Skip to main content
sharethis

 นักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคม และประชาชนทั่วไปร่วมกันเปิดตัวหนังสือ “ก้าวข้ามความกลัว” (Thailand’s Fearlessness: Free Akong) และนิทรรศการภาพถ่าย ณ ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

 

 

 

 

15 ธ.ค. 54 - เวลา 17:30 น. นักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคม และประชาชนทั่วไปร่วมกันเปิดตัวหนังสือ “ก้าวข้ามความกลัว” (Thailand’s Fearlessness: Free Akong) และนิทรรศการภาพถ่าย ณ ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการรณรงค์ทางเฟซบุ๊ก Thailand’s Fearlessness: Free Akong กล่าวถึงที่มาของการจัดพิมพ์หนังสือและการจัดนิทรรศการดังกล่าวว่า การณรงค์นี้ได้รับแรงบันดาลใจจากโครงการ "ความไม่กลัว" ของพม่า ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนางอองซาน ซูจี เพื่อสนับสนุนความกล้าหาญให้แก่นักโทษทางการเมืองจำนวนมากในพม่า นี่เป็นการรณรงค์อย่างสงบสันติ เราต้องการส่งสาร โดยการเขียนชื่อ "อากง" บนฝ่ามือ เพื่อสนับสนุนและรณรงค์เพื่ออิสรภาพของเขา

ปวินได้เริ่มการรณรงค์ Thailand’s Fearlessness: Free Akong ผ่านเฟซบุ๊กของตัวเขาเองในวันที่ 30 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยเชิญชวนผู้ที่เห็นปัญหาของมาตรา 112 ร่วมรณรงค์โดยการ ขอให้เขียนชื่ออากงบนฝ่ามือ และถ่ายรูปเต็มตัวให้เห็นหน้า เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนายอำพล (ขอสงวนนามสกุล) หรือที่รู้จักกันในชื่อ "อากง" ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 20 ปี เมื่อเดือน พฤศจิกายนที่ผ่านมา เนื่องจากถูกกล่าวหาว่า ส่งเอสเอ็มเอส 4 ข้อความ ซึ่งมีเนื้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี ไปยังโทรศัพท์มือถือของเลขาฯ ส่วนตัวของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ในขณะนั้น

“เรามาจนถึงปลายทางแล้วเมื่อพูดถึงความยุติธรรมในประเทศไทย กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อทำลายฝั่ง ตรงข้ามมากขึ้น น่าเศร้าที่ตุลาการไม่อยู่ข้างประชาชน แคมเปญนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากโครงการ "ความไม่กลัว" ของพม่า ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนางอองซาน ซูจี เพื่อสนับสนุนความกล้าหาญให้แก่นักโทษทางการเมืองจำนวนมากในพม่า นี่เป็นการรณรงค์อย่างสงบสันติ เราต้องการส่งสาร โดยการเขียนชื่อ "อากง" บนฝ่ามือ เพื่อสนับสนุนและรณรงค์เพื่ออิสรภาพของเขา”

จากนั้น เมื่อมีผู้สนใจร่วมรณรงค์มากขึ้น จึงเป็นที่มาของแนวคิดการจัดพิมพ์หนังสือและจัดนิทรรศการดังกล่าว  โดยมีผู้ร่วมรณรงค์จนถึงปัจจุบันกว่าพันคน

นอกเหนือจากการเปิดตัวหนังสือ “ก้าวข้ามความกลัว” (Thailand’s Fearlessness: Free Akong) และนิทรรศการภาพถ่าย แล้ว ยังมีการเสวนาว่าด้วยการก้าวข้ามความกลัว โดยมี สาวตรี สุขศรี กลุ่มนิติราษฎร์, วรพจน์ พันธุ์พงศ์ นักเขียนอิสระและวันรัก สุวรรณวัฒนา อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมสนทนา พร้อมทั้งฉายวีดีทัศน์ “อภยยาตรา” รวมไปถึงการร้องเพลง “แดนตาราง” นิธินันธ์ ยอแสงรัตน์  บรรเลงไวโอลีนโดย ฌส นิยมทรัพย์

หนังสือ "ก้าวข้ามความกลัว" (Thailand’s Fearlessness: Free Akong) นั้น เป็นหนังสือที่รวบรวมภาพของผู้เข้าร่วมกิจกรรม Thailand’s Fearlessness: Free Akong ในระหว่างวันที่ 30 พ.ย.- 5 ธ.ค. ที่ผ่านมา จำนวนเกือบ 500 ภาพ และมีเนื้อหาเกี่ยวกับปัญหาการใช้ การตีความ และตัวบทกฎหมาบของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เขียนโดย ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และเดวิว สเตรคฟัสส และคำนิยมโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธงชัย วินิจจะกูล

หนังสือ "ก้าวข้ามความกลัว" (Thailand’s Fearlessness: Free Akong)  จำพิมพ์จำนวน 1,500 เล่ม จำหน่วยในราคาเล่มละ 112 บาท โดยรายได้จากการจำหน่วยหนังสือเล่มนี้ รายได้จากการขายหนังสือทั้งหมด (หลังหักค่าจัดพิมพ์) มอบให้ครอบครัว “อากง”

 

 

 

 

หนังสือ “ก้าวข้ามความกลัว” โดยปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์

คำนิยมโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ธงชัย วินิจจะกูล, David Streckfuss

ราคาเล่มละ 112 บาท

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net