Skip to main content
sharethis

คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร กก.สิทธิ ย้ำกู้โรงงาน ต้องคำนึงถึงประโยชน์ธุรกิจ-ชุมชน-แรงงาน เผยแพร่ข้อมูลแก่ชุมชน เสนอรัฐบาลตั้งกองทุนเฉพาะกิจเพื่อการฟื้นฟูเยียวยา เล็งจัดเวทีสาธารณะ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน พร้อมติดตามวิเคราะห์คุณภาพน้ำเป็นระยะๆ คันดินรอบนิคมอุสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา (12 พ.ย.54) แฟ้มภาพ: ประชาไท คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เผยแพร่ข้อสรุปจากการประชุมเรื่อง การกู้นิคมอุตสากรรมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดปทุมธานี วานนี้ (17 พ.ย.54) ต่อสื่อมวลชน ระบุว่า การกู้โรงงานทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม ต้องคำนึงถึงประโยชน์ทั้งของภาคธุรกิจ ชุมชนรอบโรงงาน และแรงงาน และต้องเผยแพร่ข้อมูลกระบวนการกู้นิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดความเข้าใจและความร่วมมือต่อกัน มิเช่นนั้นอาจเป็นสาเหตุของความขัดแย้งและความรุนแรง เช่น กรณีรื้อบิ๊กแบ๊กที่ดอนเมือง หรือทำลายคันกั้นน้ำ ที่คลองสามวา นอกจากนี้ ได้เสนอให้รัฐบาลตั้งกองทุนเฉพาะกิจเพื่อการฟื้นฟูเยียวยา เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติน้ำท่วมด้วย หลังจากนี้คณะอนุกรรมการฯ จะจัดเวทีสาธารณะ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการกู้นิคมให้ปลอดภัย จัดการประชุมวิชาการ และติดตามวิเคราะห์คุณภาพน้ำเป็นระยะๆ รวมถึงจะดำเนินการในเชิงยุทธศาสตร์ นโยบายการจัดการน้ำ และพิจารณาการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่ปิดกั้นทางน้ำจนเกิดวิกฤติน้ำท่วม เพื่อเป็นมาตรการในการป้องกันและเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย 00000 ข้อสรุปการประชุม เรื่อง การกู้นิคมอุตสากรรมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดปทุมธานี โดย คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2554 เวลา 10.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุมศูนย์สันติวิธีและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมี ศ.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางวิสา เบ็ญจะมโน และนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังข้อมูลจากตัวแทนหน่วยงานภาครัฐทั้งจากส่วนกลางและพื้นที่ สืบเนื่องจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้ร้องเรียนขอให้ตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ ในการกู้นิคมอุตสาหกรรมที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดปทุมธานี มีตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะผู้แทน ศปภ. ตัวแทนการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรมกรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และผู้แทนจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดปทมุธานี ร่วมกับ นางสุนี ไชยรส กรรมการปฏิรูปกฎหมาย รศ.ดร.ทรงศักดิ์ ศรีอนุชาติ นายกสมาคมพิษวิทยา นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และนางเรืองรวี พิชัยกุล ผู้แทนมูลนิธิเอเชีย มีข้อสรุปจากที่ประชุม ดังนี้ 1. หลักการทำงานในการกู้โรงงานทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม ต้องคำนึงถึงประโยชน์และความมั่นคง ทั้งของภาคธุรกิจการลงทุน สุขภาพ และคุณภาพชีวิตของคนและชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบโรงงาน ตลอดจนภาคแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมนั้นๆ ด้วย 2. การตรวจสอบคุณภาพน้ำที่ท่วมขังในโรงงานอุตสาหกรรมนั้น ทางกรมควบคุมมลพิษ กรมควบคุมโรค กรมโรงงานอุตสาหกรรม และการนิคมอุตสาหกรรม ยืนยันว่า มีการตรวจสอบทั้งก่อนและระหว่างการสูบน้ำออกจากนิคม ซึ่งทั้ง 4 หน่วยงานยินดีจะส่งข้อมูลทั้งหมดมายังคณะกรรมการสิทธิแห่งชาติ เพื่อการติดตามตรวจสอบต่อไป 3. การตั้งคณะทำงานดำเนินการกู้นิคม ต้องประกอบด้วยตัวแทนภาครัฐ นักวิชาการ ภาคแรงงาน และชุมชน เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในการกู้นิคม 4. กระบวนการกู้นิคมอุตสาหกรรม ต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร โดยหน่วยงานของรัฐต้องเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ทั่วถึง เพื่อให้เกิดความเข้าใจและความร่วมมือกันในการกู้นิคม เพราะการไม่รู้ข้อมูลข่าวสาร จะก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจ ไม่มั่นใจในสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของผู้คนในชุมชน และแรงงานในนิคมจะเป็นสาเหตุของความขัดแย้งและความรุนแรง ดังเช่นกรณี การเคลื่อนย้ายถุงทรายขนาดใหญ่ที่บริเวณดอนเมือง หรือทำลายคันกั้นน้ำ ที่คลองสามวา เป็นต้น 5. รัฐบาลควรมีแผนงานสร้างระบบการฟื้นฟูเยียวยาและชดเชยความเสียหายโดยจัดตั้งเป็นกองทุนเฉพาะกิจเพื่อการฟื้นฟูเยียวยา เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้ ภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรมีภารกิจที่ต้องดำเนินการต่อคือ ก. กำหนดแผนงานกิจกรรมการเปิดเวทีสาธารณะ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการกู้นิคมให้ปลอดภัย จัดการประชุมวิชาการและสื่อสารสาธารณะให้สังคมได้รับข้อมูลเพิ่มขึ้น และการติดตามวิเคราะห์คุณภาพน้ำเป็นระยะๆ ทั้งนี้ในทั้ง 3 แผนงานจะเป็นการทำงานร่วมกับ มูลนิธิเอเชีย นักวิชาการสมาคมพิษวิทยา กรรมการปฏิรูปกฎหมาย และกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ข. ทางอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรรับเป็นคนกลางในการประสานงานกับสถาบันอุดมศึกษาทั้ง 7 แห่ง เพื่อรวบรวมรายชื่อนักวิชาการ ตัวแทนแรงงาน และชุมชน เข้าไปร่วมในคณะทำงานของหน่วยงานภาครัฐในการกู้นิคมอุตสาหกรรมด้วย ค. คณะอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ต้องดำเนินการในเชิงยุทธศาสตร์ นโยบายการจัดการน้ำ และพิจารณาการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่ปิดกั้นทางน้ำจนเกิดวิกฤติน้ำท่วม เพื่อเป็นมาตรการในการป้องกันและเสนอต่อรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้พิจารณาดำเนินการต่อไป คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 18 พฤศจิกายน 2554

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net