Skip to main content
sharethis

ผู้ว่าฯ-กรมโรงงาน-กรมควบคุมมลพิษ ประสานเสียงยังไม่พบสารพิษปนเปื้อน แจงปัญหาหลักน้ำท่วมขัง-เน่าเสีย ผู้ใช้แรงงานขอมีส่วนเป็นกรรมการตรวจสอบ ปลอดประสพชี้ยังมีโรงงานเถื่อนมหาศาล น่าห่วงกว่าหากน้ำท่วม เดินเครื่องสูบน้ำกู้นิคมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา (12 พ.ย.54) แฟ้มภาพ: ประชาไท (17 พ.ย.54) คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดการประชุมเรื่องร้องเรียนเรื่องผลกระทบจากการกู้นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค (บ้านหว้า) อำเภอบางปะอิน และนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ณ ห้องประชุมศูนย์สันติและความขัดแย้ง อาคารวิทยนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการฯ ชี้แจงว่า การจัดประชุมครั้งนี้เนื่องจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยร้องเรียนมายังคณะอนุกรรมการฯ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงการกู้นิคมฯ และจากการร่วมประชุมกับนักวิชาการและมูลนิธิเอเชียเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ายังขาดข้อมูลการดำเนินงานจากทางด้านหน่วยงานราชการ ซึ่งอาจทำให้ชุมชนโดยรอบเกิดความไม่มั่นใจในด้านความปลอดภัย คณะกรรมการสิทธิฯ จึงต้องทำให้เปิดเผยเพื่อให้มั่นใจว่าการกระทำของรัฐจะไม่ละเลยประเด็นสิทธิมนุษยชน พร้อมยกตัวอย่างกรณีรื้อบิ๊กแบ๊กของชุมชนต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องว่าเกิดจากการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งนี้ หากสามารถทำความเข้าใจร่วมกันได้ อาจนำมาซึ่งความร่วมมือในการกู้นิคมฯ ของชุมชนโดยรอบด้วย ทั้งนี้ นพ.นิรันดร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากประเด็นการกู้นิคมฯ แล้ว หลังจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ จะพูดคุยกับนักวิชาการเรื่องการวางผังเมือง การบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาวต่อไป ชุมพล ชีวะประภานันท์ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงว่า เมื่อกระทรวงอุตสาหกรรมทราบเรื่องอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นก็ได้มีมาตรการป้องกัน โดยประสานไปยังการนิคมอุตสาหกรรม เพื่อเตือนและแนะนำโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมทั้งเจ็ดแห่ง รวมถึงโรงงานในกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ให้ขนย้ายเครื่องจักร วัตถุดิบ สารเคมี ขึ้นที่สูง รวมถึงขนย้ายกากของเสียออกนอกโรงงาน ซึ่งผู้ประกอบการให้ความร่วมมืออย่างดี มีเพียงที่นิคมฯ สหรัตนนครที่เกิดน้ำท่วมกระหันทัน ชุมพล กล่าวต่อว่า เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงสาธารณสุข ได้หารือร่วมกันได้ว่าข้อสรุปว่า เพื่อสร้างความโปร่งใสว่าการกู้นิคมฯ จะไม่ส่งผลกระทบกับภาคประชาชน จึงได้ตั้งคณะกรรมการอำนวยการควบคุมคุณภาพน้ำที่ระบายออกจากพื้นที่ท่วมขังในนิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรม โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุว่า ก่อนหน้านี้ ฝ่ายปฏิบัติการได้ดำเนินเก็บตัวอย่างน้ำแล้วตั้งแต่เมื่อต้นเดือน โดยทั้งสามหน่วยงานวิเคราะห์แล้ว ไม่พบสารอันตรายหรือโลหะหนักปนเปื้อน และหลังจากนี้จะมีการเก็บตัวอย่างทุกวันจนสิ้นเดือน พ.ย. ณ จุดสูบน้ำของนิคมฯ 5 แห่ง หากพบว่ามีผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ จะสั่งให้หยุดสูบทันที ขณะที่อีก 2 แห่งที่ปทุมธานี ที่ยังมีน้ำท่วมสูง จะมีการติดตามสถานการณ์น้ำ อาทิตย์ละครั้ง โดยทุกจุด ต้องมีผู้แทนทั้งสามหน่วยงาน และใช้ตัวอย่างเดียวกันในการวิเคราะห์ โดยจะทำการวิเคราะห์โลหะหนัก ไซยาไนด์ สารอันตราย แคดเมียม โครเมียม ปรอท แมงกานีส ฯลฯ เชื้อโรคปนเปื้อน ตัวชี้วัดความสะอาดของน้ำ และค่าความเป็นกรด-ด่าง ต่อคำถามของอนุกรรมการฯ ว่า มีการตรวจสารตั้งต้นที่ใช้ในโรงงานหรือไม่ ชุมพล ชี้แจงว่า เนื่องจากได้ส่งหนังสือเตือนให้นำสารตั้งต้นขึ้นที่สูงหมดแล้ว จึงไม่ได้วิเคราะห์สารตั้งต้นทุกตัว อย่างไรก็ตาม ย้ำว่ายังไม่พบสารเคมีตั้งต้นในน้ำ อย่างไรก็ตาม หลังการชี้แจงข้อมูล รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รับปากว่าจะเพิ่มตัวแทนเข้าไปในคณะทำงานที่ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำตามที่มีการเสนอในที่ประชุม แจงปัญหาที่พบคือน้ำเน่าเสีย รังสรรค์ ปิ่นทอง ผู้อำนวยการสำนักจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลของนิคมฯ 6 แห่ง ปัญหาที่พบคือน้ำเน่าเสีย เนื่องจากน้ำบริเวณดังกล่าวเป็นน้ำขัง แต่ไม่พบโลหะหนักที่จะเป็นอันตราย ส่วนคราบน้ำมันปนเปื้อนในน้ำนั้น มองว่าเกิดจากการที่เครื่องจักรจมน้ำ หรือการจอดรถทิ้งไว้ ไม่ใช่จากกระบวนการผลิต เพราะหากมาจากกระบวนการผลิต คราบน้ำมันจะเยอะกว่านี้เป็นร้อยเท่า นอกจากนี้ ผู้แทนจากกรมควบคุมมลพิษ ชี้แจงเพิ่มเติมถึงขั้นตอนการทำงานของคณะกรรมการอำนวยการควบคุมคุณภาพน้ำฯ ว่าประกอบด้วย 1.ตรวจสอบคุณภาพน้ำก่อนการสูบน้ำ เพื่อให้มั่นใจคุณภาพน้ำไม่กระทบสิ่งแวดล้อมและประชาชนรอบนิคมฯ 2.หากตรวจพบ ต้องหยุดสูบชั่วคราวจนกว่าจะปรับคุณภาพน้ำ 3. บำบัดฟื้นฟูให้ได้มาตรฐาน ณ จุดที่ตรวจพบ 4.ตรวจสอบเฝ้าระวังคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง 5.หากพบสารเคมี จะวิเคาะห์และนำไปเก็บรวบรวมในที่ที่ปลอดภัย และ 6.เมื่อน้ำลด จนเหลือ 30 ซม. จากพื้นดิน ต้องหยุดทำการสูบน้ำ และตรวจสอบคุณภาพตะกอนดินว่าเข้าข่ายของเสียอันตรายหรือไม่ ทั้งนี้ ผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำจะมีการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล ภาคประชาชนขอร่วมตรวจสอบด้วย ด้านชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ตั้งคำถามถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนและคนงานในคณะกรรมการดังกล่าว โดยระบุว่า หากมีแต่ภาครัฐเป็นคณะกรรมการ แล้วชุมชนและลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจะเชื่อมั่นผลการตรวจสอบได้อย่างไร พร้อมตั้งคำถามว่า ก่อนน้ำมา มีการป้องกันบ่อบำบัดน้ำเสีย ทั้งนี้ ภาครัฐควรมีมาตรการรองรับที่ชัดเจน ไม่ใช่รอให้มีปัญหาแล้วให้ฟ้องทีหลัง เพราะนี่เป็นเรื่องชีวิตคน เรืองรวี พิชัยกุล จากมูลนิธิเอเชีย แสดงความเห็นว่า ในคณะกรรมการสามฝ่ายดังกล่าว ควรมีฝ่ายนักวิชาการ แรงงาน และชุมชนที่ได้รับผลกระทบร่วมด้วย เพื่อความโปร่งใสในการตรวจสอบ นอกจากนี้ ตั้งคำถามถึงกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและกระบวนการเยียวยาด้วยว่า ชาวบ้านรอบนิคม ซึ่งจะอยู่กับน้ำท่วมนานกว่าเดิมจากการกู้นิคมฯ จะเยียวยาอย่างไร ขยะอุตสาหกรรมและคราบน้ำมันจะจัดการต่อไปอย่างไร พร้อมเสนอว่าอาจพูดคุยขอความร่วมมือจากชาวบ้านในบริเวณดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันเก็บผักบุ้งและตกปลา ให้ช่วยเหลือ ตัวแทนอยุธยา-ปทุมฯ แจง \เอาอยู่\" สุวิทย์ สวนด้วง ตัวแทนผู้ว่าฯ อยุธยา กล่าวว่า มีการตั้งคณะทำงานฟื้นฟู รับผิดชอบแต่ละนิคมฯ โดยมีรองผู้ว่าฯ เป็นประธานแต่ละชุด ทั้งนี้ ชี้แจงว่า กรณีมีการร้องเรียนว่าสูบน้ำแล้วมีคราบน้ำมันที่นิคมฯบางปะอิน ยืนยันว่า ตอนที่น้ำท่วมไม่มีคราบน้ำมัน แต่เมื่อเปิดให้ผู้ประกอบการเข้าไปเก็บเครื่องมือ ปรากฏว่าผู้รับจ้างตัดสายท่อน้ำมัน ทำให้เกิดการกระจายออก ตอนหลังจึงมีกติกาว่าใครจะดำเนินการถอดเครื่องมือจักรต้องแจ้งว่าถอดแล้วจะกระทบกับน้ำหรือไม่ ส่วนที่นิคมฯ โรจนะนั้นพบคราบน้ำมันจริง ซึ่งได้ประสานให้โรงงานที่มีคราบน้ำมันช่วยกำจัดออก ส่วนน้ำมันที่ออกมานอกโรงงานแล้ว ก็มีการซับน้ำมันเก็บก่อนส่งออก ทั้งนี้ ตัวแทนผู้ว่าฯ อยุธยา ชี้แจงกรณีมีข่าวเรื่องขยะติดเชื้อว่า จากการสอบถาม พบว่า โรงพยาบาลที่มีขยะติดเชื้อแล้วยังไม่กำจัด คือ รพ.บ้านแพร่ และ รพ.มหาราช ซึ่งยังมีน้ำท่วม โดยเบื้องต้น มีการใช้ยาฆ่าเชื้อขยะดังกล่าวแล้วและเก็บไว้รอการนำไปทำลายเมื่อน้ำแห้ง ด้านชูศักดิ์ ตั้งศิริไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ปทุมธานี ตัวแทนผู้ว่าฯ ปทุมธานี กล่าวว่า อุตสาหกรรมจังหวัดรายงานว่ายังไม่พบสารเคมีรั่วไหลจากนิคมฯ ในปทุมธานีทั้งสองแห่งคือบางกะดีและนวนคร นอกจากนี้ สืบเนื่องจากที่รัฐบาลบอกว่าจะดำเนินการกู้นิคมฯ ในอีก 1-2อาทิตย์ข้างหน้า ได้มอบหมายให้อุตสาหกรรมจังหวัด และทรัพยากรจังหวัด ตรวจสอบควบคุมดูแลปริมาณน้ำทุกระยะก่อนที่จะมีการสูบออก รวมถึงมีการกำชับให้เก็บขยะรวมไว้ให้เรียบร้อยด้วย ปลอดประสพชี้ยังมีโรงงานเถื่อนมหาศาล น่าห่วงกว่าหากน้ำท่วม ขณะที่ ปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ ศปภ. กล่าวว่า ไม่อยากให้มี ศปภ. ภาคสอง หรือเกิดความเสียหายอีกในปีหน้า โดยความเสียหายครั้งนี้ กินเนื้อที่มากกว่าครึ่งของประเทศ กระทบกับประชาชนกว่าครึ่งของประเทศ เป็นความเสียหายซึ่งประเทศไทยไม่เคยเจอมาก่อน ทั้งยังยาวนานตั้งแต่ปลายเดือน ก.ค. ก่อนรัฐบาลจะเข้ามาด้วยซ้ำ จนตอนนี้ ก็เกือบหกเดือนแล้วและคาดว่ากว่าที่น้ำหยดสุดท้ายจะระเหยไปคงใช้เวลาอีกหกเดือน ปลอดประสพ กล่าวว่า เมื่อเกิดเรื่องขึ้นแล้ว ก็ตั้งเป้าว่า ต้องช่วยเหลือคนและลดผลกระทบให้น้อยที่สุด ซึ่งมีปัจจัยจำนวนมาก บ้างมองด้านเศรษฐกิจ บ้างมองด้านสังคม ทำให้วิธีลดผลกระทบแตกต่างกันไป ทั้งนี้ นิคมฯ ถูกมองว่าเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ หากไม่แก้ ตัวเลขคนว่างงานจะมากกว่านี้ รวมแล้วอาจร่วมล้านคน อย่างไรก็ตาม ในฐานะคนที่ดูภาพรวม มองว่าเรากำลังพูดเรื่องเล็กมาก หากแต่ก็เคารพในคำร้องและความลำบากของประชาชน หากยังมีเรื่องใหญ่กว่านั้นอีกมาก ถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อไปอีก 3 เดือน จะเกิดน้ำเสีย น้ำดำ เหม็น มียุง จะเป็นเรื่องใหญ่ นี่เป็นเรื่องที่กังวลอยู่ในใจ อย่างไรก็ตาม ปลอดประสพ กล่าวว่าสำหรับเรื่องผลกระทบจากการกู้นิคมฯ เชื่อว่า เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบอย่างรอบคอบทุกหน่วย พร้อมกำชับว่า เมื่อมีรายงานต้องสำเนาให้พื้นที่รู้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังแสดงความกังวลเรื่องโรงงานเถื่อนจำนวนมากในชุมชนแออัด ซึ่งเป็นที่ที่ตำรวจก็เข้าไม่ถึง ว่าหากน้ำท่วมหมดก็เป็นพื้นที่ที่ควรให้ความสำคัญมากกว่านิคมฯ --------------------------------------------------- ที่ คสรท. 194/2554 11 พฤศจิกายน 2554 เรื่อง ร้องเรียนผลกระทบจากการกู้นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค (บ้านหว้า) อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรียน นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้วยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้เปิดศูนย์แรงงานช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 1 ถนนสายเอเชีย อำเภอบางปะอิน จังหวัดอยุธยา นับตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2554 จวบจนในขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมโดยภาพรวมเริ่มทรงตัว บางแห่งมีระดับน้ำลดลง แต่ระดับน้ำยังไม่มีการระบายออกจากพื้นที่ หน่วยราชการและการนิคมอุตสาหกรรมจึงเริ่มดำเนินการกู้นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค (บ้านหว้า) อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเห็นว่า การกู้นิคมอุตสาหรรมมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการ เนื่องจากผู้ใช้แรงงานจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการปิดโรงงานอุตสาหกรรม ในขณะที่ประชาชนรอบนิคมอุตสาหกรรมจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการ ดังนั้น การกู้นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ควรจะดำเนินการโดยการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเหล่านั้น อนึ่ง คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่อยู่บริเวณรอบนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากมีความกังวลถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินการของหน่วยราชการในการกู้นิคมอุตสาหกรรม อาทิ ของเสียที่ไม่ได้รับการบำบัดจากนิคมอุตสาหกรรม ระดับน้ำที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จึงขอร้องเรียนมายังนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ผู้ประกอบการ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และสหภาพแรงงาน อันจะทำให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net