ระบบทุนนิยมเสรี เสรีของใครกัน ? : กรณีการเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงาน 4 แห่ง AGC, Ricoh, Hoya และ MMI

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

กรณีที่นายทุนข้ามชาติภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เลิกจ้างพนักงาน 4 แห่งเกิดขึ้นในช่วงภาวะปกติและไม่ปกติ คือ ทั้งก่อนและหลังอุทกภัย ปีพ.ศ. 2554 อีกทั้งสาเหตุของการเลิกจ้างเกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับอุทกภัย ประเด็นหลักที่จะนำเสนอคือ เมื่อแรงงานรวมตัวกันเรียกร้องผลประโยชน์จากนายจ้าง และมีสหภาพแรงงานในการเจรจาต่อรอง เสรีภาพในการแสดงออกของพวกเขาก็ถูกละเมิด ถูกขัดขวางเพราะถูกเลิกจ้างอย่างเสรีโดยฝ่ายทุน ซึ่งนำไปสู่การไร้เสถียรภาพของระบบประชาธิปไตย ผู้เขียนต้องการรณรงค์ปัญหาการเลิกจ้างที่นำไปสู่ภาวะสั่นคลอน/ไร้เสถียรภาพของสหภาพแรงงาน 4 แห่ง ได้แก่ 1) สหภาพแรงงานเอจีซีสัมพันธ์แห่งประเทศไทย 2) สหภาพแรงงานริโก้ประเทศไทย 3) สหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ (Hoya) และ 4) สหภาพแรงงานอิเลคทรอนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์ (MMI) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. ให้รัฐแก้ไขปัญหาแรงงาน 4 กรณีอย่างเร่งด่วน 2. ให้สื่อ สาธารณชน ขบวนการแรงงาน นักศึกษาเข้าใจและตระหนักถึงการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การรวมตัวเจรจาต่อรองผลประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานมากขึ้น 3. ตั้งคำถามต่อนายทุนเอกชนถึงความรับผิดชอบต่อชีวิตผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม การใช้กลไก CSR (Corporate Social Responsibility) จรรยาบรรณทางการค้าของบรรษัทข้ามชาติ รวมถึงกลไกรัฐในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนว่า ทำไมไม่สามารถรองรับปัญหาความไม่เป็นธรรมต่อแรงงานในภาวะปกติและไม่ปกติ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว บทความจะนำเสนอหัวข้อ 1. การเลิกจ้างพนักงาน : หลากหลายสาเหตุและวิธีการ 2. การทำลายเสรีภาพในการแสดงออกของผู้ใช้แรงงาน 3. การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมผ่านกลไกต่างๆ 4. ข้อเรียกร้องต่อรัฐ 1. การเลิกจ้างพนักงาน : หลากหลายสาเหตุและวิธีการ ปรากฏการณ์การเลิกจ้างพนักงานหลังน้ำลดเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง นายจ้างแต่ละแห่งใช้ยุทธวิธีและข้ออ้างที่แตกต่างกันไป ตัวเลขล่าสุดจำนวนคนงานถูกเลิกจ้างมีประมาณ 25,501 คนในสถานประกอบการ 89 แห่ง โดยเป็นการเลิกจ้างใน จ.พระนครศรีอยุธยา มากที่สุด 16,371 คน รองลงมาคือ จ.ปทุมธานี 8,456 คน [1] เหลือแรงงานที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะถูกเลิกจ้างหรือไม่อีกประมาณ 30,000-40,000 คน ขณะที่สถานประกอบการที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ยังไม่สามารถเปิดกิจการได้มีจำนวน 1,337 แห่ง ลูกจ้าง 233,536 คน ในจำนวนนี้บางส่วนได้เข้าร่วมโครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้างที่มียอด รวมจำนวน 257,887 คน จึงทำให้ตัวเลขการเลิกจ้างยังมีไม่มากนัก แต่ยอดรวมแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมีประมาณ 1 ล้านคน ไม่เพียงแค่การเลิกจ้างเท่านั้น แต่ยังมีปรากฏการณ์ลดฐานเงินเดือนเหลือ 75% 50% 25% โดยใช้ช่องทางของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน 2541 มาตรา 75 [2] รวมไปถึงการย้ายฐานการผลิตภายในประเทศ และต่างประเทศ เป็นต้น เสรีภาพของนายทุนหมายถึงการตัดสินใจกระทำหรือไม่กระทำเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ตระหนักถึงผลกระทบ ความเดือดร้อนของอีกฝ่าย ในขณะที่อีกฝ่ายไม่มีเสรีภาพในการแสดงออกในรูปแบบต่างๆ เช่น เสรีภาพในการพูด เจรจาต่อรอง ปรึกษาหารือร่วม และรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน ยุทธวิธีและข้ออ้างของนายจ้างสามารถเห็นได้จากสถานการณ์ปัญหาของพนักงานบริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 4 แห่ง ดังนี้ เสรีภาพของทุนในการขัดขวางการรวมตัวและจัดตั้งสหภาพแรงงาน มี 2 กรณีคือ 1.1 การเลิกจ้างพนักงานเอจีซี อิเล็กทรอนิกส์จำนวน 61 คน 1.2 การเลิกจ้างพนักงานริโก้ แมนูแฟคเจอริ่ง จำนวน 54 คน เสรีภาพของทุนในการขัดขวางกระบวนการสร้างความเติบโตของสหภาพแรงงาน มี 2 กรณีคือ 1.3 การเลิกจ้างพนักงานโฮยา กลาสดิสก์ จำนวนประมาณ 2,000 คน 1.4 การเลิกจ้างพนักงานเอ็มเอ็มไอ พรีซิชั่น จำนวน 200 คน เสรีภาพของทุนในการขัดขวางการรวมตัวและจัดตั้งสหภาพแรงงาน 1.5 การเลิกจ้างพนักงานเอจีซี อิเล็กทรอนิกส์จำนวน 61 คน พนักงานเอจีซีอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 61 คนเป็นพนักงานของบริษัทเอจีซีอิเล็กทรอนิกส์ ประเทศไทย จำกัด หรือรู้จักกันในนามอาซาฮี ประเทศญี่ปุ่น ตั้งอยู่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา มีพนักงานรวมทั้งสิ้น 4,200 คน ผลิตเลนส์กระจกสำหรับฮาร์ดดิสก์ พนักงานที่ถูกเลิกจ้างยังเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน 2 แห่งคือ สหภาพแรงงานเอจีซีสัมพันธ์แห่งประเทศไทยและสหภาพแรงงานเอจีซีเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ถูกเลิกจ้างเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2554 ก่อนเกิดเหตุการณ์อุทกภัยในจังหวัด ทั้งหมดร่วมชุมนุมคัดค้านการลดเงินเดือนพนักงานในวันที่ 12 ก.ค. 54 จึงถูกตั้งข้อหาสร้างความขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างตลอดเวลา ยุยงพนักงานให้เกิดความแตกแยก และแตกความสามัคคี ทำลายบรรยากาศที่ดีในการทำงาน ยุยงไม่ให้พนักงานทำงานล่วงเวลา อีกทั้งบริษัทไม่พอใจพฤติกรรมก้าวร้าวจากการผละงานเมื่อวันที่ 24-25 ธันวาคม 2553 จากความไม่พอใจของนายจ้างที่ลูกจ้างเคยผละงานขอโบนัสเพิ่มปี 2553 ทำให้พนักงานเข้าใจถึงสาเหตุที่แท้จริงของการเลิกจ้างครั้งนี้ และสั่งสมมาจนถึงช่วงของการรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงานเอจีซีสัมพันธ์แห่งประเทศไทย กระทั่งบริษัทประกาศใช้มาตรา 75 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ซึ่งทำให้พนักงานไม่พอใจ และออกมาชุมนุมกันที่โรงอาหารประมาณ 600 คน เพื่อสอบถามสาเหตุที่แท้จริงจากผู้บริหาร และผู้บริหารได้อ้างว่าสาเหตุการลดเงินเดือนมาจากปัญหาในกระบวนการผลิตสินค้าที่ทำให้ลูกค้า Claim สินค้ากลับมาให้แก้ไข และจำเป็นต้องปิดปรับปรุงกระบวนการผลิตชั่วคราว แต่พนักงานต้องมารายงานตัวทุกสัปดาห์ ด้วยเหตุนี้ สหภาพแรงงานจึงเรียกร้องให้บริษัทหยุดใช้มาตรา 75 เพราะค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันสูงขึ้น รายได้ที่เป็นอยู่ไม่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิต สาเหตุของการนำไปสู่การเลิกจ้างสามารถแจกแจงรายละเอียดเพิ่มเติมได้ดังนี้ 1) การออกมาเรียกร้องโบนัสเพิ่มของพนักงาน วันที่ 21-24 ธันวาคม 2553 พนักงานบริษัทรวมตัวกันจำนวนกว่า 3 พันคนเรียกร้องขอให้นายจ้างเพิ่มโบนัสจาก 2.1 เท่าของเงินเดือนเป็น 2.5 เท่า เนื่องจากโรง 4 (ผลิตเลนส์กระจกสำหรับกล้องดิจิตอล) ได้รับโบนัสมากกว่าถึง 2.7 เท่า ในขณะที่โรง 1-3 (ผลิตกระจกสำหรับฮาร์ดดิสท์) ได้ 2.1 เท่า อีกทั้ง ยังขอให้นายจ้างจัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่พนักงานทุกคน เนื่องจากที่มีอยู่นั้นจัดให้เฉพาะพนักงานระดับซุปเปอร์ไวเซอร์ขึ้นไป พนักงานได้ออกมาชุมนุมกันที่หน้าโรงงานเป็นเวลา 3 วันและไปยังศาลากลางเพื่อขอให้เจ้าหน้าที่รัฐไกล่เกลี่ย ผลการไกล่เกลี่ยคือ นายจ้างยังให้โบนัสเป็น 2.1 เท่า แต่เพิ่มเงินพิเศษแบ่งจ่ายเป็น 2 งวด ๆ ละ 2,000 บาท รวมเป็นเงิน 4,000 บาท และบริษัทไม่เอาผิดพนักงานที่ออกมาชุมนุมหน้าโรงงาน 2) การก่อตั้งสหภาพแรงงานเอจีซีสัมพันธ์แห่งประเทศไทย วันที่ 25 มกราคม 2554 พนักงานที่เคยเรียกร้องโบนัส ร่วมกันจัดตั้งสหภาพแรงงานใหม่ จากที่เคยมีอยู่เดิม (สหภาพแรงงานเอจีซี เทคโนโลยีแห่งประเทศไทย) เป็นสหภาพแรงงานเอจีซีสัมพันธ์แห่งประเทศไทย วันที่ 8 กรกฎาคม 2554 ประธานสหภาพแรงงานไปร้องเรียนคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จังหวัดหลังจากที่ถูกนายจ้างกดดันให้ลาออกพร้อมกับเสนอเงินให้ และคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) ได้เรียกตัวไปสอบสวนเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2554 ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 3) การปรับลดเงินเดือนพนักงาน วันที่ 11 กรกฎาคม 2554 เวลา 11.00 น. หัวหน้างานแต่ละส่วน (ระดับ senior และ engineer) แจ้งปากเปล่าแก่พนักงานในไลน์ผลิตว่า วันดังกล่าวไม่มีการผลิต เนื่องจากมีปัญหาด้านคุณภาพงานที่ลูกค้าเคลม คือ มีสิ่งเจือปนในชิ้นงาน พร้อมกับแจ้งว่าบริษัทจะใช้มาตรา 75 จ่าย 75% เป็นเวลา 2 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย คนงานจึงหยุดทำงานและทำความสะอาดไลน์การผลิต เวลา 14.00 น. ฝ่ายทรัพยากรบุคคลได้เรียกประชุมคณะกรรมการสหภาพแรงงาน เพื่อ แจ้งเรื่องการใช้มาตรา 75 ด้วยเหตุผลเกิดปัญหาคุณภาพงาน และกำหนดให้พนักงานมารายงานสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แต่ทางสหภาพยังยืนยันให้บริษัทจ่ายเต็ม 100% หรืออย่างน้อยสุดเหลือ 80% แต่การเจรจาไม่สามารถหาข้อยุติได้ วันที่ 12 กรกฎาคม 2554 เวลา 10.00 น. สหภาพฯ ได้ทำหนังสือแจ้งสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ถึงข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นเพื่อให้ไกล่เกลี่ยหาข้อยุติเรื่องการใช้มาตรา 75 ว่าถูกต้องตามกฎหมายและเป็นธรรมต่อพนักงานหรือไม่ แต่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดแจ้งทางโทรศัพท์กลับมาว่า ไม่ว่างเข้ามาไกล่เกลี่ย ทั้งยังไม่ทราบเรื่องการใช้มาตรา 75 ของบริษัท จึงขอให้พนักงานมาร้องทีหลังหากบริษัทประกาศใช้แล้วอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งเวลา 12.00 น. บริษัทปิดประกาศการใช้มาตรา 75 บังคับต่อพนักงานจำนวน 2,700 คน ที่หน้าอาคาร ลงลายมือชื่อวันที่ประกาศวันที่ 11 ก.ค. 54 ซึ่งไม่ตรงกับวันที่ติดประกาศจริง ทำให้พนักงานส่วนใหญ่เกิดความคับข้องใจ จึงออกมาจับกลุ่มรวมตัวกันบริเวณโรงอาหารชั้น 1 ประมาณ 600 คนในเวลา 13.10 น. เพื่อหาความชัดเจนต่อการใช้มาตรา 75 สมาชิกสหภาพฯ จึงขึ้นไปสอบถาม และเรียกร้องให้ให้บริษัทจ่ายค่าจ้างเต็ม 100% วันที่ 13 กรกฎาคม 2554 กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานที่ 1 ออกบันทึกข้อความรายงานเรื่องการหยุดกิจการชั่วคราวของบริษัทดังกล่าวให้แก่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ความว่าบริษัทจำเป็นต้องหยุดเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต และได้สรุปว่า พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทั้งสองฝ่ายควรมีการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์กันต่อไป อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงยืนยันลดเงินเดือนพนักงานต่อไป 4) การเลิกจ้างสมาชิกและกรรมการสหภาพแรงงานที่มีบทบาทปกป้องผลประโยชน์ของสมาชิก เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2554 เวลา 6.30 น. ฝ่ายทรัพยากรบุคคลโทรศัพท์เข้ามาในไลน์ เรียกพนักงานกะดึก (shift c) เข้าไปพบรอบแรกประมาณ 7 คน ซึ่งเป็นผู้มีรายชื่อใน 61 คนที่ถูกเลิกจ้าง (หลายคนไม่ได้ถูกเรียกพบ แต่รู้เมื่อมีการติดประกาศเลิกจ้าง) โดยได้พบกับทนายความของนายจ้าง และทนายความแจ้งข้อหาทางวาจาว่า “เรามีความผิดที่ผละงาน ชุมนุม” ซึ่งลูกจ้างโต้กลับว่า “ทำไมไม่มีเอกสารเลิกจ้างมาให้ดู” ทนายความตอบว่า “ถึงเอามาให้ดู พวกคุณก็ไม่เซ็นชื่อกันหรอก” ต่อมาในเวลา 7.40 น. บริษัทติดประกาศก่อนเข้างานกะเช้า เพื่อห้ามไม่ให้พนักงานที่ถูกเลิกจ้างเข้างานโดยเด็ดขาด นอกจากนี้ ในช่วงระหว่างไกล่เกลี่ยกับนายจ้าง นายจ้างก็เปิดรับพนักงานใหม่อีกประมาณ 500 อัตรา 1.2 การเลิกจ้างพนักงานริโก้ แมนูแฟคเจอริ่ง จำนวน 54 คน บริษัท ริโก้ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) ประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ผลิตเครื่องพิมพ์ เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องโทรสาร และชิ้นส่วนอุปกรณ์ดังกล่าวส่งไปยังต่างประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น ทวีปยุโรป อเมริกา ทวีปเอเชีย โอเชียเนียและออสเตรเลีย ตั้งอยู่ที่ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง มีพนักงานทั้งสิ้น 724 คน ส่วนมากเป็นพนักงานหญิง 70% ชาย 30% ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน เฉลี่ยเงินเดือนประมาณ 6,000 บาท เวลาทำงานตั้งแต่เวลา 08.00 – 18.00 น. เวลาพัก 1.15 ชั่วโมง ทำงานทุกวันจันทร์-ศุกร์ วันหยุดประจำสัปดาห์ 2 วันคือ เสาร์-อาทิตย์ สวัสดิการที่ได้รับ ได้แก่ เบี้ยขยัน รถรับส่ง ค่าข้าวมื้อเที่ยงและทำงานล่วงเวลาฟรี ค่าเช่าบ้าน โบนัสขึ้นอยู่กับผลกำไรซึ่งไม่แน่นอน ค่าความชำนาญ ชุดยูนิฟอร์ม ตรวจสุขภาพประจำปีและปรับเงินขึ้นทุกปีโดยการตัดเกรดพนักงาน [3] เหตุการณ์การเลิกจ้างพนักงานดังกล่าวมีสาเหตุจากการที่พนักงานการทนสภาพการทำงานไม่ไหว การรวมตัวเรียกร้องโบนัสเพิ่ม และการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ดังรายละเอียดต่อไปนี้ 1) สภาพปัญหาการทำงานของพนักงาน มีดังนี้ 1. ลาป่วย 1 วัน ต้องมีใบรับรองแพทย์ 2. อุปกรณ์ความปลอดภัย ไม่ได้มาตรฐาน เพราะมีพนักงานบางส่วนทำงานเกี่ยวกับสารเคมี 3. ไม่จัดที่ทำงานเฉพาะสำหรับพนักงานที่ตั้งครรภ์ โดยให้ปฏิบัติงานในส่วนเดียวกันกับฝ่ายผลิต 4. การปรับเงินขึ้นและโบนัสไม่เป็นธรรม 5. โรงอาหารที่สำหรับกินข้าวและช้อนไม่เพียงพอต่อความต้องการของพนักงาน 6. บังคับพนักงานทำงานล่วงเวลา 7. ห้องพยาบาลไม่เพียงพอและไม่มีการจัดพยาบาลและหมอให้ตามที่กฎหมายกำหนด 8. ใน\ไลน์ผลิต\" เข้าห้องน้ำต้องลงเวลา 9. ผ้าปิดจมูกเป็นผ้าธรรมดาป้องกันสารเคมีไม่ได้ จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น พนักงานไม่ได้รับความเป็นธรรม จนกระทั่งมีประกาศผลโบนัสออกมา 2) ความไม่พอใจกับประกาศผลโบนัสของบริษัทและการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2554 บริษัทฯได้ประกาศการจ่ายเงินโบนัสประจำปี ค่ากลางเท่ากับ 2.7 เดือน ซึ่งเท่ากับปีที่ผ่านมา แต่ความเป็นจริงในปี 2554 บริษัทฯ ได้ทำการผลิตเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2553 ทำให้พนักงานส่วนมากไม่พอใจกับการประกาศผลโบนัสครั้งนี้ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2554 เวลา 18.10 น.พนักงานได้รวมตัวกันที่หน้าบริษัทฯและได้ทำข้อเรียกร้องพร้อมลงลายมือชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องจำนวน 274 คน โดยแต่ละแผนกส่งตัวแทนพนักงานแผนกละ 3คน เพื่อขึ้นไปเป็นตัวแทนในการเจรจากับนายจ้างรวมทั้งหมด 21 คน รวมทั้งแต่งตั้งผู้แทนเจรจาข้อเรียกร้องฝ่ายลูกจ้าง จำนวน 7 คน หลังจากนั้นก็ได้มีการเจรจากับนายจ้างคนญี่ปุ่นและผู้บริหารคนไทย และได้ข้อสรุปว่า ผู้บริหารจะนัดชี้แจงเงินบวกพิเศษเพิ่มในวันที่ 2 ธันวาคม 2554 เวลา 17.30น ที่โรงอาหาร ในช่วงของวันที่ 1 ธันวาคม 2554 พนักงานได้ลงลายมือชื่อเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งสหภาพแรงงานทั้งหมด 306 คน ต่อมาเมื่อ เวลา 18.30 น. ซึ่งเป็นเวลาเลิกงานแล้วได้มีพนักงานจำนวน 13 คน ซึ่งเป็นตัวแทนที่จะดำเนินการจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ประชุมเตรียมการจัดตั้งและกรอกเอกสารบางส่วน และได้นัดกรอกเอกสารเพิ่มเติมอีกในวันที่ 3 ธันวาคม 2554 วันที่ 2 ธันวาคม 2554 เวลา 08.15น ทางบริษัทฯได้มีการเรียกพนักงานกะดึกของคืนวันที่ 1ธันวาคม 2554 มารับฟังการประกาศผลโบนัสเป็นกลุ่มแรก พร้อมทั้งได้มีการบังคับให้พนักงานลงลายมือชื่อยินยอมรับเงินโบนัส ส่วนพนักงานที่เข้าทำงานกะเช้าของวันที่ 2 ธันวาคม 2554 ทางผู้บริหารได้เรียกแต่ละแผนกไปชี้แจงในห้อง Training Room พร้อมทั้งให้เซ็นยอมรับเงินโบนัสโดยไม่ได้เจรจากับตัวแทนพนักงาน ซึ่งมีพนักงานที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หลังเลิกงานพนักงานจึงรวมตัวกันอีกครั้งที่หน้าบริษัทฯ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับพนักงานที่ทำงานกะเช้า แต่ครั้งนี้ไม่มีการเจรจาใดๆทั้งสิ้น เนื่องจากทางผู้บริหารกลับบ้านก่อน พนักงานจึงได้มีการลงลายมือชื่อจำนวน 284 คนเพื่อจะยื่นข้อเรียกร้องให้กับบริษัทฯใหม่อีกครั้ง วันที่ 3 ธันวาคม 2554 เวลา 13.00น พนักงานที่เป็นผู้ก่อตั้งสหภาพแรงงานพร้อมเพื่อนพนักงานอีกส่วนหนึ่งได้มาปรึกษาเรื่องการจัดตั้งสหภาพแรงงานพร้อมทั้งกรอกเอกสารเพิ่มเติมบางส่วนที่ยังไม่เรียบร้อยเพื่อจะดำเนินการไปยื่นจดทะเบียนที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง โดยมีพนักงานลงลายมือชื่อสนับสนุนจำนวนทั้งหมด 306 คน วันที่ 4 ธันวาคม 2554 เวลา 09.00น พนักงานได้มาประชุมเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายในการยื่นข้อเรียกร้องและการมีสหภาพแรงงงานในสถานประกอบการพร้อมทั้งจัดเตรียมข้อมูลเพื่อที่จะทำการยื่นข้อเรียกร้องใหม่เพื่อจะยื่นอีกครั้งในวันที่ 6 ธันวาคม 2554 ทว่าเมื่อถึงวันที่ 6 ธันวาคม 2554 ทางบริษัทฯได้ติดประกาศเลิกจ้างพนักงานจำนวนทั้งหมด 41 คน โดยตั้งข้อหาพนักงานทั้งหมด 12 ข้อหา เช่น สร้างความขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ยุยงให้เกิดความแตกแยก ไม่ปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่างที่ดี ทำลายความหวัง ความก้าวหน้าของเพื่อน พนักงานและบริษัทฯ พูดจาให้ร้ายบริษัทฯ สร้างเรื่องเพื่อทำให้พนักงานเกิดความระแวงต่อกัน แสดงกิริยา วาจา ก้าวร้าว ทัศนคติไม่ดี คิดร้ายต่อบริษัทฯ เป็นต้น ส่วนข้อเรียกร้องที่ได้เตรียมมายื่นให้กับบริษัทฯนั้น ไม่สามารถยื่นได้เนื่องจากถูกเลิกจ้างก่อน พนักงานส่วนหนึ่งจึงนำสำเนาข้อเรียกร้องพร้อมลายมือชื่อที่สนับสนุนข้อเรียกร้องไปยื่นให้แก่เจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง สำหรับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างทั้งหมดได้ออกมาชุมนุมกันที่หน้าบริษัทฯ จนกระทั่งเวลา 14.20 น. เจ้าหน้าที่สำนักงานและสวัสดิการคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยองได้เดินทางมาเจรจาเพื่อหาข้อยุติระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างโดยได้ข้อสรุปว่าให้เรียกพนักงานจำนวน 22 คนที่ไม่มีรายชื่อถูกเลิกจ้างกลับเข้าไปทำงานโดยให้สัญญาว่าจะไม่มีการเลิกจ้างและเอาผิดใดๆ กับพนักงานทั้ง 22 คนนี้ วันที่ 7 ธันวาคม 2554 ทางบริษัทฯได้ติดประกาศเลิกจ้างพนักงานเพิ่มอีก 4 คน ซึ่งเป็นพนักงานที่มีรายชื่ออยู่ในจำนวนพนักงาน 22 คนข้างต้น วันที่ 8 ธันวาคม 2554 เวลาประมาณ 07.30น. กลุ่มพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง 45 คนได้มารวมตัวกันที่หน้าบริษัทฯ เพื่อที่จะเข้าไปรายงานตัวกับบริษัท แต่พนักงานรักษาความปลอดภัยอ้างว่าไม่ได้รับคำสั่งจากฝ่ายบุคคลว่า ให้พนักงานที่ถูกเลิกจ้างกลับเข้าทำงาน โดยติดประกาศหน้าป้อม รปภ. ว่าทางบริษัทฯได้ประกาศแจ้งให้ทราบว่า ห้ามไม่ให้พนักงานที่ถูกเลิกจ้างเข้ามากระทำการใดๆภายในบริษัทฯ มิเช่นนั้นทางบริษัทฯจะดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนพนักงานที่ไม่ได้ถูกเลิกจ้าง ทางบริษัทฯได้ทำหนังสือให้เซ็นชื่อ เพื่อกันไม่ให้เข้าร่วมชุมนุม ถ้าไม่เช่นนั้นจะถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายและพยายามข่มขู่พนักงานให้เกิดความกลัว วันที่ 9 ธันวาคม 2554 เวลา 13.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ได้มีการนัดเจรจาแต่ทางนายจ้างได้มีการโทรแจ้งกับทางเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานและเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยองว่าไม่สบายและไม่สามารถมาเจรจาได้ จึงขอเลื่อนนัดไปเป็นวันที่ 13 ธันวาคม 2554 เวลา 14.00น วันที่ 12 ธันวาคม 2554 ได้มีการเลิกจ้างพนักงานเพิ่มอีก 9 คน ที่อยู่ในกลุ่ม 22 คน โดยตั้งข้อกล่าวหาว่า ขาดงาน ทำผิดซ้ำคำเตือน และร่วมชุมนุมกับพนักงานที่อยู่ด้านนอก ซึ่งพนักงานทั้ง 9 คนได้โทรศัพท์ลางานกับหัวหน้างานเรียบร้อยแล้ว และเป็นพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผู้ก่อตั้งสหภาพแรงงานด้วย เสรีภาพของทุนในการขัดขวางกระบวนการสร้างความเติบโตของสหภาพแรงงาน 1.3 การเลิกจ้างพนักงานโฮยา กลาสดิสก์ จำนวนประมาณ 2

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท