Skip to main content
sharethis

ติดตามมูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่าลงพื้นที่อ้อมน้อย ที่มีแรงงานชาวพม่ารอความช่วยเหลืออยู่กว่า 3,000 คน อาหาร น้ำ ยารักษาโรค เป็นความตองการพื้นฐาน แต่พวกเขายังมีปัญหาอื่นๆ ที่หนักหน่วงกว่าต้องเผชิญ นั่นคือ การตัดสินใจเกี่ยวกับชะตากรรมของตัวเอง

บันทึกจากอ้อมน้อย: แรงงานพม่ากับปัญหาที่ทับทวีจากน้ำท่วม

11 พฤศจิกายน 2554 ประชาไทติดตามทีมงานของมูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า ไปในเขตอุตสาหกรรม ในเขตเทศบาลนครอ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร โดยมูลนิธิฯ ได้รับการสนับสนุนด้านการเดินทาง และถุงยังชีพจากสภากาชาดไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารกระป๋องพร้อมรับประทานเพียงพอสำหรับ 3 วัน ผ้าอ้อมเด็ก ยารักษาโรคพื้นฐาน

เราออกเดินทางกันในช่วงสาย โดยรถบรรทุกขนาดใหญ่และสูงเป็นพิเศษจากบริษัทบ้านปู จำกัด ระดับน้ำที่สูงเกินกว่า 1 เมตร มีเพียงรถบรรทุกขนาดใหญ่และเรือเท่านั้นที่จะใช้เป็นพาหนะไปสู่จุดหมายปลาย ทาง

ศุภสันส์ ภูมิไชยา นักศึกษาปริญญาโท จากคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ อาสาสมัครของมูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า แกนหลักในการประสานงานกับทั้งแรงงานพม่าและสภากาชาดไทยในการลงพื้นที่คราว นี้ให้ข้อมูลว่า ที่มาไปในการเข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัยชาวพม่าเกิดจากการรวมตัวขององค์กร 5 แห่งได้แก่ มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย แผนกสร้างเสริมสุขภาพแรงงาน ของ สสส. และมูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า

“น้ำท่วมตอนนี้ก็เลยกลายเป็นภารกิจฉุก เฉินของพวกเราใน 5 องค์กรที่มารวมตัวกัน ซึ่งจะมาช่วยดูกันในส่วนที่ตัวเองถนัด ถ้าเป็นของผม ก็จะเป็นมูลนิธิร่วมไทย-พม่า ก็จะถนัดในเรื่องของแรงงานข้ามชาติ ถ้าเป็นมูลนิธิเพื่อนหญิง ก็จะถนัดในเรื่องเด็กและสตรี เราก็จะมีการทำงานร่วมกัน แต่ว่าจะมุ่งเป้าหมายหลักในส่วนที่ตัวเองถนัด”

ศุภสันส์ ภูมิไชยา : บันทึกจากอ้อมน้อย: แรงงานพม่ากับปัญหาที่ทับทวีจากน้ำท่วม

ศุภสันส์ ภูมิไชยา อาสาสมัครมูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า ผู้ประสานให้ความช่วยเหลือแรงงานพม่า

จำนวน แรงงานชาวต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่ เทศบาลอ้อมน้อยเท่าที่มูลนิธิมีข้อมูลขณะนี้ร่วม 3,000 คน ก็มีทั้งส่วนที่ทำงานอยู่และไม่ได้ทำงาน

“อันนี้เป็นเพียงแค่ส่วน เล็กน้อย เพราะพื้นที่มีจำนวนเยอะกว่ามาก ตัวเลขตอนนี้ยังไม่นิ่ง เราก็ได้รับแจ้งมาเรื่อยๆ เพราะตอนนี้น้ำเริ่มท่วมไปในจังหวัดสมุทรสงคราม นครปฐม ซึ่งจะเป็นกลุ่มของแรงงานข้ามชาติที่อยู่เยอะมาก ตอนนี้ก็เริ่มมีโทรศัพท์เข้ามามากขึ้น”

เฉพาะจุดที่เรากำลังจะมุ่ง หน้าไปนั้น มีแรงงานชาวพม่าอยู่ 971 คน ประกอบด้วยชาย 446 คน หญิง 500 หญิงมีครรภ์ 15 คน เด็ก 12 คน และเด็กทารก 13 คน พวกเขาอยู่กับน้ำท่วมขังสูงมากกว่า 1 เมตรมาสัปดาห์เศษ และที่พักของพวกเขาส่วนใหญ่ถูกตัดน้ำตัดไฟไปแล้ว น้ำ กลายเป็นของมีราคาสูง และอาหารหาได้ยาก

รถของสภากาชาดไทย ไปได้แค่ปากซอยเท่านั้น ขณะที่มองเข้าไปในซอยซึ่งน้ำท่วมลึกถึงอก เรามองเห็นอพาร์ตเมนท์ทั้งขนาดใหญ่และเล็ก รวมไปถึงบ้านให้เช่าและห้องเช่าชนิดราคาถูก รถจอดเกยกับฟุตบาธที่มีระดับสูงกว่าพื้นที่โดยรอบ อาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ของกาชาดไทยเริ่มทยอยขนของลงจากรถบรรทุก ขณะที่ผู้ประสบภัยทั้งชาวไทยและชาวพม่าลุยน้ำมาถึงบ้างแล้ว

บันทึกจากอ้อมน้อย: แรงงานพม่ากับปัญหาที่ทับทวีจากน้ำท่วม

บันทึกจากอ้อมน้อย: แรงงานพม่ากับปัญหาที่ทับทวีจากน้ำท่วม

เรา ได้พูดคุยกับ อู้ ยู และมะเอไข่ ที่พอจะสื่อสารภาษาไทยได้บ้าง ยู ชาวเมืองทวาย อายุ 19 ปี เล่าว่า เขาอยู่เมืองไทยมา 3 ปีแล้ว ทำงานที่โรงงานผ้าใบมาได้ 2 เดือนก่อนที่น้ำจะท่วมสูงจนระดับอก ปกติเขาได้ค่าจ้างวันละ 215 บาท ขณะที่ค่าหอพักรวมค่าน้ำ-ไฟอยู่ที่ 2,500 บาทต่อเดือน ทำให้ตอนนี้มีปัญหาเรื่องการเงิน เพราะพอน้ำท่วมก็ไม่ได้ทำงาน แต่ยังต้องใช้เงินซื้ออาหาร น้ำดื่ม รวมถึงน้ำประปาด้วย เมื่อถามถึงความช่วยเหลือ ยูบอกว่า นอกจากสภากาชาดไทยที่มาในวันนี้ ก็มีกลุ่มแรงงานจากสระบุรี มหาชัย และพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเข้ามา อย่างไรก็ตาม เขามองว่ายังมีเพื่อนแรงงานข้ามชาติที่ตั้งครรภ์ที่ต้องการความช่วยเหลือ ด้านสุขอนามัย ซึ่งรวมถึงน้ำดื่มด้วย

อู้ ชาวเมืองย่างกุ้ง วัย 37 ปี กล่าวว่า เขามาทำงานที่เมืองไทยได้ 20 กว่าปีแล้ว ขณะนี้อาศัยอยู่กับภรรยาและลูกสาววัย 5 ขวบ อู้ทำงานที่โรงงานไก่แหลมทองมา 3 ปีแล้ว โดยได้ค่าจ้างรายวันๆ ละ 215 บาท และค่าทำงานล่วงเวลาชั่วโมงละ 35 บาท หลังจากน้ำท่วมย่านอ้อมน้อยได้สองวันจนสูงถึงระดับเอว นายจ้างให้คนงานผู้หญิงไม่ต้องมาทำงาน ขณะที่คนงานชายให้มาทำความสะอาดและเก็บขยะ โดยจ่ายค่าแรงตามปกติ แต่หากใครไม่มาทำงาน ก็จะจ่ายครึ่งหนึ่งของค่าแรง ทั้งนี้ โรงงานของเขา มีคนงานประมาณ 700-800 คน โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติทั้งพม่า ไทยใหญ่ และกะเหรี่ยง

มะเอไข่ ชาวเมืองพะโค วัย 20 ปี กล่าวว่า เธอทำงานแผนกแพคของในโรงงานไก่แห่งหนึ่ง ได้ค่าแรงวันละ 215 บาท ค่าล่วงเวลาชั่วโมงละ 40 บาท พอน้ำท่วม โรงงานก็หยุด ทำให้ไม่มีรายได้ ตอนนี้อยากได้ไฟฟ้าและน้ำ เพราะที่หอพักไม่มี อย่างไรก็ตาม เธอบอกว่า อีกไม่กี่วันคงจะเดินทางกลับประเทศชั่วคราว และจะกลับมาหลังน้ำลด ขณะที่พี่สาวและพี่ชายของเธอยังตัดสินใจอยู่ต่อ

 

ปัญหาเร่งด่วน ทำความเข้าใจเรื่องสิทธิและข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

มูลนิธิ ร่วมมิตรไทย-พม่า ลงพื้นที่ครั้งแรกวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา มีการนำถุงยังชีพไปให้ นำน้ำดื่ม อาหารสำเร็จรูปไปให้ และที่สำคัญคือ การแนะนำว่าพวกเขาจะใช้ชีวิตในช่วงสภาวะน้ำท่วมยังไง รวมถึงข้อควรระวัง หรือการใช้ชีวิตต่อจากนี้ว่า เขาควรที่จะดำเนินการต่อชีวิตต่อไปยังไง

ศุภสันส์บอกว่า ปัญหาเร่งด่วนตอนนี้ที่พบก็คือ หลายคนยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิและทางเลือกของตัวเอง

“แรง งานข้ามชาติจะแบ่งออกเป็นหลายประเภท อาจจะมีประเภทที่สมบูรณ์แบบ คือมีทั้งพาสปอร์ต มีใบอนุญาตทำงาน พวกนี้จะสามารถจัดการชีวิตตัวเองได้มากกว่า นอกจากนั้นจะมีคนที่มีพาสปอร์ต แต่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือว่าเป็นแรงงานที่ไม่มีทั้งสองอย่างเลย ซึ่งในแต่ละแบบจะมีปัญหาอยู่ที่ว่า ในภาวะน้ำท่วม นายจ้างอาจจะไม่ได้บอกอะไรกับคนเหล่านี้เลย ทำให้ลูกจ้างทั่วไปอาจจะโดนหยุด เลิกจ้างงาน พวกเขาก็จะไม่มีอะไรกิน ดังนั้นคนกลุ่มนี้อย่างแรกที่เขาคิดได้คือกลับบ้าน แต่ว่าการกลับบ้านของเขามันไม่ง่าย ไม่ง่ายทั้งการกลับและการเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง”

ปัญหาเบื้องต้นที่จะ เกิดกับแรงงานข้ามชาติที่ต้องการกลับบ้านก็คือ เงินนอกระบบที่จะต้องจ่ายออกไป ทั้งขาออกจากประเทศไทย ขาเข้าประเทศพม่า และเรื่องจะกลับเข้ามาอีกรอบนั้น ยิ่งเป็นเรื่องยากยิ่งกว่า ส่วนแรงงานข้ามชาติที่ตัดสินใจอยู่ อาจเพราะไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอที่จะกลับบ้าน ก็จะต้องเผชิญกับการจ่ายเงินค่าหัวคิวให้กับนายหน้าที่สัญญาว่าจะช่วยหางาน ให้

“การไม่มีทางเลือกของแรงงานข้ามชาติว่าจะทำยังไงต่อ ก็จะมีกลุ่มของบริษัทนายหน้าจัดหางานเข้ามาเจาะกับกลุ่มนี้ แต่จะมีการหักค่าหัว บอกว่าถ้าเราพาคุณไปทำงานตรงนี้ คุณต้องจ่ายเปอร์เซ็นต์ให้ผม ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่ก็จะไม่รู้ว่าไปพึ่งใครได้ หรือว่าจะมีทางออกอย่างอื่นไหม เป็นประเด็นเกี่ยวกับด้านแรงงานที่ถือว่าเป็นประเด็นหลักๆ นอกจากการช่วยเหลือเบื้องต้นเรื่องอาหารการกิน”

 

มองระยะยาว ต้องให้พวกเขารวมตัวกันเพื่อปกป้องตัวเอง

“แผน ขั้นแรกของเราคือ ให้ความรู้เบื้องต้น แผนขั้นที่สอง เราจะไปทำความรู้จักและสร้างระบบของเขา อย่างเช่นที่เราไปบริเวณปทุมธานี คลองหนึ่ง เขาจะอยู่เป็นซอยซึ่งต่างคนต่างอยู่ แต่เราจะใช้วิธี ขั้นแรกไปแจกของเพื่อทำความรู้จัก ขั้นที่สอง เราจะลงไปวางแผนกับเขาว่าจะทำยังไงให้เขาอยู่ร่วมกันเป็นระบบได้ เพราะว่าจะง่ายกับการติดต่อครั้งต่อไป อันนี้เป็นแนวทางของเครือข่ายเราทั้ง 5 เครือข่าย เครือข่ายเราไม่ได้ไปแจกของแล้วจบ เวลาเราไปแจกก็ต้องว่างแผนว่า ขั้นที่หนึ่งเราไปแจก ขั้นที่สอง เราต้องไปทำความรู้จักหรือว่าวางแผนกับเขาอย่างไรต่อ ซึ่งในแต่ละที่ก็จะมีการติดตามผลว่ามันเป็นอย่างไนเพิ่มเติม” ศุภสันส์กล่าวถึงเป้าหมายการทำงาน

สำหรับความต้องการเพิ่มเติม เบื้องต้นตอนนี้ก็ยังเป็นถุงยังชีพ อาหารแห้ง เพราะผู้ประสบภัยจำนวนมากยังไม่มีงานทำ เนื่องจากโรงงานปิด หรือหยุดไปเพราะน้ำท่วม ทำให้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ไม่มีเงิน ดังนั้นอย่างแรกคืออาหารการกิน ถุงยังชีพที่พวกเขาจำเป็นต้องการอยู่ อย่างที่สองคือ แหล่งของงาน

“ถ้ามีโรงงานไหน ที่ทำงานไหนต้องการแรงงานหรือว่าอย่างไร พวกเราก็อยากจะรับมาเป็นศูนย์ข้อมูลที่จะส่งต่อ อันนี้เป็นความต้องการต่อจากขั้นแรกที่เราแจกของอยู่”

 

ความช่วยเหลือจากหมอไร้พรมแดน: พวกเขาคือกลุ่มที่มีโอกาสเข้าถึงบริการด้านสุขภาพน้อยที่สุด

ขณะ ที่ละล้าละลังอยู่ระหว่างแถวแนวของผู้ประสบภัยที่รอรับถุงยังชีพจากสภากาชาด ไทย นั้น เราเห็นชายหญิงคู่หนึ่ง สวมเสื้อชูชีพสีเขียวสด เดินอยู่ท่ามกลางผู้คน เมื่อทักทายได้ความว่า เป็นทีมงานขององค์การหมอไร้พรมแดน (Medicine San Frontier) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ปิดตัวลงไปหลายสาขา แต่ขณะนี้ ต้องระดมอาสาสมัครกลับมาทำหน้าที่กันอีกครั้ง

วรรณจิต ทรายเทียมทอง เป็นหนึ่งในอาสาสมัครพยาบาลที่ถูกเรียกตัวกลับมาทำหน้าที่เมื่อสัปดาห์ที่ ผ่านมา เธอบอกว่า ขณะนี้ทีมงานของหมอไร้พรมแดนมีอยู่ราวๆ 20 กว่าคน แบ่งสายกันลงพื้นที่น้ำท่วม และเหตุผลที่พุ่งความสนใจไปที่แรงงานชาวต่างชาติในเขตอุตสาหกรรมนั้นก็เพราะ ว่าพวกเขาคือกลุ่มคนที่มีโอกาสเข้าถึงบริการด้านสุขภาพน้อยกว่าผู้ประสบภัย ที่เป็นประชาชนไทย และส่วนใหญ่ก็มีความระแวดระวังหวาดกลัว

เมื่อถาม ว่าพวกทีมของหมอไร้พรมแดนเข้าถึงคนเหล่านี้ได้อย่างไร วรรณจิตหันไปมองชายหนุ่มที่ถือโทรโข่งเล็กๆ อยู่ในมือ เขายิ้มรับแล้วยกโทรโข่งขึ้นทำท่าทางให้ดูเป็นตัวอย่าง

“ที่นี่มี พม่าไม๊ครับ ที่นี่มีคนพม่าไม๊ครับ”- ไซ ล่ามอาสาสมัครพูดแล้วอธิบายว่า เขาต้องประกาศแบบนี้เป็นภาษาไทยและภาษาพม่าตลอดเส้นทางที่เข้าไปสำรวจ

“ถ้าพูดแต่ภาษาไทย เขาอาจจะกลัว และไม่กล้าแสดงตัว”

เฉพาะทีมของไซและวรรณจิต ลงพื้นที่ในเขตอ้อมน้อยนี้ประมาณ 4 ครั้งแล้ว นับจากการลงมาสำรวจครั้งแรกเมื่อสัปดาห์กว่าๆ ที่ผ่านมา

“ที่ ต้องมาพื้นที่เยอะ พบว่าคนงานที่นี่กว่าเก้าร้อยคน ซึ่งยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากที่ไหน แต่เนื่องจากเรามีงบประมาณด้านอาหารไม่มาก เราก็เน้นด้านสุขภาพเป็นหลัก ส่วนอาหารต้องเป็นกรณีจำเป็นจริงๆ เช่นกรณีเด็ก คนท้อง ผู้สูงอายุ”

วรรณจิตเล่าว่าลงพื้นที่ครั้งหนึ่งก็เจอคนไข้สัก 20 กว่าคน

“ปัญหา สุขภาพส่วนใหญ่เป็นเรื่องโรคผิวหนัง เพราะส่วนใหญ่ไม่มีเรือก็ลุยน้ำไป อีกส่วนหนึ่งคือเป็นแผลอุบัติเหตุ เดินเหยียบเหล็กบ้าง ถ้าอาการหนักก็ส่งต่อโรงพยาบาล”

ปัญหาด้านสุขภาพที่ต้องเฝ้าระวังกัน ต่อไปในอนาคต คือโรคติดเชื้อจากน้ำ เช่นท้องเดิน เพราะน้ำไม่สะอาดอยู่แล้ว และที่ละเลยไม่ได้ก็คือโรคผิวหนัง

วรรณจิตกล่าวว่า ความช่วยเหลือด้านสุขภาพที่จำเป็นสำหรับแรงงานชาวพม่าที่นี่ ก็คือยารักษาโรค เพราะยาพื้นฐานอย่าง พาราเซตามอลก็ยังมีราคาสูงขึ้น ที่เธอพบคือ สองเม็ดต่อห้าบาท

ระหว่างสัมภาษณ์ แรงงานชาวพม่ารายหนึ่งที่เพิ่งเหยียบเศษแก้วมาสดๆ ร้อนๆ เดินเข้ามาขอความช่วยเหลือ วรรณจิตปลีกตัวไปปฐมพยาบาล ขณะที่ทีมงานของสภากาชาดกำลังจะเสร็จสิ้นภารกิจในการแจกสิ่งของจำเป็นให้กับ ผู้ประสบภัยละแวกนี้

บันทึกจากอ้อมน้อย: แรงงานพม่ากับปัญหาที่ทับทวีจากน้ำท่วม

บันทึกจากอ้อมน้อย: แรงงานพม่ากับปัญหาที่ทับทวีจากน้ำท่วม

ไซและวรรณจิตได้ติดรถของสภากาชาดออกไป และขอลงระหว่างทาง เพื่อไปเยี่ยมแรงงานในละแวกใกล้เคียงกัน

รถ ของสภากาชาดไทยมุ่งหน้าต่อไปยังแฟลตคนงานอีกแห่งที่จมน้ำอยู่ ที่นั่นมีผู้ประสบภัยรออีกกว่า 200 ชีวิต รถบรรทุกขนาดใหญ่เคลื่อนตัวต่อไปข้างหน้า เมื่อมองหันหลังกลับไป เราเห็นสองร่างเล็กๆ อยู่กลางเวิ้งน้ำ ค่อยๆ เคลื่อนต่อไปในอีกทิศทางหนึ่ง ปลายทาง คือแรงงานชาวต่างชาติที่กำลังรอคอยความช่วยเหลือเช่นเดียวกัน....

บันทึกจากอ้อมน้อย: แรงงานพม่ากับปัญหาที่ทับทวีจากน้ำท่วม

บันทึกจากอ้อมน้อย: แรงงานพม่ากับปัญหาที่ทับทวีจากน้ำท่วม

บันทึกจากอ้อมน้อย: แรงงานพม่ากับปัญหาที่ทับทวีจากน้ำท่วม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net