เลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงกันดีไหม (อีกครั้ง)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในขณะที่กระแสของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อนำมาใช้แทนรัฐธรรมนูญปี ๕๐ กำลังมาแรง และผมเชื่อว่าถึงอย่างไรฝ่ายที่ออกมาต้านการแก้รัฐธรรมนูญปี ๕๐ คงต้านทานกระแสไม่ไหวอย่างแน่นอน คงเพียงสามารถต้านทานได้บางประเด็นเท่านั้น ที่น่าสนใจก็คือเริ่มมีการพูดถึงการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงกันบ้างแล้ว ผมจึงอยากเสนอการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงต่อผู้อ่าน เพื่อเป็นทางเลือกอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่เคยนำเสนอในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๐ เพื่อเสนอต่อ สสร.ปี ๕๐ ไปแล้ว โดยจะขอเสนอต่อเนื่องไปจนถึง สสร.ปี ๕๕ และจะเสนอต่อไปเรื่อยๆหากยังมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครับ ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่าในการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน (representative democracy) ในโลกบูด ๆ เบี้ยว ๆ ของเราที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้มี ๒ ระบบใหญ่ ๆ คือ ระบบรัฐสภา (parliamentary system) และระบบประธานาธิบดี (presidential system) กับอีก ๑ ระบบเล็ก คือระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี (semi-parliamentary system) ระบบรัฐสภา เป็นการปกครองที่เป็นวิวัฒนาการมาจากการช่วงชิงอำนาจระหว่างกษัตริย์กับรัฐสภาของอังกฤษ อาทิ ไทย ญี่ปุ่น อินเดีย มาเลเซีย สิงค์โปร์ ฯลฯ มีหลักการสำคัญ ดังนี้ 1) ตำแหน่งประมุขของประเทศแยกออกจากตำแหน่งบริหาร ในระบบรัฐสภานี้ ประมุขของประเทศซึ่งอาจเป็นกษัตริย์หรือประธานาธิบดีมีฐานะเป็นประมุขเพียงอย่างเดียว ไม่มีบทบาทหรืออำนาจในการบริหาร โดยประธานาธิบดีจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง แต่กษัตริย์จะไม่มีวาระการดำรงตำแหน่ง ยกเว้นมาเลเซียที่กษัตริย์หรือสมเด็จพระราชาธิบดี(Yang Di-Pertuan Agong)ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า “อากง (Agong) ” จะได้รับเลือกจากที่ประชุมของสุลต่านของรัฐ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนดำรงตำแหน่งคราวละ ๕ ปี 2) รัฐสภาจะเป็นผู้เลือกรัฐบาลขึ้นมาทำหน้าที่บริหาร เมื่อถึงเวลาที่รัฐสภาไม่ไว้วางใจรัฐบาล รัฐบาลจึงต้องออกจากตำแหน่ง แต่ในขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีหรือหัวหน้ารัฐบาลก็มีสิทธิที่จะยุบสภาได้ ระบบประธานาธิบดี เกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกาเป็นแห่งแรก มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้ใครใช้อำนาจมากเกินไป อาทิ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และประเทศแถบลาตินอเมริกา ฯลฯ โดยมีหลักการสำคัญ ดังนี้ 1) มีการแบ่งแยกอำนาจ (separation of powers) ประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกมากจากประชาชนจะเป็นผู้สรรหาและแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีจะไม่สามารถเป็นสมาชิกรัฐสภาได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าตรงข้ามกับระบบรัฐสภาที่สมาชิกรัฐสภาเป็นกลุ่มเดียวกับรัฐบาล 2) ประมุขของรัฐและประมุขของฝ่ายบริหารเป็นคนๆ เดียวกัน ระบบนี้กำหนดให้หัวหน้าฝ่ายบริหารได้แก่ประธานาธิบดีเพียงคนเดียวเท่านั้น (ไม่มีนายกรัฐมนตรี) 3) รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อประธานาธิบดี เนื่องจากประธานาธิบดีเป็นประมุขของฝ่ายบริหารแต่เพียงผู้เดียว จึงหมายความว่าประธานาธิบดีมีอำนาจในการแต่งตั้งถอดถอนรัฐมนตรีได้ รัฐมนตรีในระบบประธานาธิบดีจึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา 4) ใช้หลักการคานอำนาจ (balance of power) เนื่องจากทั้งประธานาธิบดีและรัฐสภาต่างได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชน ดังนั้น จึงมีการแบ่งแยกอำนาจกันอย่างเด็ดขาดทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ โดยใช้วิธีการตรวจสอบอำนาจซึ่งกันและกัน (check and balances)ทั้งสามอำนาจ ทั้งนี้ เพื่อไม่ใช้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้อำนาจมากเกินไปนั่นเอง ระบบกึ่งรัฐสภา หรือกึ่งประธานาธิบดี หรือรู้จักกันทั่วไปว่า\ประชาธิปไตยแบบฝรั่งเศส\" เพราะฝรั่งเศสนำสองระบบข้างต้นมาผสมกันและเริ่มต้นใช้ที่ฝรั่งเศสแล้วแพร่ไปยังประเทศเกิดใหม่ทั้งหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่แตกตัวออกมาจากสหภาพโซเวียตเดิม มีหลักการสำคัญ ดังนี้ 1) ประธานาธิบดีเป็นผู้ที่แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและฝ่ายบริหาร ด้วยเหตุนี้ประธานาธิบดีจึงมีอำนาจทางการเมือง ส่วนนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ด้านบริหาร แต่อำนาจในการอนุมัติ ตัดสินใจ ลงนามในกฎหมาย ยังคงอยู่ที่ประธานาธิบดี 2) นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภาและประธานาธิบดี โดยทั้ง ๒ องค์กรสามารถปลดนายกรัฐมนตรีออกได้ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีอาจเข้าร่วมการประชุมในรัฐสภาได้ แต่ไม่มีสิทธิในการออกเสียง จากรูปแบบที่กล่าวมานั้นจะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงที่ผมเสนอจึงเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆเพราะไม่เหมือนใคร การที่ผมเสนอให้มีการเลือกตั้งนายกฯโดยตรงนั้นเหตุก็เนื่องเพราะนายกฯได้รับฐานอำนาจจากประชาชนโดยตรง ย่อมที่จะทำให้กลุ่มทหารหรือกลุ่มบุคคลใดก็ตามที่จะใช้กำลังเข้ายึดอำนาจต้องคิดหนักและคงไม่ทำรัฐประหารได้ง่ายๆเหมือนดั่งเช่นที่ผ่านมา ส่วนคำถามที่หรือข้อกังวลที่ว่านายกฯที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจะมีอำนาจวาสนาหรือมีบารมีมากถึงขนาดกระทบต่อสถาบันกษัตริย์นั้น เห็นว่าเป็นข้อกังวลที่ไกลเกินเหตุ เพราะ คนไทยสามารถแยกแยะออกว่าการเป็นหัวหน้ารัฐบาลกับการเป็นประมุขของประเทศนั้นมันคนละเรื่องกัน และถึงแม้ว่านายกฯจะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงก็ตามก็ย่อมต้องได้รับการ โปรดเกล้าฯเพื่อรับรองความชอบธรรมเสียก่อนตามประเพณีการปกครองของไทยอยู่ดี สำหรับผู้ที่เป็นโรคกลัวทักษิณ(Thaksinophobia)เกรงว่าจะกลับมาเป็นนายกฯอีกนั้น เพราะยังมีคดีที่ค้างคาอยู่ในโรงในศาลอีกมากมาย อีกไม่รู้กี่ปีจึงจะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หากไม่มีการนิรโทษกรรมเสียก่อน ซึ่งก็คงทำได้ไม่ง่ายนักหรอก แน่นอนว่าผู้ที่เป็นนายกฯโดยตรงย่อมต้องผ่านกลไกการคัดกรองและตรวจสอบอย่างเข้มข้นละเอียดยิบ ประเภทสร้างบ้านรุกเขตป่าสงวนหรือจดทะเบียนสมรสซ้อน แม้กระทั่งคนที่วิปริตผิดเพศผิดลูกผิดเมียเขา ตลอดจนคนที่ซุกหุ้นให้คนอื่นถือแทนเพื่อเลี่ยงกฎหมายนั้นคงยากที่จะผ่านด่านเข้ามา ไม่ใช่ว่าใครก็ได้ที่พูดเก่ง หน้าตาดี มีทุนหนา ก็มาเป็นผู้นำพรรค แล้วกวาดต้อน ส.ส.เข้าคอกเพื่อที่ตนเองจะได้เป็นนายกฯหรือต่อรองตำแหน่งต่างๆดังเช่นที่ผ่านๆมา ที่สำคัญคือเมื่อเลือกตั้งนายกฯแล้ว นายกก็ไปเลือกคณะรัฐมนตรีเอง ไม่ต้องยุ่งยากต่อโควตาพรรคหรือมุ้งต่างๆ จะเอาขิงแก่ขิงอ่อนแค่ไหนก็ไม่มีใครว่าเพราะเป็นอำนาจของนายกฯและเชื่อว่าจะได้คณะรัฐมนตรีที่มีคุณภาพตามที่ต้องการด้วย ส่วนสมาชิกรัฐสภาก็คานอำนาจด้วยการทำหน้าที่ออกกฎหมายและถอดถอนฝ่ายบริหารหากว่าเป็นความผิดร้ายแรง(impeachment) มิใช่เที่ยวยุ่งเขาไปทั่วเช่นในปัจจุบันนี้ แต่ก่อนเราเคยกังวลเรื่องหัวหน้าฝ่ายบริหารขององค์กรปกครองท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องให้เลือกตั้งโดยอ้อมหรือแม้กระทั่งกำหนดให้ข้าราชการประจำไปเป็นเสียเองเลยก็มี แต่เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะเป็น กทม. อบจ. อบต.เทศบาล ฯลฯ รวมทั้งเชียงใหม่มหานครที่กำลังจะเสนอร่าง พรบ.กลางปี ๕๕ นี้ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการเลือกตั้งโดยตรงทั้งนั้น ในเมื่อฝรั่งเศสหรือมาเลเซียแหวกรูปแบบหลักแล้วเหมาะสมกับประเทศตนเอง เราก็น่าจะลองเลือกตั้งนายกฯโดยตรงกันดูสักครั้งจะดีไหม เผื่อจะเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆตามที่เราแสวงหามากันกว่าค่อนศตวรรษ เพราะผมเชื่อว่านอกจากจะป้องกันการรัฐประหารได้อย่างชะงัดแล้ว ยังได้รัฐบาลที่เข้มแข็งและมีคุณภาพมากกว่าที่ผ่านๆมาอีกด้วย --------------- หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 11 มกราคม 2554"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท