จดหมายคณะ 'แสงสำนึก' ถึงเพื่อนนักเขียน เชิญร่วมงาน ครก.112

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2555 เรียนเพื่อนนักเขียนผู้ได้ลงนามในจดหมายเปิดผนึก ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2554 หลังจากที่ได้มีการเผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงเพื่อนนักเขียนไทยทั่วประเทศ เรื่อง ขอเชิญร่วมลงชื่อให้มีการแก้ไขมาตรา 112 และยุติการใช้ข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพปิดกั้นการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2554 ได้มีการลงนามจากเพื่อนนักเขียนตลอดจนถึงออกคำประกาศ 359 นักเขียน เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 แม้ว่าตลอดสองเดือนของการเคลื่อนไหวของนักเขียนดังกล่าว จะได้ผลักดันประเด็นปัญหาในมิติต่าง ๆ เกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา 112 ไปไม่น้อย ให้ได้รับความสนใจจากทั้งในและต่างประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ขององค์การสหประชาชาติเข้ามาจับตาดูปัญหาการละเมิดสิทธิ เสรีภาพในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งได้มีการแถลงอย่างเป็นทางการถึงความกังวลต่อการบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ของประเทศไทย แต่ดูเหมือนว่าการบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 จะมิได้ลดความรุนแรงลงแม้แต่น้อย อีกทั้งรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองใดก็ยังคงแสดงความเฉยเมยต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว และไม่ตระหนักถึงปัญหาของการละเมิดสิทธิ เสรีภาพ สิทธิมนุษยชนอันเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ปรากฏการดำเนินคดีโดยกฎหมายอาญามาตรา 112 เฉพาะตามที่ปรากฏเป็นข่าวถึง 5 กรณี 22 พฤศจิกายน ตำรวจภูธรจังหวัดร้อยเอ็ดออกหมายเรียกนายสุรพศ ทวีศักดิ์ เนื่องจากถูกแจ้งข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ ในการโพสต์ข้อความแสดงความเห็นท้ายบทความ จะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ในสังคม-การเมืองไทยอย่างไร? ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาไท 23 พฤศจิกายน ผู้พิพากษาชนาธิป เหมือนพะวงศ์อ่านคำตัดสินพิพากษาจำคุกนายอำพล 20 ปี จากกรณีส่งข้อความสั้นหมิ่นประมาทสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสถาบันกษัตริย์ 4 ครั้ง ไปยังเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 25 พฤศจิกายน อัยการ สำนักงานพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 ยื่นฟ้องนายสุรภักดิ์ เนื่องจากโพสต์ข้อความที่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พร้อมกับคัดค้านการขอประกันตัว 8 ธันวาคม ศาลตัดสินจำคุกโจ กอร์ดอน 5 ปี แต่สารภาพจึงลดโทษเหลือ 2 ปี 6 เดือน ข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และกระทำให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน และกระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของบล็อกซึ่งใส่ลิงก์ให้ดาวน์โหลดหนังสือ The King Never Smiles และมีส่วนเกี่ยวข้องในการแปลหนังสือดังกล่าวเป็นภาษาไทย หนังสือดังกล่าวเขียนโดย Pual Handley เป็นหนังสือวิชาการจัดพิมพ์โดยมหาวิทยาลัย Yale เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2549 โดยระหว่างถูกจับกุมศาลปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวโดยให้เหตุผลว่าเป็นข้อหาที่กระทบต่อความมั่นคง และกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งมีโทษสูง 15 ธันวาคม ผู้พากษาชนาธิป เหมือนพะวงศ์อ่านคำตัดสินจำคุกนางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล กระทำผิดโดยกล่าวปราศรัย 3 ครั้งที่ท้องสนามหลวง จำคุก 15 ปี คดีความทั้งหมดดังที่กล่าวมาข้างต้น เป็นผลจากกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยประเด็นสำคัญที่สุดคือ ความไม่ได้สัดส่วนกันระหว่างโทษและการกระทำผิด ซึ่งเป็นการกระทำฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท แต่กลับมีการลงโทษอย่างรุนแรงจนสูงกว่าคดีที่ร้ายแรงกว่าเช่น การพยายามฆ่า และการฆ่าคนตายในบางกรณี ความผิดสัดส่วนนี้รุนแรงจนกระทั่งสามารถรู้สึกได้โดยสามัญสำนึกธรรมดา และมิต้องมีความรู้หรืออ้างอิงหลักกฎหมายแต่ประการใด กรณีของนายอำพล ยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสำคัญที่กระทบต่อหลักการพิจารณาคดีอาญา ซึ่งรัฐธรรมนูญระบุอย่างชัดเจนว่า ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยไม่มีความผิด หากแต่คำพิพากษาในคดีนี้ กลับสวนทางกับหลักคดีอาญา และผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 39 อีกทั้งยังมีข้อกังขาเกี่ยวกับหลักฐานที่ใช้ระบุความผิด และกระบวนการนำสืบของโจทก์ อันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เกิดบรรทัดฐานการดำเนินคดีที่นำข้อมูลอันเกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีมาใช้เป็นหลักฐานในการระบุตัวผู้กระทำผิดอย่างไม่รัดกุม การตัดสินคดี 112 สะท้อนให้เห็นว่า ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพของบุคคลที่ถูกดำเนินคดีอาญา ไม่ว่าจะเป็นการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว การได้รับการตรวจสอบพยานเอกสารอย่างถูกต้องครบถ้วน ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 3 มาตรา 4 มาตรา 26 มาตรา 39 มาตรา 40 (2) มาตรา 40 (7) เป็นต้น เป็นเพียงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่มีอยู่บนกระดาษเท่านั้น หาได้มีอยู่ในสำนึกของผู้บังคับใช้กฎหมายแต่อย่างใด นอกจากนี้ คดีตัวอย่างทั้ง 5 กรณีซึ่งมีการดำเนินการในเวลาไล่เลี่ยกันทั้งหมดนี้ เกิดขึ้น หลังจากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ได้มีหนังสือลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2554 แนะนำให้ชะลอคดีอาญาที่สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองทั้งหมดไว้ก่อน ซึ่งประกอบด้วย คดีอาญาในคดีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ตามมาตรา 215 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและคดีที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งเป็นช่วงเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งหลายก่อนและหลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 รวมทั้งคดีที่เกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ความเคลื่อนไหวของคดีความระหว่างวันที่ 21 พฤศจิกายน ถึง 15 ธันวาคม ตามที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้เห็นถึงพฤติการณ์ที่สวนทางกับข้อเสนอของ คอป. และทำให้เรารู้สึกสิ้นหวังต่อหนทางคลี่คลายวิกฤตการเมืองด้วยการปรองดอง และเชื่อว่ายากที่ผู้ต้องหาคดีอันเนื่องมาจากกฎหมายอาญามาตรา 112 จะได้รับความเป็นธรรม ไม่ว่าขั้วการเมืองสองฝ่ายจะสามารถปรองดองกันได้หรือไม่ ด้วยเหตุที่กล่าวมาทั้งหมด อดีตเจ้าภาพผู้ริเริ่มเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนักเขียนได้หารือกับคณาจารย์คณะนิติราษฎร์ นักวิชาการกลุ่มสันติประชาธรรม กลุ่มเคลื่อนไหวรณรงค์อาร์ติเคิล 112 ไอลอว์ และปัญญาชนกลุ่มอื่น ๆ อีกหลายกลุ่ม มีความเห็นพ้องต้องกันว่า จะต้องเคลื่อนไหวผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยตัวเอง ผู้เข้าร่วมหารือ ทั้งหมดจึงได้ตั้ง คณะกรรมการรณรงค์แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 (ครก.112) ขึ้น เพื่อผลักดันร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภา ด้วยการร่วมกันรณรงค์และขอความเห็นชอบจากประชาชนมากกว่าหนึ่งหมื่นคนขึ้นไป การรณรงค์แก้กฎหมายครั้งนี้เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 163 ซึ่งระบุว่า ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามที่กำหนดในหมวด 3 และหมวด 5 แห่งรัฐธรรมนูญนี้ โดยการลงชื่อดังกล่าวมีเพียงการกรอกแบบฟอร์มและแนบสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน และการเซ็นรับรองความถูกต้อง การผลักดันร่างแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 คือการเปลี่ยนเจตนารมณ์ในจดหมายเปิดผนึกที่พวกเรานักเขียนทั้งหมดได้ลงนามไว้ ให้เป็นรูปธรรมในการปฏิบัติโดยใช้สิทธิตามกฎหมาย และเป็นการกระตุ้นนักการเมืองให้ต้องหันมาใส่ใจปัญหานี้อย่างแท้จริง ในวันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม คณะนิติราษฎร์ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดกิจกรรมเพื่อแนะนำ ครก.112 ในงานจะมีการอธิบายรายละเอียดในร่างแก้ไขอีกครั้ง พร้อมทั้งอภิปรายเหตุผลในการที่ต้องแก้ไขกฎหมายดังกล่าว และกิจกรรมอื่น ๆ อันเป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่จะแก้กฎหมาย นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งโต๊ะลงชื่อเพื่อแก้กฎหมาย มีการเตรียมแบบฟอร์มราชการ และเครื่องถ่ายเอกสารไว้พร้อมสำหรับการลงชื่อ งานดังกล่าวเริ่มตั้งแต่เวลาบ่ายโมงตรงเป็นต้นไป ที่ห้องประชุมเล็ก (ศรีบูรพา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เราขอเรียนเชิญเพื่อนนักเขียนเข้าร่วมลงนามและร่วมกิจกรรมในวันดังกล่าว หรือเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวตามแต่ความสะดวกของท่าน หากไม่สามารถไปร่วมกิจกรรมได้ก็สามารถลงชื่อได้ภายหลัง โดยทางคณะนักเขียนแสงสำนึกจะประชาสัมพันธ์ให้ทราบในโอกาสต่อไป เรียนมาด้วยความนับถือและสวัสดีปีใหม่ คณะนักเขียนแสงสำนึก ปราบดา หยุ่น วาด รวี วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ซะการีย์ยา อมตยา กิตติพล สรัคคานนท์ ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง ธิติ มีแต้ม อติภพ ภัทรเดชไพศาล บินหลา สันกาลาคีรี ศุภชัย เกศการุณกุล สุจิตต์ วงษ์เทศ เรืองรอง รุ่งรัศมี อุทิศ เหมะมูล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท