อิมมานูเอล วอลเลอร์ชไตน์: ความขัดแย้งในปรากฏการณ์อาหรับสปริง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

นักสังคมวิทยาฝ่ายซ้าย "อิมมานูเอล วอลเลอร์ชสไตน์" อธิบายที่มา "Arab Spring" จากสองกระแส หนึ่งเป็นมรดกจากการปฏิวัติโลกในยุค 1968 ซึ่งยังไม่บรรลุเนื่องจากอดีตเจ้าอาณานิคมควบคุมไว้ได้ อีกหนึ่งมาจากเจ้าอาณานิคมเองที่พยายามเบี่ยงเบนกระแส เนื่องจากเกรง "กระแส 1968" ซึ่งวอลเลอร์ชสไตน์ชี้ว่า "เป็นการลวงให้ไขว้เขวอย่างใหญ่หลวง" และเขาเชื่อว่าหลังจากนี้ "กระแส 1968" จะไม่ถูกยับยั้งได้โดยง่ายอีกต่อไป"

ที่มา: แปลจาก
The contradictions of the Arab Spring

Immanuel Wallerstein
Aljazeera, 14-11-2011
http://www.aljazeera.com/indepth/opinion/2011/11/20111111101711539134.html

ความวุ่นวายในประเทศโลกอาหรับที่ถูกเรียกว่า "ปรากฏการณ์ดอกไม้บานในอาหรับ" (Arab Spring) นั้น เป็นที่พูดถึงโดยทั่วไปว่ามาจากการจุดไฟเผาตัวเองของโมฮาเม็ด บูวอาซีซี ในหมู่บ้านเล็กๆ ของประเทศตูนีเซียเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2010 เหตุการณ์นี้ได้กระตุ้นเร้าจิตใจของคนจำนวนมากจนนำมาซึ่งการต่อต้าน ประธานาธิบดีตูนีเซียในเวลาไม่นานต่อมา จากนั้นจึงค่อยลามไปที่การประท้วงประธานาธิบดีของอียิปต์ และในช่วงเวลาที่รวดเร็วมาก ความวุ่นวายก็แผ่ไปทั่วประเทศอาหรับและในตอนนี้ก็ยังคงอยู่

บทวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่เราได้อ่านจากสื่อหรือจากอินเทอร์เน็ตละเลยความ ขัดแย้งที่เป็นใจความสำคัญของปรากฏการณ์นี้ นั่นคือการที่ Arab Spring มาจากกระแสสองกระแสที่ต่างกันมากและดำเนินไปในทิศทางที่ต่างกัน กระแสหนึ่งเป็นมรดกตกทอดจากการปฏิวัติโลกในยุค 1968 "กระแส 1968" นี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็น "การปฏิวัติอาหรับครั้งที่ 2" ก็ได้

เป้าหมายของมันคือการเป็นเอกราชทางเศรษฐกิจของโลกอาหรับ ซึ่ง "การปฏิวัติอาหรับครั้งแรก" ต้องการให้เกิดขึ้น แต่การปฏิวัติรอบแรกไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้เนื่องจากเหตุผลหลักๆ คือ การที่ประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษสามารถจำกัด ควบคุม และยับยั้งมันไว้ได้

กระแสครั้งที่ 2 เป็นความพยายามของเหล่าตัวละครทางการเมืองในการควบคุมกระแสครั้งแรก แต่ละคนพยายามเบี่ยงเบนกิจกรรมการรวมกลุ่มในโลกอาหรับในทางที่จะนำไปสู่ความ ได้เปรียบของเหล่าตัวละครเหล่านี้ พวกเขามองว่า "กระแส 1968" เป็นสิ่งที่อันตรายต่อผลประโยชน์ของพวกเขา พวกเขาจึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจและการใช้พลังเพื่อให้ บรรลุเป้าหมายของ "กระแส 1968" ในทางที่ผมคิดว่าเป็นการลวงให้ไขว้เขวอย่างใหญ่หลวง

 

อดีตยังไม่ไปไหน

"กระแส 1968" ที่ผมพูดถึงหมายถึงอะไรหรือ? มีอยู่สองจุดเด่นสำคัญในการปฏิวัติโลกปี 1968 ที่ยังคงเป็นประเด็นในสถานการณ์โลกทุกวันนี้ จุดเด่นอย่างแรกคือการปฏิวัติ 1968 เป็นการประท้วงเหล่าผู้มีอำนาจซึ่งมีพฤติกรรมไม่เป็นประชาธิปไตยมาแต่ไหนแต่ ไร นี่ถือเป็นการปฏิวัติต่อต้านการใช้อำนาจ (อย่างผิดๆ) ในทุกระดับ ซึ่งหมายถึงระบบโลกทั้งระบบ มาจนถึงในระดับชาติ ระดับรัฐบาลท้องถิ่น ระดับสถาบันที่ไม่ใช่ของรัฐบาล ซึ่งเป็นสถาบันที่พวกเขามีส่วนร่วมหรือเป็นลูกจ้างในนั้น (เช่น ที่ทำงาน, ระบบการศึกษา, พรรคการเมือง ไปจนถึงสหภาพแรงงาน)

ภาษาที่ใช้กันในเวลาต่อมาคือ การปฏิวัติ 1968 เป็นการต่อต้านการตัดสินใจแบบแนวดิ่งจากบนลงล่าง และสนับสนุนการตัดสินใจแบบแนวระนาบ การมีส่วนร่วมและยึดโยงกับประชาชน แม้ว่า "กระแส 1968" จะใหญ่มาก แต่ก็มีข้อจำกัดอย่างหนึ่งคือ พวกเขาได้รับอิทธิพลอย่างลึกซึ้งจากแนวคิดเรื่องการต่อสู้แบบสันติ อหิงสา ไม่ว่าจะเป็นปรัชญา “สัตยาคฤห” (Satyagraha) ของมหาตมะ คานธี หรือแนวทางตามแบบของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง และสหาย หรือไม่ก็เก่ากว่านั้นคือแนวคิดของ เฮนรี่ เดวิด ธอโร (ผู้เขียนความเรียงเรื่องอารยะขัดขืน หรือ Civil Disobedience)

"ปรากฏการณ์ดอกไม้บานในอาหรับ" เราจะได้เห็นกระแสนี้แรงมากในตูนีเซียและอียิปต์ มีมวลชนเข้าหยิบใช้แนวคิดจากกระแส 1968 เร็วมากจนทำให้ผู้มีอำนาจต้องหวาดหลัว ไม่เว้นแม้แต่เหล่าผู้ปกครองประเทศอาหรับ รัฐบาลจากประเทศ "ภายนอก" ที่มีอิทธิพลในด้านการเมืองกับประเทศอาหรับ รวมไปถึงประเทศที่อยู่ห่างไกลออกไป

ตรรกะแบบต่อต้านผู้มีอำนาจแพร่หลายและประสบความสำเร็จจนเป็นภัยต่อพวกผู้ มีอำนาจเหล่านั้นทั้งหมด จนทำให้รัฐบาลต่างๆ ของโลกรวมหัวกันเพื่อทำลาย "กระแส 1968" นี้

 

การเติบโตของการเคลื่อนไหวทั่วโลก

จนถึงบัดนี้ เหล่าผู้มีอำนาจทั้งหลายก็ยังทำไม่สำเร็จ ในทางตรงกันข้าม กระแสนี้เริ่มมีพลังมากขึ้นเรื่อยๆ ในทั่วทั้งโลก จากฮ่องกงถึงเอเธนส์ สู่มาดริด สู่ซานติเอโก ไปจนถึงโจฮันเนสเบิร์กและนิวยอร์ก นี้ไม่ได้เป็นผลพวงมาจาก Arab Spring แต่อย่างเดียว เนื่องจากมีเมล็ดพันธุ์และการปฏิวัติเช่นนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนเดือน ธันวาคมปี 2010 แล้ว แต่ความจริงคือสิ่งนี้ได้เกิดขึ้นอย่างมโหฬารในโลกอาหรับ ซึ่งก่อนหน้านี้คิดว่าเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ตอบรับกับกระแสการต่อสู้เท่าใด ปรากฏการณ์ในอาหรับได้สร้างแรงสะท้อนให้กับขบวนการของโลกที่กำลังเติบโตขึ้น

แล้วรัฐบาลตอบโต้กับภัยในครั้งนี้อย่างไร? มีอยู่เพียงสามทางเท่านั้นที่จะตอบโต้คือการปราบปราม การรอมชอม และการล่อหลอกให้เปลี่ยนข้าง การตอบโต้ทั้งสามแบบนี้ล้วนถูกใช้ด้วยกันทั้งหมด และถึงจุดที่ประสบความสำเร็จไปแล้วส่วนหนึ่งด้วย

แน่นอนว่าการเมืองภายในของแต่ละประเทศก็ต่างกัน ดังนั้นปริมาณการใช้วิธีปราบปราม รอมชอม และการล่อหลอกให้เปลี่ยนข้างก็มีความเข้มข้นต่างกันไปในแต่ละประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของผมแล้ว ลักษณะความเด็ดเดี่ยวถือเป็นจุดเด่นอย่างที่สองของการปฏิวัติโลกในปี 1968 การปฏิวัติโลกในปี 1968 เป็นการปฏิวัติใหญ่โดยกลุ่มคนที่เรียกว่า "ผู้ที่ถูกลืม" คือกลุ่มคนที่ถูกไม่ได้รับการเหลียวแลจากเหล่านักการเมืองและกลุ่มองค์กร ขนาดใหญ่ที่มีอำนาจ ผู้ถูกลืมเหล่านี้มักจะถูกบอกว่าความทุกข์ร้อนของพวกเขา ความไม่พอใจของพวกเขา และความต้องการของพวกเขา เป็นเรื่องรอง และจะถูกเลื่อนความสำคัญออกไปจนกว่าเรื่องหลักๆ จะได้รับการแก้ไขแล้ว

เหล่าผู้ถูกลืมพวกนี้เป็นใครกัน กลุ่มแรกคือกลุ่มผู้หญิง ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของประชากรโลก กลุ่มต่อมาคือกลุ่มคนที่รัฐมองว่าเป็น "ชนกลุ่มน้อย" ซึ่งไม่ได้หมายถึงคนกลุ่มน้อยในเชิงตัวเลข แต่เป็นในเชิงสังคมศาสตร์ (และมีการนิยามคำนี้โดยวัดจากเชื้อชาติ ศาสนา การใช้ภาษา หรืออะไรหลายอย่างนี้รวมกัน)

นอกจากผู้หญิงและเหล่า "ชนกลุ่มน้อย" ทางสังคมแล้ว ยังมีกลุ่มอื่นๆ อีกมากมายที่ป่าวร้องไม่อยากกลายเป็นคนที่ถูกลืม อย่างกลุ่มที่มีรสนิยมทางเพศที่ต่างออกไป กลุ่มคนพิการ กลุ่มชนพื้นเมือง ที่อาศัยอยู่ในเขตที่มีคนอพยพเข้าไปอาศัยเมื่อ 500 ปีก่อน กลุ่มคนที่เป็นห่วงเรื่องสิ่งแวดล้อม กลุ่มนักสันตินิยม รายนามของกลุ่มเหล่านี้ยาวขึ้นเรื่อยๆ มีกลุ่มคนมากขึ้นและมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มรับรู้สถานะว่าตนเองเป็น "ผู้ที่ถูกลืม"

เมื่อมีคนวิเคราะห์โลกอาหรับแบบประเทศต่อประเทศ พวกเขาก็เข้าใจในแทบจะทันทีว่ากลุ่มผู้ที่ถูกลืมและความสัมพันธ์ของพวกเขา กับรัฐบาลที่มีอำนาจอยู่นั้นแตกต่างกันออกไป ดังนั้นการใช้วิธีการ "รอมชอม" ก็ทำให้การปฏิวัติถูกจำกัดไปมากหรือน้อยต่างกันไป "การปราบปราม" ประชาชนสำหรับแต่ละรัฐบาลก็มีความยากง่ายต่างระดับกัน แต่ที่แน่ๆ เหนื่อสิ่งอื่นใดคือ ทุกรัฐบาลยังอยากจะอยู่ในอำนาจ

หนทางหนึ่งที่จะอยู่ในอำนาจคือการให้ส่วนหนึ่งของผู้ที่มีอำนาจเข้าร่วม การลุกฮือ ส่งตัวบุคคลสำคัญซึ่งมักจะเป็นประธานาธิบดีหรือผู้นำออกไปนอกประเทศโดยให้ กองทัพที่แสร้งทำตัวเป็นกลางขึ้นมาแทน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในอียิปต์ จนมันกลายเป็นเหตุผลที่ทำให้มีคนบางกลุ่มย้อนกลับมาชุมนุมที่จัตุรัสทาห์ เรียอีกครั้งเพื่อเรียกร้องและปลุกจิตวิญญาณของ "กระแส 1968" ขึ้นมาอีก

ปัญหาใหญ่สำหรับตัวละครทางการเมืองคือการที่พวกเขาไม่ทราบว่าจะใช้วิธี การ "เบี่ยงเบน" ความสนใจและพอกพูนผลประโยชน์ให้ตัวเองได้อย่างไรท่ามกลางความวุ่นวายนี้ เราลองมาดูตัวละครหลายตัวที่พยายามกระทำและทำสำเร็จไปแล้ว พวกเราจะได้ช่วยกันประเมินภาพ "กระแส 1968" ในทุกวันนี้และในอนาคตอันใกล้ได้

 

การไถ่บาปยุคหลังอาณานิคม

พวกเราควรเริ่มต้นด้วยเรื่องของฝรั่งเศสและอังกฤษ อดีตประเทศเจ้าอาณานิคมที่มีอิทธิพลน้อยลงเรื่อยๆ ก่อน พวกเขาถูกเปิดโปงล่อนจ้อนในกรณีประเทศตูนีเซียและอียิปต์ ผู้นำของพวกเขาได้รับผลประโยชน์ส่วนตัวจากการปกครองแบบเผด็จการของทั้งสอง ประเทศนี้ พวกเขาไม่ได้แค่สนับสนุนหรือต่อต้านการลุกฮือ แต่ถึงขั้นให้คำแนะนำวิธีการปราบปรามการประท้วง

ในที่สุดพวกเขาก็รู้ว่าพวกเขาเดินเกมการเมืองผิดพลาดมากเพียงใด พวกเขาจึงหาทางไถ่บาปให้กับตัวเอง ด้วยการกระทำต่อลิเบีย

มุมมาร์ กัดดาฟี เองก็เช่นเดียวกับฝรั่งเศสและอังกฤษ คือให้การสนับสนุน ซีเน เอล อบีดีน เบน อาลี และฮอสนี มูบารัค (ผู้นำตูนีเซียและอียิปต์) กัดดาฟีไปไกลถึงขั้นคัดค้านการถอนตัวออกจากตำแหน่งของพวกเขา กัดดาฟีรู้สึกหวาดกลัวสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งสองประเทศ ที่แน่นอนคือไม่ได้มีแนวความคิดแบบ "กระแส 1968" ของจริงอยู่มากนักในลิเบีย แต่ก็มีกลุ่มคนที่ไม่พอใจอยู่เป็นจำนวนมาก และเมื่อกลุ่มคนเหล่านี้เริ่มลุกฮือปฏิวัติ กัดดาฟีก็แผดร้องว่าเขาปราบปรามกลุ่มคนเหล่านี้ได้ยากเย็นเพียงใด

ฝรั่งเศสและอังกฤษเริ่มเห็นโอกาสของพวกเขาตรงจุดนี้

แม้ว่าทั้งสองประเทศนี้ (รวมถึงประเทศอื่นๆ) จะเข้าไปลงทุนธุรกิจสร้างผลกำไรในลิเบียราวทศวรรษที่ผ่านมา พวกเขาก็ค้นพบว่ากัดดาฟีเป็นเผด็จการที่แย่มากอย่างไม่ต้องสงสัย พวกเขาไถ่บาปตัวเองด้วยการให้การสนับสนุนทางการทหารแก่กลุ่มกบฏในลิเบีย

ในวันนี้ เบอร์นาด เฮนรี่ เลวี่ ก็ออกมายกยอว่าเขาได้ช่วยเชื่อมต่อประธานาธิบดีซาร์โกซีของฝรั่งเศสกับกลุ่ม กบฏในลิเบียโดยตรงได้ ในฐานะการแทรกแซงเพื่อสนับสนุนสิทธิมนุษยชน

แต่แม้ว่าฝรั่งเศสและอังกฤษจะมุ่งมั่นเพียงใด พวกเขาก็ไม่สามารถถอดเก้าอี้กัดดาฟีได้โดยปราศจากความช่วยเหลือ พวกเขาต้องการสหรัฐอเมริกา โอบามาดูจะรั้งรอในตอนแรก แต่จากการกดดันภายในของสหรัฐฯ ("เพื่อสนับสนุนสิทธิมนุษยชน") พวกเขาก็ส่งกองทัพสหรัฐฯ และผู้ช่วยด้านการเมืองเข้าไปยังสิ่งที่ตอนนี้ถูกเรียกว่า 'ความพยายามของนาโต้' เขากระทำไปในพื้นฐานความคิดที่ว่า ถึงที่สุดแล้วไม่มีชาวสหรัฐฯ เสียชีวิตเลยแม้แต่รายเดียว มีแต่ชีวิตของชาวลิเบียเท่านั้น

ไม่เพียงแค่กัดดาฟีที่รู้สึกเสียขวัญกับการที่มูบารัคถูกโค่นล้ม ซาอุดิอาระเบียเองก็เช่นกัน พวกเขาเห็นการที่ชาติตะวันตกยอม (และต่อมาก็ให้การรับรอง) การที่มูบารัคหลุดจากตำแหน่ง เป็นเรื่องอันตราย พวกเขาตัดสินใจเดินไปบนเส้นทางที่ไม่พึ่งพิงใครโดยการปกป้องรักษาสภาพการณ์ แบบเดิมไว้

พวกเขาพยายามรักษาอำนาจไว้ในบ้านตัวเองก่อน จากนั้นจึงเริ่มปกป้องสภาความร่วมมือเพื่อรัฐอ่าวอาหรับ Gulf Coordination Council (และส่วนหนึ่งในบาห์เรน) ต่อด้วยประเทศที่มีระบอบกษัตริย์ (จอร์แดนและโมร็อกโก) และเหล่าประเทศโลกอาหรับทั้งหมด ขณะที่ในประเทศเพื่อนบ้านสองประเทศที่มีความวุ่นวายมากที่สุดคือเยเมนและ ซีเรียนั้น พวกเขาก็เริ่มใช้วิธีการเจรจาว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อที่จะไม่ให้มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย

กระแสที่ไม่สามารถยังยั้งได้ง่ายๆ

รัฐบาลใหม่ของอียิปต์ ถูกกล่าวโจมตีอย่างต่อเนื่องจาก "กระแส 1968" ของประชาชนในประเทศ และรู้สึกอ่อนไหวไปกับความจริงที่ว่าความสำคัญของอียิปต์ในโลกอาหรับลดลงไป เรื่อยๆ ทำให้พวกเขาเริ่มทบทวนท่าทีทางการเมืองใหม่ เริ่มจากการอยู่คนละพวกกับอิสราเอล

รัฐบาลอียิปต์ต้องการตีตัวออกห่างจากอิสราเอล โดยที่ไม่มีความเสี่ยงต่อเรื่องการรับเงินสนับสนุนจากสหรัฐฯ พวกเขากลายเป็นผู้ที่สนับสนุนอย่างแข็งขันให้มีการรวมกลุ่มกันของกลุ่มการ เมืองปาเลสไตน์ที่แตกแยกกันไป โดยหวังว่าการกลับมารวมกลุ่มกันไม่เพียงแค่จะทำให้ชาวอิสราเอลต้องจำยอมเท่า นั้น แต่ยังเป็นการหยุดยั้งพัฒนาการของ "กระแส 1968" ในหมู่มวลชาวปาเลสไตน์อีกด้วย

ประเทศเพื่อนบ้านสองประเทศคือตุรกีกับอิหร่าน ก็พยายามหาผลประโยชน์จากความวุ่นวายในโลกอาหรับเพื่อเสริมให้ตนดูเป็นผู้ที่ มีความชอบธรรมในภูมิภาคตะวันออกกลาง นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะเมื่อทั้งคู่เองก็ยังกังวลว่าความแรงของ "กระแส 1968" อาจจะทำร้ายพวกเขาได้จากภายใน เช่นกลุ่มชาวเคิร์ดในตุรกี กับหลายพรรคหลายพวกในอิหร่านที่มีการเมืองซับซ้อนวุ่นวาย

แล้วอิสราเอลล่ะ อิสราเอลเองก็ถูกล้อมโจมตีทุกทางในเรื่อง "ถูกทำให้ไร้ความชอบธรรม" ในโลกตะวันตก (แม้แต่เยอรมนีหรือกระทั่งสหรัฐฯ) ในอียิปต์ ในจอร์แดน ในตุรกี ในรัสเซีย และจีน ขณะเดียวกันก็ยังต้องเผชิญกับ "กระแส 1968" อีก กระแสนี้เริ่มมีมากขึ้นในหมู่มวลชาวยิวในอิสราเอล

ในขณะที่เกมการเมืองเหล่านี้ดำเนินต่อไป "ปรากฏการณ์ดอกไม้บานในอาหรับ" ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ การประท้วงทั่วทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Oxi ในกรีก, Indignados ในสเปน, กลุ่มนักศึกษาในชิลี ขบวนการ Occupy ที่ลามไปทั่ว 800 เมืองในอเมริกาเหนือและที่อื่นๆ การประท้วงหยุดงานในจีน และการประท้วงในฮ่องกง และอีกหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วแอฟริกา

"กระแส 1968" กำลังขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีการปราบปราม การรอมชอม การล่อหลอกให้เปลี่ยนข้าง"

และในทางภูมิศาสตร์การเมืองของโลกอาหรับแล้ว มีความสำเร็จของตัวละครต่างๆ ถูกจำกัด หรือบางครั้งก็ไม่ได้เกิดผลมากเท่าที่ควร จัตุรัสทาห์เรียกลายเป็นสัญลักษณ์ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก การเคลื่อนไหวของชาวอิสลามให้พื้นที่พวกเขาได้แสดงความคิดของพวกเขาอย่าง เปิดเผยในประเทศอาหรับ ซึ่งก่อนหน้านี้พวกเขาไม่สามารถทำได้ แต่ฝ่ายซ้ายที่สนับสนุนรัฐฆราวาสก็ได้กระทำอย่างเดียวกัน ฝ่ายสหภาพแรงงานเองก็ได้กลับมามีบทบาทในเวทีประวัติศาสตร์

สำหรับผู้ที่เชื่อว่าความวุ่นวายในโลกอาหรับ หรือแม้แต่ของทั้งโลกนี้เป็นแค่เหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วก็จะผ่านไป พวกเขาจะได้พบกับการปะทุครั้งใหญ่ (ซึ่งเราอาจจะได้เข้าร่วมเร็วๆ นี้) แล้ว "กระแส 1968" จะไม่ได้ถูกยับยั้งได้โดยง่ายอีกต่อไป

หมายเหตุ: Immanuel Wallerstein เป็นศาตราจารย์สาขาวิชาสังคมวิทยาในมหาวิทยาลัยเยล เป็นผู้เขียนหนังสือวิพากษ์วิจารณ์ระบบทุนนิยมโลกและสนับสนุน "การเคลื่อนไหวต่อต้านระบบ" ทำให้เป็นที่รู้จักทั่วโลกในฐานะนักวิเคราะห์สังคม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท