Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ยอดพล เทพสิทธา1> “ที่เสนอให้เอาเรื่องหมิ่นสถาบันออกจากเรื่องความมั่นคง ผมไม่รู้ว่าเขาเกิดและเติบโตมาจากประเทศไหน เพราะถ้าเป็นคนไทยแท้ๆจะรู้ว่าความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติคือความมั่นคงของประเทศ ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ และที่อ้างว่าการไม่ปล่อยให้มีการวิจารณ์อย่างเสรีจะทำให้สถาบันเป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตย ผมก็อยากรู้ว่านักวิชาการคณะนี้ไปศึกษาหาความรู้มาจากไหน เพราะสถาบันไม่เคยเป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตย”2> ข้อความดังกล่าวข้างต้นกล่าวโดย นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์จากข้อความข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจที่บกพร่องในเรื่องเกี่ยวกับรัฐและประมุขของรัฐ บทความนี้ไม่ได้ต้องการกล่าวถึงความมั่นคงของรัฐในทางการทหารการเศรษฐกิจหรือการสังคมในด้านต่างๆแต่ต้องการมุ่งเน้นให้เห็นถึงมายาภาพที่อยู่ในมโนสำนึกของพลเมืองไทยที่ถูกผลิตซ้ำมานานว่าสถาบันกษัตริย์และสถาบันรัฐเป็นสิ่งที่ต้องอยู่คู่กันและไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด บทเกริ่นนำ รัฐเป็นสิ่งที่มนุษย์สมมุติขึ้นมาเพื่อสถาปนาให้เป็นสถาบันที่ทรงอำนาจทางการเมืองโดยทฤษฎีทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการกำเนิดรัฐนั้นมีมากมายหลายทฤษฎีไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีที่ว่ารัฐเกิดจากสัญญาประชาคมหรือรัฐเกิดจากความขัดแย้ง(สำนักมาร์กซิส)และรัฐเกิดจากการจัดตั้งสถาบัน การอธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่มีการหยิบโยงเอาความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์มาเป็นจุดเชื่อมต่อกับความมั่นคงของรัฐนั้นจึงเป็นการเชื่อมโยงที่ค่อนข้างผิดฝาผิดตัว เพราะสถาบันกษัตริย์นั้นเป็นเพียงสถาบันการเมืองหนึ่งหรือเป็นหน่วยการเมืองหนึ่งที่อยู่ภายในรัฐไม่ได้อยู่เหนือรัฐหรือเป็นสถาบันที่เป็นปัจจัยถึงความมั่นคงของรัฐดังที่เข้าใจกัน อำนาจทางการเมืองกับรัฐ ในสังคมบุพกาลอำนาจทางการเมืองนั้นไม่ปรากฎว่าอยู่ที่ตัวบุคคลใบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะอำนาจทางการเมืองในสังคมบุพกาลนี้เป็นอำนาจที่เกิดจากความหวาดกลัวพลังของธรรมชาติดังนั้นผู้ที่ทรงอำนาจทางการเมืองในสังคมบุพกาลนี้จะเป็นผู้ทรงอิทธิฤทธิ็ที่สามารถติดต่อกับธรรมชาติได้เช่นผีปู่ผีย่าหรือผู้อาวุโสในเผ่าต่างๆที่เชื่อกันว่าพลังที่ติดต่อกับพระเจ้าและควบคุมธรรมชาติได้ อำนาจทางการเมืองในสังคมบุพกาลในสังคมบุพกาลนี้เราเรียกกันว่าเป็นอำนาจนิรนาม(pouvoir anonyme)ซึ่งไม่อาจระบุได้ว่าใครเป็นผู้มีอำนาจทางการเมืองที่แท้จริงเนื่องจากไม่สามารถระบุได้ว่าใครกันแน่ที่มีอำนาจสูงสุดในเผ่า เมื่อสังคมพัฒนาจากสังคมบุพกาลมาสู่ยุครัฐชาติ ชาติต่างๆในยุโรปตะวันตกเริ่มมีแนวคิดในการจัดสร้างชาติขึ้น สังคมในยุคนี้พัฒนาขึ้นมาอีกระดับจากสังคมศักดินาโดยกษัตริย์ในยุโรปเริ่มที่จะสะสมกำลังอำนาจเป็นของตัวเองและพยายามที่จะลดอำนาจของขุนนางในยุคศักดินาแม้จะดูเหมือนว่ากษัตริย์จะเป็นผู้ทรงอำนาจทางการเมืองแท้จริงแล้วกษัตริย์ไม่ได้มีอำนาจที่สูงสุดอย่างแท้จริงเนื่องจากอำนาจของกษัตริย์นั้นเป็นอำนาจที่ผูกพันกับลักษณะส่วนบุคคลกล่าวคือหากกษัตริย์มีลักษณะเข้มแข็งอำนาจของกษัตริย์ก็จะเข้มแข็งตามไปด้วยแต่หากกษัตริย์นั้นอ่อนแออำนาจของกษัตริย์ก็จะอ่อนแอตามลงไปด้วยอันเนื่องมาจากเหล่าบรรดาขุนนางหรือผู้มีอำนาจจากที่อื่นอาจเข้ามาท้าทายพระราชอำนาจได้จึงทำให้อำนาจของกษัตริย์นั้นไม่ใช่อำนาจสูงสุดที่แท้จริงหากเปรียบเทียบกับกรณีของเมืองไทยลองนึกย้อนกลับไปถึงสมัยอยุธยาที่มีการช่วงชิงราชบัลลังก์กันอยู่เป็นประจำไม่ว่าจะเป็นแย่งชิงกันระหว่างสายเลือดเดียวกันหรือเกิดจากบุคคลภายนอก ลักษณะเช่นนี้แสดงให้เห็นถึงความไม่มั่นคงและความไม่ต่อเนื่องของสถาบันทางการเมืองดังนั้นในยุคที่ยังมีการนำเอาอำนาจผูกติดกับคุณสมบัติของบุคคลนี้รัฐ(สมัยใหม่)จึงยังไม่ถือกำเนิดขึ้น จากสภาพสังคมในยุครัฐชาตินี้ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงและความไม่มีสเถียรภาพของอำนาจทางการเมืองภายในรัฐจึงได้มีความพยายามที่จะแยกอำนาจทางการเมืองออกจากตัวบุคคลแต่ปัญหาที่ตามมาคือเมื่อแยกอำนาจทางการเมืองออกจากตัวบุคคลไปแล้วนั้นจะนำอำนาจนั้นไปมอบให้แก่ผู้ใดเพราะหากมอบให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งแล้วก็ย่อมที่จะต้องวนกลับไปหาปัญหาเดิมคือความไม่ต่อเนื่องและมั่นคงของอำนาจทางการเมืองดังนั้นจึงมีการจัดตั้งสถาบันหนึ่งขึ้นมาโดยให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลและให้สถาบันนั้นเป็นสถาบันที่ทรงอำนาจทางการเมืองซึ่งเรียกสถาบันนั้นว่ารัฐ เมื่อมีการแยกอำนาจทางการเมืองออกจากตัวบุคคลและนำมาให้แก่รัฐแล้วสิ่งที่ตามมาคือกษัตริย์หรือผู้ปกครองนั้นไม่ได้เป็นเจ้าของอำนาจทางการเมืองนั้นต่อไปหากแต่เป็นเพียงบุคคลที่เข้ามาใช้อำนาจนั้นแทนรัฐ3> ปัจจัยที่แสดงถึงการแยกอำนาจทางการเมืองจากตัวบุคคลมาให้แก่รัฐนั้นมีหลายปัจจัยได้แก่ปัจจัยในการเข้าสู่อำนาจกล่าวคือการเข้าสู่อำนาจของผู้ปกครองจะถูกกำหนดโดยกฎหมายและจะไม่ใช่การเข้าสู่อำนาจโดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัว ปัจจัยต่อมาคือเรื่องของความต่อเนื่องของอำนาจทางการเมืองกล่าวคือเมื่อผู้ใช้อำนาจทางการเมืองหมดสภาพลงหรือตายไปอำนาจทางการเมืองไม่ได้สิ้นสุดลงตามไปด้วยเนื่องจากผู้ปกครองเป็นเพียงผู้ที่เข้ามาใช้อำนาจแทนรัฐเท่านั้นไม่ได้เป็นเจ้าของอำนาจทางการเมืองดังเช่นในสังคมยุคโบราณตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากปัจจัยเรื่องความต่อเนื่องได้แก่ เมื่อกษัตริย์(ในยุโรป) สวรรคตลงจะมีการร้องว่า The King is dead,Long live the King4> ซึ่งเป็นการแสดงถึงสัญลักษณ์ว่าเมื่อกษัตริย์สวรรคตแล้วน้นย่อมจะมีกษัตริย์องค์ต่อไปเข้ามาใช้อำนาจทางการเมืองแทนเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของอำนาจและปัจจัยสุดท้ายได้แก่เรื่องเหตุผลของรัฐ(raison d'Etat)กล่าวคือในทุกๆกิจกรรมที่ผู้ปกครองได้ทำลงไปนั้นต้องเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ส่วนรวมไม่ใช่ทำไปเพื่อผลประโยชน์แห่งตน 5> ความต่อเนื่องของรัฐและเหตุผลของรัฐ รัฐทุกรัฐกำเนิดขึ้นมาโดยมีเหตุผลของตนเองกล่าวคือเพื่อเป็นสถาบันแห่งอำนาจทางการเมืองและเป็นสถาบันที่มีหน้าที่ในการตอบสนองความต้องการอันหลากหลายของพลเมืองภายในรัฐหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเพื่อทำหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะนั่นเองซึ่งหลักสำคัญในการจัดทำบริการสาธารณะหลักหนึ่งคือหลักแห่งความต่อเนื่องของบริการสาธารณะซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่สอดรับกับหลักความต่อเนื่องของรัฐ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าเหตุผลของรัฐนั้นต้องเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมหรือพลเมืองภายในรัฐ หากรัฐไม่มีความต่อเนื่องของอำนาจแล้วการจัดทำบริการสาธารณธย่อมจะสะดุดหรือชะงักทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนตัวผู้ปกครองดังนั้นการที่รัฐจำเป็นต้องมีความต่อเนื่องของอำนาจนั้นก็เป็นไปเพื่อความต่อเนื่องของารจัดทำบริการสาธารณะนั่นเอง ความมั่นคงของรัฐและผู้ปกครอง เมื่อมีการสถาปนารัฐขึ้นสถานะพิเศษของผู้ปกครองที่เคยมีอำนาจเด็ดขาดได้ถูกยกเลิกลงอันเนื่องมาจากหลักการว่าด้วยเหตุผลของรัฐนอกเหนือจากนั้นเมื่อผู้ปกครองไม่ได้มีสถานะที่เชื่อมโยงกับรัฐนั้นย่อมก่อให้เกิดความมั่นคงของรัฐในฐานะนิติบุคคลที่ไม่มีจุดเชื่อมโยงกับผู้ปกครองอีกต่อไปดังนั้นการที่กล่าวว่าเมื่อผู้ปกครองตายลงนั้นรัฐจะต้องล่มสลายลงไปด้วยหรือเมื่อประมุขของรัฐเกิดความไม่มั่นคงขึ้นในสถานะของตนเองแล้วนั้นจึงไม่ได้กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ(ในทางกฎหมาย)แต่อย่างใด ตัวอย่างเช่นเมือมีการประหารพระเจ้าหลุยส์ที่สิบหกแห่งราชวงศ์บูรบงนั้นรัฐฝรั่งเศสไม่ได้ล่มสลายหรือไม่มั่นคงแต่อยางใดเพราะมีการสถาปนาผู้ปกครองและการปกครองรูปแบบอื่นขึ้นมาแทนที่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชญ์หรือในกรณีของพระเจ้าไกเซฮร์วิลเฮมล์ที่สองแห่งเยอรมนีเมื่อถูกโค่นล้มลงโดยกลุ่มนายทหารรัฐเยอรมันก็ยังคงอยู่ได้แม้อาจจะไม่มีความมั่นคงในทางเศรษฐกิจก็ตาม (ปัจจัยจากการแพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง)หรือตัวอย่างจากประเทศญี่ปุ่นในรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิ์ฮิโรฮิโต เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่สองสหรัฐอเมริกาได้เข้ามาจัดระเบียบใหม่ในญี่ปุ่นและสร้างระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญขึ้นรัฐญี่ปุ่นก็ไม่ได้เกิดความไม่มั่นคงขึ้นแต่กลับมั่นคงมากขึ้นเสียมากกว่าเมื่อรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นได้กำหนดเกณฑ์ในการเข้าสู่การเป็นจักรพรรดิ์อย่างชัดเจน จากตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการที่ผู้ปกครองหมดคุณสมบัติไปนั้นไม่ได้ส่งผลกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐแต่อย่างใดเพราะระบบกฎหมายและระบบการเมืองของแต่ละรัฐนั้นจะสถาปนาการปกครองและผู้ปกครองใหม่ขึ้นมาแทนที่เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการใช้อำนาจ การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา112กับความมั่นคงของรัฐ ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา112โดยให้แยกออกจากหมวดว่าด้วยความมมั่นคงของรัฐนั้นเป็นข้อเสนอที่ตรงตามหลักวิชาการเรื่องรัฐดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าผู้ปกครองและรวมถึงประมุขของรัฐนั้นได้ถูกแยกออกจากสถาบันรัฐตั้งแต่มีการสถาปนารัฐขึ้นการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา112โดยแยกออกมาจากหมวดความมั่นคงแห่งรัฐจึงเป็นข้อเสนอที่ไม่ขัดกับหลักวิชาใดๆทั้งสิ้น อีกทั้งข้อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา112ของกลุ่มนิติราษฎร์ยังเป็นการสร้างหมวดใหม่ขึ้นมาในประมวลกฎหมายอาญาคือหมวดความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติยศของประมุขของรัฐจึงเป็นข้อเสนอที่ต้องรับฟังและเปิดกว้างทางความคิดอย่างมากเพราะป็นข้อเสนอที่ช่วยประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนว่าจะไม่ถูกกลั่นแกล้งโดยใช้ความผิดตามมาตรานี้และนอกจากนั้นยังเป็นการแก้ความเข้าใจที่สับสนมาอย่างยาวนานระหว่างความมั่นคงของประมุขของรัฐและความมั่นคงของรัฐว่าแท้จริงแล้วเป็นคนละเรื่องเดียวกันมิฉะนั้นเราอาจได้เห็นสภาพของประเทศไทยที่เป็นสังคมอุดมแห่งความครอบงำไม่ต่างจากเกาหลีเหนือ =========================== เชิงอรรถ 1> นักศึกษาปริญญาเอก สาขากฎหมายปกครอง มหาวิทยาลัย Paul CEZANNE 2> http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=13141 3> บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, แม่บทความคิดว่าด้วยรัฐ, เอกสารโรเนียวประกอบคำบรรยาย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย 4> บวรศักดิ์ อุวรรณโณ,กฎหมายมหาชนเล่มหนึ่ง,วิญญูชน 5> เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์,รัฐ รัฐธรรมนูญและกฎหมาย, พิมพ์ครั้งที่ห้า, วิญญูชน หน้า 46

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net