Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ข่าวผู้ก่อการร้ายที่ประสงค์จะป่วนกรุงเทพฯ สร้างความระส่ำระสายในระดับรัฐบาลอย่างชัดเจน รัฐมนตรีบางท่านแสดงอาการหงุดหงิดจนเห็นได้ชัด ที่จริงก็น่าเห็นใจที่ว่ามีปัญหาความไม่สงบทีไรก็จะสูญเสียนักท่องเที่ยวทุกที ดูกราฟรูปที่ 1 รูปที่ 1 จำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติระหว่างปี พ.ศ. 2513-2552 ในช่วงที่การท่องเที่ยวไทยกลายเป็นภาคเศรษฐกิจที่รัฐให้ความสำคัญมากขึ้นๆ ก็เกิดปรากฎการณ์ที่เป็นช็อก (Shock) ทั้งด้านบวกและลบที่ทำให้การขยายตัวของนักท่องเที่ยวนานาชาติต้องชะลอตัวหลายครั้ง (ตารางที่ 1) เช่น โรคอุบัติใหม่เช่น โรคซาร์ส ซึ่งได้กลายมาเป็นโรคประจำถิ่น ความไม่สงบทางการเมืองซึ่งในอดีตเกิดขึ้นในต่างประเทศ เช่น การก่อการร้ายในสหรัฐอเมริกาและยุโรป แต่ส่งผลกระทบมายังไทย แต่ใน 2-3 ปีที่ผ่านมาเกิดความไม่สงบทางการเมืองอย่างรุนแรงในประเทศ โดยเฉพาะการยึดสนามบินสุวรรณภูมิและการบุกเข้าประชิดห้องประชุมของผู้นำนานาประเทศในการประชุมที่พัทยา ทำให้สถานการณ์การท่องเที่ยวซบเซาลงอย่างต่อเนื่อง และยังถูกกระหน่ำซ้ำเติมด้วยการถดถอยของเศรษฐกิจทั่วโลก เนื่องจากความล้มเหลวของสถาบันการเงินของประเทศสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในประชาคมยุโรป เหตุการณ์เหล่านี้ยิ่งทำให้รัฐบาลโหมการลงทุนในด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์มากขึ้น แต่ความจริง ก็คือ นักท่องเที่ยวกลัวโรคระบาดมากกว่า การศึกษาของคุณอัครพงศ์ อั้นทอง สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ พบว่า การสูญเสียสูงสุดจะเกิดจากโรคระบาดต่างๆ มากกว่าวิกฤตทางการเมือง (ตารางที่ 1)   ตารางที่ 1 จำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สูญเสียจากเหตุการณ์วิกฤตสำคัญระหว่างปี พ.ศ. 2544-2552 ที่ผ่านมามุมมองของผู้กำหนดนโยบายท่องเที่ยวไทย เป็นมุมมองที่สนใจแต่ผู้ประกอบการเพราะเป็นมุมมองที่หวังรายได้ โดยมีผู้ประกอบการเป็นฐานเสียง ไม่ใช่มุมมองของคนไทยทั้งปวงในฐานะเจ้าของทรัพยากรท่องเที่ยว มุมมองนโยบายดังกล่าว ก่อให้เกิดผลกระทบด้านการกระจายรายได้ ความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อม และความร่อยหรอของทรัพยากรท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน หากเราปล่อยให้การท่องเที่ยวไทยพัฒนาไปในรูปแบบปัจจุบัน คือเน้นด้านการตลาดและการหารายได้แต่เราปล่อยให้การบริหารจัดการท่องเที่ยวยังแยกส่วนดังเช่นปัจจุบัน หากเราปล่อยให้ใครมือยาวสาวได้สาวเอาจากทรัพยากรท่องเที่ยว อนาคตการท่องเที่ยวไทยจะเป็นอย่างไร? ซึ่งในวันศุกร์ที่ 27 มกราคม 2555 จะมีการประชุมเรื่อง“ท่องเที่ยวไทย: ก้าวย่างอย่างไรเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” นโยบายสาธารณะของไทยที่ผ่านมาเน้นด้านการตลาดหรือด้านอุปสงค์ (Demand) เป็นหลัก และเป็นนโยบายที่เน้นผลประโยชน์ให้แก่ธุรกิจ ดังนั้นประชาชนคนไทยทั่วไปมีความเห็นต่อนโยบายสาธารณะในด้านการท่องเที่ยวอย่างไรจึงเป็นประเด็นที่สำคัญ เพราะคนไทยเป็นองค์ประกอบสำคัญของการท่องเที่ยว การศึกษาของสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ม.เชียงใหม่ พบว่า อัธยาศัยคนไทยเป็นองค์ประกอบการท่องเที่ยวที่คนต่างชาติพอใจมากที่สุด การที่ประชาชนคนไทยไม่เห็นด้วยกับนโยบายการท่องเที่ยวจะทำให้ประเทศไทยไม่สามารถยืนหยัดในการแข่งขันระหว่างประเทศด้านการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน การประชุมนี้ยังตอบคำถามด้วยว่าสถานภาพและความสามารถในการแข่งขันของไทย (Competitiveness) เทียบกับคู่แข่งนานาประเทศเป็นอย่างไร การประชุมสัมมนาทางวิชาการในครั้งนี้ก็เพื่อตอบคำถามหลักๆ ว่า คนไทยได้อะไรจากการส่งเสริมการท่องเที่ยว ภาคเศรษฐกิจท่องเที่ยวสร้างผลประโยชน์และต้นทุนอะไรให้แก่ประเทศไทย ภาคท่องเที่ยวจะคืนทุนให้แก่สังคมอย่างไร ประเด็นเชิงนโยบายที่ควรระมัดระวังในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในอนาคตจะเป็นอย่างไร การสัมมนาครั้งนี้ยังได้เน้นการศึกษาความสามารถในการแข่งขันของไทยกับนานาประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้เชิญผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศมาร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์ Branding ของสเปน อีกด้วย ซึ่งการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นที่ โรงแรม รามา การ์เด้น กรุงเทพฯ เวลา 08.00 - 16.30 น. จองที่นั่งฟรี เหลือจำนวน 50 ที่นั่ง สามารถติดต่อเข้าร่วมการประชุมได้ที่สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โทรศัพท์ 0-5332-7590-1 ต่อ 11 โทรสาร 0-5332-7590-1 ต่อ 16 หรือ E-mail:aunapaporn99@gmail.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net