เมื่อ 'ซัลมาน รัชดี' ถูกเฟซบุ๊กหาว่าเป็นตัวปลอม เรื่องชวนคิดเกี่ยวกับ 'ตัวตน' ในอินเทอร์เน็ต

เป็นที่ถกเถียงกันว่าผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กควรแสดงตัวตนจริงหรือไม่ บางเว็บเช่นเฟซบุ๊กมีนโยบายให้ผู้ใช้เปิดเผยตัวตนจริงโดยอ้างเรื่องความปลอดภัยและความมีอารยะในการสนทนา แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนเปิดเผยว่าการแสดงตัวตนจริงทำไปเพื่อเก็บข้อมูลผู้ใช้เป็นผลประโยชน์เชิงการค้าเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาก็เกิดขึ้นสำหรับนักเขียนผู้นิยมใช้นามปากกาแทนนามจริง เมื่อเฟซบุ๊กเรียกร้องให้นักเขียน 'ซัลมาน รัชดี' ตัวจริงยืนยันตัวตนและเปลี่ยนชื่อผู้ใช้เพราะคิดว่าเป็นตัวปลอม 14 พ.ย. 2011 - นิวยอร์กไทม์รายงานว่า ซัลมาน รัชดี นามปากกาของ นักเขียนลูกครึ่งอินเดีย-อังกฤษ ผู้มีชื่อเต็มว่าเซอร์ อาห์เมด ซัลมาน รัชดี ถูกเฟซบุ๊กสั่งระงับการเข้าถึงและขอร้องให้มีการพิสูจน์ตัวตน โดยเปลี่ยนชื่อเขาเป็น อาห์เมด รัชดี ตามชื่อในพาสปอร์ต รัชดี โพสต์แสดงความไม่พอใจผ่านเว็บไซต์ทวิตเตอร์ว่า เขาไม่เคยใช้ชื่อต้นคือ 'อาห์เมด' และทั่วโลกรู้จักเขาในนาม 'ซัลมาน รัชดี' นอกจากนี้ยังได้โพสต์เรียกร้องให้มาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก ผู้บริหารเว็บไซต์เฟซบุ๊กคืนชื่อเดิมให้กับเขา จนกระทั่งอีกสองชั่วโมงถัดมา นักเขียนผู้นี้ก็ 'ประกาศชัยชนะ' โดยกล่าวว่า \เฟซบุ๊กยอมแพ้แล้ว ผมกลับมาเป็นซัลมาน รัชดีอีกครั้ง ผมรู้สึกดีมาก วิกฤติตัวตนสำหรับคนอายุเท่าผมนี้มันไม่สนุกเลย\" นิวยอร์กไทม์รายงานว่ากรณีของซัลมาน รัชดี ในครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึงความซับซ้อนอย่างหนึ่งในโลกยุคดิจิตอล กับคำถามที่ว่าตัวคุณเป็นคนเดียวกับที่คุณเป็นในโลกออนไลน์ใช่หรือไม่? โลกอินเทอร์เน็ตสมัยนี้เป็นพื้นที่ติดต่อสื่อสารดำเนินการในเรื่องต่างๆ ตั้งแต่การซื้อรองเท้า ไปจนถึงการล้มล้างเผด็จการ ทำให้มีการถกเถียงในมากขึ้นว่า ผู้ใช้ควรแสดงตัวตนอย่างไรในเว็บไซต์ที่เข้าชม ในด้านหนึ่งก็มีการใช้ดิจิตอลพาสปอร์ตที่ให้ลงชื่อจริง ดังเช่นในเฟซบุ๊ก เพื่อการท่องไปทั่วโลกอินเทอร์เน็ต ขณะที่ในอีกด้านก็เชื่อในสิทธิที่ผู้ใช้จะ 'สวมหมวก' หรือบางครั้งถึงขั้น 'สวมหน้ากาก' คนละใบ เพื่อที่จะสามารถเสพย์หรือแสดงความเห็นตามต้องการ โดยไม่ต้องกลัวผลสะท้อนในโลกออฟไลน์ การถกเถียงเรื่องการใช้นามแฝงในโลกอินเทอร์เน็ตหรือที่เรียกกันว่า \"nym wars\" (เป็น hashtag ในเว็บทวิตเตอร์) มีการพูดกันถึงว่าจะมีการจัดการอินเทอร์เน็ตอย่างไรในอนาคต บริษัทขนาดใหญ่อย่างกูเกิ้ล เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ มีผลได้ผลเสียกับข้อถกเถียงประเด็นนี้ และในบางกรณีก็มีปรัชญาการดำเนินงานต่างกันในแต่ละบรรษัท ซึ่งบ่งชี้ถึงความทะเยอทะยานของแต่ละบรรษัทเอง เฟซบุ๊กยืนยันการใช้ตัวตนที่เป็นคนจริงหรือชื่อจริง และเริ่มกลายเป็น 'คนออกพาสปอร์ตชั่วคราว' สำหรับให้ผู้ใช้ใช้ในการล็อกอินเข้าสู่เว็บไซต์อีกกว่า 7 ล้านเว็บไซต์ โดยใช้เพียงแค่ชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านของเฟซบุ๊ก ส่วนกูเกิ้ลพลัส โซเชียลเน็ตเวิร์กของกูเกิ้ล ก็ต้องการให้ผู้ใช้ใช้ชื่อจริงในโลกออนไลน์เช่นกัน และมีการอายัดบัญชีผู้ใช้ของผู้ที่ละเมิดกฏนี้ แต่เมื่อไม่นานมานี้ทางกูเกิ้ลเองก็บอกว่าจะยอมให้ใช้นามแฝงได้ในบางส่วน วิค กุนโดทรา ผู้บริหารด้านโซเชียลเน็ตเวิร์กของกูเกิ้ลกล่าวในการประชุมเมื่อเดือนที่แล้วว่า เขาต้องการทำให้แน่ใจว่าแม้จะมีการใช้ชื่อปลอมแล้ว แต่ก้ยังคงมี \"บรรยากาศ\" ที่น่าพึงใจ ซึ่งการจัดการในเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องซับซ้อน ในทางกลับกัน ทวิตเตอร์ให้เสรีกับการใช้นามแฝงของผู้ใช้ เช่น ผู้ใช้ที่เป็นผู้สนับสนุนวิกิลีกส์และเป็นจอมป่วนนามว่า @FakeSarahPalin เป็นต้น ซึ่งกรณีนี้อาจบอกได้ว่าเป็นการสวมรอย หลอกลวงประชาชนและชวนให้ระงับการใช้ การถกเถียงในเรื่องการแสดงตัวตนมีผลต่อโลกวัตถุ เนื่องจากข้อมูลที่ผูกติดอยู่กับคนจริงนั้นเป็นสิ่งมีค่าทั้งกับธุรกิจและหน่วยงานรัฐ การวิจัยของฟอร์เรสเตอร์เมื่อไม่นานมานี้ประเมินว่าบริษัทต่างๆ ใช้เงินลงทุน 2 พันล้านตอลลาร์ เพื่อให้ได้ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต เนื่องจากผู้ใช้ต่างก็ทิ้งร่องรอยเอาไว้ดังที่บริษัทต่างๆ เรียกว่า \"รอยเท้าดิจิตอลที่ขยายตัวทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ\" นอกจากนี้ยังมีผลในเชิงการเมืองด้วย เนื่องจากนักกิจกรรมในโลกอาหรับและในอังกฤษต่างก็เรียนรู้ในปีนี้แล้วว่า เว็บไซต์โซเชียลมีเดียใช้ได้ผลดีในการขับเคลื่อนการลุกฮือ แต่การใช้ชื่อจริงในเว็บไซต์เหล่านั้นก็อาจเป็นการเรียกให้เจ้าหน้าที่รัฐมาเคาะประตูถึงหน้าบ้านได้ \"นี่เป็นความเสี่ยงที่แท้จริงหากเทคโนโลยีสารสนเทศเน้นให้ทุกคนแสดงตัวตนจริงทั้งหมด\" หัวหน้ามีเดียแล็บของสถาบันเทคโนโลยี แมสซาชูเซท โจอิจิ อิโต กล่าว \"ถ้าเป็นในสหรัฐฯ คุณอาจจะไม่ใส่ใจเท่าไร แต่กับเด็กๆ ในซีเรีย ทุกครั้งที่เขาโพสต์ในอินเทอร์เน็ต มีคนมองเห็นตัวตนของพวกเขา พวกเขาอาจตายได้\" แน่นอนว่าคนทั่วไปมักจะใช้นามแฝง บางคนเช่น มาร์ค ทเวน (นามปากกาของนักเขียนอเมริกันผู้เขียนเรื่อง 'การผจญภัยของทอม ซอว์เยอร์' ชื่อจริงคือ ซามูเอล ลางฮอร์น คลีเมน) มีคนรู้จักนามปากกาของเขามากกว่าชื่อจริง บางคนใช้นามแฝงในโลกออนไลน์เพื่อปกป้องตัวเอง เช่น ป้องกันการตกเป็นเป้าคุกคาม อย่างไรก็ตามมีบางคนที่ใช้นามแฝงในการกลั่นแกล้งผู้อื่น เฟซบุ๊กเน้นหนักในเรื่องการใช้ตัวตนจริงเพื่อสนับสนุนการพูดคุยสนทนาอย่างมีอารยะ \"เฟซบุ๊กตั้งอยู่บนฐานของวัฒนธรรมการใช้ชื่อจริงเสมอมา\" อิเลียต ชราจ รองประธานด้านนโยบายสาธารณะของเฟซบุ๊กกล่าว \"พวกเราเชื่อว่าการทำเช่นนี้ทำให้ผู้ใช้มีสำนักรับผิดชอบมากกว่า มีความปลอดภัยมากกว่า และมีสภาพแวดล้อมที่น่าเชื่อถือมากกว่า\" การใช้นามจริงในเฟซบุ๊กยังมีประโยชน์ในด้านธุรกิจ เช่นการติดต่อซื้อขายสิ่งต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์อย่างการซื้อตั๋วเครื่องบินผ่านเว็บไซต์ ผู้บริหารเว็บไซต์พบความยุ่งยากในการจัดการเว็บไซต์ที่มีผู้ใช้กว่า 800 ล้านคน หลายคนใช้ชื่อที่ประหลาดๆ นโยบายบังคับใช้ชื่อจริงอาจทำให้เกิดความยุ่งยากในโลกจริงได้ กรณีหนึ่งคือตอนที่ วาเอล โกนิม บล็อกเกอร์ชื่อดังของอียิปต์ใช้ชื่อปลอมในการสร้างเพจต่อต้านประธานาธิบดีมูบารัคในเฟซบุ๊ก ทำให้เฟซบุ๊กปิดการใช้เวอร์ชั่นภาษาอาหรับชั่วคราวในขณะที่ยังคงมีประท้วงในจัตุรัสทาห์เรีย จนกระทั่งผู้หญิงคนหนึ่งในสหรัฐฯ ยอมเป็นเจ้าของเพจแทน ทางด้านทวิตเตอร์ที่ปกป้องการใช้นามแฝงอย่างแข็งขัน ก็ปฏิเสธคำของของรัฐบาลอังกฤษที่กดดันให้มีการใช้ชื่อจริงหลังเกิดเหตุวุ่นวายในอังกฤษ \"ที่อื่นอาจจะบอกให้คุณใช้ชื่อจริงเพราะพวกเขาคิดว่าจะหาเงินจากมันได้ง่ายขึ้น\" ดิค คอสโตโล ผู้บริหารระดับสูงของทวิตเตอร์กล่าว \"พวกเราสนใจเรื่องการให้บริการผู้ใช้ของพวกเรามาก่อน\" ในเวลาเดียวกันทวิตเตอร์ก็แข่งขันกับกูเกิ้ล และเฟซบุ๊กในการเป็นเว็บที่มีการใช้งานพาสปอร์ต ในแง่นี้เฟซบุ๊กมีฐานที่กว้างขวางที่สุดโดยสามารถให้บริการการเข้าถึงเว็บไซต์อย่างง่ายดายและสามารถส่งข้อความด่วนและข่าวสารได้ เว็บไซต์ดนตรีอย่าง Spotify และ MOG ก็มีการให้ผู้ใช้ใหม่ล็อกอินผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งจะทำให้มีการแสดงผลว่าเพื่อนในรายการของผู้ใช้นั้นๆ กำลังฟังเพลงอะไรอยู่ สำหรับผู้บริโภคแล้วมีทั้งข้อดีและข้อเสีย มันหมายความว่าคุณสามารถท่องไปตามเว็บต่างๆ ได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนรหัสผ่าน แต่ขณะเดียวกันมันก็ทำให้คุณแชร์ข้อมูลว่าคุณทำอะไรบ้างในโลกออนไลน์ผ่านสิ่งที่ คริส ฮูฟกาเนล ศาตราจารย์ด้านกฏหมายของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเรียกว่า \"พ่อค้าคนกลางผู้ขายตัวตน\" \"มันสะดวกดี\" ฮูฟกาเนลกล่าว \"แต่คุณต้องการให้เฟซบุ๊กและกูเกิ้ลรู้ว่าคุณกำลังจะไปไหนหรือ?\" เมื่อเฟซบุ๊กระงับบัญชีผู้ใช้ของซัลมาน รัชดี ทางบริษัทก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ก็ยอมรับว่าเป็นข้อผิดพลาด \"พวกเราขออภัยในความไม่สะดวกที่เกิดขึ้นกับเขา\" เฟซบุ๊กกล่าวในคำแถลง ซัลมาน รัชดี ผู้ที่เคยต้องใช้นามแฝงมาก่อนเนื่องจากถูกขู่ฆ่า เริ่มเปิดเผยตัวเองมากขึ้นในทวิตเตอร์ ซึ่งตัวเขาต้องต่อสู้เพื่อให้ได้ชื่อออนไลน์ของตัวเองมาใช้เช่นกัน เนื่องจากเมื่อต้นปีที่ผ่านมามีคนสวมรอยเป็นเขาโดยใช้ชื่อ @SalmanRushdie ในทวิตเตอร์ และรัชดีตัวจริงก็ต้องขอร้องให้ทางบริษัทเอาชื่อนี้คืนให้เขา จนในปัจจุบันหน้าเพจทวิตเตอร์ของ @SalmanRushdie ได้รับเครื่องหมาย \"บัญชีผู้ใช้ได้รับการยืนยันแล้ว\" (Verified Account) ที่มา Rushdie Runs Afoul of Web’s Real-Name Police

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท