Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

\เราถือว่าความจริงต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ประจักษ์แจ้งอยู่ในตัวเอง นั่นคือ มนุษย์ทุกคนถูกสร้างขึ้นมาอย่างเท่าเทียมกัน และพระผู้สร้างได้มอบสิทธิบางประการที่จะเพิกถอนมิได้ไว้ให้แก่มนุษย์ ในบรรดาสิทธิเหล่านั้นได้แก่ ชีวิตเสรีภาพและการเสาะแสวงหาความสุข” [2] จากข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า คุณค่าของมนุษย์ นั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจตีค่าหรือประเมินราคาได้ และนอกจากไม่สามารถประเมินราคาได้แล้ว ยังไม่สามารถที่จะเพิกถอนสิทธิต่างๆ ที่ประกอบขึ้นในความเป็นมนุษย์ได้อีกเช่นกัน ในรัฐสมัยใหม่ที่ปกครองโดยหลักนิติรัฐและยึดถืออุดมการณ์ประชาธิปไตยนั้น เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองร่วมกับรัฐซึ่งถือเป็นหลักการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (la démocratie participative ) กล่าวคือ เมื่อมีสถานการณ์ที่ความคิดเห็นของประชาชนไม่พ้องต้องกับรัฐ ประชาชนมีสิทธิที่จะแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วย และรวมถึงแสดงความต้องการของประชาชนได้ เพราะการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น รัฐต้องยอมอดกลั้นต่อความห็นต่างๆ แม้จะไม่พ้องกับการตัดสินใจของรัฐเองก็ตาม อย่างไรก็ตามเมื่อมีการใช้เสรีภาพในการแสดงออกในการแสดงความคิดเห็นและความต้องการต่างๆ ไม่ว่าจะโดยวิธีการทางการสื่อสาธารณะ หรือการใช้เสรีภาพในการชุมชุมก็ตาม รัฐก็ยังมีอีกหน้าที่หนึ่งควบคู่ไปด้วยกัน คือหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคมเมื่อมีการชุมนุมทางการเมือง เพื่อแสดงออกถึงความต้องการแล้ว ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องไปกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น ซึ่งรัฐมีหน้าที่ในการจัดการรักษาความสงบเรียบร้อยโดยวิธีการที่ได้สัดส่วนและเป็นสากล ปัญหาที่เกิดขึ้นและต้องพิจารณาอย่างหนักแน่นในขณะนี้ คือเมื่อมีการใช้อำนาจรัฐไปกระทบต่อสิทธิในชีวิตของผู้ชุมนุมนั้นรัฐจะต้องเยียวยาชดใช้หรือไม่ มติของคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ที่ให้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองซึ่งครอบคลุมตั้งแต่เหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 โดยให้ทำการเยียวยาให้เเล้วเสร็จภายใน 5 ปี มติของ ปคอป.นี้ ย่อมมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อันเนื่องมาจากสภาวะที่ความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกันอย่างสุดขั้วในเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นของการเยียวยาให้แก่ผู้ชุมนุมเสื้อแดง และรวมไปถึงมูลค่าหรือราคาของชีวิต ที่รัฐทำการประเมินให้ เช่น ศพละ 7.5ล้านบาท เป็นต้น จากการสำรวจข้อความคิดเห็นต่างๆ ในสังคมออนไลน์อย่างเช่นเฟซบ๊ค จะเห็นว่า กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยได้ยกมูลค่าหรือราคาของข้าราชการที่เสียชีวิตในหน้าที่โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐเสียชีวิต ได้รับเงินเยียวยา 5.7แสนบาท เป็นต้น ซึ่งผู้เขียนจะไม่ขอกล่าวถึงในประเด็นเกี่ยวกับความคุ้มค่าของราคาชีวิตที่ถูกตีราคาที่แตกต่างกัน แต่หากผู้อ่านที่สนใจจะหาข้อมูลในเรื่องนี้ ผู้เขียนขอแนะนำให้ไปติดตามอ่านได้ในงานของ ภาคภูมิ แสงกนกกุล [3] เรื่องมูลค่าของชีวิต และอีกเหตุผลที่สำคัญที่ทำให้ผู้เขียนต้องละในประเด็นนี้ นั่นคือเหตุผลสามัญที่สุด เนื่องจากผู้เขียนมีความรู้ในวิชาเศรษฐศาสจร์เพียงเล็กน้อยจึงไม่สามารถนำมาใช้ในการวิเคาระห์ปรากฎการณ์นี้ได้ กลับมาเข้าเรื่องต่อในความเห็นของผู้ที่ไม่เห็นด้วยนั้นตัวตั้งตัวตีหลักในสังคมออนไลน์คงหนีไม่พ้นหน้าเพจของคุณวรกร จาติกวณิช ที่ได้ตั้งสถานะว่า เคยได้ยินแต่ปล้นแล้วเผา “แต่เผาแล้วปล้นต่อเพิ่งเคยเห็น[4] นี่แหละ” หรือไม่ว่าจะเป็นการทำภาพปกไทม์ไลน์ในสังคมออนไลน์เฟซบุ๊คมาแจกจ่ายแก่บุคลที่นิยมชมชอบ โดยมีข้อความพาดหัวอย่างสวยหรู (ตามความเห็นของคุณวรกร) ที่ว่า “กูจ่ายภาษีเพื่อพัฒนาชาติไม่ใช่เพื่อสนับสนุนโจรเสื้อแดงเผาเมือง” เป็นต้น ผู้เขียนขอยกกรณีการเยียวยาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เสียชีวิตมาเปรียบเทียบก่อน เช่น ในกรณีของผู้เสียชีวิตที่เป็นข้าราชการฝ่ายกลาโหมนั้น พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521 มาตรา14/1 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆในการชดเชยเชยไว้แล้ว ส่วนค่าเยียวยาเพิ่มเติมนั้น อาจต้องไปดูในส่วนของระเบียบกระทรวงกลาโหมต่อไป จะเห็นได้ว่า ในกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้เสียชีวิตอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ จะมีกฎหมายมารองรับถึงการเยียวยาในเบื้องต้นแล้ว แต่ในส่วนของประชาชนหรือเรียกกันให้สวยหรูว่าพลเมืองนั้น ยังไม่ปรากฎถึงการชดเชยอย่างเป็นรูปธรรม หลักเกี่ยวกับความรับผิดชอบของฝ่ายปกครอง (responsabilité de l'administration) ในระบบกฎหมายปกครองของฝรั่งเศสนั้น ถือเป็นหน้าที่ที่ผูกพันของฝ่ายปกครองที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อทุกๆ กิจกรรมที่ได้กระทำลงไป ไม่ว่ากิจกรรมนั้นจะเกิดจากการใช้อำนาจในการออกคำสั่งทางปกครองหรือเกิดจากความผิดพลาดในการจัดทำบริการสาธารณะ ซึ่งหลักในความรับผิดของฝ่ายปกครองนั้นได้รับการพัฒนาหลักการมาจากคำวินิจฉัยของศาลคดีขัดกัน (Tribunal des conflits) ในคดี Blanco (TC 8 Février 1873)โดยศาลคดีขัดกันได้ตัดสินในคดีดังกล่าวว่า ให้ศาลปกครองเป็นผู้มีอำนาจในการวินิจฉัยการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายอันเนื่องมาจากการจัดทำบริการสาธารณะซึ่งเป็นมูลเหตุให้ศาลปกครองฝรั่งเศสต้องตัดสินว่า จะให้เจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายปกครองทำการเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับการเสียหายหรือไม[5] เหตุที่ผู้เขียนยกตัวอย่างของประเทศฝรั่งเศสขึ้นมา ไม่ใช่เพราะผู้เขียนกำลังศึกษาในประเทศฝรั่งเศส หรือเป็นฝรั่งเศสนิยม แต่หากเป็นเพราะหลักกฎหมายปกครองของประเทศไทย โดยเฉพาะหลักการว่าด้วยการจัดทำบริการสาธารณะนั้น เราได้ยอมรับหลักการมาจากประเทศฝรั่งเศเป็นหลัก จึงไม่ผิดหากจะยกหลักของฝรั่งเศสมาเป็นตัวอย่าง และที่สำคัญหัวใจของหลักกฎหมายปกครองคือ การ กระทำทางปกครองที่ผิดพลาดต้องได้รับการเยียวยา นั่นหมายความว่า หากมีกาารใช้อำนาจรัฐไปกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนไปแล้ว ประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาจากรัฐ ในส่วนของการเยียวยาผู้เสียหายจากการชุมนุมทางการเมืองนั้น ก่อนอื่นผู้เขียนขอแยกออกเป็นสองประเด็นหลัก ได้แก่ 1.สิทธิในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธของประชาชนซึ่งได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ 2. หน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ในประเด็นแรก ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในตอนต้นแล้วว่า เสรีภาพในการชุมนุมนั้นเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของรัฐประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสิทธิที่เกี่ยวเนื่องกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการแสดงออก เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ไม่มีรัฐใดสามารถที่จะชักจูงให้ประชาชนในรัฐเห็นพ้องกันไปในทิศทางเดียวกันได้ ความแตกต่างทางความคิดและสามารถแสดงออกและอยู่ร่วมกันได้ในสังคมที่มีความหลากหลายทางความคิดซึ่งเป็นข้อดีประการหนึ่งของสังคมประชาธิปไตยที่ต้องอดทนต่อความคิดเห็นที่หลากหลาย และรัฐเองนั้นมีหน้าที่ในการที่จะรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายนั้น ส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่ เป็นอีกเรื่อง เพราะรัฐคงไม่อาจตอบสนองความต้องการแก่ประชาชนทุกคนในรัฐที่มีความหลากหลายได้ แต่อย่างที่กล่าวไว้แล้วในตอนต้นว่า การชุมนุมเรียกร้องนั้นย่อมที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ปริมณฑลใกล้เคียงการชุมนุมได้ ซึ่งหากความเสียหายเกิดขึ้นจากตัวผู้ชุมนุมผู้ได้รับผลกระทบ ย่อมที่จะสามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายได้จากมูลเหตุละเมิด [6] ดูตัวอย่างได้จากกรณีการยึดสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ โดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการเรียกร้องระหว่างเอกชนและเอกชนด้วยกัน เนื่องจากผู้ชุมนุมไม่ได้ใช้อำนาจรัฐ(ไม่มี) ในการก่อให้เกิดความเสียหาย ในประเด็นที่สอง หน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ในประเด็นนี้เกี่ยวเนื่องกับประเด็นแรกในส่วนที่ว่า หากการชุมนุมเพื่อเรียกร้องต่างๆ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ปริมณฑลต่างๆ แล้วนั้น ย่อมเป็นหน้าที่ของฝายปกครองที่จะต้องเข้ามาเพื่อรักษาความสงบเรีบบร้อย แต่ไม่ได้หมายความว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองนั้นจะดำเนินมาตรการใดๆ ก็ได้ในการรักษาความสงบเรียบร้อย และไม่ได้หมายความว่า การเข้ามารักษาความสงบเรียบร้อยนั้นจะต้องเป็นการสลายการชุมนุม การกระชับพื้นที่หรือการขอพื้นที่คืนเสมอไป อาจเป็นเพียงมาตรการเพื่อระงับเหตุแห่งความไม่สงบนั้นชั่วคราวเป็นต้น เป็นที่เข้าใจโดยสากลโลกว่า การใช้อำนาจรัฐเข้าไปจัดการกับการชุมนุมนั้น ย่อมต้องก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น ทั้งกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุม ซึ่งเป็นการปะทะกันระหว่างความสงบเรียบร้อบของบ้านเมืองและสิทธิที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ นอกจากการปะทะกันของสองหลักการดังกล่าวแล้วนั้น สิ่งที่อาจตามมา คือความสูญเสียทั้งที่สามารถเยียวยาได้ด้วยตัวเงินหรือทรัพย์สินหรือสิทธิประโยชน์อื่น และความเสียหายที่ไม่สามารถเยียวยาได้ไม่ว่าจะในทางใดก็ตาม เมื่อความเสียหายได้เกิดขึ้น คำถามที่ตามมาเสมอคือ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น และรวมถึงควรจะมีการเยียวยาหรือไม่ ในส่วนของเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นที่ชัดเจนว่า มีกฎหมายและระเบียบต่างๆ ในการเยียวยาไว้แล้วและรวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ตกถึงทายาท จึงไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง (ในส่วนของมูลค่า ผู้เขียนขอละไว้เนื่องจากเหตุผลทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่กล่าวไว้ข้างต้น) แต่ในส่วนของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจรัฐในการจัดการเกี่ยวกับการชุมนุมนั้นไม่มีหลักกณฑ์ใดๆ มารองรับ พูดกันง่ายๆ คือ ความเสียหายของประชาชนที่มาร่วมชุมนุมนั้น ไม่มีราคาหรือมูลค่าใดๆ เมื่อเลือกที่จะเข้ามาชุมนุมแล้วก็ย่อมต้องรับความเสี่ยงเอง ฐานความคิดเช่นนี้เป็นฐานความคิดที่ผิด เพราะหากมองในแง่มุมนี้แล้ว จะพบว่าเป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้มาตรการใดๆ ก็ได้ รวมถึงมาตรการที่ไม่จำเป็นในการควบคุมการชุมนุม เช่น อาจใช้เฮลิคอปเตอร์โปรยแก๊สน้ำตาจากบนฟ้า หรือใช้รถหุ้มเกราะในการสลายการชุมนุม เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความเสียหายโดยไม่จำกัดขอบเขตให้แก่ผู้ชุมนุมด้วยเช่นกัน หากมองในฐานคิดแบบนี้แล้วย่อมไม่แปลกที่จะมีการสถาปนาอำนาจรัฐตำรวจขึ้นมาเฉพาะการ โดยอ้างเหตุผลของความสงบเรียบร้อยและย่อมส่งผลไปถึงเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนที่จะถูกจำกัดไว้โดยไม่ต้องใช้กฎหมาย หากแต่ใช้ความหวาดกลัวและหวาดระแวงว่า เมื่อออกไปร่วมชุมนุมแล้ว ต้องแบกรับความเสี่ยงภัยเอง ซึ่งอาจจะได้รับตามที่เรียกร้องหรือไม่นั้นก็ยังไม่อาจรับประกันได้ เพราะคงไม่มีใครยอมที่จะเอาชีวิตอันมีค่าของตนเองเพื่อไปเสี่ยงกับจุดหมายที่อาจจจะมองไม่เห็นปลายทาง การเยียวยาต่อผู้เสียหายจึงไม่ใช่การตบรางวัลให้แก่ผู้ชุมนุม แต่เป็นเสมือนกับการชดใช้ความผิดของรัฐที่ได้กระทำลงไปต่อผู้เสียหายซึ่งควรจะได้รับการชดเชย แม้ว่าที่สูญเสียไปอาจจะไม่สามารถเยียวยาได้ด้วยตัวเงินก็ตาม และยังเป็นการบังคับให้รัฐต้องเคารพต่อหลักสากลในการควบคุมไปในตัวอีกด้วยว่า การสั่งการใดๆ นั้นต้องยึดถือหลักแห่งความได้สัดส่วนเป็นหลัก ไม่ใช่การใช้อำนาจตามอำเภอใจจนก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง ผู้เขียนจึงอยากจะฝากข้อคิดไว้สักนิดว่า ไม่มีใครไม่รักชีวิตของตนเองและชีวิตของแต่ละคนไม่สามารถตีเป็นราคาหรือมูลค่าใดๆได้ ไม่ว่าจะในทางกฎหมายหรือเศรษฐศาสตร์ ดังนั้นจึงไม่ควรมองเพื่อนมนุษย์ด้วยกันว่า ออกมาชุมนุมเพื่อต้องการเงินชดเชย เพราะนอกจากเป็นการซ้ำเติมผู้เสียหายแล้ว ยังเป็นการลดความเป็นคนในตัวของผู้คิดอีกด้วยเ พราะคิดว่าชีวิตของเพื่อนมนุษย์มีราคาเพียงแค่เจ็ดล้านกว่าบาท [1] นักศึกษาปริญญาเอก สาขากฎหมายปกครอง มหาวิทยาลัย Paul CEZANNE [2] คำประกาศอิสระภาพของสหรัฐอเมริกา [3] http://www.facebook.com/note.php?note_id=10150516824634174 [4] http://www.facebook.com/profile.php?id=1046875000 13 มกราคม 2555 [5] http://fr.wikipedia.org/wiki/Responsabilit%C3%A9_de_l'administration_fran%C3%A7aise#Faute_personnelle [6] มาตรา 420 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net