Skip to main content
sharethis

10 ธ.ค.54 เวลาประมาณ 16.00 น. บริเวณลานอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีการจัดกิจกรรม “อภยยาตรา” หรือ Fearlessness walk โดยมีประชาชนทยอยเข้าร่วมกว่า 100 คน ส่วนใหญ่ใส่เสื้อสีดำ และมีการเตรียมป้ายที่เขียนข้อความต่างๆ เกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112 และข้อเรียกร้องต่างๆ รวมถึงกรณีของนายอำพล หรือ “อากง” ที่เพิ่งถูกตัดสินจำคุก 20 ปีจากกรณีส่ง SMS หมิ่นสถาบัน ทั้งนี้ งานนี้ได้รับความสนใจจากผู้สื่อข่าวต่างประเทศจำนวนมาก

กิจกรรมดังกล่าวนำโดยนักวิชาการจากหลายสถาบัน กลุ่ม Article 112 กลุ่ม “เราคืออากง” กลุ่มกวีราษฎร กลุ่มอาสากู้ภัยน้ำตื้น และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) โดยเริ่มต้นประชาสัมพันธ์ในเฟซบุ๊คตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเริ่มต้นตั้งขบวนได้มีการกล่าวนำจากนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์, นายสุรพศ ทวีศักดิ์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์การศึกษาหัวหิน นักวิชากรรายล่าสุดที่โดนหมายเรียกในคดีหมิ่นสถาบัน, นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ผู้ริเริ่มการรณรงค์ “ฝ่ามืออากง” ทางเฟซบุ๊ค และวันรัก สุวรรณวัฒนา อาจารย์จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้จัดกิจกรรมครั้งนี้

Fearless walk 10 12 2011

Fearless walk 10 12 2011

Fearless walk 10 12 2011

วันรัก สุวรรณวัฒนา กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของกิจกรรมครั้งนี้ว่า อภยยาตรา นั้นแรกเริ่มเกิดขึ้นในประเทศพม่าโดยอองซานซูจี โดยคำว่า ภย แปลว่าความกลัว และ อภย แปลว่าไร้ซึ่งความกลัว ส่วนกิจกรรมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความอัดอั้นในสังคมในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งได้แรงบันดาลใจจากงานรณรงค์ “ฝ่ามืออากง” ในเฟซบุ๊ค ซึ่งพวกเราทั้งในโลกเสมือนและโลกจริงรู้สึกว่าต้องทำอะไรบางอย่างให้สังคม ได้รับรู้ เป้าหมายหลักคือต้องการสื่อสาร เคาะประตู กับสังคมโดยเฉพาะคนที่คิดต่างออกไป และยังไม่เคยรับรู้ถึงปัญหาของกฎหมายมาตรา 112 โดยสัญลักษณ์สำคัญในวันนี้คือ “อากง” ซึ่งถูกตัดสินพิพากษาจำคุก 20 ปีไปเมื่อเร็วๆ นี้

ส.ศิวรักษ์ กล่าวว่า อยากจะเตือนความจำว่าวันนี้เป็นวันรัฐธรรมนูญ ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ใช่กษัตริย์อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้วันนี้ยังเป็นวันปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน รัฐธรรมนูญสำคัญกับประเทศไทย ส่วนสิทธิมนุษยชนนั้นสำคัญสำหรับคนทั้งโลก แต่เมืองไทยในขณะนี้ไม่มีเคารพทั้งรัฐธรรมนูญและสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่สมัยรัฐบาลภายใต้การนำของทักษิณ ชินวัตร คดีที่เกี่ยวข้องกับตน 3 คดีมีทักษิณอยู่เบื้องหลัง มาจนปัจจุบันยังมีคดี “อากง” ซึ่งไม่มีทางผิดได้ในทางกฎหมาย แล้วยังมีคดีล่าสุดที่มีหมายเรียกอาจารย์สุรพศ ทวีศักดิ์ ซึ่งข้อเสนอของอาจารย์ไม่มีข้อไหนโจมตีว่าร้ายสถาบันแต่อย่างใด ถ้ารัฐบาลนี้ฉลาดก็ควรออกมาจัดการระงับคดีต่างๆ ทั้งหมด เพราะแม้แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังรับสั่งว่าคดีหมิ่นทำร้ายพระองค์ ท่าน

สุรพศ ทวีศักดิ์ กล่าวว่า ในความรู้สึกของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการคุกคามเสรีภาพ ด้วยมาตรา 112 อีกคนหนึ่งของประเทศนี้ ผมเห็นว่า กฎหมายหมิ่นฯ มาตรา 112 คือ กฎหมายที่ขัดต่อหลักเสรีภาพและหลักความเสมอภาคในระบอบประชาธิปไตย จึงเป็นกฎหมายที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นคนของประชาชน และเป็นกฎหมายที่อยุติธรรมต่อประชาชนอย่างยิ่ง อยุติธรรมเนื่องจากว่า มันทำลายเสรีภาพในการตรวจสอบ “บุคคลสาธารณะ” ที่ใช้ภาษีของเรา อยุติธรรมเนื่องจากว่า มันสามารถลงโทษประชาชน เนื่องจากการกระทำความผิดด้วย “คำพูด” เพียงไม่กี่คำ โดยการจำคุกได้ ถึง 20 ปี อยุติธรรมเนื่องจากว่า มันเปิดให้ใครไปแจ้งความก็ได้ ก่อให้เกิดการใช้กฎหมายหมิ่นฯ ทำลายล้างกันทางการเมือง เป็นเงื่อนไขของการอ้างสถาบันทำรัฐประหาร เป็นเครื่องมือล่าแม่มด สร้างบรรยากาศของความขัดแย้ง และความหวาดกลัว ในหมู่ประชาชนที่รักเสรีภาพ และความยุติธรรม ในฐานประชาชน เราต้องแสดงเสรีภาพของเราแต่ละคนออกมาเสมอ เพราะเสรีภาพที่แสดงออกมาแล้วเท่านั้น จึงนับได้ว่า มันคือ “เสรีภาพที่แท้จริง” และเสรีภาพที่แท้จริงนั้น ไม่มีอำนาจใดๆ ทำลายได้ เราจะส่ง “เสียงเสรีภาพ” ออกไป และส่งเสียงให้ดังขึ้นเรื่อยๆ ว่า ปล่อยอากง ปล่อยนักโทษการเมือง ประเทศนี้ต้องไม่มี “นักโทษทางความคิด” จงให้เราเป็นมนุษย์ตามที่เรามีสิทธิที่จะเป็น!

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ กล่าวว่า โครงการ The Fearlessness หรือก้าวข้ามความกลัวที่รณรงค์ผ่านทางเฟซบุ๊คนั้นจะมีการรวบรวมจัดพิมพ์เป็น หนังสือ ชื่อ Thailand’s Fearlessness Free Akong โดยจะเปิดตัวในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ ขณะที่ตัวแทนจาก สนนท.กล่าวว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ สนนท.อยากเรียกร้องให้นักศึกษาออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้มากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขบวนเริ่มออกเดินเท้าอย่างสงบในเวลาประมาณ 16.40 น. โดยมีนายสุลักษณ์นั่งรถเข็น และนายบัณฑิต อานียา นักเขียนที่มีคดีมาตรา 112 อยู่ในชั้นศาลฎีกา เป็นผู้เข็นรถนายสุลักษณ์ สลับผลัดเปลี่ยนกับคนอื่นๆ ไปตลอดทางอย่างค่อนข้างทุลักทุเล โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจขับนำขบวน และได้รับความสนใจจากประชาชนตลอดสองข้างทาง จนกระทั่งถึงแยกราชประสงค์ในเวลาประมาณ 17.45 น. ผู้ร่วมขบวนได้ร่วมกันตะโกนคำว่า “ปล่อยอากง” (Free Akong) 5 ครั้ง ก่อนจะยุติกิจกรรมอย่างเป็นทางการ

>> คลิกดูประมวลภาพ กิจกรรม อภยยาตรา Fearlessness walk ทั้งหมด

 

เชียงใหม่ร่วมด้วย Fearlessness Walk

วันเดียวกัน เวลาประมาณ 17.00น. ที่ถนนคนเดินวันเสาร์ วัวลาย จ.เชียงใหม่ ประชาชนกลุ่มหนึ่งซึ่งประกอบด้วยนักเรียน นักศึกษา นักกิจกรรม ราว 50 คน รวมตัวกันจัดกิจกรรมคู่ขนานกับงาน ที่กรุงเทพฯ โดยมีการแต่งกายด้วยเสื้อสีดำ บ้างสวมหน้ากาก "อากง" และถือป้ายข้อความ อาทิ "Fearlessness Walk" "อากง" "เฮาคืออากง" "หยุดคุกคามเสรีภาพทางวิชาการด้วย ม.112" โดยเดินรณรงค์อย่างเงียบๆ และแจกแผ่นพับรณรงค์เกี่ยวกับมาตรา 112 บนถนนคนเดิน และหลังยืนเคารพธงชาติ ทั้งหมดได้นอนลงกับพื้น ซึ่งสามารถเรียกความสนใจจากผู้พบเห็นพอสมควร

fearlessness walk

2011-12-10 18.02.24

รจเรข วัฒนพาณิชย์ หนึ่งในผู้ร่วมจัด บอกว่า ในโอกาสที่วันนี้เป็นวันสิทธิมนุษยชนสากลด้วย การนอนลงก็คล้ายเป็นการประชดคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทยที่ยังนอน หลับอยู่ ไม่ลุกขึ้นมาทำอะไร ขณะที่องค์กรสิทธิทั้งของเอเชีย ยุโรป หรือสหรัฐ ต่างก็เรียกร้องให้มีการแก้ไขเรื่องนี้กันแล้ว จึงอยากนอนเพื่อบอกว่าเขาไม่ได้เรื่อง

เมื่อถามถึงกิจกรรมต่อๆ ไป รจเรข กล่าวว่า คงจะไม่หยุดเรื่องนี้ สำหรับวันนี้ ดีใจที่มีคนถามว่าอากงคือใคร ก็คิดว่าน่าสนใจ แม้ ณ ตอนนั้นเขาอาจยังไม่เข้าใจว่าคืออะไร แต่กลับไปเขาอาจค้นหาในกูเกิลดูได้อยู่แล้ว

นักศึกษาวัย 26 ปีจากแนวร่วมนักเรียนนิสิตนักศึกษาเสรีชนล้านนา ซึ่งมาร่วมกิจกรรมด้วย เล่าว่า ในวันพิพากษา "อากง" นั้น กลุ่มนักศึกษาพยายามจะจัดกิจกรรมขึ้น แต่ก็ล้มเหลวเนื่องจากถูกจับตาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงมองว่าอาจไม่ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ในที่สุดก็ได้จัดงานวันนี้คู่ขนานกับที่กรุงเทพฯ ถือเป็นการแสดงพลังจากภูมิภาค โดยตลอดเส้นทางก็มีคนมาถามว่า "อากง" คือใคร ตนเองก็ได้อธิบายและได้รับเสียงสนับสนุนพอสมควร

ด้านนักศึกษาวัย 21 ปีอีกคนจากแนวร่วมนักเรียนนิสิตนักศึกษาเสรีชนล้านนา แสดงความเห็นว่า การเคลื่อนไหวในเชิงสัญลักษณ์นี้เป็นการตั้งคำถามปลายเปิด ที่ก่อให้เกิดการคิดต่อทั้งเห็นด้วยและหักล้าง ซึ่งจะทำให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นสาธารณะและเป็นที่สนใจ ทั้งนี้เขาเองจะรู้สึกดีใจหากผู้ที่เห็นต่างจะมาถกเถียงกัน เพราะนั่นแสดงถึงความเป็นประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม มองว่า ปัญหาตอนนี้เกิดจากสังคมไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะรับความเห็นที่แตกต่างได้ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากความเชื่อว่าคนไม่เท่ากัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net