อ่านอัลกุรอาน(1): ตัวบท บริบท และการเมืองของคัมภีร์อัลกุรอาน

จะมีวิธีใดที่จะทำความเข้าใจคนมุสลิมได้ดีไปกว่าการอ่านอัลกุรอาน? อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ในฐานะนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์และในฐานะที่เป็นคนมุสลิม ตอบรับคำเชิญของ Book Re:public มาเป็นวิทยากรในงานเสวนาอ่านออกเสียงครั้งที่ 4

ซีรี่ย์เสวนา “อ่านออกเสียง” จัดขึ้นเป็นประจำทุกเดือนที่ร้าน Book Re:public เพื่อขยายขอบเขตการ “อ่าน” ในแง่มุมต่างๆ และเพื่อสนับสนุนหลักการเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามระบอบ ประชาธิปไตยในสังคมไทยซึ่งประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา และอุดมการณ์ คนมุสลิมถือได้ว่าเป็นคนกลุ่มน้อยของสังคมไทย กระนั้นก็ตาม เสียงของคนมุสลิมจำเป็นต้องถูกได้ยินท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรงในสามจังหวัด ชายแดนภาคใต้ ซึ่งดูเหมือนจนแล้วจนรอดรัฐไทยยังจนปัญญาที่จะจัดการกับปัญหา

จะมีวิธีใดที่จะทำความเข้าใจคนมุสลิมได้ดีไปกว่าการอ่านอัลกุรอาน? อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ในฐานะนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์และในฐานะที่เป็นคนมุสลิม ตอบรับคำเชิญของ Book Re:public มาเป็นวิทยากรในงานเสวนาอ่านออกเสียงครั้งที่ 4 “อ่านอัลกุรอาน ผ่านตัวบท บริบท และการเมืองของคัมภีร์อัลกุรอาน” เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2554 และได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักคิดนักวิชาการหลายท่าน Book Re:public เห็นว่าเนื้อหาของงานเสวนามีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจ “วิธีคิด” ของคนมุสลิม รวมถึงการใคร่ครวญถึง “ขอบเขตของการวิพากษ์วิจารณ์” ในโลกซึ่งประกอบด้วยผู้คนที่ยังเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ กับอีกพวกที่ไม่เชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์แล้ว จึงเก็บประเด็นเสวนามานำเสนอแก่ผู้อ่าน ดังนี้


“อ่าน” อัลกุรอานอย่างชัยวัฒน์ สถาอานันท์

ชัยวัฒน์เริ่มต้นเสวนาด้วยการกล่าวถึงความสำคัญของหนังสืออย่างอัลกุรอาน ซึ่งกำหนดวิถีชีวิตของชาวมุสลิมอย่างน้อยเป็นพันล้านคน วันนี้เขาจะ “อ่าน” อัลกุรอานอย่างชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และอย่างฮัจญี กาเดอร์ มูไฮยดีน บิน ฮัจญี อับดุล อายีส (ชื่ออาหรับของชัยวัฒน์) นั่นหมายถึง อ่านในฐานะที่เป็นทั้งนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์และเป็นมุสลิม ซึ่งเป็นตัวตนทั้งสองอย่างของเขา

ในแง่ศาสนาเปรียบเทียบ ชัยวัฒน์คิดว่าอิสลามแตกต่างจากพุทธตรงที่ศาสนาอย่างอิสลาม คริสต์ ยิว เป็นศาสนาที่ “สัจธรรม” ทางศาสนาได้รับการเผยแสดงมาสู่ศาสดาเป็น “revelation” ในขณะที่ศาสนาพุทธ “สัจธรรม” ถูกค้นพบโดยพุทธองค์ นัยยะสำคัญคือ ในโลกของศาสนาที่สัจธรรมได้รับการเผยแสดง หมายถึงมีอะไรบางอย่างที่อยู่เหนือกว่านั้น และศาสดาเป็นแค่ messenger หรือคนส่งสาร

การที่คนคนหนึ่งจะเป็นมุสลิมนั้นง่ายมาก เพียงแค่กล่าวคำปฏิญาณ “ไม่มีพระเจ้าอื่นใด เว้นแต่อัลเลาะห์องค์เดียว และมูฮัมมัดเป็นศาสนทูตของพระองค์” ถ้าใครกล่าวอย่างนี้ถือว่าเป็นมุสลิมแล้ว กระนั้นก็ตาม คำกล่าวสามท่อนนี้กลับมีความสำคัญมาก เพราะคำกล่าวท่อนแรก “ไม่มีพระเจ้าอื่นใด” เป็น negation เป็นการปฏิเสธระเบียบทั้งหมดที่มีอยู่ โดยเฉพาะระเบียบที่คนจำนวนหนึ่งถือว่ามนุษย์สร้างขึ้น ท่อนต่อมา “เว้นแต่อัลเลาะห์องค์เดียว” เป็น affirmation เป็นการตอกย้ำว่าไม่มีอันนั้น แต่มีอันนี้ และ “มูฮัมมัดเป็นศาสนทูต” แปลว่าเป็นทิศทาง เป็น direction ว่าให้ดำเนินชีวิตเช่นเดียวกับมูฮัมมัด

ชัยวัฒน์ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่น่าสนใจในคำปฏิญาณนี้คือการเริ่มต้นจากการปฏิเสธระเบียบ หมายถึง เมื่อคุณเห็นว่าโลกไม่เป็นธรรม คุณลุกขึ้นมาปฏิเสธมัน และคุณบอกว่าคุณมีทางเลือกอื่น อิสลามเกิดมาเพื่อบอกว่าระบอบที่ทำให้มนุษย์อยู่ใต้มนุษย์อีกคนนั้นใช้ไม่ ได้ และอิสลามเชื่อว่ามนุษย์อยู่ใต้พระเจ้า อิสลามมีหลักความเชื่อของตัวเองคือเชื่อในพระเจ้า เชื่อในสิ่งที่สร้างโดยพระเจ้า เชื่อในวันสิ้นโลก เชื่อในบทกำหนดสภาวการณ์ และที่สำคัญ เชื่อใน คัมภีร์ของพระเจ้า โดยอิสลามแบ่งศาสนิกออกเป็นสองแบบ แบบที่หนึ่งคือชาวคัมภีร์ (people of the book) ได้แก่ คริสต์ ยิว มุสลิม คนเหล่านี้ได้รับคัมภีร์จากพระเจ้า และคำสอนของศาสนาก็ต่อเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่านี้ ส่วนแบบที่สองคือ ผู้ที่มิใช่ชาวคัมภีร์ คำสั่งสอนของศาสดาคือการค้นพบของศาสดาเอง มิใช่ได้รับการเผยแสดงจากพระเจ้า
 

“อ่าน” อัลกุรอานในบริบทประวัติศาสตร์
ประเด็นต่อมา ชัยวัฒน์นำเสนอข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ว่าศาสดามูฮัมมัดไม่เคยเห็น อัลกุรอาน ศาสดาเพียงได้รับโองการจากพระผู้เป็นเจ้าให้ถ่ายทอดคำสอน แต่การรวบรวมบันทึกคำสอนนั้นเกิดขึ้นหลังจากศาสดาเสียชีวิตแล้วประมาณยี่สิบ ปี ในเวลานั้นมีคัมภีร์หลาย versions เพราะมีคนฟังหลายคนและจดคนละอย่าง จนในที่สุดเหลือ version เดียว เรียกว่า อุซมาน มูชัพ (Uthman's codex) หรือการปริวรรตของอุซมาน เพราะฉะนั้นที่คนบอกว่าอัลกุรอานไม่เปลี่ยนแปลงเลยก็อาจขัดแย้งกับข้อเท็จ จริงทางประวัติศาสตร์ที่ชี้ว่า มีพัฒนาการของอัลกุรอานก่อนถึงปีค.ศ. 800 กว่าๆ

ประการที่สอง ชัยวัฒน์ตั้งข้อสังเกตว่า ในอัลกุรอานมีคำว่า “อิสลาม” 7 ครั้ง มีคำปฏิญาณว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดเว้นแต่พระเป็นเจ้าองค์เดียว” 30 ครั้ง มีคำว่า “ความเมตตา” 500 ครั้ง คำว่า “อัลเลาะห์” 2,697 ครั้ง จากข้อสังเกตนี้ ชัยวัฒน์คิดว่า มีระดับความแตกต่างของการให้น้ำหนักกับคุณค่าใดคุณค่าหนึ่งในศาสนาต่างๆ คือศาสนาพุทธเป็นศาสนาของความรู้ ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาแห่งความรัก และศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแห่งความเมตตา

นอกจากนี้ อัลกุรอานสัมพันธ์กับชีวิตของศาสดาในแง่ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิตของ ท่าน เปลี่ยนแปลงชุมชนของท่าน เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของท่านกับเครือญาติและครอบครัว เพราะเมื่อปฏิเสธระบบเดิมที่มีอยู่ก็ต้องสถาปนาระเบียบใหม่ ต้องทะเลาะกับพี่น้อง ทะเลาะกับผู้คน ยอมรับความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น และต้องไปสร้างชุมชนใหม่ สร้างรัฐใหม่ และต่อสู้ในหนทางของท่าน จนในที่สุดกลับมายึดนครมักก๊ะฮคืนในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของอิสลาม

หลังจากศาสดาสิ้นไป อัลกุรอานก็เผยแพร่ไปในที่ต่างๆ อย่างรวดเร็ว ไปถึงอินเดีย เปอร์เซีย อิรัก อิหร่าน อียิปต์ มหาสมุทรแอตแลนติก เป็นการแพร่ขยายทางการเมืองที่รวดเร็วกว่าอาณาจักรโรมันเสียอีก ผลคืออำนาจของอิสลามควบคุมเมดิเตอร์เรเนียน มหาสมุทรอินเดีย ควบคุมเส้นทางการค้า และอื่นๆ อย่างรวดเร็ว จนมาถึงไทยก็มาจากเส้นทางการค้า
 

“อ่าน” โดยศาสดาที่อ่านไม่ออก และพลังของ “การอ่านออกเสียง”
ชัยวัฒน์เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งศาสดาได้รับโองการจาก พระผู้เป็นเจ้า โองการแรกคือบทที่ 96 เวลานั้นท่านศาสดาไป retreat ในถ้ำ และมีโองการลงมา “จงอ่านในนามพระเป็นเจ้าของเจ้า ผู้ทรงสร้าง (สรรพสิ่ง) ผู้ทรงสร้างมนุษย์จากก้อนเลือด (alaq หมายถึงสิ่งที่จับตัวกัน จะเป็นก้อนเลือดหรือก้อนดินก็ได้) จงอ่าน พระเป็นเจ้าของเจ้าทรงเมตตาปรานีไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน ผู้ทรงสอน (เจ้า) ด้วยปากกา ทรงสอนสั่งมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้”

นัยยะสำคัญของเหตุการณ์นี้คือการที่ศาสดาถูกสั่งให้อ่าน ทั้งๆ ที่ท่านอ่านไม่ออก ซึ่งนำไปสู่คำถามว่าทำไมพระเป็นเจ้าเลือกท่านศาสดาที่อ่านหนังสือไม่ออกให้ อ่าน ชัยวัฒน์เสนอว่าคำตอบอาจอยู่ที่การอ่านภาษาต่างๆ ออกหมายถึงการเรียน แต่ทุกครั้งที่เรียน เราถูกทำให้แปดเปื้อนจากความรู้หลายอย่าง เพราะฉะนั้นอัลกุรอานจึงลงมาที่ใจของคนที่อ่านไม่ออก นั่นคือใจของคนที่ไม่ได้ถูกทำให้แปดเปื้อนด้วยมลทินของความรู้จากมนุษย์อื่น

นอกจากนี้ อัลกุรอานยังเป็นหนังสือสำหรับ “การอ่านออกเสียง” ไม่ใช่อ่านในใจ และมีพลังมหาศาลเวลาที่ออกจากปากคนคนหนึ่ง ชัยวัฒน์อธิบายว่าโลกนี้ทำงานด้วยกลไกหลายชนิด บางชนิดทำงานผ่านของที่เราเห็น บางชนิดทำงานผ่านเสียง คัมภีร์อัลกุรอานให้ความสำคัญกับการอ่านออกเสียงมาก กระทั่งมีวิชาการอ่านอัลกุรอาน เหตุผลว่าทำไมมีการพัฒนาศาสตร์นี้ขึ้นมาน่าจะเป็นเพราะการอ่าน (ไม่ออกเสียง) ไม่ทำให้คนลุกขึ้นไปต่อสู้กับใคร แต่การฟังปลุกเร้าผู้คนได้ สำหรับคนมุสลิม อัลกุรอานไม่ใช่หนังสือ แต่เป็นคำของพระเจ้าเลยทีเดียว ชาวมุสลิมเชื่อว่าไม่มีอะไรเลียนแบบอัลกุรอานได้

ชัยวัฒน์ตั้งข้อสังเกตอีกว่า การอ่านการเขียนนั้นเป็นฐานรากของศาสนาอิสลาม ตัวอย่างเช่น การเผยแสดงครั้งแรกก็เริ่มจากการบอกให้อ่าน การเผยแสดงครั้งที่สองอยู่ในซูเราะห์ อัล กอลัม ซึ่งแปลว่าปากกา เริ่มต้นว่า “นูน, ด้วยปากกาและด้วยทุกสิ่งที่เขาเขียน พระเป็นเจ้ามิได้ทำให้สูเจ้า (ท่านศาสดา) เป็นคนบ้า สูเจ้าจะได้รับรางวัลไม่สิ้นสุด แท้จริงสูเจ้ามีธรรมชาติสูงส่ง” นี่คือการสาบานด้วยปากกา คำถามคือทำไมปากกาสำคัญขนาดนั้นสำหรับศาสนาอิสลาม? ท่านศาสดาถามว่า รู้ไหมว่าอัลเลาะห์สร้างอะไรก่อนเป็นอย่างแรก อัลเลาะห์สร้างปากกา และปากกานี้เขียนลงบนกระดานชนวนศักดิ์สิทธิ์ เขียนอะไร? อัลเลาะห์ตอบว่าเขียนความรู้ของฉัน ตั้งแต่เริ่มจนถึงวันตัดสิน และปรากฏลงบนกระดานศักดิ์สิทธิ์อันนั้นซึ่งไม่ได้อยู่บนโลกมนุษย์ แต่อยู่ในอีกมิติหนึ่ง แล้วสิ่งที่เห็นในอัลกุรอานปัจจุบันคือสิ่งที่ฉายมาจากกระดานนั้นอีกที คนอิสลามอ่าน ใช้มันดูแลชีวิตตัวเอง และสร้างสรรค์สังคมในแบบที่อยากให้เป็น
 

จะเข้าใจอัลกุรอานอย่างไร?
ชัยวัฒน์เสนอว่าเราอาจเข้าใจอัลกุรอานได้สามแบบ แบบแรก ถ้าถามผู้รู้ทางศาสนา ไม่ใช่ใครก็จะเข้าใจคัมภีร์หรือจะตีความมันได้ แต่คนที่จะเข้าใจจะต้องมีคุณสมบัติหกข้อคือ หนึ่ง มีความเชื่อที่ถูกต้อง สอง ต้องไม่ตีความเพื่อประโยชน์ส่วนตัว สาม ต้องตีความโดยอาศัยข้อความในอัลกุรอานเอง อาศัยจริยวัตรของท่านศาสดา สหายของท่านศาสดา และผู้สืบทอดต่างๆ สี่ ต้องมีความรู้ในภาษาอาหรับ ห้า ต้องมีความรู้เกี่ยวกับศาสตร์ของอัลกุรอาน และหก ทั้งหมดนี้เป็นการทำตามประเพณีโดยการยอมรับของผู้รู้ที่มีมาก่อนในอดีต นี่เป็นการอธิบายแบบแรก คือต้องมี “ความรู้” จึงตีความอัลกุรอานได้

ทว่าในยุคหลัง เกิดการพยายามตีความโดยคนที่ไม่ได้เรียนศาสนาโดยตรง เพราะอยากให้ศาสนาอยู่ในชีวิตของเรามากขึ้น ผลคือการกระจายตัวของการอธิบายความหมายของศาสนาอิสลามที่กว้างขึ้น ทำให้เกิดความสั่นคลอน คนเริ่มอ่านจากความเข้าใจของตัวเอง พูดอีกอย่างคือ หนึ่ง มีการตีความจาก textualist หรือการตีความจากตัวบทตามลำพัง สอง ตีความจากบริบทประวัติศาสตร์ของหนังสือ

ส่วนแบบที่สามคือ ตีความจากตัวผู้อ่านเอง หรืออ่านตามบริบทของผู้อ่าน ไม่ได้อ่านตามบริบทของท่านศาสดา และไม่ได้อ่านแบบ textualist ที่จำกัดตัวเองอยู่กับตัวบท

คำถามสำคัญคือ ปัญหาทางศาสนาเป็นคำถามของเราใช่หรือไม่? ศาสนาใดๆ จะยั่งยืนเป็นพันๆ ปีต้องมีที่ให้คำถามเปลี่ยน แล้วจะได้หาคำตอบจากตำราหรือคัมภีร์ที่มีอยู่ เพราะฉะนั้นในขณะนี้จึงเกิดการปะทะกันของการตีความ คนที่เรียนศาสนามาโดยตรงจะไม่ชอบการตีความโดยคนแวดวงอื่นที่ไม่ได้เรียน ศาสนา ปัญหาที่ปรากฏคือคำถามว่า ใครมีอำนาจในการตีความ? เวลาสู้กันก็เป็นการสู้กันว่าใครมีอำนาจในการตีความ
 

อัลกุรอานไม่เท่ากับไบเบิล
ชัยวัฒน์ยกตัวอย่างสองเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการลบหลู่คัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งสร้างความโกรธแค้นให้กับชาวมุสลิมจำนวนมาก เพื่ออธิบายว่าจะเข้าใจความโกรธนั้นอย่างไร กรณีแรก บาทหลวงโจนส์เผาอัลกุรอาน (http://www.dailymail.co.uk/news/article-1382322/Koran-burning-pastor-Terry-Jones-cuts-short-rally-hurled-shoes.html?ito=feeds-newsxml) แล้วบอกว่าคนมุสลิมที่ไม่พอใจการกระทำนี้ก็ให้เอาไบเบิลไปเผาได้ ชัยวัฒน์ชี้ว่า หลายคนคิดว่านี่คือมาตรฐานเดียวกัน แต่คนมุสลิมกลับเห็นอีกอย่าง สำหรับคนมุสลิมการเผาหนังสือที่ถือเป็นคัมภีร์ของพระเจ้าเป็นสิ่งที่เป็นไป ไม่ได้ ยิ่งกว่านั้นสำหรับมุสลิม คัมภีร์ไม่ใช่หนังสือ ถามว่าจะเปรียบเทียบคัมภีร์อัลกุรอานกับอะไร เปรียบเทียบกับไบเบิลไม่ได้ ถ้าจะเปรียบต้องเปรียบเทียบกับพระเยซู พระเยซูคือ logos คือ the verse คำของพระผู้เป็นเจ้าปรากฏตัวในรูปของพระเยซู คือสิ่งที่ใกล้กับพระเจ้าที่สุด สำหรับมุสลิม ไม่มีอะไรใกล้พระเจ้าเท่ากับอัลกุรอาน เพราะนี่คือคำของพระเจ้า เพราะฉะนั้นอัลกุรอานไม่เท่ากับไบเบิล เมื่อเป็นอย่างนี้ การเผาอัลกุรอานจึงเหมือนคุณกำลังจะเผาเยซู

กรณีที่สอง ความโกรธแค้นของชาวมุสลิมต่อหนังสือของซัลมาล รัชดี ชื่อ Satanic Verses ถึงขนาดมีการเรียกร้องให้ฆ่ารัชดี ซึ่งแม้ชัยวัฒน์ไม่เห็นด้วย แต่ก็อธิบายได้ว่าความโกรธนี้เข้าใจได้ เพราะมุสลิมเชื่อว่าอัลกุรอานไม่ใช่หนังสือ แต่อยู่อีกสถานะหนึ่ง แล้วเมื่อรัสดีอธิบายว่ามันคือ Satanic Verses ในภาษาอาหรับคือ อายะห์ไชตอน หมายถึงบอกว่าอัลกุรอานทั้งหมดคือถ้อยคำของปิศาจ สำหรับคนมุสลิม แม้ไม่ได้อ่านเนื้อความในหนังสือ แต่แค่ชื่อก็สร้างความโกรธเคืองได้แล้ว


(โปรดติดตามตอนต่อไป เร็วๆ นี้)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท