Skip to main content
sharethis

ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยอ่านบทความชิ้นหนึ่งกล่าวว่าคนพม่าเวลาอ่านนวนิยายชือก้องโลกเรื่อง 1984 ของ จอร์จ ออร์เวล จะรู้สึกอินและเข้าถึงอารมณ์เนื้อหาของเรื่องเป็นพิเศษราวกับว่าออร์เวลเขียนเรื่องขึ้นจากการได้เห็นประเทศพม่าในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมโดยรัฐบาลเผด็จการ การปิดกั้นสื่อและข้อมูลข่าวสาร สิ่งที่ประชาชนรู้ล้วนผ่านการคัดกรองเฉพาะประเด็นที่ถูกใจ เด็ก ๆ เรียนหนังสือกันบนพื้นฐานอุดมการณ์ความรู้ขวาจัด ถ้าจะกล่าวแบบขำ ๆ 1984 ก็คือหนังสือที่เขียนขึ้นเพื่อทำนายอนาคตของประเทศพม่าก็ว่าได้ ใช่ว่าจะมีแต่พม่าเท่านั้นที่นวนิยายสามารถอธิบายภาพสะท้อนสังคมบางอย่างออกมาได้ ประเทศเพื่อนบ้านทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำเมยเมื่อมีการรัฐประหารปี 2549 ภาพสังคมที่เคยคุ้นเคยหลอกกันมานานว่าเป็นดินแดนแห่งรอยยิ้มพังทลายลง เราได้เห็นภาวะ “อวิชชาคือกำลัง” และ “ความจริงก็คือความจริง ความจริงคนไทยฆ่ากัน” ก็ปรากฏให้เห็นขึ้นทุกหัวระแหง รัฐประหาร 49 ส่งผลให้เกิดความแตกแยกทางความคิดเป็นอันมาก กระบวนทัศน์สองชุดต่างอธิบายปรากฏการณ์ได้อย่างเท่าเทียมไม่สามารถหักโค่นความคิดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งลงได้ทันที บางฝ่ายคิดว่ากระบวนการยุติธรรมและเส้นทางประชาธิปไตยไม่สามารถฟื้นคืนประเทศนี้ได้อีกแล้ว เลือกตั้งมาอย่างไรก็ได้แต่คนที่ตนรังเกียจ อำนาจศาลเองก็เชื่องช้าไม่ได้ดั่งใจและไม่เด็ดขาดพอตามใจปรารถนาของตน อย่าว่ากระนั้นเลยใช้วิธีการลงทัณฑ์ทางสังคม เอาชื่อ ที่อยู่ ของอีกฝ่ายมาโพสต์ประจานบนหน้าเฟซบุ๊คเพื่อสร้างความกดดันแก่สังคมรอบตัวบุคคลนั้น หมายมุ่งมิให้เขาใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข เพียงไว้ให้ชีวิตผู้คิดต่างจากตนฉิบหาย โดยมิได้เคยใช้หลักการและเหตุผลในการพิจารณาไตร่ตรองว่าสิ่งที่ตนทำนั้นมีมนุษยธรรมหรือไม่ กระบวนการลงทัณฑ์ทางสังคมนี้มีชื่อเล่นว่า ‘การล่าแม่มด’ การล่าแม่มดเริ่มปะทุความรุนแรงขึ้นในปี 2553 และมิได้มีการเพลากำลังลงเลยแม้แต่น้อย ล่าสุดสื่ออย่างผู้จัดการก็ขุดคุ้นเอาเรื่องของ ‘เด็กหญิงก้านธูป’ ซึ่งเคยถูกมหาวิทยาลัยศิลปากรตัดสิทธิ์การเข้าศึกษาเพียงเพราะว่าแสดงความคิดเห็นเรื่องสถาบันจึงต้องระเห็จกว่าจะได้ที่ศึกษาใหม่ก็ลำบากยากเย็น ผู้จัดการทั้งเสนอชื่อสกุลจริง รหัสนักศึกษาพร้อมเร่งให้ทางมหาวิทยาลัยดำเนินคดีกับนักศึกษาของตนด้วยประมวลอาญามาตรา 112 เหตุการณ์ที่ผ่านมาทำให้ผมเห็นว่า หากพม่ามี 1984 เป็นต้นแบบเส้นทางเดินทาง เมืองไทยก็คงหลีกเลี่ยง เดอะ ครูซิเบิล (The crucible) หรือในชื่อไทยว่า หมอผีครองเมือง ผลงานของอาเธอร์ มิลเลอร์ที่ถูกทำเป็นทั้งละครเวที ภาพยนตร์และหนังสือเป็นแน่ แม้บริบทของ เดอะ ครูซิเบิล ในช่วงเวลาที่มิลเลอร์เขียนขึ้นนั้นจะเป็นโลกที่อเมริกันชนหวาดหวั่นหวาดกลัวต่อภัยคอมมิวนิสต์ แต่สิ่งที่มิลเลอร์ถูกกระทำก็มิได้ต่างจากการล่าแม่มดในเมืองไทยหรือในยุคมืดแต่อย่างใด มิลเลอร์ถูกซัดทอดจากอีเลีย คาซาน ผู้กำกับคนดังแห่งยุคคนหนึ่งว่าเป็นคอมมิวนิสต์ โดยตัวคาซานเองสารภาพว่าเขาเองก็เคยเป็นแต่ ณ เวลานี้ได้หันหลังให้กับโลกสังคมนิยมแล้ว การสารภาพผิดพร้อมเปิดเผยรายชื่ออื่นสร้างความเดือดร้อนให้คนในฮอลลีวูดยุคนั้นรวมถึงมิลเลอร์ไม่น้อย เขาจึงสะท้อนออกมาผ่านบทละครเวทีความยาวสี่องก์ที่อุดมไปด้วยตรรกะอันบิดเบี้ยว ท้องเรื่องเกิดขึ้นในเมืองเล็กแห่งหนึ่งของสหรัฐในช่วงปี 1692 ที่ชื่อว่า ซาเล็ม เมื่ออยู่ดี ๆ เบ็ตตี้ หลานสาวของหลวงพ่อปารีสดันเกิดสลบไปไม่ฟื้นหลายชั่วโมง หลวงพ่อฯได้คาดคั้นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับอบิเกล หลานสาวอีกคนว่าเกิดอะไรขึ้น พร้อมปักใจเชื่อว่า ซาตานและแม่มดเป็นผู้อยู่เบื้องหลังทุกอย่าง โดยอบิเกลได้ทำการซัดทอดต่อ ขณะที่เธอกำลังเปลือยกายเต้นรำอยู่นั้น แม่มดในหมู่บ้านได้มาหาพวกเธอ สาวน้อยได้บอกชื่อของแม่มดเหล่านั้นต่อบาทหลวงเฮล ผู้เดินทางมาจากอีกหมู่บ้านเพื่อรักษาเบตตี้จากมนต์ดำต่าง ๆ เรื่องเลวร้ายขึ้นเมื่อคนที่ถูกซัดทอดเริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในศาล อบีเกลและบรรดาเพื่อนของเธอ บอกกับศาลว่าเหล่าแม่มดทั้งหลายส่ง \วิญญาณ\" ของเธอออกมาทำร้ายทำให้เธอตัวเย็นเฉียบและเมื่อเธอเดินไปที่ไหนและกรีดร้อง เมื่อใด รวมถึงแค่เอ่ยปากบอกว่าเธอเห็นใครเป็นแม่มด ศาลก็จะส่งหมายศาลให้คุมตัวมาไต่สวน ศาลเลือกที่จะเชื่อคำของอบิเกลและเพื่อน โดยตั้งข้อสันนิษฐานไว้ตั้งแต่แรกว่าเหล่าคุณหญิงสาวผู้ชราที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดนั้นล้วนแล้วคือแม่มดจริง ๆ ศาลเสนอทางเลือกให้เพียงยอมสารภาพว่าตนคือแม่มดและกลับหลังหันให้แก่ซาตานเพื่อศรัทธาในตัวพระผู้เป็นเจ้าอีกครั้ง หรือยอมตายหากปฏิเสธว่าตนมิใช่แม่มด หญิงชราหลายคนต่างยึดมั่นในการพูดความจริง มิไหวหวั่นต่อความตาย ในยุคมืดนั้นกระบวนการพิสูจน์ว่าหญิงสาวคนใดเป็นแม่มดล้วนแต่เลวร้าย หากใครถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นสาวกซาตานจะถูกดำเนินคดีโดยการเผาไฟ หากผิวกายไม่ไหม้แสดงว่ามีซาตานมาช่วย แต่หากเสียชีวิตในกองเพลิงถือเป็นการยืนยันความบริสุทธิ์ หรือมิเช่นนั้นก็จับถ่วงน้ำหากลอยก็เป็นแม่มด ต้องโดนจับแขวนคอ แต่ถ้าจม แม้ชีวิตจะสูญสิ้นแต่ความบริสุทธิ์จะดำรงอยู่ ไม่ว่าทางไหนก็แย่พอ ๆ กัน!!! ยุคไหนสมัยใดการล่าแม่มดเป็นเรื่องเลวร้ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่ตรรกะความคิดเรื่องนิติรัฐและนิติธรรมก้าวหน้าไปไกล การล่าแม่มดนั้นคือการใช้อำนาจศาลเตี้ยในการตัดสินคนอื่นว่าเขา ‘ดี’ หรือ ‘เลว’ ตรรกะความคิดในศาลเตี้ยล้วนเกิดจากอวิชชาทั้งสิ้นเพราะโดยมากล้วนกระทำไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก สิ่งสำคัญที่ศาลเตี้ยที่เหล่าบรรดาผู้ล่าแม่มดมิเคยให้ความสำคัญคือหลักการที่ว่า ‘หากศาลมิได้ตัดสิน ให้ถือว่าผู้ต้องหายังเป็นผู้บริสุทธิ์’ ไม่เคยมีผู้บริสุทธิ์ขึ้นให้การกับศาลเตี้ยเพราะผู้ที่เผชิญหน้าคือผู้ที่ถูกตราหน้าว่ามีความผิดทั้ง ๆ ที่ยังมิเคยพิจารณาไต่สวนด้วยวิธีอันเป็นธรรม หากคุณคือผู้คิดต่างไปจากกลุ่มล่าแม่มด คุณคือคนผิดทันที ไม่ต้องเสียเวลาพิจารณาความ ส่งไปลงทัณฑ์ได้ทันที แถมกระบวนการลงทัณฑ์ก็รุนแรงราวกับมิต้องการให้ได้ผุดได้เกิด ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อีก ถูกบีบให้กลายเป็นคนนอกที่ใคร ๆ ก็ต่างรังเกียจ นี่หรือคือการกระทำของผู้ที่อ้างตนว่าศิวิไลซ์ นี่หรือคือการกระทำของผู้ที่เจริญแล้ว นี่คือการกระทำที่สืบเนื่องจากยุคมืดที่ศรัทธาอันมืดบอดสำคัญกว่าตรรกะความคิดและเหตุผลทั้งปวง เดอะ ครูซิเบิลถือเป็นบทละคร/ภาพยนตร์/หนังสือ ที่สะท้อนวิธีคิดของคนกลุ่มหนึ่งในสังคมไทยได้อย่างชัดเจน พวกเขาไม่สนใจตรรกะเหตุผลใด ๆ ทั้งสิ้นขอเพียงสามารถกำจัดคนที่คิดต่างจากตนได้ แม้วิธีนั้นจะสามานย์ขนาดใดก็ตาม เขาก็พร้อมจะปฏิบัติและมีรอยยิ้มที่มุมปากด้วยความสุขสมใจ น่าดีใจเหลือเกินที่ประเทศไทยก็มีคำทำนายจากอดีตถึงอนาคตผ่านนวนิยายเหมือนพม่าไม่มีผิดเพี้ยน"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net