สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 17 - 23 ธ.ค. 2554

“เผดิมชัย” เชื่้อน้ำท่วมลูกจ้างตกงานไม่ถึงล้านคน วานนี้ (16 ธ.ค.) นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงาน “กระทรวงแรงงานห่วงใย ใส่ใจ ผู้ใช้แรงงาน” บริเวณหน้าห้างบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ว่า รัฐบาลพยายามที่จะให้มีการจ้างงานต่อ โดยนำมาตรการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้างด้วยการช่วยนายจ้างจ่ายค่าจ้าง 2,000 บาทต่อลูกจ้าง 1 คน ซึ่งมีเงื่อนไขนายจ้างต้องทำข้อตกลงกับกระทรวงแรงงานว่า จะต้องไม่เลิกจ้าง และต้องจ่ายค่าจ้าง ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างเดิม รวมถึงโครงการเพื่อนช่วยเพื่อนให้แรงงานที่ได้รับกระทบน้ำท่วมไปทำงานใน จังหวัดอื่นที่ไม่ประสบน้ำท่วม ซึ่งมีตำแหน่งงานรองรับกว่า 7.7 หมื่นอัตรา “จ.ปทุมธานี ถือว่าเป็นจังหวัดตัวอย่างที่นายจ้างให้ความสำคัญ และร่วมมือกับกระทรวงแรงงานในการบรรเทาการเลิกจ้างกว่าร้อยละ 90 ดังนั้น ผมมั่นใจว่าจะไม่มีผู้ใช้แรงงานตกงานเป็นล้านตามที่หลายฝ่ายกังวล เพราะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกฝ่ายทั้งหน่วยงานของกระทรวงแรงงาน นายจ้างและลูกจ้าง หากแรงงานประสบปัญหาเช่น ถูกเลิกจ้างไม่ได้รับเงินชดเชย ตกงาน ก็ให้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน หรือโทร.สายด่วน 1546, 1506 เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือ” รมว.รง.กล่าว นายเผดิมชัย กล่าวอีกว่า ส่วนที่มีแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมบางส่วนตกสำรวจ และติดต่อนายจ้างไม่ได้ หยุดงานและไม่ได้รับค่าจ้าง ก็ได้กำชับให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) ดูแลกลุ่มนี้ให้เข้มข้นขึ้น เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย อีกทั้งยังได้ให้ กสร. รวบรวมปัญหาต่างๆ ของแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม “หากพบว่ามีแรงงานได้รับผลกระทบในลักษณะดังกล่าวจำนวนมากก็จะมอบให้ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ไปพิจารณาหามาตรการช่วยเหลือ หรืออาจนำแนวคิดเดิมที่จะมีการนำงบบริหารจัดการของสปส.มาจัดสรรเป็นเงินช่วย เหลือให้กับแรงงานโดยตรงรายละ 3,000 บาท อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการประกันสังคมก่อน” รมว.รง.กล่าว นายดำรงค์ เปรมสวัสดิ์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า โดยภาพรวมใน จ.ปทุมธานี มีแรงงานได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมกว่า 4 แสนคน ในสถานประกอบการกว่า 1 หมื่นแห่ง ซึ่งในจำนวนนี้เป็นแรงงานรับเหมาช่วง (ซัปคอนแทรก)กว่า 3 หมื่นคน และกลับเข้าทำงานแล้วกว่า 3 แสนคน แรงงานถูกเลิกจ้าง 6,407 คน ในสถานประกอบการ 14 แห่ง มีการจ่ายเงินชดเชยรวมกว่า 221 ล้านบาท “ได้มีแรงงานที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมมาขอความช่วยเหลือในกรณีต่างๆ เช่น ติดต่อนายจ้างไม่ได้ หยุดงาน และไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งได้ช่วยเจรจากับนายจ้างเพื่อให้แรงงานเหล่านี้ได้รับค่าจ้างและได้รับ เงินชดเชยตามกฎหมายกรณีถูกเลิกจ้าง ส่วนการป้องกันการเลิกจ้างนั้นได้พยายามเชิญนายจ้างให้เข้าร่วมโครงการ ป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้างของกระทรวงแรงงาน” นายดำรงค์ กล่าว นางสมปอง ศรประยูร วัย 36 ปี พนักงานบริษัท วู๊ดล๊อค จำกัด ผลิตไม้สำเร็จรูป อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี กล่าวว่า โรงงานถูกน้ำท่วมจนต้องหยุดงาน และนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างในช่วงเดือน ต.ค.และ พ.ย.นี้ พร้อมทั้งไม่มีความชัดเจนเรื่องการจ้างงาน จึงได้ไปยื่นคำร้องที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ปทุมธานี เพราะไม่แน่ใจว่านายจ้างจะเลิกจ้างหรือไม่ เนื่องจากช่วงหยุดงานต้องไปกู้เงินนอกระบบกว่า 1 หมื่นบาท เสียดอกเบี้ยร้อยละ 25 มาใช้จ่ายเพื่อดูแลครอบครัว จึงอยากให้กระทรวงแรงงาน หรือรัฐบาล จัดหาเงินมาช่วยเหลือบ้าง ซึ่งอาจจะนำเงินจากกองทุนประกันสังคมมาช่วยเหลือแรงงาน ส่วนนายจ้างหากจะเลิกจ้าง ก็อยากได้ค่าจ้างค้างจ่ายและสิทธิอื่นๆ ตามกฎหมาย น.ส.ปณยา เพิ่มขุนทด วัย 45 ปี พนักงานฝ่ายผลิตบริษัท คาซิโอ้ประเทศไทย จำกัด อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี กล่าวว่า ตนกับเพื่อนพนักงานหลายร้อยคนได้ยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือจากกระทรวงแรง งาน เนื่องจากเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา บริษัทประกาศเลิกจ้าง เนื่องจากย้ายกิจการไปเปิดโรงงานแห่งใหม่ที่ จ.นครราชสีมา โดยการเลิกจ้างมีผลในวันที่ 31 มกราคม 2555 ส่งผลให้พนักงานทั้งหมด 1,333 คนตกงาน และนายจ้างระบุว่าจะจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย “บรรดาพนักงานมองว่า บริษัทไม่เป็นธรรม จึงมายื่นข้อเรียกร้องต่อผู้บริหารกระทรวงแรงงาน เพื่อให้นายจ้างจ่ายค่าบอกเลิกจ้างล่วงหน้าให้แก่พนักงาน รวมถึงจ่ายค่าชดเชยเพิ่มขึ้น เนื่องจากพนักงานมีอายุงานตั้งแต่ 6-25 ปี อีกทั้งขอให้กระทรวงแรงงานหางานรองรับพนักงานที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป” น.ส.ปณยา กล่าว นายสมาน ถมยา ผู้จัดการฝ่ายแรงงานสัมพันธ์ บริษัท กู๊ดเยียร์ ( ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ใน จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นตัวแทนบริษัทมารับเกียรติบัตรจาก รมว.แรงงาน กล่าวว่า บริษัทประสบภัยน้ำท่วม แต่ก็ได้เข้าร่วมโครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้างของกระทรวงแรงงาน โดยบริษัทจ่ายค่าจ้างให้แก่พนักงานเต็ม 100% และหากมาช่วยฟื้นฟูบริษัทจะได้รับค่าจ้าง 150% ซึ่งได้จ่ายค่าจ้างตั้งแต่เดือน ต.ค.2554 ไปจนถึงเดือน มี.ค.2555 เนื่องจากต้องการรักษาสภาพการจ้างงานไว้ ซึ่งในเดือน มี.ค.ปีหน้าคาดว่าจะเปิดโรงงานผลิตสินค้าได้ ด้านนพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า ตนจะนำแนวคิดในเรื่องการนำงบบริหารจัดการของสปส.มาจัดสรรเป็นเงินช่วยเหลือ ให้แก่แรงงานโดยตรงรายละ 3,000 บาท ซึ่งเป็นการช่วยเหลือแบบเงินก้อนเดียว เข้าหารือในประชุมบอร์ด สปส.ในวันที่ 27 ธ.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของบอร์ด สปส.ว่า จะให้ความเห็นชอบหรือไม่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงาน รมว.แรงงาน ได้มอบเกียรติบัตรให้แก่สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการป้องกันและบรรเทา การเลิกจ้าง 27 แห่ง ทั้งนี้ ในส่วนของจ.ปทุมธานีมีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการ 266 แห่ง ลูกจ้าง 110,118 คน นอกจากนี้ ยังมีการจัดหางานในตำแหน่งงานว่างรองรับกว่า 3986 อัตรา ใน 57 ตำแหน่งงาน ของ 50 บริษัท รวมทั้งการสาธิตการประกอบอาชีพอิสระ 10 อาชีพ ขณะเดียวกัน ใน จ.ปทุมธานี มีบริษัทที่ได้รับกระทบจากน้ำท่วมและส่งคนงานไปทำงานกับบริษัทแม่ในต่าง ประเทศแล้ว 1,766 คน และเตรียมที่จะส่งเพิ่มอีก 3,321 คน ใน 23 บริษัท ส่วนใหญ่ไปประเทศญี่ปุ่น จีน มาเลเซีย และ เวียดนาม (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 17-12-2554) ครม.ให้ลดอัตราเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเหลือ 0.5% ในปี 55 น.ส.อนุตมา อมรวิวัฒน์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติให้ลดอัตราเงินสมทบที่นายจ้างและผู้ประกันตนต้องออกเพื่อสมทบเข้ากอง ทุนประกันสังคมเหลือร้อยละ 0.5 ของค่าจ้าง โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2555 เนื่องจากกระทรวงแรงงานพิจาราณาเห็นว่าจากสถาการณ์อุทกภัยส่งผลกระทบต่อ ฐานะการเงินของนายจ้างและรายได้ผู้ประกันตน จึงควรมีการบรรเทาภาระของนายจ้างและผู้ประกันตนมในการออกเงินสมทบเข้ากองทุน ประกันสังคมในช่วงเวลานี้ อย่างไรก็ตาม การลดอัตราเงินสมทบจะดำเนินการเพียงปีเดียวเท่านั้น โดยในปี 2556 ก็ให้กลับมาเก็บในอัตราเดิม คือร้อยละ 1.5 ของค่าจ้าง (สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 19-12-2554) สภาอุตสาหกรรมขู่ฟ้องศาลปกครองระงับค่าจ้าง 300 บาท นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสายแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.กำลังหาช่องทางในการฟ้องศาลปกครองเพื่อระงับการประกาศขึ้นค่าจ้างขั้น ต่ำ 300 บาทต่อวัน ที่จะมีผลวันที่ 1 เม.ย.2555 ใน 7 จังหวัด คือ ภูเก็ต, กรุงเทพฯ, นนทบุรี, ปทุมธานี สมุทรปราการ, สมุทรสาคร และนครปฐม ของรัฐบาล โดยไม่เป็นธรรม ส่งผลกระทบต่อการลงทุน โดยอาจฟ้องร้องในต้นปีหน้า “การขึ้นค่าแรงทำได้ แต่ต้องเป็นไปตามกลไก แต่นี่ไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติที่ควรเป็น มีการครอบงำของคณะกรรมการไตรภาคี และเป็นประเด็นการเมืองจากนโยบายหาเสียง โดยการนำร่องใน 7 จังหวัด ขึ้นทีเดียวเฉลี่ย 36-40% ซึ่งสูงเกินไป และยังกำหนดที่จะขึ้นทั่วประเทศให้เป็น 300 บาทต่อวันในวันที่ 1 เม.ย.2556” ปัจจุบันนโยบายขึ้นค่าจ้างดังกล่าวกำลังส่งผลกระทบต่อการเจรจาสั่งซื้อ และผลิตสินค้าในไทยในปี 2555 ซึ่งต้องเริ่มเจรจารับคำสั่งซื้อล่วงหน้าแล้ว เนื่องจากผู้ผลิตต้องปรับเพิ่มต้นทุน จากผลพวงการขึ้นค่าจ้างไปยังสินค้า ทำให้สินค้าของไทยเฉลี่ยแพงขึ้น ทำให้ลูกค้าส่วนหนึ่งเปลี่ยนใจหันไปสั่งซื้อที่ประเทศเพื่อนบ้านแทน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศไทย ขณะเดียวกัน ยังทำให้ผู้ผลิตสินค้าที่ต้องใช้แรงงานเข้มข้น เช่น สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ อาจย้ายฐานไปยังเพื่อนบ้านแทนในปีหน้า เนื่องจากต้องอาศัยแรงงานเพื่อนบ้านที่ค่าแรงต่ำกว่าไทย โดยพบว่ากัมพูชาค่าแรง 80 บาทต่อวัน เวียดนาม 100 บาทต่อวัน พม่า 40-50 บาทต่อวัน ลาว 80-100 บาทต่อวัน. (ไทยรัฐ, 19-12-2554) พนักงานบริษัทมาลาพลาสรวมตัวปิดถนนประท้วงเรียกร้องสวัสดิการ เมื่อเวลา 08.00 น.วันที่ 19 ธันวาคม 2554 ที่หน้าบริษัท มาลาพลาส จำกัด ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 370 ถนนพุทธรักษา ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ พนักงานทั้งชายและหญิงกว่า 500 คนได้ร่วมตัวกันประท้วงเรียกร้อยสวัสดิการค่าแรงงาน และลงมาปิดกั้นการจราจรบนถนนพุทธรักษาจำนวน 2 เลนโดยมีการนำเต้นมาตั้งกันแดด ทำให้รถสามารถสัญจรผ่านไปมาได้เพียงเลนเดียว ทำให้การจราจรภายในถนนพุทธรักษาติดขัดยาวออกมาที่ถนนสุขุมวิท เดือดร้อนเจ้าหน้าที่ตำรวจของ สภ.เมืองสมุทรปราการ จำนวนกว่า 20 นายต้องออกมาระบายการจรารจร และรักษาความสงบภายในการชุมนุมประท้วง โดยมีนายเชี้ยง กันงาม ประธาน สห.ภาพแรงงานมาลาพลาส ได้กล่าวผ่านเครื่องขยายเสียงเรียกร้องให้ผู้บริหารบริษัทมาลาพลาส ออกมารับข้อเรียกร้องจำนวน 15 ข้อที่ทางพนักงานทั้งหมดได้ช่วยกันร่างหนังสือยืนขอเรียกร้อง โดยข้อที่ -1- ให้บริษัทปรับค่าจ้างที่เป็นรายวันจากเดิมที่ให้วันละ 215 บาท เป็นวันละ 300 บาทเท่ากันทั้งหมด ข้อที่ -2- ให้บริษัทปรับลูกจ้างรายวันที่มีอายุงานเกิน 3 ปีขึ้นไปให้เป็นลูกจ้างรายเดือน ข้อที่-3-ให้มีการปรับเพิ่มวันหยุดพักผ่อนประจำโดยเฉลียมตามอายุงาน ตั้งแต่ 7-15 วัน ต่อปี ข้อที่ -4 – ให้มีการปรับค่าเข้ากะของลูกจ้างเป็นจากเดิม 50 บาทเป็นวันละ 80 บาท ข้อที่ -5-ปรับค่าจ้างวันที่ลูกจ้างทำงานในวันหยุดพิเศษวันละ 3 แรง ข้อที่ -6-ให้ปรับเบี้ยเลี้ยงให้พนักงานที่บริษัทสั่งให้ออกไปทำงานนอกสถานที่ เป็นคนละ 200 บาทต่อวัน ข้อที่ -7- ให้จัดรองเท้าให้กับลูกจ้างทุกคนปีละ 2 คู่ต่อคน ข้อที่ 8 ให้จ่ายค่าจ้างให้กับพนักงานที่ทำงานรายวันเดือนละ 2 ครั้ง ข้อที่ -9- ขอให้คณะกรรมการสหภาพแรงงานมีส่วนร่วมพิจารณาโทษลูกจ้างที่เป็นสมาชิกของ สหภาพแรงงาน ข้อที่ -10-ให้สหภาพมีส่วนร่วมในการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ปีใหม่ ข้อที่ -11-ให้คณะกรรมการสหภาพแรงงานใช้สิทธิในการลาเพื่อเป็นร่วมกิจกรรมสหภาพ โดยไม่ถือว่าเป็นวันขาดงานโดยได้รับค่าจ้าง ข้อที่ -12- ให้จ่ายโบนัสให้ลูกจ้างทุกคนคนละ 3 เดือน ข้อที่ -13-จ่ายเบี้ยขยันให้ลูกจ้างคนละ 800 บาทต่อเดือน ข้อที่ -14- ให้จัดหาที่ทำการให้กับสหภาพแรงงาน และข้อที่ -15- สภาพการจ้างงานที่มิได้มีการเปลี่ยนแปลงไว้คงเดิม โดยนายเชี้ยง กันงาม ประธาน สห.ภาพแรงงานมาลาพลาส ยังได้กล่าวอีกว่า ในการยืนหนังสือเรียกร้องข้อเสนอทั้ง 15 ข้อของพนักงาน และได้เข้าเจรจากับคณะผู้บริหารมาแล้วถึง 7 ครั้ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ที่ผ่านมา แต่คณะผู้บริหารบริษัทไม่ยอมรับในข้อเสนอ ในวันนี้พนักงานจึงได้นัดกันหยุดงานร่วมตัวกันปักหลักประท้วงอยู่ที่หน้าโรง งาน ซึ่งหากในวันนี้ผลการเจรจาไม่คืบหน้าก็จะเคลื่อนขบวนเดินทางไปเรียกร้องผู้ ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ และชุมนุมกันที่หน้าศาลากลางจังหวัด หากยังไม่เป็นผลก็จะร่วมตัวพากันเดินทางไปประท้วงที่กรมแรงงานต่อไป สำหรับบริษัท มาลาพลาส จำกัด เป็นโรงงานผลิต จานเมรามีน และเครื่องใช้พลาสติก ที่ส่งขายทั้งในและนอกประเทศ มีคนงานอยู่ทั้งหมด 1,500 คน คนงานที่ร่วมตัวกันชุมนุมประท้วงในครั้งนี้มีทั้งพนักงานที่อยู่ในลายผลิต และพนักงานอ๊อฟฟิต และลายงานอื่น ๆ ที่อยู่ในขบวนการผลิตทั้งสิ้น (เนชั่นทันข่าว, 19-12-2554) บอร์ดค่าจ้างเมินสภาอุตฯ ฟ้อง 19 ธ.ค. 54 - นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (บอร์ดค่าจ้าง) กล่าวถึงกรณีที่ทางสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) อยู่ระหว่างเตรียมยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อระงับการประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน โดยระบุว่าการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ถูกฝ่ายการเมืองครอบงำ ว่า คณะกรรมการค่าจ้างแต่ละท่านล้วนเป็นผู้ที่มีความน่าเชื่อถือในวงสังคม ต่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี มีอิสระในการตัดสินใจไม่ได้ถูกอิทธิพลใดๆครอบงำ ทำให้มติบอร์ดค่าจ้างที่ให้ปรับค่าจ้างขึ้น 40% ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทำให้ใน 7 จังหวัดมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นเป็น 300 บาทต่อวัน โดยเป็นมติที่เป็นเอกฉันท์ ที่ทุกฝ่ายต่างยอมรับทั้งฝ่ายนายจ้าง และลูกจ้างก็ร่วมกันพิจารณาชอบ และขอยืนยันว่าการดำเนินการของบอร์ดค่าจ้างนั้นเป็นไปตามขั้นตอนและถูกต้อง ตามกฎหมาย แต่จะให้ถูกใจทุกคนคงเป็นไปไม่ได้ “หากฝ่ายใดที่ไม่ถูกใจแล้วจะไปฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ก็เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ตามกฎหมาย ถ้ามีการฟ้องร้องเกิดขึ้นจริงทางกระทรวงแรงงานก็พร้อมชี้แจงต่อศาล อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การปรับขึ้นค่าจ้าง 40% เป็นมติ ครม.ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเรียบร้อยแล้ว ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ก็ต้องดำเนินการไปตามที่ได้ประกาศไว้ และยังไม่มีการชะลอขึ้นค่าจ้างแต่อย่างใด แต่หากศาลมีคำสั่งใดๆ ออกมาทางบอร์ดก็พร้อมจะปฏิบัติตาม”ประธานบอร์ดค่าจ้าง กล่าว ทั้งนี้ บอร์ดค่าจ้างจะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 21 ธ.ค.นี้ ซึ่งเป็นการประชุมตามวาระปกติ คงจะไม่มีการนำเรื่องที่ส.อ.ท.เตรียมยื่นฟ้องศาลปกครองเข้าหารือ เนื่องจากมติการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นเรื่องที่ผ่านพ้นการพิจารณาไปแล้ว นพ.สมเกียรติ กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้ คณะกรรมการค่าจ้างจะคอยติดตามผลกระทบที่เกิดจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น วันละ 300 บาท และหามาตรการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งจะเร่งผลักดันปรับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานในบางสาขาที่มี อัตราค่าจ้างต่ำกว่าวันละ 300 บาท ด้านนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ไทย (คสรท.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่ทาง สอท.จะฟ้อง เนื่องจากเป็นการปรับค่าแรงที่มีการพิจารณาจากคณะกรรมการไตรภาคี รัฐไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้ ซึ่งผลกระทบจากการปรับค่าจ้างอาจเกิดกับสถานประกอบการบางส่วนที่มีเงินทุน น้อย แต่คิดว่าจะเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมหากเรามองภาพรวมของประเทศ นายชาลี กล่าวอีกว่า ผลด้านบวกในภาพรวมมี 2 เรื่อง คือ 1.เรื่องของขวัญกำลังใจของแรงงานที่ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้าง 2.เมื่อลูกจ้างได้ค่าจ้างมากขึ้น ทำให้มีกำลังใช้เงิน ส่งผลให้เศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 20-12-2554) ธปท. เชื่อ ปัญหาว่างงานเป็นเพียงระยะสั้น ส่วนการขึ้นค่าแรง 300 บาทเร็วไป ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุ ปัญหาว่างงานเป็นเพียงระยะสั้น ส่วนการขึ้นค่าแรง 300 บาทเร็วไป พร้อมมั่นใจอุตสาหกรรมก่อสร้างปีหน้าฟื้นตัวได้ดี นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัญหาการว่างงานที่เกิดจากผลกระทบน้ำท่วม เป็นเพียงปัญหาชั่วคราวไม่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด เพราะที่ผ่านมาตลาดแรงงานไทยอยู่ในภาวะตึงตัวมาโดยตลอด โดยเฉพาะปัญหาขาดแคลนแรงงานทักษะฝีมือ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นปัญหายืดเยื้อในระยะต่อไป ประกอบกับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ในช่วงนี้เร็วเกินไป เพราะเป็นการปรับแบบก้าวกระโดด และหากอีก 2 ปีข้างหน้า นายจ้างจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทุกจังหวัด อาจทำให้แรงงานย้ายกลับบ้านเกิดในต่างจังหวัด ยิ่งสร้างปัญหาให้บริษัทเอกชนในเมือง ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานได้ นายเมธี ยังคาดการภาคธุรกิจที่น่าจะขยายตัวได้ดีในปีหน้า คือ กลุ่มธุรกิจก่อสร้าง เนื่องจากจะเริ่มเห็นการฟื้นฟูโรงงาน บ้านเรือน และกิจการต่างๆ หลังสถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย รวมทั้งภาคบริการต่างๆ และภาคการท่องเที่ยว ส่วนการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาใหม่ เชื่อว่า ผู้ลงทุนจะดูความชัดเจนของภาครัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ว่าจะออกมาในทิศทางใด จะสร้างความมั่นใจและประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหามากน้อยเพียงใดด้วย (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 20-12-2554) 'สร.รฟท.'ร้อง'นายกฯปู' สอบเงินสร้างแอร์พอร์ตลิงค์ล่องหน 1.2 พันล.‎ ตัวแทนสมาชิกจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย(สร.รฟท.) ยื่นหนังสือถึงปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผ่านนายสมภาส นิลพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน เพื่อติดตามการชดใช้เงินหรือทรัพย์สินคืนให้การรถไฟแห่งประเทศไทย จากกรณีที่ ป.ป.ช.ได้พิจารณาไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการก่อสร้างโครงการ ระบบขนส่งทางรถไฟ เชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือแอร์พอร์ตลิ้ง ที่พบว่า มีการรับข้อเสนอทางการเงินของเอกชน ที่ต่างไปจากเอกสารประกวนราคา โดยเฉพาะเงื่อนไขให้การรถไฟชำระเงินของโครงการ ที่เดิมมีมูลค่าเงินลงทุนกว่า 25,000 ล้านบาท หลังขยายระยะเวลาการก่อสร้างออกไปอีก 990 วัน ส่งผลให้มูลค่าเงินโครงการเพิ่มขึ้นกว่า 35,000 ล้านบาท ทำให้ค่าทำเนียมทางการเงินจาก 400 ล้านบาท เพิ่มเป็น 1,600 ล้านบาท ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย จ่ายให้การรถไฟฯเพียง 400 ล้านบาท ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเงินค่าทำเนียมอีก 1,200 ล้านบาท จ่ายให้กับผู้ใด เพื่อรักษาผลประโยชน์ของการรถไฟฯ ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบพิจารณาโทษทางวินัยของนายไกรวิชญ์ ศรีมีทรัพย์ เจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนทุจริต ที่ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.ชี้มูลว่า ผิดวินัยร้ายแรง ได้รับโทษตัดเงินเดือน ไม่มีการชดเชยค่าเสียหาย จึงยื่นหนังสือให้เร่งรัดติดตามชดใช้เงินคืน ดำเนินการทางแพ่งและอาญา ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ในเวลาเดียวกัน ตัวแทนชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อติดตามแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของกลุ่มสหกรณ์โคนม เนื่องมาจากเหตุการณ์อุทกภัย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มายื่นหนังสือและเสนอแนวทางแก้ไขให้รัฐบาล 7 ข้อ แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข หากปัญหาความเดือดร้อนยังไม่มีความคืบหน้า เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทั่วประเทศ จะพิจารณาแก้ไขปรับปรุง พระราชบัญญัติโคนมและผลิตภัณฑ์นม พ.ศ.2551 เพื่อรวมตัวกันมาชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง ในวันที่ 27 ธันวาคมนี้ (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 20-12-2554) คนงาน'มาลาพลาส' ยื่นรองผู้ว่าฯ ร้องถูกลดสวัสดิการ เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พนักงานบริษัท มาลาพลาส จำกัด ย่านถนนพุทธรักษา ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ที่ชุมนุมปิดถนนประท้วง เรียกร้องให้นายจ้างเพิ่มค่าแรงและสวัสดิการ หลังผู้บริหารรายใหม่เข้ามาบริหารและลดสวัสดิการลงจนเหลือตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานเมื่อวานนี้ ล่าสุดวันนี้ (20 ธ.ค.2554 ) กลุ่มพนักงานสมาชิกสหภาพแรงงานมาลาพลาส ประมาณ 300-500 คน นำโดยประธานสหภาพแรงงาน เคลื่อนขบวนเดินเท้าไปตามถนนสุขุมวิท เพื่อยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ส่งผลให้การจราจรตลอดเส้นทาง ตั้งแต่ถนนพุทธรักษา ถนนสุขุมวิท เข้าสู่ศาลากลางจังหวัด ติดขัดคับคั่ง เนื่องจากรถสัญจรได้เพียงช่องทางเดียว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดกำลังอำนวยความสะดวกด้านจราจร และดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับกลุ่มผู้เดินขบวนตลอดเส้นทาง ทางด้านนายสนั่น ไพศาล ที่ปรึกษาสหภาพแรงงาน กล่าวว่า หลังจากการเจรจาระหว่างตัวแทนนายจ้างและลูกจ้างไม่เป็นผล ในช่วงสายของวันนี้ ทางกลุ่มพนักงานจึงเคลื่อนขบวนมายื่นหนังสือกับผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ไม่พบ แต่ได้มีนายชนะ นพสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัด มารับหนังสือแทน โดยรับปากว่า จะเข้าร่วมหารือกับเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด สหภาพแรงงาน และตัวแทนนายจ้าง เพื่อหาข้อยุติ คาดว่า ในช่วงเย็นวันนี้จะทราบผล ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดแนวทางของกลุ่มพนักงานในการดำเนินการต่อไป (ไทยรัฐ, 20-12-2554) พนง.บ.ริโก้ฯ ร้อง กสร.ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 20 ธ.ค. 54 - เวลา 15.00 น.ที่กระทรวงแรงงาน พนักงานบริษัท ริโก้ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ประมาณ 10 คน นำโดย นายอำพล สนมศรี วัย 26 ปี พนักงานฝ่ายผลิต ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำจัดตั้งสหภาพแรงงาน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เนื่องจากถูกบริษัทเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม หลังจากออกมาเรียกร้องโบนัส จำนวน 2.7 เดือน เงินพิเศษ 20,000 บาทต่อคน และเตรียมจัดตั้งสหภาพแรงงาน โดยขอให้ กสร. เจรจากับทางบริษัท ขอให้รับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างทั้งหมด 54 คน กลับเข้าทำงานตามเดิมและสนับสนุนการจัดตั้งสหภาพแรงงาน นายอำพล กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ช่วงเดือน พ.ย.พวกตนได้ออกมาเรียกร้องเงินโบนัส จำนวน 2.7 เดือน เงินพิเศษ 20,000 บาทต่อคน ให้แก่พนักงานทั้งหมด 724 คน ซึ่งจากการเจรจานายจ้างยินยอมที่จะจ่ายโบนัส 2.7 เดือน ส่วนเงินพิเศษ 20,000 บาท ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะจ่าย หลังจากนั้น ช่วงต้นเดือน ธ.ค.ตนและเพื่อนพนักงานรวม 54 คน ได้ร่วมกันเตรียมการจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้น ต่อมาในวันที่ 6 ธ.ค.ก็ถูกบริษัทประกาศเลิกจ้าง พร้อมระบุจะจ่ายเงินชดเชยให้ตามกฎหมาย โดยทางบริษัทให้เหตุผลว่า พวกตนสร้างความขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ยุยงให้เกิดความแตกแยก ฯลฯ ขณะเดียวกัน บริษัทได้มีแบบสอบถามไปยังเพื่อนพนักงานทั้งหมดในเรื่องการจ่ายเงินโบนัส 2.7 เดือน และเงินพิเศษคนละ 5,000 บาท หากพนักงานคนใดเห็นด้วยก็ให้เซ็นชื่อยอมรับ “จากการพูดคุยกับเพื่อนพนักงาน 724 คน มีพนักงาน 306 คนที่สนับสนุนการจัดตั้งสหภาพครั้งนี้ขึ้น พวกผมจึงเตรียมยื่นเรื่องจัดตั้งสหภาพแรงงาน แต่ก็มาถูกเลิกจ้างก่อน ผมคาดว่า สาเหตุคงเพราะการออกมาเรียกร้องโบนัสและเงินพิเศษ รวมทั้งการเตรียมการจัดตั้งสหภาพ ดังนั้น วันนี้จึงได้มายื่นหนังสือต่อ กสร.เพื่อขอให้เจรจากับนายจ้าง เพื่อให้รับพวกผมทั้ง 54 คน กลับเข้าทำงานและสนับสนุนจัดตั้งสหภาพ” นายอำพล กล่าว (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 20-12-2554) บอร์ดค่าจ้างยืนยันค่าจ้าง 300 บาท ยังเริ่มบังคับใช้ 1 เม.ย.55 21 ธ.ค. 54 - นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในฐานะกรรมการและผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (บอร์ดค่าจ้าง) กล่าวว่า ที่ประชุมวันนี้ มีการพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด ใน 4 จังหวัด ที่ยังขาดอยู่ประกอบด้วย จังหวัดกาญจนบุรี นครราชสีมา สุพรรณบุรี และอุทัยธานี เพื่อให้ทำหน้าที่พิจารณาการปรับขึ้นค่าจ้างตามจังหวัดต่าง ๆ ขณะเดียวกันยังได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ในอีก 6 กลุ่มสาขาอาชีพ เพื่อให้มีผลบังคับใช้เพิ่มเติมจาก 22 สาขา ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้ว ประกอบด้วย กลุ่มอาชีพช่างไฟฟ้า กลุ่มอาชีพอุตสาหกรรม กลุ่มอาชีพเครื่องกล กลุ่มอาชีพก่อสร้าง กลุ่มอาชีพบริการ และกลุ่มอาชีพอุตสาหกรรมศิลป์ สำหรับข้อเสนอของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ขอให้เลื่อนการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ซึ่งจะเริ่มบังคับ 7 จังหวัด ใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2555 หากไม่ดำเนินการจะมีการฟ้องร้องศาลปกครอง ว่าถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองนั้น ที่ประชุมยังไม่ได้มีการหยิบขึ้นมาพิจารณาทบทวน แต่ยอมรับว่ามีการพูดคุยกันในที่ประชุม และอาจจะเชิญสภาอุตสาหกรรมฯ มาชี้แจงถึงสาเหตุอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้ พร้อมยืนยันว่า บอร์ดค่าจ้างพร้อมรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ขณะที่ค่าจ้าง 300 บาท จะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายนนี้แน่นอน เพราะได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว (สำนักข่าวไทย, 21-12-2554) แนะลูกจ้างนอกระบบรับเงินยากไร้ 2 พันจาก พม.แทน 21 ธ.ค. 54 - ที่กระทรวงแรงงาน มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ นำโดยนางสุนทรี เซ่งกิ่ง เข้ายื่นข้อเสนอการฟื้นฟูแรงงานนอกระบบหลังมหาอุทกภัย 2554 แก่ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รง.) โดยได้มีการหารือร่วมกันถึงมาตรการช่วยเหลือ ได้แก่ การขยายเวลาการส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม มาตรา 40 การเข้าถึงเงินกู้ยืมเงินจากกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำงานที่บ้าน และการได้รับเงินช่วยเหลือจาก 2,000 บาท ที่ทางกระทรวง รง.ช่วยนายจ้างจ่ายเงินให้กับลูกจ้าง เพื่อชะลอการเลิกจ้าง เป็นต้น นายเผดิมชัย กล่าวว่า ในส่วนของผู้ประกันตนของประกันสังคม มาตรา 40 จะช่วยในเรื่องการขยายเวลาการส่งเงินสมทบ โดยจะยกเว้นการส่งเงินสมทบระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2554 โดยไม่ถือเป็นการขาดส่งและจะไม่ตัดสิทธิ์ ซึ่งสามารถส่งเงินสมทบภายหลังจากน้ำลด 30 วัน นายเผดิมชัย กล่าวอีกว่า จะมีการปรับลดเงื่อนไขการกู้เงินจากกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำงานที่บ้าน ให้เข้าถึงการกู้ให้มากขึ้น เพื่อนำเงินไปฟื้นฟูบ้านและซ่อมแซมอุปกรณ์สำหรับประกอบอาชีพ เช่น มอเตอร์ไซค์ จักรเย็บผ้า เป็นต้น “ส่วนเงินช่วยเหลือนายจ้างเพื่อจ่ายเงินให้ลูกจ้าง 2,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่านายจ้างต้องจ่ายเงินให้ลูกจ้างไม่น้อยกว่า 75% และต้องไม่เลิกจ้าง ซึ่งเงินในส่วนนี้เราจะให้กับนายจ้างที่สามารถทำตามเงื่อนไขเหล่านี้ได้ เพราะเราไม่ต้องการให้มีการเลิกจ้างแรงงาน แต่หากแรงงานนอกระบบเรียกร้องว่าเงินส่วนนี้เข้าไม่ถึงพวกเขา ก็ขอให้เขาไปใช้สิทธิ์ขอเงิน 2,000 บาทนี้ กับทางกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในส่วนของเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้” นายเผดิมชัย กล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ไม่ได้มีเงินช่วยเหลือ 2,000 บาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากน้ำท่วมโดยตรง เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือนี้มีมติจากทางคณะรัฐมนตรีไม่ให้ผ่าน เพราะจะซ้ำซ้อนกับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท ของทางกระทรวงมหาดไทยแต่เงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้ทาง พม.ได้มีเงินช่วยเหลืออยู่แล้ว สำหรับผู้ยากจน ซึ่งเป็นงบประมาณของทาง พม.ที่เป็นงบจำนวนไม่มาก ทั้งนี้ แรงงานมีทั้งหมด 38 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบ 24.1 ล้านคน เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม มาตรา 40 ประมาณ 5.8 แสนคน (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 21-12-2554) สหภาพโฮยา ตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ถูกเลิกจ้าง ยืนยันเรียกร้องความเป็นธรรมจนถึงที่สุด 22 ธ.ค. 54 – ความคืบหน้ากรณีบริษัทโฮยากลาสดิสค์ (ประเทศไทย) จำกัด จะมีการเลิกจ้างพนักงานเกือบ 2,000 คนนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 54 ที่ผ่านมา ทางสหภาพฯ และกลุ่มผู้ถูกเลิกจ้าง ได้มีการรวมตัวที่หน้าบริษัทโฮยา โรงงานหนึ่ง (เวลา 17.30 -21.00 น.) เพื่อประชาสัมพันธ์ เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานในการรวมกลุ่มเพื่อคัดค้านการเลิกจ้าง เนื่องจากทางสหภาพฯ เห็นว่าเหตุผลในการเลิกจ้างครั้งนี้ไม่มีความชอบธรรม รวมถึงขอให้พนักงานสมัครสมาชิกสหภาพฯ เพื่อเข้าร่วมประชุมใหญ่สามัญประจำปี รับรองการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อมิให้มีการเลิกจ้างและรับรองข้อเรียกร้อง เดิมให้คงสภาพการจ้างต่อไป โดยทางสหภาพฯ ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะขอคัดค้านการเลิกจ้างครั้งนี้ และจะยืนหยัดต่อเพื่อพนักงานทุกคน นอกจากนี้สหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ ยังได้จัดตั้งศูนย์ให้การช่วยเหลือผู้ถูกเลิกจ้างจาก บ.โฮยา ที่สำนักงานของสหภาพฯ ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.ลำพูน (ประชาไท, 22-12-2554) จัดหางานเผยปี 55 ไทยยังขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรมจำนวนมาก 22 ธ.ค. 54 - นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยถึงสถานการณ์ปัญหาการว่างงานในปี 2555 โดยเฉพาะหลังช่วงวิกฤติน้ำท่วมว่า ที่ผ่านมาหลายจังหวัดจะมีคนตกงานทั่วประเทศสูงถึง 1 ล้านคน แต่ปัจจุบันแรงงานจำนวนกว่า 6 แสนรายได้กลับเข้าทำงานในสถานประกอบการแล้ว เหลือเพียงกว่า 3 แสนรายเท่านั้น ที่ยังไม่ได้เข้าทำงานในพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งถูกน้ำท่วม ทั้งนี้ กรมการจัดหางานมีตำแหน่งว่างรองรับอยู่มากกว่า 150,000 อัตรา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานระดับล่าง ทำให้สถานการณ์ในปีหน้า 2555 ประเทศไทย ยังคงขาดแคลนแรงงานระดับล่างอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมประเภทอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ซึ่งสาเหตุของการการขาดแคลนแรงงานเกิดจากการย้ายแรงงานจากภาคอุตสาหกรรมสู่ ภาคการเกษตร เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง แรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบันมีทักษะและประสบการณ์ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด เพราะตลาดแรงงานต้องการแรงงานช่างระดับอาชีวะ แต่ปัจจุบันแรงงานจบใหม่เป็นผู้ที่จบปริญญาตรี ซึ่งส่วนใหญ่จะไปเข้าทำงานในภาคบริการ ทำให้การขาดแคลนแรงงานมากเป็นพิเศษในภาคอุตสาหกรรม (มติชน, 22-12-2554) กลุ่มลูกจ้างตกงานนับแสน อ้อนรัฐดูแลค่าชดเชย 23 ธ.ค. 54 - รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่ส่งผลให้มีการเลิกจ้างลูกจ้างในโรงงานต่างๆที่ อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ว่า กลุ่มลูกจ้างบริษัทรับเหมาค่าแรง(ซับคอนแทรก) ถือเป็นลูกจ้างกลุ่มแรกที่ตกงาน ซึ่งโรงงานจะบอกเลิกสัญญาบริษัทรับเหมาค่าแรง เนื่องจากโรงานยังไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ โดยสถานประกอบการกว่า 50-60%มีการผลิตโดยใช้ลูกจ้างจากบริษัทเหมาค่าแรง บางโรงงานมีลูกจ้างเหมาค่าแรงมากถึง 70-80% ทั้งนี้ ลูกจ้างกลุ่มนี้มักได้ค่าจ้างจากนายจ้างบริษัทรับเหมาค่าแรงในอัตราค่าจ้าง ขั้นต่ำ หรือสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำไม่มากนัก รวมทั้งยังมีการรวมตัวต่ำ ไม่มีอำนาจต่อรองกับนายจ้าง เมื่อมีการเลิกจ้าง บริษัทเหมาค่าแรงมักไม่ยอมจ่ายค่าชดเชย ซึ่งเมื่อมีปัญหาเรียกร้องนายจ้างซึ่งเป็นเจ้าของสถานประกอบการ มักรับภาระจ่ายค่าชดเชยแทน เพื่อรักษาภาพพจน์องค์กร และเมื่อมีการไล่เบี้ยตามกฎหมาย ทางสถานประกอบการถือเป็นนายจ้างที่ต้องรับผิดชอบร่วมด้วย ดังนั้น หน่วยงานรัฐให้ควรสนใจดูแลลูกจ้างซับคอนแทรก รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวต่อไปว่า ภาพรวมสถานการณ์เลิกจ้าง คาดว่า การเลิกจ้างจะมีตัวเลขที่สูงมากช่วงหนึ่ง ซึ่งกระทรวงแรงงานควรที่จะตั้งคณะทำงาน ในลักษณะวอร์รูม ประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์เลิกจ้าง ที่คาดกันว่าจะมีคนตกงานเกือบแสนคน เนื่องจากผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องร่วมกันคิดแก้ไข ลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด “ตอนนี้มีความกังวลที่จะขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากคนงานที่กลับภูมิลำเนาในต่างจังหวัด ยังไม่อยากกลับเข้าโรงงานเพราะช่วงนี้เป็นช่วงเกี่ยวข้าว การจ้างแรงงานเกี่ยวข้าววันละ 300-350 บาท ซึ่งเป็นค่าจ้างที่สูง อีกทั้งลูกจ้างบางส่วนเมื่อถูกเลิกจ้าง ได้รับเงินค่าชดเชยจากนายจ้าง และสิทธิรับเงินทดแทนประกันการว่างงานร้อยละ 50 ของ 15,000บาท เท่ากับ 7,500 บาท ในระยะเวลา 6 เดือน จึงเป็นรายได้ที่ลูกจ้างพอที่จะอยู่ในภูมิลำเนาได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง” รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าว นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้มีแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมถูกเลิกจ้างกว่า 1.8 หมื่นคน ส่วนแรงงานซับคอนแทรกถูกเลิกจ้างจำนวนน้อยกว่าคาดการณ์ไว้ ส่วนช่วงหลังปีใหม่แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมคงจะถูกเลิกจ้างเพิ่ม ขึ้นหลายพันคน แต่คงไม่ถึงหลักแสนคน ซึ่งต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะมีแรงงานที่เสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง ประมาณ 1.3 แสนคน อย่างไรก็ตาม แรงงานที่ถูกเลิกจ้างนั้น มีปัญหาตกงานน้อยมากเพราะทันทีที่ถูกเลิกจ้าง ก็จะมีสถานประกอบการมารับเข้าไปทำงานผ่านโครงการต่างๆของกระทรวงแรงงานเช่น โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน ทั้งนี้ จากข้อมูลของ กสร.ณ วันที่ 23 ธ.ค.โดยภาพรวมยังมีสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 2,658 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 341,052 คน และขณะนี้มีสถานประกอบการเปิดกิจการแล้ว 26,021 แห่ง ลูกจ้างได้กลับเข้าทำงานแล้ว 652,892 คน อธิบดี กสร.กล่าวอีกว่า ส่วนการเลิกจ้างมีสถานประกอบการ 76 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง รวม19,665 คน แยกเป็น จ.พระนครศรีอยุธยา 39 แห่ง ลูกจ้าง 10,803 คน จ.ปทุมธานี 23 แห่ง 8,244 คน ฉะเชิงเทรา 2 แห่ง ลูกจ้าง 459 คน จ.สระบุรี 1 แห่ง ลูกจ้าง 31 คน นครปฐม 1 แห่ง ลูกจ้าง 68 คน นนทบุรี 9 แห่ง ลูกจ้าง 29 คน กรุงเทพฯ 1 แห่ง 31 คน ขณะเดียวกัน มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้างใน 8 จังหวัด จำนวน 784 แห่ง ลูกจ้าง 239,371 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีสถานประกอบการได้รับการอนุมัติแล้ว 234 แห่ง ลูกจ้าง 88,706 คน ส่วนโครงการเพื่อนช่วยเพื่อนของกสร.ที่ให้แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ไปทำงานที่จังหวัดอื่นชั่วคราว 2-3 เดือน รวมทั้งมีการจ้างงานถาวร ขณะนี้มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการ 643 แห่ง ใน 48 จังหวัด และมีตำแหน่งงานรองรับ 78,242 อัตรา และมีลูกจ้างเข้าทำงานร่วมโครงการ 13,226 คน ในสถานประกอบการ 108 แห่งโดยดูรายละเอียดได้ที่ www.labour.go.th หรือสอบถามสายด่วน 1546 นายอนันตชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผอ.สำนักคุ้มครองแรงงานสังกัด กสร. กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน มีนโยบายชัดเจนให้มีการคุ้มครองสิทธิลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างให้ได้รับเงินทด แทนเลิกจ้างและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย ไม่เช่นนั้น ลูกจ้างสามารถร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงาน เพื่อขอให้ออกคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมาย หรือฟ้องต่อศาลแรงงานให้มีคำสั่งบังคับให้นายจ้างจ่าย ทั้งนี้ กฎหมายให้การคุ้มครองลูกจ้างทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่แบ่งแยกเป็นลูกจ้างประจำ ลูกจ้างบริษัทเหมาค่าแรง (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 23-12-2554)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท