Skip to main content
sharethis

15 ธ.ค.54  ที่ศาลอาญา รัชดา ห้องพิจารณาคดี 801 เวลาประมาณ 9.40 น. ผู้พิพากษานั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีของนางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นเวลาราว 40 นาที หลังจากศาลอุทธรณ์สั่งยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและสั่งให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตี ความ ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ต.ค.54 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการพิจารณาลับของศาลชั้นต้นไม่เป็นการขัดรัฐ ธรรมนูญ และมีการนัดอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาเป็นวันนี้ (15 ธ.ค.) เนื่องจากมีการโยกย้ายองค์คณะผู้พิพากษา

นายชนาธิป เหมือนพะวงศ์ นั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาระบุว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง เป็นความผิดในมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา จำเลยกระทำผิด 3 กรรม ให้ลงโทษทุกกรรม เป็นโทษจำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 15 ปี ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า มีผู้สื่อข่าว ผู้สนใจร่วมฟังคดีนี้ประมาณ 20 คน รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยห้องพิจารณาคดีเข้มงวดกว่าปกติ และมีเจ้าหน้าที่ในชุดปฏิบัติการพิเศษทำการควบคุมตัวจำเลยมายังห้องพิจารณา คดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในครั้งแรกก่อนจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น สั่งลงโทษจำคุกไว้ 18 ปี โดยในคำฟ้องของอัยการระบุว่าจำเลยกระทำผิดโดยกล่าวปราศรัยที่สนามหลวง 3 ครั้งในวันที่ 7 มิ.ย.51, 13 มิ.ย.51 , 18-19 ก.ค.51 ทั้งนี้ เวทีดังกล่าวโดยเป็นการปราศรัยของกลุ่มประชาชนที่ก่อตัวขึ้นก่อนจะเกิด นปก.หรือ นปช. เป็นเวทีขนาดเล็กมีประชาชนร่วมฟังราว 40-50 คน ต่อมาวันที่ 22 ก.ค.51 เจ้าหน้าที่ได้บุกเข้าจับกุมตัวดารณีที่ห้องพัก และควบคุมตัวไว้ที่ทัณฑสถานหญิงกลางจนถึงปัจจุบัน รวมเป็นเวลา 3 ปี 6 เดือน และไม่ได้รับการประกันตัว   

สำหรับคำบรรยายความผิดที่ผู้พิพากษา อ่านในครั้งนี้ สรุปความได้ว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้กระทำการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์และพระราชนี คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดจริงหรือไม่ ซึ่งจากการเบิกความพยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 นายได้ยืนยันตรงกันว่า จำเลยได้ขึ้นกล่าวปราศรัยโดยมีบางตอนที่เข้าข่ายผิดกฎหมายและมีการบันทึก เสียงไว้ พยานโจทก์ทั้ง 3 ทำการหาข่าว ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ไม่เคยรู้จักกับจำเลยและไม่มีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ประกอบกับแม้จะมีการนำส่งซีดีผิด แต่ในขณะพิจารณาคดีได้มีการนำส่งซีดีใหม่และศาลได้เปิดฟังต่อหน้าจำเลยทั้ง หมดแล้วซึ่งตรงกับเอกสาร [เอกสารถอดเทปจากการบันทึกเสียง-ประชาไท] แม้จำเลยจะบ่ายเบี่ยงว่าจำไม่ได้ว่าได้ปราศรัยอะไรไปบ้าง แต่จำเลยไม่ได้ปฏิเสธการขึ้นกล่าวปราศรัย ทั้งยังเบิกความเองว่าหลังการรัฐประหารจำเลยได้ขึ้นกล่าวปราศรัยอยู่โดยตลอด เจือสมกับการสืบพยานโจทก์

ประเด็นพิจารณาต่อมาคือ ข้อความดังกล่าวดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์หรือไม่ ซึ่งพยานโจทก์ทั้ง 4 ซึ่งเป็นตำรวจและประชาชนทั่วไปต่างก็ยืนยันว่าเป็นการกล่าวเปรียบเทียบ เปรียบเปรย จาบจ้วงล่วงเกินพระมหากษัตริย์และพระราชินี ซึ่งพยานทั้งหมดไม่รู้จักและไม่มีเหตุโกรธเคืองกับจำเลย อีกทั้งรัฐธรรมนูญระบุว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะ ล่วงละเมิดมิได้ ดังนั้นประชาชนจะใช้เสรีภาพไปล่วงละเมิดพระมหากษัตริย์และพระราชินีไม่ได้ ทั้งยังมีหน้าที่ต้องรักษาสถาบันไว้คู่ประเทศ การมีผู้ใดกล่าวจาบจ้วงล่วงเกินเป็นสิ่งไม่พึงกระทำ การกล่าวปราศรัยในวันที่ 7 มิ.ย.51 มีการกล่าวถึงปลอกคอสีเหลือง สีน้ำเงิน และน้ำดื่มจิตรลดา ซึ่งแม้มิได้ระบุชื่อชัดแจ้ง แต่พฤติการณ์ที่กล่าวถ้อยคำเป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นว่าต้องการสื่อว่าทั้ง สองพระองค์สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการกล่าวจาบจ้วงล่วงเกินพระมหากษัตริย์และพระราชินี ส่วนในการกล่าวปราศรัยวันที่ 13 มิ.ย.จำเลยปราศรัยถึง “มือที่มองไม่เห็น” เชื่อมโยงกับกระบวนการยุติธรรมที่ถูกบิดเบือน รวมทั้งระบุว่าประเทศไทยมีสภาพเหมือนก่อนปี 2475 จำเลยจบการศึกษาระดับปริญญาโท และเป็นสื่อมวลชน ย่อมต้องทราบดีว่าการปกครองก่อนปี 2475 เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คำปราศรัยดังกล่าวสื่อว่าปัจจุบันประเทศไทยยังเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจสิทธิขาด อีกทั้งจำเลยเป็นสื่อมวลชนย่อมต้องทราบว่าการเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณของคณะผู้ พิพากษาเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงบุคคลที่บ้าน สี่เสาเทเวศที่เกี่ยวพันกับการรัฐประหาร ซึ่งแม้ไม่ได้ระบุชื่อจริงแต่จำเลยเป็นสื่อมวลชนย่อมต้องรู้ข้อเท็จจริงว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อาศัยที่บ้านสี่เสาเทเวศ และพยานโจทก์ได้เบิกความว่า พล.อ.เปรม ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานองคมนตรี ดังนั้น คำว่า “มือที่มองไม่เห็น” จึงไม่ได้หมายถึง พล.อ.เปรมอย่างที่จำเลยกล่าวอ้าง และแม้เป็นการเปรียบเปรยแต่ก็ทำให้ผู้ได้ยินรู้ว่าหมายถึงใคร นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงราชวงศ์ของญี่ปุ่น รัสเซีย และฝรั่งเศส โดยจำเลยใช้คำว่า  “ชนชั้นปกครอง” ซึ่งสื่อความหมายถึงสถาบันกษัตริย์

ผู้ พิพากษาระบุอีกว่า แม้จำเลยจะเบิกความว่าไม่เจตนาจาบจ้วงล่วงเกินพระมหากษัตริย์ เพราะประเทศไทยอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีพระมหากษัตริย์ และต้องการปกป้องสถาบัน ไม่ให้ใครดึงมาเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่จากการพิจารณาจากเนื้อหาการปราศัยทั้งหมด มิใช่แค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง จะเห็นว่าจำเลยกล่าวซ้ำหลายครั้ง แสดงให้เห็นว่าจำเลยกระทำด้วยเจตนา ไม่ใช่พลั้งเผลอ จำเลยจึงกระทำผิดตามฟ้อง   

ภายหลังการพิจารณาคดี ดารณี ให้สัมภาษณ์จากห้องขังของศาลอาญาว่าจะไม่อุทธรณ์คดี เนื่องจากประสบการณ์จากหลายๆ คดีทั้งคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และคดียาเสพติดทั่วไปที่ได้เห็นจากในเรือนจำนั้น การต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใช้เวลายาวนานมาก หลายกรณีใช้เวลาเป็นสิบปี จึงตัดสินใจให้คดีสิ้นสุด เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจะขอพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ ดารณีพยักหน้า

ผู้ สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ดารณีเพิ่งถูกย้ายกลับมายังทัณฑสถานหญิงกลางเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (12 ธ.ค.) หลังจากถูกย้ายไปยังเรือนจำคลองไผ่จังหวัดนครราชสีมาในช่วงเกิดสถานการณ์น้ำ ท่วมเรือนจำ ซึ่งดารณีระบุว่า เรือนจำคลองไผ่ให้การดูแลผู้ต้องดีกว่าเรือนจำในกรุงเทพฯ ทั้งอาหารการกินและการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง แม้อากาศจะหนาวมาก แต่ก็มีการประสานกับกาชาดสากลเพื่อจัดหาผ้าห่มให้อย่างเพียงพอ แต่ยังขาดแคลนเรื่องยารักษาโรค โดยดารณีไม่ได้รับยาแก้ปวดรักษาอาการขากรรไกรยึดติดตลอดสองสัปดาห์ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net