Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ได้อ่านข่าวหนังสือพิมพ์ส่วนกลางฉบับหนึ่ง ประจำวันที่ 29 พ.ย. 54 หน้าการศึกษา เกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แล้วน่าสนใจไม่น้อย เนื้อข่าว มีดังนี้ “แม้จะมีไอเดียต่างๆ ออกมาเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่เจอน้องน้ำเล่นงาน แต่ทั่นวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ก็ยังไม่ถูกอกถูกใจในข่าวสารที่ออกเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ เพราะมีน้อยเหลือเกิน แถมลงหน้าหนึ่งก็ไม่ค่อยมี ตามสื่อทีวีก็มีน้อยครั้งที่จะเห็น งานนี้เลยทำเอา “ครูแมว” ลงมาสั่งการเอง ให้ ศธ.เร่งโหมงานประชาสัมพันธ์กันอย่างยกใหญ่ นัยว่า ต้องมีข่าวออกตามสื่อมากกว่าเดิม...” ปรากฎในคอลัมน์ ซึ่งจั่วหัวว่า “ข่าวออกน้อย” เชิงซุบซิบ แซวกันประมาณนั้น แต่ก็เป็นประเด็น และมีแง่มุมให้คิด ผู้เขียนขอโอกาสร่วมแจมด้วยข้อคิด ความเห็นบางเหลี่ยมบางมุม ตามประสาคนสนใจพีอาร์ โดยเฉพาะเจ้าของคอลัมน์ฯ ยังแซวเล็กๆ ท่านรัฐมนตรีท้ายข่าวด้วยว่า “งานนี้เห็นใจคนทำประชาสัมพันธ์เพราะต้องยอมรับว่า งานการศึกษานั้นโอกาสจะขึ้นหน้าหนึ่ง หรือออกตามสื่อทีวีจะน้อยกว่าข่าวอื่น หากประเด็นไม่เด็ดหรือสำคัญจริงๆ ถ้าจะให้ข่าวออกเยอะๆ เห็นทีทั่นวรวัจน์คงต้องปรับการทำงาน เปิดประเด็นที่น่าสนใจ รับรองงานนี้ข่าวออกตึมแน่ ไม่ต้องให้ออร์แกไนเซอร์มาช่วยทำประชาสัมพันธ์ด้วย ประหยัดงบได้มากโข” ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่ง แม้เป็นคำแซว ซุบซิบจากเจ้าของคอลัมน์ฯ แต่ก็เป็นอะไรที่มีคุณค่าและความหมายแก่ผู้ปฏิบัติงานประชาสัมพันธ์ (พีอาร์) ทั่วไป ไม่เฉพาะองค์กร ศธ.เท่านั้น องค์กรรัฐ เอกชนอื่นก็เช่นกัน ทั้งนี้ อยากสะท้อนใน 2 มิติ และควรต้องไปด้วยกัน จึงจะมีข่าวออกตามสื่อมากกว่าเดิม กล่าวคือ 1 มิติคนทำประชาสัมพันธ์ ศธ. 2 มิติผู้นำ ศธ. ต้องยอมรับว่า เห็นใจคนทำประชาสัมพันธ์ ศธ.ที่จะผลักดันผลงานพีอาร์ให้ออกมาโดนใจนาย หรือ ผู้นำ ศธ. เป็นไปได้ยาก แม้จะโหมทำอย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุปัจจัยต่อไปนี้ ประการแรก งานการศึกษา มักเป็นงานนิ่ง รอได้ เช่น ผลงานวิจัย ฯลฯ คนรู้ข่าววิจัยตอนไหนก็ได้ สื่อก็เลยไม่รีบร้อนนำเสนอ หรือลงพิมพ์ให้ ไม่ลงวันนี้ ลงพรุ่งนี้ก็ยังได้ ไม่เสียหาย หรือจะอีก 2- 3 วันค่อยลงก็ได้อีก ทีวี อาจไปออกช่วงดึก หรือไม่ก็ตี 4-5 ใครจะดู อาจเลื่อนไปออกอีก 1-2 วันถ้าจำเป็น จนที่สุด เผลอๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ ทีวี อาจไม่เผยแพร่ ก็เป็นไปได้ โดยเฉพาะหากมีข่าวสำคัญ ข่าวฮ็อต สื่อย่อมหันไปโฟกัสข่าวนั้นๆ เนื่องจากคุณค่าข่าวมากกว่า ครั้นอีก 2-3 วันพอจะลงให้ กลับมีข่าวสำคัญมาเบียดพื้นที่ไปอีกแล้ว อย่าลืมว่า ข่าวเกิดขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะข่าวใหม่ ความเคลื่อนไหวใหม่ๆทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ ทำให้ผลในเชิงพีอาร์กระทรวง ไม่โดดเด่นโดนใจ ศธ.1 ประการที่สอง ข่าวการศึกษามักถูกจัดไปลงหน้าการศึกษา หรือไม่ก็หน้าอื่นๆ ที่มีพื้นที่ว่างข้างในฉบับ ทำให้ไม่เตะตา ทำอย่างไรให้ประเด็นเด็ดหรือสำคัญจริงๆ อย่างที่เจ้าของคอลัมน์ว่า ถึงจะมีโอกาสขึ้นหน้าหนึ่ง ประการที่สาม เฉพาะอย่างยิ่งข่าวการศึกษา ค่อนข้างเป็นรูทีน ไม่มีอะไรใหม่ ว่ากันเป็นเทอมๆ ไปตามปฏิทิน เช่น ข่าวการรับสมัครเข้าศึกษาต่อหลักสูตรต่างๆ เป็นต้น ไม่เหมือนข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจที่เคลื่อนไหวรายวัน เร้าความสนใจกว่า ไม่รู้วันนี้ไม่ได้ ตกข่าว เช่น ข่าวปรับ ครม. การอภิปรายไม่ไว้วางใจ น้ำมัน ทองขึ้นราคา ฯลฯ ไม่เว้นกระทั่งรัฐมนตรี ส.ส.ทะเลาะกันยังเป็นข่าว สื่อเกาะติด เผลอๆลงหน้าหนึ่งอีกต่างหาก ทีวีก็ออกในข่าวภาคค่ำ กระทรวงเศรษฐกิจจึงได้เปรียบกว่ากระทรวงศึกษา แต่ผู้นำกระทรวงยุคใหม่ต้องเก่งบริหาร แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องประชาชนได้ผลดีด้วย เมื่อเหตุปัจจัย เป็นข้อจำกัดเช่นนี้ ทำอย่างไรให้ข่าวการศึกษา เป็นข่าวสำคัญ มีอะไรที่แปลกใหม่ในสายตาของสื่อ เป็นโอกาสและความท้าทายคนทำประชาสัมพันธ์ ศธ.ยุคใหม่ไม่น้อย ข่าวสำคัญ ย่อมมาจากงานสำคัญ จะเป็นข่าวสำคัญได้ งานต้องสำคัญก่อน เป็นประโยชน์สูงแก่ประชาชน เป็นเรื่องของผู้นำกระทรวง มิใช่คนทำประชาสัมพันธ์ ศธ.เท่านั้น มิเพียงให้เร่งโหมงานประชาสัมพันธ์จะช่วยได้ อยู่ที่ผู้นำ ศธ.ยุคใหม่ต้องหันไปสร้างงานที่สำคัญๆ งานใหม่ๆ นโยบายใหม่ๆ ประโยชน์ใหญ่ๆ ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมยุคใหม่ด้วย ไม่ใช่รูทีนในโจทย์เดิมๆ แต่เป็นโจทย์ใหม่ในบริบทที่เปลี่ยนไป เช่น ในมหาอุทกภัยหรือน้องน้ำที่เป็นโจทย์ใหม่ของประเทศปีนี้ ศธ.น่ามีนโยบายให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งที่มีคณะแพทย์ เภสัช สาธารณสุข ออกหน่วยเคลื่อนที่ตรวจรักษา แจกยา เวชภัณฑ์ที่จำเป็น แนะนำสุขภาพ และช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เจ็บป่วย อัมพฤกอัมพาตทุกข์ทรมานติดอยู่ในบ้าน ออกมาพักรักษาตัวในโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย คณะวิศวะ ระดมนิสิตนักศึกษาต่อเรือ ติดเครื่องยนต์เล็กๆ ให้ประชาชนผู้ประสบภัยใช้สัญจรไปมาในการดำเนินชีวิตระหว่างถูกน้ำท่วม มหาวิทยาลัยละ 100 ลำ งบมาเอาที่ ศธ. ถ้าอย่างนี้ ก็ได้ใจประชาชนเต็มๆ สื่อรู้วิ่งมาหา อยากได้ข่าว พีอาร์ก็ง่ายขึ้น คนเห็นผลงาน ดังนั้น ผู้กำหนดความสำเร็จของการประชาสัมพันธ์ยุคใหม่ และ ศธ.ตัวจริง คือ ผลงานที่สร้างขึ้น คือผู้นำ ศธ. นั่นเอง คนทำประชาสัมพันธ์ ศธ. เป็นเครื่องมือนำผลงานนั้นมาสื่อสารประชาสัมพันธ์ออกไปให้สื่อ เรือติดเครื่องยนต์ 100 ลำอย่างนี้ สื่อย่อมโฟกัส เพราะสื่อเองก็ต้องแข่งข่าวสารที่ตอบโจทย์ประชาชนในยุคใหม่เช่นกัน หนุนส่ง ศธ.โดดเด่นได้ไม่แพ้กระทรวงเศรษฐกิจ คุณค่าพีอาร์ อยู่ที่คุณค่าข่าวสาร คุณค่าข่าวสาร อยู่ที่คุณค่างาน คุณค่างาน ขึ้นกับผู้นำ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net