Skip to main content
sharethis

ยานยนต์ของทหารสหรัฐอเมริกาขบวนสุดท้ายได้ออกจากอิรักเข้าสู่คูเวตแล้วในวันนี้ นับเป็นการสิ้นสุด 9 ปีการยึดครองอิรักที่เริ่มเมื่อปี 2546 ขณะที่นักวิเคราะห์กังวลว่าอิรักซึ่งไม่มีโครงสร้างทางการเมืองที่เข้มแข็งพอ อาจเกิดการแตกแยกระหว่างผู้นับถือนิกายต่างๆ หรือตกอยู่ภายใต้อิทธิพลจากอิหร่าน บีบีซีรายงานวันนี้ (18 ธ.ค.) ว่า ขบวนยานยนต์ของกองทัพสหรัฐอเมริกาได้ออกจากอิรักเข้าสู่คูเวตแล้ว นับเป็นเวลากว่า 9 ปีหลังจากที่สหรัฐอเมริกาบุกเข้าอิรักเพื่อโค่นรัฐบาลซัดดัม ฮุสเซน โดยขบวนยานยนต์ของทหารสหรัฐอเมริกาประกอบด้วย รถหุ้มเกราะกว่า 100 คัน ทหาร 500 นาย มุ่งหน้าผ่านทะเลทรายของอิรักในช่วงกลางคืน ทั้งนี้ช่วงที่มีปฏิบัติการทางทหารเข้าสู่จุดสูงสุด เคยมีทหารสหรัฐอเมริกาประจำการในอิรักกว่า 170,000 นาย ในฐานทัพกว่า 500 แห่งในอิรัก และนับตั้งแต่สหรัฐอเมริกาบุกอิรักในปี 2546 มีทหารสหรัฐอเมริกากว่า 4,500 นาย และมีชาวอิรักหลายหมื่นรายเสียชีวิต สหรัฐอเมริกาใช้งบประมาณกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา ในปฏิบัติการทางทหารดังกล่าว กองทัพสหรัฐอเมริกายุติปฏิบัติการสู้รบในอิรักตั้งแต่ปี 2553 และได้ส่งมอบภารกิจด้านรักษาความมั่นคงแล้ว ส.ต.มาร์ติน แลมป์ ทหารสหรัฐอเมริกากล่าวระหว่าง “ลาดตระเวนไปตามถนน” เพื่อออกจากอิรักว่า “เป็นความรู้สึกที่ดี ที่ทราบว่านี่จะเป็นภารกิจสุดท้ายของที่นี่” “เป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ คุณรู้หรือไม่ พวกเราเป็นคนกลุ่มสุดท้าย” หลังรถหุ้มเกราะข้ามชายแดน ประตูข้ามแดนที่อยู่เบื้องหลังทหารสหรัฐอเมริกาได้ปิดลง ทหารสหรัฐและทหารชาวคูเวตได้ตรงเข้าจับมือกันและโพสต์ท่าถ่ายรูป ทั้งนี้มีทหารสหรัฐอเมริกาประจำการในอิรัก 157 นาย เพื่อรับผิดชอบการฝึกอยู่ที่สถานทูตสหรัฐอเมริกา และมีนาวิกโยธินจำนวนหนึ่งปฏิบัติภารกิจคุ้มครองนักการทูต การถอนกองทัพออกจากอิรักของสหรัฐอย่างเงียบๆ ตรงข้ามกับนโยบายโจมตีทิ้งระเบิดเพื่อไล่ล่าซัดดัม ฮุสเซนในปี 2546 อย่างดุเดือด ในต้นสัปดาห์นี้ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บารัก โอบาม่า ได้พบกับนายกรัฐมนตรีอิรักนูรี อัล มาลิกี เหมือนเป็นหมุดหมายในการยุติสงครามอิรัก ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาประกาศเมื่อเดือนตุลาคมนี้ว่า ทหารสหรัฐอเมริกาจะออกจากอิรักในสิ้นปี 2554 ซึ่งเป็นกำหนดการที่ผ่านการเห็นชอบมาก่อนหน้านี้โดยอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชในปี 2551 ในสุนทรพจน์ล่าสุดที่ฐานฟอร์ตแบร็กในรัฐนอร์ท คาโรไลนา ประธานาธิบดีโอบามาได้กล่าวชื่นชมทหารซึ่งเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในอิรัก เขากล่าวว่า สงครามได้ก่อให้เกิดประเด็นโต้แย้ง แต่การถอนทหารกลับสหรัฐได้ทิ้ง “เอกราช เสถียรภาพ และการเชื่อถือตนเอง” ไว้ให้อิรัก อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวกล่าวว่า มีข้อวิตกกังวลจากวอชิงตันว่าอิรักไม่ได้มีโครงสร้างทางการเมืองที่แข็งแรงพอ หรือไม่มีความสามารถพอที่จะปกป้องชายแดนของตนเอง พวกเขายังกังวลด้วยว่าอิรักอาจจะเกิดการแตกแยกระหว่างสองนิกายในศาสนาอิสลาม หรือตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอิหร่าน วอชิงตันเคยมีความต้องการคงกำลังขนาดเล็กเพื่อฝึกอบรมและเตรียมต่อต้านการก่อการร้ายในอิรัก แต่เจ้าหน้าที่สหรัฐไม่สามารถเจรจากับรัฐบาลแบกแดดได้ในเรื่องสถานะทางกฎหมาย รวมทั้งประเด็นการคุ้มครองให้ทหารสหรัฐพ้นจากความรับผิดทางกฎหมาย ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก Last US troops withdraw from Iraq, BBC, 18 December 2011 Last updated at 05:45 GMT http://www.bbc.co.uk/news/world-middle-east-16234723

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net