Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

โฆษกศาลยุติธรรมเขียนบทความชื่อ “อากงปลงไม่ตก” ลงในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่ง เพราะเห็นว่ากระแสการวิพากษ์วิจารณ์ผลการตัดสินคดี “อากง” ไม่ว่าจะโดยคนไทย “มิตรประเทศ” หรือว่าองค์กรระหว่างประเทศ มีลักษณะ “ไม่สร้างสรรค์” เขาชี้ให้เห็นว่าข้อวิจารณ์แต่ละข้อมีจุดอ่อนหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร พร้อมทั้งให้เหตุผลและข้อมูลประกอบว่าเหตุใดผลการตัดสินคดี “อากง” จึงมีความยุติธรรมดีแล้ว

โฆษกศาลยุติธรรมอ้างว่าการพิจารณาคดีและผลการตัดสินมีความเป็นธรรมเพราะ ผ่านกระบวนการสอบสวนของตำรวจ การกลั่นกรองของอัยการ ขณะที่ในชั้นศาลจำเลยก็ได้รับโอกาสให้ต่อสู้ได้อย่างเต็มที่ตาม “หลักสากล” แต่ปัญหาก็คือว่า “หลักสากล” ของเขาหมายความว่าอะไร เพราะหากถือว่าการสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์และการพิสูจน์ว่าจำเลย ผิดเป็นภาระของฝ่ายโจทก์เป็น “หลักสากล” ในการพิจารณาคดีอาญา ก็ไม่สามารถกล่าวได้ว่าการพิจารณาคดี “อากง” เป็นไปตาม “หลักสากล” ตามที่โฆษกศาลยุติธรรมอ้าง เพราะแทนที่ฝ่ายโจทก์จะมีภาระในการหาพยานหลักฐานมา “พิสูจน์ให้สิ้นสงสัย” กลับกลายเป็นจำเลยที่ต้องหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ให้ได้ว่าตนไม่ได้กระทำผิด ตามข้อกล่าวหาอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโจทก์ไม่สามารถ “พิสูจน์ให้สิ้นสงสัย” ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดจริง แทนที่จะยกประโยชน์ให้จำเลยตามหลักการสันนิษฐานว่าจำเลยคือผู้บริสุทธิ์ การตัดสินกลับยกประโยชน์ให้โจทก์แทนด้วยเหตุผลว่าจำเลยไม่สามารถหาพยานหลัก ฐานมายืนยันความบริสุทธิ์ของตนได้ ทั้งนี้ยังไม่นับรวมกรณีที่จำเลยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวทั้งที่ไม่มี แนวโน้มว่าเขาจะก่อให้เกิดปัญหากับการพิจารณาคดีแต่อย่างใด ซึ่งยิ่งส่งผลให้การพิจารณาคดี “อากง” ห่างไกลจาก “หลักสากล” ออกไปอีก    

ขณะเดียวกันโฆษกศาลยุติธรรมสมาทาน “หลักความเป็นไทย” อย่างเหนียวแน่นในการสนับสนุนผลการตัดสินของศาล เขากล่าวว่า “เอกลักษณ์ของความเป็นชาติไทย” คือการที่คนในชาติมีความรักสามัคคีและ “รักหวงแหน เทิดทูนในชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์จากรุ่นสู่รุ่นและปลูกฝังถ่ายทอดเป็นมรดกสู่ลูกหลาน จนถึงปัจจุบัน” (ซึ่งสามารถอนุมานต่อได้ว่าเพราะเหตุดังนั้นคนที่ไม่รักหรือวิพากษ์วิจารณ์ สถาบันจึงไม่ใช่คนไทย) แต่เขาไม่ได้ตระหนักว่าทั้งสำนึกเรื่อง “ชาติไทย” และคุณลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมที่เรียกว่า “เอกลักษณ์ไทย” หรือ “ความเป็นไทย” ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ชนชั้นปกครองสร้างขึ้นในการเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและ ความท้าทายที่มาพร้อมกับการเป็นรัฐสมัยใหม่ ไม่ได้เป็นคุณลักษณะตามธรรมชาติที่อยู่คู่ “คนไทย” หรือสังคมไทยมาแต่ดึกดำบรรพ์ รวมทั้งไม่ได้เป็นมรดกตกทอดผ่านการปลูกฝังจากรุ่นสู่รุ่นอย่างง่ายๆ หากแต่เป็นประดิษฐกรรมทางการเมืองและวัฒนธรรมที่ต้องอาศัยเทคนิคและวิธีการ ต่างๆ นับตั้งแต่แบบเรียนประถมศึกษา พิธีการ ละคร ภาพยนตร์ สื่อกระแสหลัก ไปจนกระทั่งกฎหมายในการบ่มเพาะ และในหลายกรณีเป็นการบังคับเนื่องจาก “ชาติไทย” และ “เอกลักษณ์ไทย” หรือ “ความเป็นไทย” ถูกสร้างขึ้นบนคุณลักษณะของกลุ่มชาติพันธุ์ไทเป็นหลัก ขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยหากไม่ยอมถูกกลืนกลายเป็นส่วนหนึ่งก็ต้องถูกผลักไสให้ไป อยู่ชายขอบของประดิษฐกรรมทางการเมืองและวัฒนธรรมเหล่านี้ การที่โฆษกศาลยุติธรรมลำเลิก “เอกลักษณ์ของความเป็นชาติไทย” ในการสนับสนุนผลการตัดสินของศาลจึงยิ่งทำให้ผลการตัดสินดังกล่าวห่างไกลความ ยุติธรรมออกไปอีกเพราะ “เอกลักษณ์ของความเป็นชาติไทย” ที่ว่ามีความไม่เป็นธรรมมาตั้งแต่ต้น     

นอกจากนี้ การอ้าง “เอกลักษณ์ของความเป็นชาติไทย” สนับสนุนผลการตัดสินของศาลส่งผลให้เส้นแบ่งระหว่าง “หลักสากล” “หลักความเป็นไทย” และ “หลักกู” พร่าเลือน เช่น ในตอนต้นโฆษกศาลยุติธรรมอ้างหลักการสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ ว่า “การจะด่วนสรุปว่าอากงเป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำผิดโดย เสร็จเด็ดขาดนั้นก็ยังมิใช่เรื่องที่แน่แท้เสมอไป […] แท้จริงแล้วอากงยังถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าคดีจะถึงที่สุด” ทว่าต่อมาเขากล่าวว่า “อากง” มีความผิดเสมือนว่าเขาเป็นผู้พิพากษาในคดีนี้เสียเอง เขากล่าวว่า “อากง” เป็นบุคคลที่ “เจนโลก โชกโชน สันดานเป็นโจรผู้ร้าย มีเจตนาทำร้ายสังคม สถาบันหลักของประเทศชาติ และองค์พระประมุข” ฉะนั้น จึงควร “ลงโทษให้หลาบจำสาสมไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้อื่น” พิจารณาในแง่นี้ การที่โฆษกศาลยุติธรรมอ้าง “หลักความเป็นไทย” ในการสนับสนุนผลการตัดสินของศาลจึงเป็นไปเพื่อว่าเขาจะได้สามารถใช้ “หลักกู” ในการพิพากษา “อากง” ซ้ำอีกหน และเป็นการพิพากษาที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะความผิดที่ “อากง” ก่อ หากแต่ยังก้าวล่วงไปถึง “ตัวตน” ของ “อากง” ซึ่งเป็นการลุแก่อำนาจเกินกว่าที่ “หลักสากล” อนุญาตให้ศาลหรือผู้พิพากษากระทำได้   

ประการสำคัญ โฆษกศาลยุติธรรมอาศัยกลวิธีการเขียนและการใช้ตรรกะที่ขาดความเป็นธรรมอย่าง สิ้นเชิง เขากล่าวว่าผู้วิจารณ์ผลการตัดสินคดี “อากง” ยัง “มิได้รู้เห็นพยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริงในสำนวนความอย่างถ่องแท้” เขาจึง “ขออนุญาตนำความจริงบางประการ […] แลกเปลี่ยนกับท่านผู้อ่าน” แต่ปัญหาก็คือโฆษกศาลยุติธรรมต้องการให้เกิดการ “แลกเปลี่ยน” อย่างแท้จริงหรือว่าอย่างเสมอหน้ากับผู้อ่านและโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือผู้ วิจารณ์จริงหรือ เพราะกฎหมายกำหนดให้การพิจารณาคดีหมิ่นสถาบันเป็นความลับและการเปิดเผย เนื้อหาหรือข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นสถาบันถือเป็นความผิดในลักษณะเดียวกัน ฉะนั้น บุคคลที่อยู่นอกแวดวงศาลหรือกระบวนการยุติธรรมจึงถูกกีดกันจากการเข้าถึง “ความจริง” ที่เกี่ยวข้องกับคดีตั้งแต่ต้น ทำได้แต่เพียงรับฟัง “ความจริง” ที่บุคคลในแวดวงศาลหรือกระบวนการยุติธรรมนำมาเปิดเผยเท่านั้น ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถคัดค้านความคิดเห็นหรือความเชื่อบางข้อเกี่ยวกับ สถาบันพระมหากษัตริย์ที่โฆษกศาลยุติธรรมนำมาประกอบการชี้แจงราวกับเป็น “ความจริง” ได้ เพราะไม่แล้วก็จะมีความผิดตามกฎหมายฉบับเดียวกันนี้อีก ฉะนั้น แทนที่จะเป็นการ “แลกเปลี่ยนกับท่านผู้อ่าน” ตามที่กล่าวอ้าง สิ่งที่โฆษกศาลยุติธรรมกระทำผ่านบทความคือการมัดมือชกผู้อ่านที่ไม่เห็นด้วย เสียมากกว่า             

กล่าวอีกนัยหนึ่ง โฆษกศาลยุติธรรมไม่ได้ต้องการแบ่งปันข้อมูลหรือต้องการให้เกิดการแลกเปลี่ยน กันอย่างเสมอหน้ากับผู้อ่านโดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาล หากแต่อาศัยสถานะของการสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากกว่าในการปิดกั้นการแสดง ความเห็นของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย รวมทั้งอาศัยกฎหมายในการปิดปากผู้คัดค้านข้อมูลและความคิดเห็นที่เขาใช้ ประกอบการชี้แจง เพราะเหตุนี้ แทนที่จะอาศัยอภิสิทธิ์ดังกล่าวในการดูแคลนผู้วิจารณ์การพิจารณาคดีและผลการ ตัดสินคดี “อากง” ว่าไม่เห็นพยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริง โฆษกศาลยุติธรรมจึงควรตระหนักว่าเป็นเพราะกฎหมายที่เป็นปัญหาดังกล่าวต่าง หากที่ส่งผลให้ผู้วิจารณ์มีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อเท็จจริงตั้งแต่ต้น และหากโฆษกศาลยุติธรรมต้องการให้เกิดการแลกเปลี่ยนอย่างเท่าเทียมกันจริงก็ จำเป็นต้องขจัดข้อจำกัดจากกฎหมายดังกล่าวทิ้งไปเสียก่อน หากไม่ทำหรือทำไม่ได้ก็ป่วยการจะมาพร่ำเพ้อเรื่องความยุติธรรมที่รังแต่จะ ชวนให้ปลงสังเวช           

(บทความตีพิมพ์ครั้งแรกใน คอลัมน์ คิดอย่างคน หนังสือรายสัปดาห์ มหาประชาชน ประจำวันที่ 23-29 ธันวาคม 2554)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net