โทษก่อนความผิดของจตุพร

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ข้อถกเถียงประการสำคัญในกรณีของคุณจตุพร พรหมพันธุ์ ก็คือว่าสถานะของการเป็น ส.ส. จะสิ้นสุดหรือไม่ภายหลังที่คุณจตุพรไม่ได้ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เนื่องจากอยู่ระหว่างถูกคุมขังอยู่ภายใต้คำสั่งของศาล คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสียงข้างมากมีความเห็นว่าสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ของคุณจตุพรควรจะต้องสิ้นสุด เพราะเมื่อไม่ได้ไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งก็ย่อมมีผลต่อเนื่องทำให้สถานะของการเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยยุติลง เมื่อไม่ได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองก็ย่อมทำให้บุคคลดังกล่าวไม่มีคุณสมบัติในการลงสมัครรับเลือกตั้ง อันเป็นไปตาม พ.ร.บ. พรรคการเมืองและรัฐธรรมนูญ 2550 ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับ กกต. มีความเห็นว่าการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งของคุณจตุพรไม่ได้เกิดขึ้นจากเจตนาของตนเอง หากเป็นเพราะต้องอยู่ภายใต้การคุมขังโดยหมายศาล ซึ่งคุณจตุพรก็ได้ขออนุญาตจากศาลเพื่อไปลงคะแนนเสียงในวันเลือกตั้งแล้วหากแต่ไม่ได้รับอนุญาต จึงทำให้ไม่สามารถไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งจึงควรต้องนับว่าเป็นเหตุที่เกิดขึ้นจากความจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งการไม่ไปลงคะแนนเสียงโดยมีเหตุจำเป็นนี้ทาง กกต. ก็ได้เคยยอมรับให้เป็นการกระทำที่ไม่นำไปสู่การเสียสิทธิทางการเมืองได้ในหลายกรณี อย่างไรก็ตาม บทความชิ้นนี้ไม่ได้ต้องการแสดงความเห็นต่อคำวินิจฉัยของ กกต. ในกรณีคุณจตุพรแต่อย่างใด แต่ต้องการตั้งคำถามถึง “หลักการ” หรือความชอบธรรมของกฎหมายในการลงโทษต่อคุณจตุพรว่าเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานทางกฎหมายหรือไม่ หลักการทางกฎหมายที่สำคัญประการหนึ่งซึ่งเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปในหมู่นักเรียนกฎหมายก็คือว่าบุคคลจะถูกลงโทษก็ต่อเมื่อได้กระทำในสิ่งที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิด และรวมทั้งการลงโทษบุคคลจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้มีกระบวนการในวินิจฉัยโดยองค์กรตุลาการที่เป็นอิสระและเป็นธรรมเกิดขึ้น อันนำมาสู่หลักการทางกฎหมายว่าตราบเท่าที่ยังเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยก็ต้องสันนิษฐานว่าบุคคลนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน แนวความคิดดังกล่าวนี้วางอยู่บนหลักการแบบเสรีนิยม อันหมายความว่าอำนาจรัฐเป็นสิ่งที่ต้องถูกจำกัดไว้โดยกฎหมาย และเมื่อใดที่รัฐจะเข้ามาแทรกแซงหรือจำกัดชีวิตของผู้คนต้องปรากฏอย่างชัดเจนว่าบุคคลนั้นได้กระทำในสิ่งที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิด โดยกระบวนการในการวินิจชี้ขาดความผิดต้องดำเนินไปอย่างโปร่งใส เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาสามารถโต้แย้งและหักล้างพยานหลักได้อย่างเต็มที่ เมื่อถูกสันนิษฐานว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์ การลงโทษใดๆ กับบุคคลผู้ตกอยู่ในสถานะของผู้ต้องหาหรือจำเลยจึงย่อมไม่อาจบังเกิดขึ้น มิฉะนั้น ย่อมถือว่าเป็นการลงโทษต่อบุคคลที่ยังมิได้กระทำความผิดอันใดเลย เมื่อนำหลักการดังกล่าวมาพิจารณากรณีของคุณจตุพรก็จะพบว่าในคดีที่ได้ตกเป็นผู้ต้องหาและจำเลยในข้อหาต่างๆ นั้น ยังไม่มีคดีใดที่ได้ดำเนินการจนถึงที่สุด กล่าวคือยังไม่ได้มีคำพิพากษาอันเป็นที่ยุติแล้วว่าบุคคลดังกล่าวนี้กระทำความผิดตามที่ได้ถูกกล่าวหา เพราะฉะนั้น หากตามหลักการทางกฎหมายก็ย่อมต้องถือว่าคุณจตุพรยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ และไม่ควรได้รับโทษใดๆ อันเป็นผลมาจากการถูกกล่าวหาในคดีดังกล่าว ซึ่งก็เป็นที่ชัดเจนว่ายังไม่มีการลงโทษสถานใดเกิดขึ้นกับคุณจตุพรจากข้อกล่าวหาที่ตนเองเผชิญอยู่ อย่างไรก็ตาม ถึงจะไม่ใช่การลงโทษโดยตรงจากข้อกล่าวหาที่ต้องเผชิญ แต่กลับกลายเป็นว่าด้วยการตกเป็นผู้ต้องหาในคดีและถูกคุมขังไว้โดยคำสั่งของศาลกลับทำให้คุณจตุพรอาจต้องเสียสิทธิในการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองรวมไปถึงสิทธิในการลงรับสมัครเลือกตั้ง ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าการเสียสิทธิเช่นนี้สืบเนื่องมาจากการตกเป็นผู้ต้องหาซึ่งคดียังไม่ถึงที่สุด จึงย่อมถือเสมือนหนึ่งว่าเป็นการลงโทษจากการต้องตกเป็นผู้ต้องหาแม้จะยังไม่ได้มีการตัดสินถูกผิดเกิดขึ้นก็ตาม คำถามก็คือว่าบทบัญญัติของกฎหมายในลักษณะเช่นนี้ขัดกับหลักการทางกฎหมายอย่างสำคัญใช่หรือไม่ การพิจารณาถึงหลักการดังกล่าวนี้มีความสำคัญเพราะเป็นการวางมาตรฐานของระบบกฎหมายต่อชีวิตของผู้คนในสังคม หากบุคคลใดต้องเผชิญกับการกระทำในลักษณะดังกล่าวก็ควรที่จะต้องถูกโต้แย้งในมาตรฐานเช่นเดียวกัน สมมติว่าคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถูกกล่าวหาว่าขับรถชนคนตายในช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้งแล้วถูกควบคุมตัวเอาไว้โดยไม่ได้รับการประกันตัว รวมทั้งเมื่อขอออกไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งก็ไม่ได้รับอนุญาต ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คุณอภิสิทธิ์พ้นจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์และเสียสิทธิในการลงรับสมัครลงเลือกตั้งในนามสมาชิกพรรคการเมือง ย่อมเห็นได้ชัดเจนว่าบทบัญญัติของกฎหมายในลักษณะเช่นนี้ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง เพราะคุณอภิสิทธิ์ยังอยู่ในสถานะของผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น หากต่อมาในภายหลังคุณอภิสิทธิ์พ้นไปจากข้อกล่าวหาไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แม้จะได้รับความบริสุทธิ์กลับคืนมาแต่โทษจากการเสียสิทธิรับสมัครเลือกตั้งที่เสียไปก็ไม่อาจหวนกลับคืนมาได้ การพิจารณาต่อกรณีของคุณจตุพรจึงไม่ควรเป็นเพียงแค่การให้ความสำคัญต่อบทบัญญัติของกฎหมายเพียงอย่างเดียว หลักการทางกฎหมาย (Legal Principle) มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน หากบทบัญญัติของกฎหมายใดขัดต่อหลักการพื้นฐานทางกฎหมายก็ควรที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนแก้ไข หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่ตีความกฎหมายควรต้องทำให้เกิดความสอดคล้องกับสิ่งซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในนานาอารยประเทศ แน่นอนว่าการยืนยันถึงหลักการในทางกฎหมายซึ่งอาจทำให้บุคคลบางสีบางฝ่ายได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ในห้วงเวลาเฉพาะหน้า และอาจเป็นผลให้หลายคนอาจรู้สึกกระอักกระอ่วนใจที่จะต้องยอมรับในหลักการดังกล่าว แต่ต้องไม่ลืมว่าการจะก้าวให้พ้นความขัดแย้งที่ลงลึกในสังคมไทยหนทางหนึ่งก็คือการสถาปนาระบบกฎหมายที่ชอบธรรมให้บังเกิดขึ้นและถูกบังคับใช้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะมีความแตกต่างของจุดยืนทางการเมืองหรือมีเป็นความเกลียดชังมากน้อยเพียงใดก็ตาม หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์กฎเมืองกฎหมาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 8 ธันวาคม 2554

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท