Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

แม้จะดูวุ่นวายในฟิลิปปินส์ กรณีอดีตประธานาธิบดีที่อ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญเพื่อเดินทางออกนอกประเทศกับฝ่ายรัฐบาลใหม่ที่ต้องการขัดขวางและเอาคืน โดยกล่าวหาว่านางอาร์โรโยทุจริตเลือกตั้ง แต่เราไม่เห็นมวลชนฟิลิปปินส์กลุ่มใดออกมาเรียกร้องให้ทหารเคลื่อนพลปฏิวัติ ก่อนหน้านี้ รัฐบาลโดยก.ยุติธรรมขึ้นบัญชีดำ (Watch List) ห้ามนาง Gloria Macapagal-Arroyo อดีตประธานาธิบดีออกนอกประเทศ อันนี้เป็นอำนาจฝ่ายบริหาร ต่อมาศาลฎีกา (Supreme Court) ซึ่งเป็นระบบคล้าย ๆ ของอเมริกาแต่ที่ฟิลิปปินส์มีผู้พิพากษา 13 ท่าน มีมติด้วยเสียง 8:5 ให้ออกคำสั่ง Temporary Restraining Order (TRO) ซึ่งจะทำให้คำสั่งห้ามออกนอกประเทศของรัฐบาลไม่เป็นผล อันนี้เป็นอำนาจตุลาการที่แทรกแซงอำนาจฝ่ายบริหาร ต่อมารบ.ก็แก้เกมด้วยที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (Commission on Elections หรือ Comelec) ฟ้องคดีทุจริตเลือกตั้ง (electoral sabotage) และขอให้ศาลภูมิภาค Pasay City Regional Trial Court ออกหมายจับนางอาร์โรโย ซึ่งศาลก็ออกหมายให้ทันควัน และโฆษกศาลฎีกาก็แถลงยอมรับว่า ถ้างั้นนางอาร์โรโยอย่าเพิ่งไปผ่าตัดไขสันหลังที่สิงคโปร์เลย อยู่สู้คดีไปก่อน แม้จะระบุว่า TRO ที่ศาลออกให้ยังมีผลบังคับใช้อยู่ ที่น่าสนใจคือองค์คณะพิพากษาที่ออกคำสั่งขัดกับคำสั่งรัฐบาลเพื่ออนุญาตให้นางอาร์โรโยเดินทางออกนอกประเทศได้ อ้างว่าสิทธิการเดินทางเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ (“the right to travel is a constitutional right that may be impaired only ‘in the interest of national security, public safety or public health, as may be provided by law’”)* ในบางประเทศ ศาลสูงมีวิจารณญาณเลือกใช้กฎหมายสูงสุดของประเทศ ไม่เหมือนบางประเทศที่ศาลสูงเอาคนเข้าคุกเพียงเพราะคดีลหุโทษ โดยไม่สนใจต่อสิทธิการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการคุ้มครองตามรธน.เลย ที่น่าสนใจว่าคือ ใน 8 เสียงที่โหวตสนับสนุนคำสั่งให้นางอาร์โรโยออกนอกประเทศได้นั้น รวมทั้งตัวประธานและผู้พิพากษาอีก 7 ท่านล้วนได้รับการแต่งตั้งสมัยนางอาร์โรโยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีทั้งสิ้น ฝ่ายที่ค้านใครเป็นคนแต่งตั้ง คงไม่ต้องเดา ที่น่าสนใจกว่า แม้จะมีการเล่มเกมการเมืองกันจนน่าปวดหัว แต่ไม่เห็นมีกลุ่มไหนในฟิลิปปินส์ออกมาเรียกร้องให้ทหารออกมาปฏิวัติเลย ไม่เหมือนประเทศสารขัณฑ์บางประเทศที่ต้องการยาแก้ปวดแบบฉับพลัน (quick fix)! หมายเหตุ *คล้าย ๆ กับ มาตรา 34 ของรัฐธรรมนูญ 50 ที่ระบุว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการเดินทางและมีเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ภายในราชอาณาจักร...การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน การผังเมือง หรือเพื่อสวัสดิภาพของผู้เยาว์”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net