Skip to main content
sharethis

ภาพกรวด หิน ดิน ทราย คละเคล้าผสมปนเป บนพื้นที่ประมาณ 2 พันไร่ บริเวณตำบลหน้าเขา ตำบลเขาพนม อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ ขณะที่บ้านชาวบ้านอีกหลายสิบหลังยังสร้างไม่เสร็จ ทว่าในกลางเดือนพฤศจิกายน 2554 ฝนตกหนัก น้ำในลำคลองเอ่อล้น มีสีขุ่นเหมือนสีดินภูเขาอีกครั้ง ครั้นเมื่อข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์เงียบหาย ชาวบ้านที่ประสบอุทกภัยและดินโคลนถล่มเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2554 ยังประสบชะตากรรมปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย อีกทั้งยังกังวลว่าจะประสบปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน จากการที่ทางจังหวัดกระบี่ประกาศโครงการจัดทำแนวเขตเพื่อป้องกันการบุกรุกป่าราชินี ภัยพิบัติกับปัญหาที่ชาวบ้านต้องเผชิญ นายเอกนัฐ บุญยัง คณะทำงานเครือข่ายเฝ้าระวังภัยพิบัติจังหวัดกระบี่ บอกว่า ตนเองกำลังวิ่งหาแหล่งทุนเพื่อกู้เงิน 1 ล้านบาท เพื่อนำมาสร้างบ้านที่ยังค้างคาอีกหลายสิบหลัง ที่ยังสร้างไม่เสร็จ แม้ว่าองค์กรสื่อมวลชน และหน่วยงานต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือก็ตามที “แทบทุกพื้นที่หลังจากเกิดภัยพิบัติจะตามมาด้วยปัญหาที่ดินทำกินเสมอ ชาวบ้านจึงได้มีกระบวนการทำแผนที่ทำมือโดยชุมชน มีการทำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (แผนที่GIS) เพื่อป้องกันปัญหาพิพาทกับรัฐเรื่องที่ดินทำกินในอนาคต หลังจากทางจังหวัดจะจัดทำแนวเขตสวนป่าราชินีขึ้น” นายเอกนัฐ เล่าถึงความกังวลและแนวทางของชาวบ้าน นายเอกนัฐ บอกถึงกระบวนการตื่นตัวของชาวบ้านหลังจากเกิดเหตุการณ์ในพื้นที่ว่า ได้มีฝึกอบรมอาสาสมัครเฝ้าระวังภัยพิบัติด้วยอบรมการใช้วิทยุ อบรมการกู้ภัย มีการเก็บข้อมูลเบื้องต้นของชุมชน มีการสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัย พื้นที่ปลอดภัยเพื่อใช้ในการอพยพหนีภัย และกำหนดให้บ้านชั่วคราวที่เพิ่งสร้างเสร็จเป็นศูนย์อพยพ มีการเตรียมอาหาร เครื่องดื่ม มีการจัดชาวบ้านเฝ้าระวังเป็นจุดๆ ใช้วิทยุสื่อสารเพื่อเฝ้าระวังการเกิดภัยพิบัติ โดยประสานงานกับศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ที่ส่งข้อมูลการเตือนภัยมาให้หากมีแนวโน้มว่าจะเกิดภัย แม้มีชาวบ้านผ่านการฝึกอบรม แต่ก็จะมีทีมที่คอยวิเคราะห์และประมวลสถานการณ์ว่าเห็นควรจะอพยพหรือไม่ อย่างไร ตอนไหน ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์และต้องอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นในการสังเกตุการเตือนภัยมีทีมเฝ้าระวัง “เอาเข้าจริงไม่รู้ว่าเป็นการเฝ้าระวังหรือเปล่า เพราะแค่ฝนตกไม่หนักมาก ชาวบ้านก็อพยพออกจากพื้นที่แล้ว เนื่องจากความหวาดระแวงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น” นายเอกนัฐ เล่าถึงปฏิกิริยาของชาวบ้าน ส่วนกระบวนการเชื่อมต่อกับชุมชนอื่น นายเอกนัฐกล่าวว่า ชุมชนในตำบลหน้าเขา และตำบลเขาพนม มีการเชื่อมต่อความสัมพันธ์ของชุมชนต่างๆ ตามระบบลุ่มน้ำ สร้างเครือข่ายต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ อาทิ ตำบลคลองประสงค์ อ.เมือง จ.กระบี่ ที่เคยประสบภัยพิบัติสึนามิ คลองประสงค์เป็นพื้นที่ที่มูลนิธิรักษ์ไทยเข้าไปให้การสนับสนุนชุมชน มีแผนเตรียมความพร้อม มีกระบวนการตื่นตัวและการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในชุมชน มีการจัดทำข้อมูล ทำแผนเตรียมพร้อมสำหรับภัยพิบัติ มีการใช้กำแพงไม้ไผ่กันไว้ริมชายหาดที่ชาวบ้านอาศัย มีแผนในการปลูกป่าชายเลนกันคลื่นสึนามิ มีการสร้างคันเขื่อนกัดเซาะ ฯลฯ “แม้ว่าในระดับจังหวัดกระบี่ เราไม่สามารถเชื่อมต่อได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่เรามีการคุยกับมูลนิธิรักษ์ไทยว่าจะมีการเชื่อมต่อให้เกิดรูปธรรมได้อย่างไร โดยจะตั้งเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังภัยพิบัติ มีการคุยกับสภาองค์กรชุมชน ทีมกองทุนสวัสดิการ ทีมแก้ปัญหาเรื่องที่ดิน ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ มานั่งคุยกันอย่างเป็นจริงเป็นจัง” “มีการวางระบบ เชื่อมพื้นที่เกาะลันตา คลองประสงค์ เขาพนม เขาดิน หน้าเขา มีการเชื่อมเครือข่ายผู้ประสบภัย มีตัวแทนของแต่ละพื้นที่มาร่วมประสานงานกันในระดับจังหวัดกระบี่มีกระบวนการพัฒนาด้านระบบการเตือนภัยของอาจารย์สมพร ช่วยอารีย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี” นายเอกนัฐ บอกถึงการพยายามเชื่อมต่อเครือข่าย ชี้ราชการไม่ได้มองชุมชนเป็นจุดเริ่มต้น ร่วมแก้ปัญหาภัยพิบัติ ด้านความพยายามในการร่วมมือกับส่วนราชการ นายเอกนัฐกล่าวว่า เคยมีชาวบ้านไปที่ที่ว่าการอำเภอเขาพนม เพื่อจะคุยกับทางอำเภอเกี่ยวกับการเตรียมรับมือภัยพิบัติร่วมกัน แต่ทางอำเภอไล่ชาวบ้านกลับบ้าน อำเภอไม่ได้มองว่าชุมชนเป็นจุดเริ่มต้น “ชาวบ้านกับหน่วยงานราชการ ยังคุยกันไม่เข้าใจในเรื่องของความร่วมมือ เนื่องจากมีวิธีคิดที่ต่างกัน ส่วนราชการบอกว่าการช่วยเหลือหรือดำเนินการใดๆ เป็นหน้าที่ของทางราชการเท่านั้น ให้ชาวบ้านอยู่เฉยๆ ถ้าเกิดเหตุการณ์จะเป็นคนช่วยไม่ต้องให้ชาวบ้านมาทำ” เอกนัฐกล่าวว่า ตรงนี้เป็นผลให้ชาวบ้านตกลงกันว่าจะทำฐานข้อมูล ฐานชุมชนให้ชัดเจนกว่านี้ ชาวบ้านต้องแสดงศักยภาพ ให้ส่วนราชการเห็นว่าชาวบ้านสามารถทำอะไรได้บ้าง “ตั้งใจจะเชิญส่วนราชการมานั่งคุยร่วมกัน หลังจากมีกระบวนการพูดคุยในส่วนของภาคประชาชนเรียบร้อยแล้ว นำตัวแทนชาวบ้านมาทำความเข้าใจร่วมกับส่วนราชการ และจัดตั้งเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังภัยพิบัติของจังหวัดกระบี่ที่มีส่วนร่วมระหว่างชาวบ้านและหน่วยงานรัฐ” นายเอกนัฐ บอกถึงความพยายามในการร่วมมือกับส่วนราชการ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เผยช่องทางสื่อสารเตือนภัย นายเถลิงศักดิ์ ภูวญาณพงศ์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) จังหวัดกระบี่ กล่าวถึงการเตรียมการรับมือภัยพิบัติว่า สำนักงานฯ มีการติดตามสภาพฝนฟ้าอากาศ เหตุพายุเข้า ปริมาณน้ำฝน แผ่นดินไหวอย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อมีแนวโน้มว่าจะเกิดภัยพิบัติ จังหวัดกระบี่จะได้รับข้อมูลการแจ้งเตือนภัยจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติด้วย “จากนั้นจะส่งข้อความทางโทรศัพท์ (SMS) แจ้งเตือนไปยังผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ทราบ เพื่อให้เตรียมอพยพไปยังจุดปลอดภัย” นายเถลิงศักดิ์ บอกถึงกระบวนการแจ้งเตือนเมื่อมีแนวโน้มจะเกิดภัย นายเถลิงศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ในพื้นที่ 37 หมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทุกประเภท ไม่ว่า น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม อุทกภัย หรือสึนามิในจังหวัดกระบี่ ก่อนหน้านี้กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สำรวจและติดตั้งเครื่องมือเตือนภัยแล้ว ทั้งยังมีหอเตือนภัยสึนามิ ซึ่งสามารถเตือนภัยพิบัติได้ทุกประเภท 32 จุด ติดตั้งใน 5 อำเภอริมชายฝั่งทะเล โดยมีการติดตั้งระบบวิทยุรับสัญญาณที่เชื่อมต่อกับศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เพื่อขยายให้รับรู้กันได้อย่างกว้างขวาง การติดต่อสื่อสารกับอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ใช้วิทยุของกรมการปกครองของจังหวัด ประสานงานกับสถานีวิทยุชุมชน 32 สถานี เพื่อการแจ้งเตือนภัย และการให้ข่าวสารในการเตรียมรับมือ และกระบวนการในการช่วยเหลือชาวบ้าน เมืองกระบี่ กับแผนรับมือภัยพิบัติ นายเถลิงศักดิ์ กล่าวว่า จังหวัดกระบี่ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาจากอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม จังหวัดกระบี่ 2554 จัดทำแผนปฏิบัติการฉุกเฉินฯ ในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับท้องถิ่น ซึ่งปฏิบัติกันอย่างต่อเนื่องมา จากเหตุการณ์น้ำท่วมและดินถล่มเมื่อเดือนมีนาคม – เมษายน 2554 ในทุกๆ ปีจังหวัดกระบี่ จะมีการซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประเภทต่างๆร่วมกัน 2 -3 ครั้ง ไม่ว่า ซ้อมแผนเหตุการณ์สึนามิ เหตุอุทกภัย และดินโคลนถล่ม อุบัติเหตุทางทะเลทั้งส่วนราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีกรมทรัพยากรธรณี ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ฯลฯ “มีการให้ความรู้แก่ชาวบ้านในการพึ่งพาตนเองเป็นฐาน มีการให้อุปกรณ์กู้ภัย เช่น เชือก และเรือ สำหรับชุมชนที่เสี่ยงภัย มีการอบรมสมาชิกอาสาป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ทีมกู้ชีพกู้ภัยท้องถิ่นละ 10 คน อบรมมิสเตอร์เตือนภัย 91 หมู่บ้านที่เป็นพื้นที่เสี่ยง” นายเถลิงศักดิ์ บอกถึงการเตรียมพร้อมด้วยการให้ความรู้และอบรม ส่วนอุปกรณ์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีเรือท้องแบน 8 ลำ ซึ่งสามารถขอสนับสนุนจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 18 ภูเก็ต ได้อีกถึง 200 ลำ หากไม่เพียงพอในการช่วยเหลือชาวบ้าน สำหรับการประสานงานขุดลอกร่องน้ำ นายเถลิงศักดิ์ กล่าวว่า มีการประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อำเภอ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ในการขุดลอกคู คลอง ท่อระบายน้ำ เพื่อให้น้ำระบายได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสามารถดำเนินการได้เพียงในระดับหนึ่งตามงบประมาณที่มีของแต่ละหน่วยงาน “พื้นที่ที่เกิดดินถล่ม 2 พันไร่ ที่อำเภอเขาพนมนั้น เราได้มีการขุดลอกคลองเท่าที่ทำได้ในงบประมาณจำกัด ทั้งจังหวัดกระบี่จะมีการปลูกป่าขึ้นในอนาคตเพื่อป้องกันการบุกรุกป่า และป้องกันเหตุการณ์ดินถล่มซ้ำด้วย” นายเถลิงศักดิ์ กล่าวถึงการฟื้นฟูพื้นที่ที่เกิดดินถล่ม ย้อนมองพื้นที่ที่เคยเกิดเหตุอุทกภัย ดินโคลนถล่มเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2554 ในอำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ ซึ่งมีรอยปริร้าวแล้วใจหาย ดูเหมือนว่าโศกนาฏกรรมพร้อมจะอุบัติซ้ำทุกเมื่อ เวลาพายุฝนกระหน่ำ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net