Skip to main content
sharethis

ประเด็นที่น่าจับตามองของการประชุมภาคีสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 17 (COP17: Conference of the Parties) เรื่องหนึ่ง คือ เรื่องเงินๆ ทองๆ เกี่ยวกับปัญหาโลกร้อน โดยเฉพาะเงินที่จะมาสนับสนุนการลดโลกร้อนและการปรับตัวต่างๆ ในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายนั้น (หรือกลุ่มประเทศที่เรียกว่า G77 ซึ่งประเทศไทยอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย) แนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นคือแทนที่ประเทศพัฒนาแล้วจะให้การสนับสนุนทางด้านการเงินอย่างตรงไปตรงมา กลับถูกบิดเบือนให้เป็นภาระหนี้ก้อนใหม่ของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งต้องไปกู้มาจากประเทศพัฒนาแล้ว ในการประชุมคู่ขนานของเครือข่ายภาคประชาสังคม เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 ที่มหาวิทยาลัย Kwazulu-Natal (UKZN) ณ เมืองเดอร์เบิน การสัมมนาประเด็นเรื่อง Climate finance หรือ การเงินเรื่องโลกร้อน มีข้อสังเกตที่น่าสนใจดังนี้ การพัฒนาตั้งแต่ยุคปฎิวัติอุตสาหกรรม หรือเมื่อประมาณ 200 กว่าปีที่ผ่านมา ประเทศพัฒนาแล้วได้โหมใช้ทรัพยากรของโลกรวมถึงเชื้อเพลิงจากถ่านหินจำนวนมหาศาล ส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึงสามในสี่ของปริมาณที่ปล่อยจากทุกประเทศในโลกรวมกัน ในขณะที่ประเทศเหล่านั้นมีประชากรเพียงหนึ่งในห้าของโลกเท่านั้น หรืออาจเปรียบเทียบได้ว่าสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อคนในประเทศพัฒนาแล้วมากกว่าคนในประเทศกำลังพัฒนาถึง 10 เท่า หากพิจารณาตามหลักความเป็นธรรมว่าทุกคนในโลกนี้มีสิทธิเท่าทียมกันในการเข้าถึงการพัฒนาและการปล่อยก๊าซฯ และเมื่อคำนึงถึงความสามารถของโลกในการรองรับการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก เราจะเห็นว่าบรรยากาศของโลกปัจจุบันเต็มไปด้วยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาของประเทศพัฒนาแล้วในอดีตที่ผ่านมา หรือที่เรียกว่า historic emissions ดังนั้นประเทศพัฒนาแล้วจึงต้องมีความรับผิดชอบต่อการแก้ไขปัญหาในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ของตนเอง จึงกล่าวได้ว่าประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายเป็น “หนี้การลดการปล่อยก๊าซฯ” (Mitigation Debt) กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา พร้อมกันนี้โลกที่ร้อนขึ้นได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้มากที่สุด คือประชากรในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งไม่ได้เป็นต้นเหตุของปัญหาโลกร้อน แต่กลับต้องมารับภาระจากผลกระทบที่เกิดขึ้น และต้องพยายามปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดให้ได้ ดังนั้นประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายจึงยังเป็น “หนี้การปรับตัว” (Adaptation Debt) กับประเทศกำลังพัฒนาด้วยเช่นกัน แต่กลไกการเจรจาระหว่างประเทศในปัจจุบันภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ไม่ได้นำเอาปัญหา \หนี้การลดการปล่อยก๊าซฯ\" และ \"หนี้การปรับตัว\" มาเป็นพื้นฐานในการเจรจา รวมทั้งประเทศพัฒนาแล้วยังพยายามบิดเบือนการจัดการการเงินเรื่องโลกร้อน ให้ผ่านกลไกของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก เป็นต้น แทนที่จะให้ผ่านกลไกประเทศภาคีอนุสัญญาฯ หรือ COP (ซึ่งถือว่ามีความเสมอภาคของประเทศภาคีอนุสัญญาฯ มากกว่ากลไกอื่นๆ ในขณะนี้) ทั้งนี้ ภายใต้กลไกสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ประเทศพัฒนาแล้วมีอิทธิพลและอำนาจในการตัดสินใจมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา ความแตกต่างของการจัดการการเงินเรื่องโลกร้อนระหว่างสองกลไกนี้ คือ ในกรณีใช้กลไกอนุสัญญาฯ ประเทศภาคีจะเป็นคนกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้เงิน ในขณะที่การใช้กลไกผ่านธนาคารโลกหรือสถาบันการเงินอื่นๆ (เช่น ในรูปแบบเงินกู้) นั้น ประเทศพัฒนาแล้วสามารถเข้ามามีบทบาทกำหนดเงื่อนไขการใช้เงิน โดยที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องรับภาระใช้คืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ถือเป็นการผลักภาระให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาต้องเป็นผู้ใช้หนี้โดยตรง ดังเช่นที่กำลังเกิดขึ้นแล้วในขณะนี้ทั่วโลก จึงถือว่าเป็นการบิดเบือน หนี้การลดการปล่อยก๊าซฯ และหนี้การปรับตัว ซึ่งควรเป็นความรับผิดชอบของประเทศพัฒนาแล้ว และเป็นการซ้ำเติมประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาอย่างไร้มนุษยธรรม จึงนำมาสู่ข้อเรียกร้องเชิงหลักการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ในการจัดการการเงินเรื่องโลกร้อนของกลุ่มภาคประชาสังคมที่เดอร์เบิน ว่าธนาคารโลกและสถาบันการเงินระหว่างประเทศต่างๆ ไม่ควรเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารจัดการการเงินเรื่องโลกร้อน เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เท่าเทียมกันและความเป็นธรรมอย่างแท้จริง การเพิกเฉยและบิดเบือนกับหนี้การลดการปล่อยก๊าซฯ และหนี้การปรับตัวต่อไปนั้น ศิลปินนักดนตรีชาวแอฟริกาใต้ที่เข้าร่วมการประชุม ได้กล่าวประโยคสั้นๆ เพื่อส่งสารไปถึงประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายไว้ว่า “They must change before change comes changing them.” (คำแปลไม่เป็นทางการ: “ท่านทั้งหลาย (ประเทศพัฒนาแล้ว) ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง ก่อนที่การเปลี่ยนแปลงจะมาถึงและเปลี่ยนแปลงท่านทั้งหลาย”)"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net