Skip to main content
sharethis

ภาพเหตุการณ์น้ำท่วมแม่แจ่มครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา ถือว่ามีความรุนแรงและสร้างความเสียหายอย่างมาก หลังถูกน้ำป่าไหลหลากลงมาจากดอย ผ่านช่องเขาลงมาในหุบเขา จนทำให้สายน้ำจากแม่น้ำแจ่มได้ล้นทะลักเข้าท่วมทุ่งนาและชุมชนที่อยู่ทั้งสองฟากฝั่งอย่างรุนแรง ยังคงสร้างความวิตกหวั่นไหวต่อคนในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่เป็นอย่างมาก “น้ำมาในตอนตีหนึ่งตีสอง มาแรงมาก แล้วไหลเข้าท่วมตั้งแต่พื้นที่บ้านทับ มาจนถึงเขตเทศบาลตำบลแม่แจ่ม เขตตัวอำเภอ ท่วมทั้งทุ่งนา บ้านเรือน บางแห่งท่วมเกือบมิดหลังคาบ้านเลยทีเดียว และที่สำคัญ มีต้นไม้และท่อนซุงไหลมากระแทกบ้านชาวบ้านด้วย” นายสมเกียรติ มีธรรม สถาบันอ้อผญา บอกเล่าให้ฟัง เช่นเดียวกับ นายอุทิศ สมบัติ ประธานกลุ่มสภาพัฒนาเมืองแจ๋ม กล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะเกิดน้ำท่วมแม่แจ่มประมาณ 3 เดือนก่อน ตนเองเคยได้พูดวิเคราะห์และคาดการณ์เอาไว้ให้คนแม่แจ่มฟังว่า อีกไม่นาน คนแม่แจ่มอาจเจอน้ำท่วมใหญ่ แล้วก็เกิดขึ้นจนได้ “สาเหตุที่ผมคาดการณ์ล่วงหน้าแบบนั้น เพราะว่าเรารู้ว่าแม่แจ่มเปลี่ยนไปมาก เพราะระบบทุนนิยมนั่นแหละที่เข้าไป แล้วทำชาวบ้านที่อยู่ตามเขตป่าเขตต้นน้ำ พากันรุกปลูกพืชเศรษฐกิจอย่าง หอมแดง ข้าวโพดกันอย่างต่อเนื่อง แน่นอน เมื่อถึงหน้าแล้ง น้ำแห้ง พอถึงหน้าฝน ดินถูกชะล้าง ไม่สามารถซับน้ำได้ มันก็ต้องไหลทะลักลงมาอย่างแรง” นายอุทิศ บอกย้ำ หลังน้ำลด เริ่มมีการจับกลุ่มคุยกัน ฟากหนึ่งเป็นเสียงของชาวบ้านที่บอกว่านี่คือสัญญาณเตือนภัยจากธรรมชาติว่า แม่แจ่มกำลังใกล้วิกฤติซึ่งจำเป็นต้องค้นหารากเหง้าและหาทางแก้ไขทรัพยากรดิน น้ำ ป่าทั้งระบบ แต่ในขณะเดียวกัน กลับมีเสียงอีกฟากหนึ่ง ได้เสนอแนวคิดกลางวงประชุมระดับอำเภอว่า จำเป็นต้องสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำแจ่ม ซึ่งได้ทำให้ชาวบ้านและคนทำงานด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เกิดความวิตกและฉงนมากขึ้น ว่าทำไมระดับผู้นำท้องถิ่นถึงออกมาเสนอแนวคิดเช่นนี้ เพราะที่ผ่านมา ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในเขตภาคกลางและกรุงเทพ ที่ทุกคนรับรู้ว่า สาเหตุหลักๆ นั้นมาจากเขื่อนและการบริหารจัดการน้ำในเขื่อน “ปัญหาน้ำท่วมแม่แจ่มครั้งนี้ มันเป็นเพียงแค่การเตือนของธรรมชาติเท่านั้น และหนทางแก้ไข มันคงไม่ใช่การสร้างเขื่อนหรอก แต่มันต้องมีการแก้ไขปัญหากันทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพราะฉะนั้น คนแม่แจ่มทั้งหมดจะต้องมานั่งคุยกัน หาทางออกร่วมกัน อย่าเพิ่งใจร้อน ผลีผลาม เอะอะอะไรๆ ก็สร้างเขื่อนๆ” นายอุทิศ บอกเล่าให้ฟัง จากข้อมูล วารสารแม่แจ่มนิวส์ ที่สถาบันอ้อผญา และกลุ่มสภาพัฒนาเมืองแจ๋ม ได้จัดทำขึ้นฉบับล่าสุด ระบุไว้ว่า การเสนอสร้างเขื่อนกั้นน้ำแม่แจ่มเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมบริเวณ“ผาสะกาบ” ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปจากบ้านกองกาน ต.แม่ศึก เพียงไม่กี่กิโลเมตร ของนายก อบต.และกำนันในอำเภอแม่แจ่ม นั้นกำลังกลายเป็นประเด็นใหม่ที่คนเมืองแจ่มต้องหันมาใส่ใจ และเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนามากกว่าในเวลานี้ เนื่องจากการคิดแก้ปัญหาที่ปราศจากข้อมูลหรือองค์ความรู้รองรับนั้น ทำให้เกิดปัญหามากกว่าแก้ปัญหา การจะทำอะไรก็ตามในสังคมแม่แจ่มวันนี้ ซึ่งไม่เหมือนแม่แจ่มเมื่อ20-30 ปีก่อน มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยองค์ความรู้ในการแก้ปัญหา ที่สำคัญต้องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลหรือองค์รวมรู้อย่างรอบด้าน กรณีการสร้างเขื่อนแก้ปัญหาน้ำท่วมแม่แจ่มก็เช่นกัน ต้องให้ชาวบ้านทั้งหน้าเขื่อนหลังเขื่อนคิดและตัดสินใจบนพื้นฐานของความรู้ทั้งด้านบวกและด้านลบ ทั้งนี้ ได้มีการหยิบยกข้อมูลให้ฉุกคิดด้วยว่า ปัจจุบันประเทศที่เจริญแล้วอย่างอเมริกา สร้างเขื่อนขนาดใหญ่ก่อนใครและมากที่สุดในโลก ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา มีเขื่อนทั้งประเทศมากถึง 1,800 เขื่อน มีทั้งเขื่อนป้องกันน้ำท่วม, เพื่อการชลประทาน และผลิตไฟฟ้า ในรอบ 75 ปีที่ผ่านมา 43 รัฐในอเมริกาพากันทุบเขื่อนทิ้งไปแล้ว 175 เขื่อน เฉพาะปี 2542 เพียงปีเดียว ทุบเขื่อนทิ้งไปแล้ว 62 เขื่อน เนื่องจากไม่คุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ล่าสุด ในเดือนพฤศจิกายน 2553 ทุบเขื่อนขนาดใหญ่ 2 เขื่อน ที่ปิดกั้นแม่น้ำเอลวาในอุทยานแห่งชาติโอลิมปิก มลรัฐวอชิงตัน เพื่อเปิดทางให้ฝูงปลาแซลมอนสายพันธุ์แปซิฟิก 6 ชนิด และปลาสตีลเฮดได้อพยพขึ้นไปวางไข่ทางต้นแม่น้ำได้ และเปิดทางให้ดินตะกอนที่ถูกปิดกั้นนำธาตุอาหารลงไปสร้างความอุดมสมบูรณ์แก่พื้นที่ท้ายน้ำ ในการรื้อเขื่อนครั้งนี้ รัฐบาลต้องจ่ายเงินซื้อเขื่อนและโรงไฟฟ้าคืนจากเอกชนมากถึง 1,180 ล้านบาท ใช้เวลารื้อทำลาย 3 - 5 ปี ขณะที่เขื่อนขนาดเล็กลงมา เช่น เขื่อนมาร์มอตในแม่น้ำแซนดี้และเขื่อนในแม่น้ำลิตเติลแซนดี้ มลรัฐออริกอน รัฐบาลต้องจ่ายเงินเพื่อทุบเขื่อนมากถึง 640 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่รวมงบประมาณในการฟื้นฟูร่องน้ำให้คืนสู่สภาพธรรมชาติอีกนับพันล้านบาท จากข้อมูลงานวิจัยผลกระทบจากเขื่อนมากมายทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึงรายงานองค์การอนามัยโลก (WHO) และรายงานธนาคารโลก (World Bank) ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อนทั่วโลกพูดตรงกันว่า การสร้างเขื่อนแม้จะก่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีผลกระทบมหาศาลในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม สุขภาพ และการเปิดเขื่อนเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นป่าธรรมชาติและป่าต้นน้ำถูกน้ำท่วม ดินหน้าเขื่อนและท้ายเขื่อนขาดแร่ธาตุ สัตว์ป่าล้มตายและมีลักษณะด้อย สัตว์น้ำบางชนิดสูญพันธ์เนื่องจากไม่สามารถขยายพันธุ์ในน้ำนิ่งได้ พื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยถูกน้ำท่วม ต้องอพยพไปอยู่ที่ใหม่ซึ่งไม่เหมาะสมต่อการทำมาหากิน วัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชนเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดโรคที่มากับระบบนิเวศน้ำนิ่งซึ่งมียุงและหอยเป็นพาหะ ขณะที่การเปิดเขื่อนเป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็กระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากการใช้ทรัพยากรในสถานที่ท่องเที่ยว นายสมเกียรติ มีธรรม จากสถาบันอ้อผญา ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานด้านวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม ได้มีการวิเคราะห์ถึงกรณี “เขื่อนแม่แจ่ม” ไว้อย่างน่าสนใจว่า ถ้าหากมีการสร้างเขื่อนแม่แจ่มจริงๆ เชื่อว่า คนแม่แจ่มไม่มีทางเลี่ยงผลกระทบนี้ไปได้ เพราะว่าบทเรียนจากการสร้างเขื่อนขนาดเล็กและขนานใหญ่หลายประเทศทั่วโลก ร่วมทั้งในประเทศไทย นั้นเป็นบทเรียนที่ต้องเรียนรู้และหาทางออกที่สอดคล้องเหมาะสมกับท้องถิ่นร่วมกัน “โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนกั้นน้ำแม่แจ่ม ซึ่งเป็นลำน้ำเพียงแห่งเดียวที่หล่อเลี้ยงผู้คนมานาน และเป็นบ่อเกิดวัฒนธรรมแห่งสายน้ำที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวแม่แจ่มมาจนถึงทุกวันนี้ และที่สำคัญสายน้ำที่เห็นทุกเมื่อเชื่อวันดูว่าไม่มีอะไรน่าสนใจนั้น มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างไปจากสายน้ำอื่นหลายอย่างที่คนแม่แจ่มต้องร่วมกันรักษาไว้” ทั้งนี้ ได้มีการศึกษาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับคนแม่แจ่ม หากมีการสร้างเขื่อนแม่แจ่ม นั่นคือ 1. สองฝั่งลำน้ำแม่แจ่มและลุ่มน้ำแม่แจ่ม มีระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ที่ช่วยรักษาความสมดุลของทุกชีวิตสองฝั่งลำน้ำเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน ความแตกต่างของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และวัฒนธรรม ได้ชี้ให้เห็นถึงอัญมณีอันล้ำค่าที่มากับสายน้ำแห่งนี้ เมื่อมีเขื่อนเกิดขึ้น “หอยก้นแหลม” ซึ่งมีเฉพาะต้นน้ำแม่แจ่มเพียงแห่งเดียว และสัตว์น้ำอื่นๆ ที่ขยายพันธุ์ได้เฉพาะในน้ำไหลก็จะสูญพันธุ์ไป ไม่มีปลาที่อร่อยให้มาทำ “น้ำพริกโย๊ะ” ซึ่งมีแห่งเดียวในโลกได้อีกสองฝั่งลำน้ำแม่แจ่ม ไม่ว่าจะเป็นหอย ต้นไม้ และสำเนียงพูด ของคนต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ 2. ตัวเขื่อนตั้งอยู่ใกล้พื้นที่รับน้ำจากลำห้วยสาขาน้อยใหญ่มากมาย ส่วนใต้เขื่อนมีเพียง 2 ลำห้วยเท่านั้น น้ำท่วมแม่แจ่มเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2554 จำนวน 90 เปอร์เซ็นต์ของน้ำ มาจากลำห้วยต่างๆ หน้าเขื่อนขึ้นไป เมื่อเขื่อนรองรับน้ำไว้เต็มอัตรา ดังที่เกิดขึ้นกับเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2554 น้ำที่มีปริมาณมากก็จะถูกระบายออกมาจนท่วมทุ่งนาและบ้านเรือนอย่างเคย 3. เขื่อนรองรับน้ำน้อยลงทุกปีเนื่องจากมีตะกอนเต็มเขื่อน จากข้อมูลสำนักอุทกวิทยาและบริหารน้ำ กรมชลประทาน ได้วัดตะกอนน้ำแม่แจ่มตั้งแต่ปี 2511-2548 พบว่า ตะกอนน้ำแม่แจ่มเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 771,418 ตัน ตะกอนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำในแต่ละปี เช่นปีพ.ศ.2548 ปริมาณน้ำเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 1,199.42 ล้าน ลบ.ม. มีตะกอนเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 1,487,688 ตัน ซึ่งนั่นก็หมายความว่าในปี 2548 มีปริมาณตะกอนมากกว่าปริมาณน้ำถึง 2 แสนกว่าตัน ปริมาณตะกอนมหาศาลดังกล่าวมานี้ เมื่อมีเขื่อนกั้นไว้ก็จะสะสมหนาขึ้นทุกปี ทำให้หน้าเขื่อนตื้นเขิน ไม่สามารถรองรับน้ำเติมที่และไม่มีทางขุดลอกออกได้ เมื่อถึงฤดูน้ำหลากก็จะล้นทะลักออกจากเขื่อนท่วมพื้นที่ใต้เขื่อนเหมือนเดิม การสร้างเขื่อนจึงไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้ 4. สถานที่ตั้งของเขื่อนตั้งอยู่บริเวณพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 เอ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้องห้ามตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2528 ไม่ให้มีการใช้พื้นที่ในทุกกรณีโดยเด็ดขาด 5. เขื่อนตั้งอยู่ใกล้รอยเลื่อน หรือรอยแตกในเปลือกโลกที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวถึง 4 รอย ได้แก่รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็น 1 ใน 13 รอยเลื่อนที่กรมทรัพยากรธรณีระบุว่าเป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง นอกจากนั้นยังมีรอยเลื่อนขุนยวม, รอยเลื่อนแม่ลาน้อย, และรอยเลื่อนแม่ลาหลวง เมื่อเกิดแผ่นดินไหวบริเวณรอยเลื่อนหนึ่งรอยเลื่อนใดซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเขื่อนนัก โอกาสที่จะทำให้เขื่อนปริร้าวและแตกได้ ผู้รับกรรมจะเป็นใครถ้าไม่ใช่คนใต้เขื่อน 6. กรณีปัญหาขาดแคลนน้ำการเกษตร ในปี 2553 อำเภอแม่แจ่มมีพื้นที่นาซึ่งใช้ปลูกข้าวและพืชอื่นๆ 33,056 ไร่ มีแหล่งน้ำที่พัฒนาแล้ว 38 แห่ง ประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำ สระเก็บน้ำ สถานีสูบน้ำ และฝายขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วไป รองรับพื้นที่ใช้น้ำการเกษตร 27,264 ไร่ ซึ่งนั่นก็หมายความว่าเรามีพื้นที่ขาดแคลนน้ำการเกษตรเพียง 5,792 ไร่เท่านั้น พื้นที่ดังกล่าว กรมชลประทานมีแผนสร้างฝายและอ่างเก็บน้ำทุกตำบล จำนวน 7 โครงการ โดยจะเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2555 - 2561 ด้วยเงินลงทุน 1,165 ล้านบาท นอกจากนั้นกรมทรัพยากรน้ำ ยังมีแผนพัฒนา ฟื้นฟู และปรับปรุงแหล่งน้ำอีก 7 โครงการ/ตำบล ดังนั้นปัญหาขาดแคลนน้ำการเกษตรก็จะหมดไป จึงไม่มีความจำเป็นต้องสร้างเขื่อนให้เสียงบประมาณโดยใช่เหตุ 7. เขื่อนไม่ได้เกิดจากความต้องการของชุมชน จากข้อมูลงานวิจัยโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจังหวัดเชียงใหม่ แผนพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำอำเภอแม่แจ่ม พบว่า ปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำมีระดับความรุนแรงน้อยมาก แต่เมื่อพิจารณาจากความต้องการเร่งด่วนของชุมชนกลับพบว่า ชุมชนต้องการฝาย อ่างเก็บน้ำ ประปาหมู่บ้าน คลองส่งน้ำ ฝายน้ำล้น ประปาภูเขา ปรับปรุงอ่างเก็บน้ำ ขุดสระน้ำ สร้างฝายและลำเหมือง ฝายต้นน้ำ บ่อบาดาล และถังเก็บน้ำ เท่านั้น ซึ่งทางกรมชลประทานและทรัพยากรน้ำมีแผนจะดำเนินการแก้ปัญหาอยู่แล้ว แน่นอนว่า น้ำท่วมแม่แจ่มเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา อาจเป็นสิ่งที่หลายคนวิตก แต่ประเด็นเรื่อง ‘เขื่อนแม่แจ่ม’ นั้นกำลังสร้างวิตกกังวลมากยิ่งกว่า เพราะชาวบ้านหลายคนที่ศึกษาข้อมูล รับรู้แล้วว่าในห้วงเวลานี้ “เขื่อน”ไม่ใช่ทางออกสำเร็จรูป และยังไม่ใช่ความต้องการของชาวบ้านเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างแท้จริง แต่การหันมาร่วมมือร่วมใจกันอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพของดิน น้ำ ป่า ประกอบกับการหันมาวิเคราะห์และหาทางออกเรื่องปัญหาการขยายตัว การรุกคืบของระบบทุนนิยมที่แผ่ขยายไปทั่วทุกม่อนดอย หุบเขาและทุ่งราบของแม่แจ่มต่างหากที่จะช่วยกันเยียวยาและฟื้นฟูแม่แจ่มให้รอดพ้นจากภัยพิบัติจากธรรมชาติ ให้มีชีวิตคืนสู่สันติสุขได้อีกครั้ง ข้อมูลประกอบ วารสาร แม่แจ่มนิวส์ เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2554

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net