุนเป็นญาติกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และเป็นผู้มีอำนาจรัฐอยู่ในมือ มีเสียงข้างมากในสภา ก็ควรทำสิ่งที่เคยสัญญากับประชาชน

“ปัญหาก็คือวันนี้คุณทักษิณพยายามจะเอาชนะกฎหมายไทย ศาลตัดสินแล้วไม่ยอมรับ และพยายามจะลากว่า ศาลตัดสินแพ้ มันเป็นผลพวงมาจากการรัฐประหาร แล้วก็มีความพยายามสร้างเรื่องว่าการรัฐประหารไปเกี่ยวข้องกับสถาบันนั้น สถาบันนี้ ขยายวงความขัดแย้งไป เพราะฉะนั้นวันนี้สังคมควรต้องส่งสัญญาณให้ชัดว่าได้เลือกรัฐบาลของพรรค เพื่อไทยเพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาของประชาชนไม่ได้ให้มาแก้ปัญหาของคุณทักษิณ และถ้ารัฐบาลไม่หมกมุ่นกับเรื่องคุณทักษิณ สังคมก็ไม่ต้องมาโต้แย้งขัดแย้งอย่างที่เกิดขึ้นรายวันในขณะนี้ บ้านเมืองก็จะเข้าสู่กระบวนการปรองดองได้โดยอัตโนมัติ”

นายอภิสิทธิ์แนะว่า สิ่งใดที่เคยเป็นปมความขัดแย้งในอดีต ก็ควรปล่อยให้องค์กรอิสระ และกระบวนการยุติธรรม ให้เดินหน้าทำงานโดยที่ไม่ให้มีการเมืองเข้าไปแทรกแซง ดังนั้นการก้าวข้ามพ.ต.ท.ทักษิณจึงต้องเกิดขึ้นจากรัฐบาล แต่ไม่ใช่รัฐบาลมาแก้ปัญหาคน ๆ นี้แล้วทำให้เกิดความไม่ถูกต้องในบ้านเมือง

นอกจากนี้ในที่ประชุมพรรคฯ ยังมีการเสนอแนะรัฐบาลมีการทบทวนนโยบายพลังงานเพราะเป็นนโยบายที่สร้างความ เดือดร้อน และเป็นชนวนให้เกิดค่าครองชีพสูงขึ้นเป็นลูกโซ่

“เรายืนยันว่าการบริหารจัดการเรื่องพลังงานตามแนวทางก่อนที่รัฐบาลนี้ เข้ามาจะเป็นแนวทางซึ่งแก้ปัญหาได้ ควบคุมราคาน้ำมันดีเซลได้ กองทุนน้ำมันอยู่ในฐานะที่ยังเดินต่อได้ ประชาชนไม่ต้องเดือดร้อนกังวลกับปัญหาค่าไฟ ค่าแก๊ส อันนี้คือสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นตัวอย่างของสิ่งที่รัฐบาลควรจะใส่ใจในขณะนี้”

สำหรับในเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วมนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าที่ประชุมฯ เสนอให้รัฐบาลต้องมีความโปร่งใสด้วยการเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วม เพราะสิ่งที่รัฐบาลต้องใส่ใจคือเนื้องานไม่ใช่เรื่องเงิน และจนถึงวันนี้รัฐบาลก็ยังไม่ชัดเจนในเรื่องแผนบริหารป้องกันน้ำท่วม

“รัฐบาลชุดที่แล้วก็วางแนวทางเรื่องน้ำไว้ เรื่องของรถไฟความเร็วสูง งบประมาณปี 55 นี้ที่ไม่ใช่งบกลาง โครงการที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำทั้งหมดก็คือโครงการที่รัฐบาลที่แล้วเป็น ผู้อนุมัติไว้ ส่วนเรื่องรถไฟความเร็วสูงที่จะต้องดำเนินการนั้น ก็เป็นหัวใจสำคัญในเชิงของระบบโลจิสติกส์ ท่าเรือทวายก็เป็นผลมาจากรัฐบาลที่แล้วประกาศสนับสนุนรัฐบาลพม่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีใครปฏิเสธ แต่สิ่งที่แปลกก็คือ คุณวีระพงษ์ คณะกรรมการฯ รัฐบาลมีความมุ่งมั่นว่าจะต้องหาวิธีนอกรูปแบบ พูดง่าย ๆ คือเลี่ยงระบบการตรวจสอบ”

ทั้งนี้นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงการได้พบปะกับผู้ว่าฯ กทม. ที่ผ่านมาว่า กทม.ยืนยันทำทุกอย่างตามนโยบายของ ศปภ. และเป็นไปตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ที่ได้ทำมาให้เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งระบุว่าได้มอบหมายให้ผู้ว่าฯ กทม. ปิดเปิดประตูน้ำ การระบายน้ำเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ทางเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ว่าฯ จะไปฝ่าฝืนคำสั่ง

“กทม. ทำทุกอย่างที่ผ่านมานั้น ก็เป็นไปตามนโยบายของ ศปภ. และเป็นไปตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี เป็นลายลักษณ์อักษรด้วย คำสั่งของนายกรัฐมนตรีนั้นเขียนไว้เลยว่ามอบหมายให้ท่านผู้ว่าฯ คุมการปิดเปิดประตูน้ำ การระบายน้ำไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นเป็นไปไม่ได้ที่ท่านผู้ว่าฯ จะไปฝ่าฝืนตรงนี้ ถ้าท่านผู้ว่าฯ ฝ่าฝืนตรงนี้รัฐบาลมีสิทธิ์ที่จะปลดได้ เพียงแต่รัฐบาลไม่ยอมรับผิดชอบ เวลาท่านผู้ว่าฯ ตัดสินใจอะไรแล้วมีพี่น้องบางส่วนไม่พอใจ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา เวลาที่จะต้องมีการจัดการเรื่องระบายน้ำ รัฐบาลก็ทำเพิกเฉย แทนที่จะมาช่วยกทม. อธิบายว่าที่ผู้ว่าฯ ตัดสินใจอย่างนั้นเพราะรัฐบาลให้นโยบายไป แต่พอเกิดความไม่พอใจขึ้นก็โยนมาใส่ผู้ว่าฯ กทม.”

ในช่วงท้ายรายการมีการพูดถึงประเด็นที่มีข่าวที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องการ กลับไปเป็นรัฐบาลนั้นนายอภิสิทธิ์กล่าวย้ำเกี่ยวกับเรื่องนี้ตนพูดว่า การที่พรรคประชาธิปัตย์จะกลับไปเป็นรัฐบาลควรต้องผ่านกระบวนการการเลือกตั้ง แต่ไม่ใช่การมองว่าขณะนี้พรรคเป็นเสียงข้างน้อยในสภา แล้วจะทำอย่างไรจึงจะเป็นรัฐบาล

“วันนี้สภาฯ เป็นอย่างนี้ เราถือว่าเขามีเสียงข้างมาก พรรคเพื่อไทยก็ควรเป็นรัฐบาล และทำหน้าที่ไปจนครบวาระ อย่าไปสร้างความขัดแย้ง ความวุ่นวายในบ้านเมือง ทำไปเลยตามนโยบาย ทำให้ได้ และเรามีหน้าที่ติดตามตรวจสอบรักษาผลประโยชน์ของประชาชน การเมืองควรเป็นอย่างนั้น”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net