Skip to main content
sharethis

มีเรื่องที่ผมพบเห็นในวันนี้แล้วรู้สึกสะเทือนใจอย่างมาก ทำให้ผมอดที่จะเขียนอะไรออกมาไม่ได้ เรื่องแรก ช่วงเช้าผมได้เห็นสเตตัสในเฟซบุ๊คของอดีตนักศึกษาที่ผมเคยสอน มีลิงค์ภาพของอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล จาก นสพ.ไทยโพสต์ และมีข้อความที่เขาพิมพ์ด่าแรงมาก และเมื่อดูความเห็นอื่นๆ ก็ล้วนแต่เข้ามารุมด่า บางความเห็นถึงกับเรียกร้องให้มีการทำร้าย อ.ปิยบุตร เลยด้วยซ้ำ อีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องที่นักศึกษาชั้นปี 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นามแฝง “ก้านธูป” ถูกตำรวจออกหมายเรียกในความผิดตาม ม.112 ผมทราบมาว่าเรื่องที่ถูกแจ้งความเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในปี 2553 ซึ่งเธอเองก็ได้รับผลกระทบมามากแล้วจากการที่มหาวิทยาลัยสองแห่งปฏิเสธที่จะรับเข้าเป็นนักศึกษา ล่าสุดช่วงส่งท้ายปีเก่า ASTV ผู้จัดการก็นำเรื่องราวและข้อมูลส่วนตัวของเธอมาตีแผ่ประจานโดยเปิดเผยชื่อจริง และแสดงความเห็นเชิงตำหนิที่ธรรมศาสตร์รับเธอเป็นนักศึกษา ผมกำลังพูดถึง “อันตราย” หรือ “สิ่งที่น่ากลัว” กว่า ม.112 เพราะลำพัง ม.112 หากผู้แจ้งความและระบบยุติธรรมใช้ดุลยพินิจดำเนินการตรงไปตรงมาตาม “ความหมาย” จริงๆ ของคำว่า “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย” ก็ยังไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวเกินไปนัก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในบรรยากาศของการล่าแม่มดและระบบยุติธรรมเวลานี้คือ เราไม่สามารถจะเห็นการ “แยกแยะ” อย่างชัดเจนว่า อะไรคือหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย อะไรคือการแสดงอารมณ์ความรู้สึก หรือ “เกรียน” แบบเด็กๆ อะไรคือการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตเพื่อประโยชน์สาธารณะ เมื่อใครมาแจ้งความ ตำรวจก็ไม่กล้าปฏิเสธที่จะดำเนินการต่อ เมื่อส่งเรื่องไปยังอัยการ เขาก็ต้องส่งต่อให้ศาล เพราะเขาเองก็ไม่อยากรับผิดชอบเรื่องที่ถือกันว่า “ละเอียดอ่อน” แบบนี้ และเมื่อถึงชั้นศาลก็ยากที่ “เหยื่อ” จะรอด (กรณี “อากง” ด้วยการพิสูจน์โดย “ไม่สิ้นสงสัย” หลายคนคิดว่าแกน่าจะรอด แต่แกก็ไม่รอด แถมยังโดนหนักอย่างเหลือเชื่อ) ดูเหมือนว่าพอมันเปิดโอกาสให้ “ใครๆ” ก็ไปแจ้งความเอาผิดได้ คนที่ไม่ชอบความคิดความเห็น หรือมีจุดยืนทางการเมืองต่างกัน สีต่างกัน หรือประเภท “คลั่งเจ้า” อย่างไร้เหตุผลก็สามารถไปแจ้งความได้ ม.112 มันจึงกลายเป็นเครื่องมือของ “ใครๆ” นี่แหละ และใครๆ ที่ว่านี้ก็มีวิธีคิดที่น่ากลัวมาก! อย่างกรณีของพวกที่โพสต์ด่า อ.ปิยบตร ที่ผมกล่าวถึง ส่วนใหญ่เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตเสรีอย่างเต็มที่ในเรื่องกิน ดื่ม เที่ยว ช้อป และอื่นๆ เรียกว่าวิถีชีวิตโดยรวมๆ ของพวกเขาถือว่ามีเสรีภาพจากขนบจารีตเก่าๆ มาก แต่เสรีภาพที่ว่านั้นน่าจะเป็นไปโดยอัตโนมัติ หรือโดยธรรมชาติเนื่องจากการซึมซับค่านิยมการใช้ชีวิตสมัยใหม่ที่ผ่านเข้ามาทางภาพยนตร์ ดนตรี แฟชัน สื่ออินเทอร์เน็ต ฯลฯ ทว่าไม่ได้ผ่านการปะทะสังสรรค์ทางความคิด หรือผ่านวัฒนธรรมการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์จนตกผลึก การใช้ชีวิตที่มีเสรีภาพที่ได้มาโดยธรรมชาตินั้นมันมีรสชาติน่านิยมมากกว่าชีวิตตามขนบจารีตเก่าแบบไทยๆ อยู่มาก จึงต่อให้กี่“ระเบียบรัตน์” จะออกมาจัดระเบียบการใช้ชีวิตของเด็กรุ่นใหม่อย่างไร ก็ไม่มีทางสำเร็จ ผมไม่ได้ตำหนิการใช้ชีวิตเสรีของเด็กรุ่นใหม่ ถึงยังไงชีวิตเสรีมันน่าจะเปิดให้คนเราได้เรียนรู้ที่จะรับผิดชอบชีวิตตนเองได้ดีกว่า แต่อยากตั้งข้อสังเกตว่า เพราะชีวิตที่มีเสรีภาพเช่นที่เป็นอยู่นี้ที่เสรีภาพไม่ใช่สิ่งที่ได้มาโดยผ่านวัฒนธรรมปะทะสังสรรค์ทางความคิด การตั้งคำถาม การวิพากษ์วิจารณ์จนตกผลึก มันจึงทำให้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่ดูเหมือนมีเสรีภาพมากๆ นั้น พอเผชิญกับปัญหาเรื่อง “เสรีภาพทางการเมือง” ที่เป็นเสรีภาพที่ต้องเข้าใจได้ด้วยการผ่านวัฒนธรรมการปะทะสังสรรค์ทางความคิด การตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์จนตกผลึกนั้น ปรากฏว่าคนรุ่นใหม่ไม่ get ความหมายและ “คุณค่า” ของเสรีภาพดังกล่าวนี้เลย พวกเขาไม่ get ว่า อะไรคือ “ปัญหา” หรือ “อุปสรรค” ของความเป็นประชาธิปไตยเอาเสียเลย ฉะนั้น พวกเขาจึงด่าคนอย่าง อ.ปิยบุตร ผู้ซึ่งออกมายืนยันเสรีภาพทางการเมืองแทนพวกเขาและประชาชนทุกคนอย่างสาดเสียเทเสีย และพวกเขาจึงไล่ล่าแม่มดด้วยการอ้าง “ตรรกะวิปริต” แบบท่องจำต่อๆ กันมาอย่างนกแก้วนกขุนทอง ถามว่าเด็กรุ่นใหม่รักชีวิตที่มีเสรีภาพไหม? แน่นอนว่าเขารัก เขาไม่ต้องการถูกใครมาบังคับกะเกณฑ์การใช้ชีวิตของเขาแน่ๆ แต่ถามว่าเขารัก “เสรีภาพทางการเมือง” ไหม? อันนี้มีปัญหา ปรากฏการณ์ลูกเสือไซเบอร์ บรรยากาศล่าแม่มด และกระแสการอ้าง “ตรรกะวิปริต” แบบนกแก้วนกขุนทองที่เด็กรุ่นใหม่ซึมซับและรับมาใช้อย่างง่ายดาย ล้วนแต่เป็นภาพสะท้อนในทางที่สนับสนุนการทำลาย “เสรีภาพทางการเมือง” อย่างน่าวิตก ภาพสะท้อนดังกล่าวมันก็สะท้อนวัฒนธรรมการเรียนรู้และการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย และ/หรือระบบการศึกษาแบบทางการทั้งระบบด้วยว่า ไม่ได้สร้างคุณลักษณะของ “พลเมือง” ที่รักเสรีภาพทางการเมือง แต่เน้นการปลูกฝังให้รักให้ซาบซึ้งสิ่งอื่น และยอมให้สิ่งอื่นนั้นสำคัญกว่าเสรีภาพทางการเมืองของประชาชน จนกระทั่งอ้างสิ่งนั้นเพื่อสังหารประชาชนที่ออกมาเรียกร้องเสรีภาพทางการเมืองครั้งแล้วครั้งเล่า อันตราย หรือสิ่งที่น่ากลัวกว่า ม.112 จึงได้แก่การไม่สามารถเข้าถึงความหมายและคุณค่าของเสรีภาพทางการเมืองนี่แหละ และการพร้อมที่จะทำลายผู้ออกมาเรียกร้องร้องหรือยืนยันเสรีภาพทางการเมืองได้ทุกเมื่อ ทุกวิถีทางนี่แหละ วันนี้อาจารย์ชาวอเมริกันที่ทำงานอยู่ที่เดียวกัน มาสนทนาด้วย (เขาพูดไทยแข็งแรง) เขาพูดอย่างน่าคิดว่า “ทุกสังคมมันมีเรื่องที่เสี่ยงมากบ้างน้อยบ้าง การที่มีคนออกมาตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่มันเสี่ยง เขาควรจะได้รับการสนับสนุนมากกว่าจะถูกตำหนิ” พูดก็พูดเถอะ ผมเห็นสื่อ นักวิชาการ และบุคคลที่มีชื่อเสียงอื่นๆ ออกมาวิเคราะห์ทำนองว่า ข้อเรียกร้องให้ปฏิรูป ม.112 และการแก้รัฐธรรมนูญคือ “ระเบิดเวลา” ที่อาจก่อความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองในปี 2555 ผมมีความรู้สึกว่าหากเราต่างร่วมกัน “รับผิดชอบ” มากกว่านี้ ด้วยการเสนอ เหตุผล ความคิด จุดยืนของฝ่ายต่างๆ อย่างลงลึกในรายละเอียดให้รอบด้านมากที่สุด ความขัดแย้งและความรุนแรงแบบที่เคยเป็นมาจะไม่มีทางเกิดขึ้นอีก ถามว่าวันนี้เรามีความกล้าที่จะตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่มันเสี่ยงต่อความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองอย่างรอบด้านหรือยัง? ทำไมเสียงที่มีความกล้าบางเสียงเช่น เสียงของ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งเป็นเสียงที่ยืนยัน “หลักการ” ประชาธิปไตย และอธิบาย “ประเด็นปัญหา” ระดับรากฐานของความเป็นประชาธิปไตย พร้อมกับอ้างตรรกะเหตุผลประกอบอย่างตรงไปตรงมามากที่สุด สื่อกระแสหลักจึงละเลยที่จะนำเสนอ ขณะที่อีกฝ่ายจะอ้าง “ตรรกะวิปริต” ขนาดไหน สื่อกระแสหลักต่างพร้อมใจกันเป็น “กระบอกเสียง” ให้ นี่ก็คือความน่ากลัวอีกประการหนึ่ง เป็นความน่ากลัวเนื่องจากเสียงของหลักการ เหตุผลเป็นเสียงที่ไร้ “กระบอกเสียง” แต่เสียงของ “ตรรกะวิปริต” เป็นเสียงที่สื่อหลักพร้อมจะเป็นกระบอกเสียงให้ และคนรุ่นใหม่ที่รักชีวิตเสรีแต่ไม่เห็นคุณค่าของเสรีภาพทางการเมืองก็พากันเฮโลตามกันอย่างง่ายๆ เรื่องที่มันเสี่ยงแบบเดียวกับยุคศตวรรษที่ 19 ทำให้ “กระบอกเสียง” ในทศวรรษที่สองของศตวรรษที่ 21 “กลัว” ที่จะสะท้อนเสียงของหลักการ เหตุผล ที่ยืนยันเสรีภาพทางการเมืองและความเป็นประชาธิปไตย นี่คือ “ความกลัวที่น่ากลัว” อย่างเหลือเชื่อในยุคสมัยของเรา!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net