“MRC” ไร้มติชี้ขาด “เขื่อนไซยะบุรี” เล็งทุน “ญี่ปุ่น” ศึกษาเพิ่มทั้งลำน้ำโขงตอนล่าง

สรุปประชุมคณะมนตรีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) เล็งทุนญี่ปุ่นศึกษาเพิ่มเติมการพัฒนาแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน เผยวาระ “เขื่อนไซยะบุรี” หารือแค่ภาพกว้าง ด้านชาวบ้านเตรียมล่าชื่อฟ้องศาลปกครอง ชี้ กฟผ.งุบงิบเซ็นต์สัญญาซื้อขายไฟฟ้าลาว วันนี้ (8 ธ.ค.54) คณะมนตรีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) จัดประชุมที่เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา เพื่อหาข้อสรุปเรื่องการปรึกษาหารือล่วงหน้าระหว่างประเทศสมาชิก เกี่ยวกับโครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงสายประธานในแขวงไซยะบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยการประชุมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมประจำปีของคณะมนตรี ซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการจัดการทรัพยากรน้ำ จากประเทศสมาชิก 4 ประเทศ คือ กัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ลาว) ไทย และเวียดนาม ระหว่างวันที่7-9 ธ.ค.54 เผยเล็งแหล่งทุนญี่ปุ่นศึกษาเพิ่มเติม แนวทางการพัฒนาแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน หลังการประชุม สำนักงานคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงออกแถลงการณ์ (คลิกอ่าน) ข้อสรุปการประชุมซึ่งระบุถึงโครงการพัฒนาบนแม่น้ำโขงตอนล่างว่า การประชุมคณะมนตรีคณะกรรมการแม่น้ำโขง มีผลสรุปในวันนี้ว่า ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบของการพัฒนาและการจัดการแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนต่อไปอีก รวมถึงผลกระทบของโครงการเขื่อนพลังน้ำบนแม่น้ำโขงสายหลัก คณะกรรมาธิการที่ประกอบด้วยรัฐมนตรีด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศที่เกี่ยวข้องต่างเห็นพ้องต้องกันในหลักการว่าจะทาบทามรัฐบาลญี่ปุ่นและหน่วยงานระหว่างประเทศอื่นๆ เพื่อการสนับสนุนในการดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป แถลงการณ์ระบุด้วยว่า ผลการประชุมดังกล่าวนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการพูดคุยร่วมกันของประเทศสมาชิกทั้ง 4 ในการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 3 ที่จัดคู่ขนานกับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 19 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย โดยรัฐมนตรีฯ ทั้ง 4 รวบรวมข้อสรุปประจำปีเพื่อนำเข้าหารือในที่ประชุมกระบวนการให้คำปรึกษาก่อนการเสนอโครงการเขื่อนไซยะบุรี พร้อมทั้งเรื่องการบริหารและการจัดการอื่นๆ นายลิม เคียน ฮอร์ (Mr.Lim Kean Hor) ประธานคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรน้ำและอุตุนิยมวิทยาของกัมพูชากล่าวว่า ผลการประชุมที่ออกมาในวันนี้ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิกที่จะทำงานร่วมกันภายใต้ข้อตกลงแม่น้ำโขงเพื่อพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยที่ไม่ทำลายความยั่งยืนในการดำรงชีวิตของประชาชนและระบบนิเวศวิทยา และการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมจะช่วยให้ภาพที่สมบูรณ์แก่ทั้ง 4 ประเทศ เพื่อจะสามารถนำไปใช้ในการถกเถียงประเด็นการพัฒนาและการจัดการทรัพยากรที่ใช้ร่วมกันได้ นอกจาก นายเคียน ฮอร์แล้ว คณะมนตรีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงท่านอื่นๆ ที่ร่วมในการประชุมประกอบด้วย นายหนูลิน สินบันดิด (Mr.Noulinh Sinbandhit) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของลาว นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย และนายเหงียน มินห์ กว่าง (Mr.Nguyen Minh Quang) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของเวียดนาม แจงมีวาระ “เขื่อนไซยะบุรี” แต่เป็นการหารือในภาพกว้าง ดร.วิเทศ ศรีเนตร ผู้ประสานงานแผนงานด้านสิ่งแวดล้อม ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง กล่าวให้สัมภาษณ์ว่าการประชุมคณะมนตรีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงครั้งนี้มีวาระเกี่ยวกับเขื่อนไซยะบุรีแต่ไม่ได้มีการเจรจาเจาะจงในเรื่องนี้โดยตรง และไม่ได้มีการแสดงท่าทีที่ชัดเจนของแต่ละประเทศ แต่หารือในภาพที่กว้างกว่าในเรื่องการพัฒนาบนแม่น้ำโขงสายประธานตอนล่าง จึงไม่มีมติเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในการก่อสร้างโครงการดังกล่าว อย่างไรก็ตามผลการประชุมครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่ประเทศสมาชิกมุ่งเดินหน้าในการพัฒนาร่วมกัน ส่วนสถานภาพของกระบวนการตามระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA) ซึ่งเขื่อนไซยะบุรี เป็นโครงการแรกที่เข้าสู่กระบวนการ PNPCA ดร.วิเทศ กล่าวว่า ในขณะนี้สถานภาพของ PNPCA ยังไม่จบสิ้น คือยังคงเดิมจากเมื่อครั้งการประชุมพิเศษของคณะกรรมการร่วมของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เมื่อวันที่ 19 เม.ย.54 ที่นครหลวงเวียงจันทน์ประเทศลาว คือยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ทั้งนี้ การจะเดินหน้าโครงการเขื่อนไซยะบุรีต่อหรือไม่ ต้องให้เป็นคำตอบของรัฐบาลลาวโดยตรง ดร.วิเทศ กล่าว ถึงกระบวนการ PNPCA ของเขื่อนไซยะบุรีว่า ไม่ได้ถือเป็นบรรทัดฐาน เพราะการพิจารณาพิจารณาเป็นรายกรณี แต่ถือเป็นบทเรียนในการหารือร่วมกัน การเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อโครงการเขื่อนไซยะบุรีไม่มีผลต่อโครงการอื่นๆ เพราะแต่ละโครงการย่อมมีรูปแบบและผลกระทบที่แตกต่างกันออกไป เราต้องเดิมร่วมกัน ศึกษาเพิ่มเติมร่วมกัน ย้ำ “คณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขง” ไม่ใช่คนตัดสิน แค่ให้ข้อมูล ดร.วิเทศ กล่าวด้วยว่า คณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขงไม่ได้มีบทบาทในการตัดสินใจ แต่ทำหน้าที่ทางวิชาการ ให้ข้อมูล ประสานงาน เพื่อให้รัฐบาลแต่ละประเทศมีความพร้อมในการตัดสินใจ และมีการแลกเปลี่ยนร่วมกัน ต่อคำถามถึงการให้ความมั่นใจในกระบวนการของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแก่ผู้ที่เฝ้าติดตามว่าการดำเนินโครงการพัฒนาใดๆ บนลำน้ำโขงจะมีความคำนึงถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต รวมทั้งการมีธรรมาภิบาล ดร.วิเทศ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงพยายามในการทำให้การตัดสินใจดำเนินโครงการต่างๆ อยู่บนพื้นฐานการมีข้อมูลที่เพียงพอในการตัดสินใจ ฟังความคิดเห็นของประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตามคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงไม่สามารถยืนยันแทนประเทศเจ้าของโครงการได้ by International Rivers ส่วนความคืบหน้าการดำเนินการโครงการเขื่อนไซยะบุรีในพื้นที่ก่อสร้างโครงการ ดร.วิเทศ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขงอาจทราบน้อยกว่าข้อมูลที่ผู้ติดตามรับทราบผ่านทางสื่อมวลชน (คลิกดูตัวอย่างข่าว) เนื่องจากข้อมูลที่คณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขงมีนั้นได้มาจากการสื่อสารอย่างเป็นทางการจากทางรัฐบาลลาว ทั้งนี้หลังจากมีการรายงานข่าวการเข้าไปดำเนินการปรับเตรียมพื้นที่เพื่อก่อสร้างโครงการ ทางคณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขงก็ได้ออกหนังสือสอบถามไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ได้มีรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ออกมาในเดือนตุลาคม 2553 ชี้ให้เห็นว่าโครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงสายหลักที่กำลังมีการเสนออยู่ในขณะนี้ จะก่อผลกระทบด้านนิเวศวิทยา เศรษฐกิจ และสังคม ที่ร้ายแรง ทั้งที่เป็นผลกระทบภายในประเทศ และผลกระทบข้ามพรมแดน โดยมีข้อเสนอหลักมีข้อเสนอแนะหลักว่าให้ “ชะลอการตัดสินใจเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงสายหลักออกไปเป็นเวลา 10 ปี” เครือข่ายภาคประชาชน เตรียมเดินหน้าให้ข้อมูลต่อเนื่อง ด้านนายอิทธิพล คำสุข เลขานุการเครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ประกอบด้วย จ.เชียงราย จ.เลย จ.หนองคาย จ.บึงกาฬ จ.นครพนม จ.มุกดาหาร จ.อำนาจเจริญ และ จ.อุบลราชธานี กล่าวภายหลังการทราบผลการประชุมคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงว่า การที่ยังไม่มีมติให้ดำเนินโครงการเขื่อนไซยะบุรีทำให้เห็นช่องทางในการรณรงค์ให้ข้อมูลกับประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขงให้มากขึ้น โดยวางแผนว่าในเดือนนี้จะมีการรณรงค์ที่จังหวัดเลย และจะมีการเชิญชวนกลุ่มผู้คัดค้านโครงการดังกล่าวไปยื่นหนังสือต่อ นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นคนจังหวัดเลยเช่นกัน เลขานุการเครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง กล่าวว่าการรณรงค์กับคนไทยเองเป็นสิ่งสำคัญ เพราะโครงการดังกล่าวผู้ดำเนินงาน เจ้าของโครงการอยู่ในเมืองไทย ผู้ซื้อไฟฟ้าก็คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และแหล่งเงินทุนก็คือธนาคาร 4 แห่งของไทย สิ่งเหล่านี้ทำมองได้ว่าการดำเนินการความปฏิบัติตามหลักกฎหมายไทย ทั้งในเรื่องธรรมาภิบาล สิทธิมนุษยชน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้หากโครงการดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจน แต่กลับมีการก่อสร้างรุดหน้าไปเรื่อยๆ ความขัดแย้งระหว่างประเทศอาจเพิ่มขึ้นต่อไปได้ ย้ำค้านถึงที่สุด ขั้นเด็ดขาดอาจมีปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว นายอิทธิพล กล่าวว่า ทางเครือข่ายได้มีกระบวนการรณรงค์ได้เริ่มไปในระดับหนึ่งแล้ว และจะต่อสู้ต่อไปจนถึงที่สุด โดยสิ่งที่จะทำต่อไปคือ การล่ารายชื่อประชาชนลุ่มน้ำโขงและเครือข่ายภาคประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการเขื่อนไซยะบุรี ฟ้องศาลปกครอง กรณีที่ ครม.มีมติเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ให้ กฟผ.ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี โดยที่ไม่มีการชี้แจงหรือแถลงข่าวใดๆ ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นการกระทำที่ผิดปกติ และละเมิดสิทธิในการดำรงชีวิตของประชาชน หากการดำเนินการคัดค้านโครงการดังกล่าวไม่เป็นผลก็อาจมีการรวมตัวกันเพื่อปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ทั้ง 3 แห่ง “หากรัฐบาลไม่ฟังเสียงของเราจริงๆ เราก็จำเป็นต้องทำ” นายอิทธิพล กล่าว นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่าเมื่อวานนี้ (7 ธ.ค.54) ตัวแทนชาวบ้านเครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้เดินทางมาที่กรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือถึง ถึง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่านสำนักนายกฯ ให้พิจารณาทบทวน และยกเลิกการให้ประเทศไทยสนับสนุนโครงการเขื่อนไซยะบุรี เนื่องจากเป็นโครงการที่จะมีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อระบบนิเวศ วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของผู้คน รวมไปถึงความมั่นคงทางอาหาร วันเดียวกันยังมีการยื่นหนังสือต่อ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ประธานคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา และนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เพื่อให้ยกเลิกโครงการดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ โครงการเขื่อนไซยะบุรี มีความยาวเขื่อน 810 เมตร กำลังผลิตไฟฟ้า 1260 เมกะวัตต์ โดย 95 เปอร์เซ็นต์ของไฟฟ้าที่ผลิตได้จะขายให้กับประเทศไทย ขณะที่บริษัทผู้ก่อสร้างคือ บริษัท ช.การช่าง ของไทยซึ่งได้มีการเจรจาตกลงค่าธรรมเนียมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) ในเดือนกรกฎาคม 2553 ตัวเขื่อนตั้งอยู่บริเวณแก่งหลวง ห่างจากตัวเมืองไซยะบุรีในตอนเหนือของลาวประมาณ 30 กิโลเมตร จากหลวงพระบางประมาณ 150 กิโลเมตร และห่างจาก อ.เชียงคาน จ.เลย ประเทศไทย 200 กิโลเมตร เป็น 1 ใน 12 โครงการเขื่อนที่จะมีการก่อสร้างบนลำน้ำโขงสายหลักตอนล่าง สำหรับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2538 โดยมี 4 ประเทศ คือ กัมพูชา เวียดนาม ไทย และลาว ซึ่งใช้ประโยชน์ลุ่มน้ำแม่โขงตอนล่างร่วมกันลงนามในความตกลงว่าด้วยการร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงแบบยั่งยืน ความตกลงดังกล่าวกำหนดให้มีระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement: PNPCA) โดยประเทศสมาชิกจะต้องแจ้งต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ในกรณีที่ประเทศสมาชิกมีโครงการพัฒนาสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ใดๆ บนแม่น้ำโขงสายหลักหรือแม่น้ำสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าโครงการดังกล่าวอาจจะสร้างผลกระทบข้ามเขตแดนต่อประชาชน หรือสิ่งแวดล้อม และนำเสนอข้อมูลให้ประเทศสมาชิกทั้ง 4 ประเทศร่วมกันพิจารณาในระดับภูมิภาค โครงการเขื่อนไซยะบุรีถือเป็นการปฏิบัติครั้งแรกที่นำระเบียบ PNPCA ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงมาใช้ เพื่อให้เกิดข้อสรุปร่วมกันว่าโครงการดังควรจะดำเนินการต่อไปหรือไม่ และหากจะดำเนินการต่อควรอยู่ภายใต้เงื่อนไขอะไรบ้าง ภายใต้กระบวนการ PNPCA เมื่อเดือนกันยายน 2553 ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ที่ได้รับการแจ้งเรื่องโครงการเขื่อนไซยะบุรีการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำจากรัฐบาลลาว จากนั้นจึงมีกระบวนการปรึกษาหารือในระดับประเทศกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการ และจะต้องได้ข้อสรุปภายในหกเดือนนับตั้งแต่การแจ้ง อย่างไรก็ตาม หลังจากครบกำหนด 6 เดือน สำหรับการให้คำปรึกษาของ PNPCA ประเทศสมาชิกทั้ง 4 ได้พบหารือเกี่ยวกับโครงการไซยะบุรี ในการประชุมพิเศษของคณะกรรมการร่วมของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เมื่อวันที่ 19 เม.ย.54 ที่นครหลวงเวียงจันทน์ประเทศลาว แต่การประชุมไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากยังคงมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน สมาชิกคณะกรรมการร่วมจึงเห็นพ้องกันว่าจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมในระดับรัฐมนตรี หมายเหต: โครงการเขื่อนไซยะบุรีบนแม่น้ำโขง เข้าสู่กระบวนการแจ้งประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ที่เรียกว่ากระบวนการ PNPCA ซึ่งประเทศสมาชิก ต้องจัดทำความคิดเห็นต่อโครงการ ในส่วนของไทย สำนักงานเลขาคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ประเทศไทย โดยกรมทรัพยากรน้ำ ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ริมน้ำโขง ทั้งสิ้น 4 ครั้ง ดังนี้ 1. รับฟังที่เชียงของ จ.เชียงราย วันที่ 22 มกราคม 2554 2. รับฟังที่เชียงคาน จ.เลย วันที่ 29 มกราคม 2554 3. รับฟังที่ จ.นครพนม วันที่ 31 มกราคม 2554 4. รับฟังเวทีนักวิชาการเพิ่มเติมวันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2554 ในเวียดนาม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงร่วมกับคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติเวียดนามจัดให้มีการประชุม ปรึกษาหารือ 2 ครั้ง โดยมี ดร.Nguyen Thai Lai ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรองประธานคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติเวียดนามเป็นประธาน ดังนี้ 1. วันที่ 14 มกราคม 2554 ที่จังหวัดเกิ่นเทอ 2. วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 ที่จังหวัด Quang Nin ในกัมพูชา มีการปรึกษาหารือ 2 ครั้ง ได้แก่ 1. วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554 จังหวัดกระแจ๊ะ 2. วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 สีหนุวิลล์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท