Skip to main content
sharethis

การเกิดมาเป็นคนร่วมยุคดิจิตอลนี่ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สะดวกสบายเป็นที่สุด ซึ่งรวมไปถึงการดูหนังฟังเพลงที่อยากจะฟังอะไรก็ได้ฟัง อยากจะดูก็ได้ดู เพียงแต่รู้ช่องทางนิดหน่อยเราก็จะได้เสพผลงานเหล่านั้นแบบสบาย ๆ ซึ่งต่างจากยุคสมัยที่โลกแห่งอะนาล็อกยังทรงอิทธิพลบนโลกใบนี้ สมัยนั้นอยากจะดูหนังฟังเพลงอะไรมันช่างยากเย็นเสียเหลือเกิน คนอายุ 30 ปีขึ้นไปคงรู้ซึ้งกันดีว่ากว่าจะได้ฟังผลงานเพลงของศิลปินที่ตนเองอยากฟังนั้นมันมิใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะต้องเดาใจกันว่าค่ายเพลงจะนำผลงานเข้ามาขายหรือเปล่า แถมถ้าเอาเข้ามาขายแล้วแผงเทปแถวบ้านเราจะมีขายไหมหนอ หลาย ๆ ครั้งก็ต้องพึ่งพาเทปผีที่คนผลิตบรรจงอัดเทปม้วนต่อม้วนมาขายให้เรา ใครที่เคยซื้อเทปผีพีค๊อกซ์ต่างล้วนมีประสบการณ์ เช่น เพลงไม่ตรงกับอัลบั้มบ้าง เพลงไม่ครบบ้าง เอาเพลงคนอื่นมาใส่มั่วบ้าง ศิลปินผิดคนบ้าง ฯลฯ ให้ได้ชอกช้ำระกำใจ (แต่ก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่หลายคนยังถวิลหา) นอกจากเรื่องจะหาซื้อที่ไหน หาซื้อได้อย่างไร สิ่งสำคัญที่ลุ้นไม่แพ้กันในโลกยุคอะนาล๊อกคือ แผงเทปน้อยร้านที่จะใจใหญ่กล้ากรีดพลาสติกเพื่อเอาเทปด้านในมาให้เราฟังก่อน ดังนั้นการซื้อเทปจึงเหมือนเป็นการเสี่ยงดวงพอควรเพราะเราแทบไม่รู้ว่าเพลงข้างไหนเป็นอย่างไร อย่างมากก็อาศัยข้อมูลจากหนังสือเพลงจำพวก Crossroad, Music Express, GT ฯลฯ อ่านรีวิวที่เขาว่าไว้ อันไหนถูกนักวิจารณ์ให้ดาวเยอะ ๆ ก็ลองซื้อกันไป ตอนมานั่งฟังนี่ก็ต้องลุ้นว่าจะเป็นอย่างที่นักวิจารณ์เขาว่ากันไว้หรือเปล่า แต่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเมื่อโลกก้าวสู่ยุคดิจิตอล ทั้งความเร็วของอินเตอร์เนตที่เพิ่มสูงขึ้นชนิดกด enter ปุ๊บ หน้าเพจโผล่ปั๊บเอย ไหนจะพื้นที่ในการเก็บข้อมูลของฮาร์ดดิสค์คอมพิวเตอร์ที่เพิ่มขึ้นชนิดเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วนึกไม่ถึง (ลองนึกแผ่นดิสเกทท์ 1.44 MB ที่เป็นที่พึ่งทางใจสมัยก่อน) รวมถึงโปรแกรมต่าง ๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อสอดรับกับความต้องการของประชาคมชาวไซเบอร์ และหนึ่งในโปรแกรมนั้นคือ บิท ทอร์เรนท์ (Bit Torrent) ผู้อ่านหลายคนคงคุ้นกับโปรแกรมนี้ดี ลักษณะโปรแกรมนี้เรียกรวมว่าเป็นโปรแกรม Peer to Peer แลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน เช่น ผมมีไฟล์จำนวนหนึ่งอยู่ในเครื่องแล้วอยากเผยแพร่ ก็เลยจัดการเซ็ทผ่านทอร์เรนท์ให้คนอื่นเข้ามาโหลดไฟล์ในเครื่องผมได้ และผมก็โหลดจากเครื่องเขาได้เช่นกัน คราวนี้ก็มันส์กันเลย เพราะบรรดาคนทั่วโลกที่ลิงค์เชื่อมต่อกันคงต้องมีใครสักคนแหละที่มีผลงานเพลงหรือหนังที่เราอยากได้ (แต่หาซื้อไม่ได้) แถมยังฟรีอีกต่างหาก ขอเพียงมีอินเตอร์เนตที่มีความเร็วและเวลาในการรอคอย เราก็จะได้เพลงเหล่านั้นมาครอบครอง โอ้ว! ช่างยอดเยี่ยมเสียจริง ๆ ด้วยความที่มันฟรี คนจำนวนมากเลยให้ไปโหลดเพลงโหลดหนังจากบิทกันเป็นเรื่องประจำ ไม่ซื้อหาของแท้กันแล้ว บรรดาค่ายเพลงก็โอดครวญว่ายอดขายซีดีลด เลยกลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในเชิง Political Correctness พอสมควร (ประเด็นนี้ค่อยว่ากันในครั้งต่อ ๆ ไปเพราะมีนักวิชาการด้านนี้หลายคนที่แย้ง เรื่องนี้ต้องว่ากันอีกยาว) สิ่งที่คนโหลดบิทโดยเฉพาะพวกชอบโหลดเพลงส่วนใหญ่ต่างตื่นตาตื่นใจทุกครั้งที่ได้เห็นคือ จำนวนคนปล่อยไฟล์ (ยิ่งคนปล่อยเยอะยิ่งเร็ว) และรายชื่อไฟล์ต่าง ๆ หากค้นพบว่ามีไฟล์เพลงจำนวน Discography หรือการรวบรวมผลงานทั้งหมดของศิลปินนี่ตาลุกวาวกันทุกคน ชาวบิททั้งหลายจะรีบลงมือกดดาวน์โหลดทันทีแม้ว่าไฟล์เหล่านั้นรวมกันจะมีขนาดใหญ่เพียงใดก็ตาม พร้อมกับเฝ้าเพียรนั่งดูและนับถอยหลังให้กับการสิ้นสุดการดาวน์โหลด ยิ่งใกล้เสร็จเท่าไรหัวใจยิ่งเต้นแรงและพองโตเพราะเราจะได้ฟังผลงานเพลงทุกเพลงของศิลปินที่ชอบ ไหนจะ Pink Floyd ทุกชุด The Beatles ไล่มาตั้งแต่สมัยหน้าใสยัน จอห์น เลนนอนเคราดกยาวจนมองไม่เห็นปาก หรือจะใหม่ ๆ อย่าง Radiohead ที่ชุดแรกกับชุดล่าสุดต่างกันราวฟ้ากับเหว น่าปลาบปลื้มใจยิ่งนักที่ทุกอัลบั้มมหากาพย์ของพวกเขาเหล่านี้ได้อยู่ในเครื่องเราหมดแล้ว ดีใจ ๆ น่าสนใจที่ว่าชาวโหลดบิททั้งหลายโดยเฉพาะพวกคอเพลงมักเลือกที่จะดาวน์โหลดผลงานเพลงของศิลปินที่เป็น Discography มากกว่าดาวน์โหลดเป็นอัลบั้มหรือเฉพาะเพลง คำตอบที่มักได้รับว่าทำไมคือ โหลดไว้เพื่อการศึกษา เพื่อจะได้เห็นพัฒนาการรวมถึงการเปลี่ยนแปลงของวงดนตรีวงหนึ่ง ๆ ว่าในยุคแรกกับยุคหลังแนวดนตรีต่างกันมากน้อยเพียงใด บ้างก็ว่าลองโหลดมาฟังเป็นตัวอย่าง ถ้าชอบก็จะรอซื้อเป็นบ๊อกซ์เซ็ท (คนตอบแบบนี้ได้ต้องฐานะดีหน่อย) ผมเองไม่แน่ใจว่าคนที่ชอบโหลดยกชุดแบบนี้จะโตมาในยุคทศวรรษที่ 80 หรือเปล่า แต่ถ้าเอาเฉพาะตัวเอง ผมบอกเลยว่าใช่! สมัยเด็ก ๆ อยากจะฟังชุดนั้นชุดนี้แล้วมันไม่มีโอกาส พอมันมีให้โหลดให้ฟังก็เลยจัดหนักมาให้ครบเสียเลย ยิ่งพอลองคิดเป็นจำนวนเงิน (ซีดีแผ่นหนึ่ง ๆ ราคาประมาณ 400 – 500 บาท โหลดมาทุกชุด สมมติเป็น Radiohead มี Studio Album 8 ชุด ตก ๆ ประมาณ 4,000 บาท) คุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้ม ดังนั้นมีเท่าไหร่โหลดให้หมด ทว่าการฟังเพลงของศิลปินให้หมดให้ครบทุกชุดเป็นงานที่ท้าทายและไม่แน่ใจว่าจะมีสักกี่เปอร์เซนต์ของมนุษยชาติที่จะทำได้สำเร็จโดยเฉพาะกับศิลปินที่เราไม่ได้มักคุ้นมากนักหรือพึ่งลองเริ่มฟัง เนื่องด้วยเวลาในการดำรงชีวิตแบบทุนนิยมมันก็บีบรัดให้ทำการทำงานอย่างอื่นด้วย หากลองนับเวลาดูจริง ๆ ในชีวิตประจำวันเราใช้เวลาฟังเพลงกันสักกี่มากน้อย อย่างมากก็อาจจะช่วงเวลาเดินทาง (คนกรุงเทพฯ อาจจะได้เปรียบพอควรเพราะต้องใช้ชีวิตอยู่กลางถนนนานกว่าเพื่อน) ถ้าไม่นับประเภทเปิดวิทยุไว้เป็นเพื่อน ผมว่าเราเปิดเพลงแบบตั้งใจฟังกันไม่เคยคนละชั่วโมงต่อวันเท่านั้น ดังนั้นโอกาสที่จะฟังผลงานเพลงที่โหลดมาจึงมีน้อย และผมเชื่อว่าเราก็มักจะฟังเพลงหรืออัลบั้มที่เราคุ้นเคยเป็นประจำเสียมากกว่า ไม่น่าแปลกใจที่มีอัลบั้มมากมายที่ผมโหลด Discography มาแล้วไม่เคยถูกแตะต้องหรือกดฟังเลยสักครั้งเดียว พูดกันตรง ๆ การโหลดบิทมาทั้ง Discography นี่เป็นพฤติกรรมที่ ‘ไม่เพียงพอ’ มาก ๆ เป็นการสะท้อนลักษณะของมนุษย์ยุคสมัยใหม่ที่ถูกกระตุ้นเร้าความอยากให้เกินพอดีอยู่เสมอ ยิ่งมันฟรียิ่งตั้งหน้าตั้งหน้าเก็บสะสมโดยไม่สนใจว่าแท้ที่จริงแล้วเราอยากได้อยากฟังจริงหรือเปล่า เราอยากศึกษาผลงานเพลงตามที่อ้างจริงหรือเปล่า ซึ่งผมเองก็ตอบไม่ได้ว่าปรากฎการณ์นี้มันสะท้อนว่าเทคโนโลยีเปลี่ยน พฤติกรรมคนก็เลยเปลี่ยนตาม หรือคนเราป็นแบบนี้อยู่แล้ว เทคโนโลยีแค่มาสนับสนุนเท่านั้น ว่าแต่คุณผู้อ่านฟังเพลงที่โหลดมาไว้ในฮาร์ดดิคส์หมดหรือยังครับ หมายเหตุ บทความนี้เขียนเพื่อให้เห็นพฤติกรรมของคนที่ใช้บิททอร์เรนท์ มิได้สนับสนุนให้คนละเมิดลิขสิทธิ์นะครับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net