Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อนันตริยกรรมคืออะไร? อนันตริยกรรม หมายถึง กรรมหนักที่สุด หรือ ครุกรรม ที่ให้ผลต่อผู้กระทำกรรมในทันที ไม่มีระหว่างคั่น ในทางพุทธศาสนามีอยู่ด้วยกัน 5 อย่าง ได้แก่ 1.มาตุฆาต - ฆ่ามารดา 2.ปิตุฆาต - ฆ่าบิดา 3.อรหันตฆาต - ฆ่าพระอรหันต์ 4.โลหิตุปบาท - ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงขั้นเลือดตกยางออก 5.สังฆเภท - ทำให้ชุมชนสงฆ์แตกแยก ซึ่งจะว่าไปแล้ว อนันตริยกรรมทั้งห้าข้อเป็นเพียงการขยายความจากข้อประพฤติปฏิบัติโดยทั่วไปของชาวพุทธ ทั้งของพระและฆราวาส กล่าวคือ ละเว้นจากการฆ่า การปองร้ายบุคคลอื่น ทว่าเพิ่มลักษณะการชี้เฉพาะให้เห็นถึงความรุนแรงของผล อันจะเกิดต่อจิตใจของผู้กระทำเองอย่างหนัก หากผู้ถูกกระทำเป็นบุคคลซึ่งผูกพันกับตนในทางสายเลือด (พ่อ-แม่) และในทางจิตใจอันตื่นรู้และเปิดกว้างของตน (พุทธะ) อย่าง พระอรหันต์ และพระพุทธเจ้า ส่วนสังฆเภทนั้นเป็นอนันตริยกรรมข้อเดียวที่จัดว่าไม่เป็นสาธารณะ (อสาธารณอนันตริยกรรม) กล่าวคือไม่ถือเป็นข้อปฏิบัติโดยทั่วไป ภิกษุคือบรรพชิตเท่านั้น จึงจะสามารถกระทำสังฆเภทอนันตริยกรรมในชุมชนสงฆ์ที่ตนอยู่ หลักอนันตริยกรรม แม้จะพูดถึงการกระทำที่ถูกมองว่าร้ายแรงห้าประการในความสัมพันธ์เชิงบุคคล แต่ก็ไม่ได้กำหนดขึ้นเพื่อแสดงถึง “สถานะความเป็นที่เคารพสักการะ และล่วงละเมิดไม่ได้” ของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ หรือบุพการีผู้ให้กำเนิด “ในทางสังคม” แต่อย่างใด การแก้ไขกฏหมายมาตรา ๑๑๒ เป็นอนันตริยกรรม? ในบทความ “ต้องต่อสู้แม้กับอเมริกาและองค์กรสหประชาชาติ” โดย วสิษฐ เดชกุญชร มีเนื้อความตอนหนึ่งเปรียบข้อเสนอให้แก้ไขกฏหมายอาญามาตรา ๑๑๒ หรือกฏหมายหมิ่นฯ ว่าเป็น “อนันตริยกรรม ที่คนไทยไม่อาจให้อภัยได้” หากลองวิเคราะห์บทสรุปดังกล่าว อาจพอมองเห็นได้ว่า อนันตริยกรรมในทัศนะของผู้เขียนบทความดังกล่าว ตั้งอยู่บนสมมติฐานดังต่อไปนี้ 1. การตีความหลักศีลธรรมทางสังคม รวมถึงหลักกฏหมายที่ถูกต้อง ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักคำสอนทางพุทธศาสนา 2. คำสอนทางพุทธศาสนาเป็นความจริงสูงสุด 3. นัยของการตีความหลักศีลธรรมทางสังคมผ่านคำสอนทางพุทธศาสนา (ในที่นี้ คือ หลักอนันตริยกรรม) 3.1 สะท้อนการมองสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นดั่งพ่อและแม่จริงๆ ในแง่ตัวบุคคลที่ผูกพันกันทางสายเลือด ไม่ใช่ในเชิงสัญลักษณ์ หรือสถาบันทางสังคม 3.2 สะท้อนการมองว่าการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะและล่วงละเมิดมิได้ เท่ากับกับการฆ่า 3.3 สะท้อนการเทิดทูนความบริสุทธิ์และสูงส่งของพระมหากษัตริย์ ดั่งพระอริยเจ้า พระอรหันต์ หรือพระพุทธเจ้า 3.4 สะท้อนการมองราชอาณาจักรที่ประกอบด้วยคนหลากหลายเชื้อชาติ วัฒนธรรม และศาสนา ดั่งชุมชนสงฆ์ และมองกฏหมายเป็นดั่งวินัยสงฆ์ ที่หากใครละเมิด หรือมีความคิดเห็นที่แตกต่าง จะถูกมองว่าทำให้สงฆ์แตกแยก (สังฆเภท) อันถือเป็นอนันตริยกรรมอย่างหนึ่ง 3.5 สะท้อนการมองอนันตริยกรรม ว่าเป็นเรื่องเดียวกับการละเมิดอาบัติปาราชิกของสงฆ์ ผลคือ “ไม่สามารถให้อภัยได้” ต้องถูกลงโทษสถานเดียว นั่นคือการถูกขับออกไปจากสังฆมณฑล (ซึ่งในที่นี้คือราชอาณาจักรไทย) ในทางพุทธศาสนา หลักอนันตริยกรรมเป็นเพียงการชี้ให้เห็นถึงประเภทของกรรม ที่หากกระทำต่อผู้มีความผูกพันใกล้ชิดต่อจิตใจของตน (ในแง่ปัจเจกบุคคล) ย่อมส่งผลเป็นกรรมหนักในทันทีอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อนันตริยกรรมเป็นเพียงการสะท้อน “เหตุและผล” ตามประสบการณ์การลองผิดลองถูกของปุถุชนตามที่เป็นจริง โดยปราศจากนัยของการข่มขู่ การลงโทษ หรือการพิพากษาตัดสินความดี-เลวของบุคคลในทางสังคมเลยแม้แต่น้อย แตกต่างจากกรณีการบังคับใช้กฏหมายมาตรา ๑๑๒ ในสังคมไทย อันประกอบด้วยนัยดังกล่าวอย่างครบถ้วน นอกจากนั้นบทความของวสิษฐ ยังเป็นการพยายามนำเอาคำสอนทางศาสนามาอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคม ในลักษณะ “ขู่ให้กลัว” โดยเปรียบกลุ่มคนที่ออกมาเสนอให้ทบทวนแก้ไขกฏหมายมาตรา ๑๑๒ ตามวิถีทางประชาธิปไตย ว่ากำลังก่ออนันตริยกรรม ซึ่งถือเป็นตัวอย่างของการนำคำสอนทางศาสนา มารับใช้อุดมการณ์ทางการเมืองแบบราชาชาตินิยมล้นเกิน (Hyper-Royalism) จนทำให้คำสอนทางศาสนากลายส่วนหนึ่งของคำสาปและอาวุธสงครามที่ใช้ปราบปราม ประชาชนที่เห็นต่าง จนพวกเขาถูกประณามว่าเป็น “คนไทยอกตัญญูเนรคุณจำนวนหนึ่งที่กำลังพยายามทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ตามคำของวสิษฐ ซึ่งก็ดูจะเป็นประชาชนกลุ่มเดียวกันกับที่ “หากคิดว่ากฏหมายไทยไม่เท่าเทียม ก็ให้ไปอยู่ต่างประเทศ” ตามคำสัมภาษณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก นั่นเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net